การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3004 (LA 304),(LW 305) พระธรรมนูญศาลยุติธรรม

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  ศาลแขวงพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงินสามแสนบาท  จำเลยไม่ชำระ  โจทก์ขอให้ศาลแขวงออกหมายบังคับคดี และนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ของจำเลยเพื่อนำไปขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ตามคำพิพากษา  โจทก์ชี้ให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดรถยนต์คันหนึ่งที่จอดอยู่ในโรงรถในบ้านของจำเลย  เพื่อนำไปขายทอดตลาด  ปรากฏว่ารถยนต์คันดังกล่าวเป็นรถของนาย  ก เพื่อนบ้านของจำเลยนำมาอาศัยจอดไว้เพราะบ้านของนาย  ก  ไม่มีที่จอดรถ  นาย  ก  เจ้าของรถต้องการจะเอารถของตนคืน  และรถยนต์ที่ถูกยึดมีราคาสองล้านบาท

นาย  ก  มาปรึกษาท่านว่าทำอย่างไรจึงจะได้รถยนต์ของตนคืน  ให้ท่านให้คำแนะนำที่ถูกต้องตามกฎหมายแก่  นาย  ก

ธงคำตอบ

มาตรา  17  ศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี  และมีอำนาจทำการไต่สวน  หรือมีคำสั่งใดๆ  ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจตามที่กำหนดไว้ในมาตรา  24  และมาตรา  25  วรรคหนึ่ง

มาตรา  25  ในศาลชั้นต้น  ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอำนาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลนั้น  ดังต่อไปนี้

(4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง  ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพากษาหรือจำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาท  ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  288  ถ้าบุคคลใดกล่าวอ้างว่าจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้  บุคคลนั้นอาจยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีให้ปล่อยทรัพย์สินเช่นว่านั้น

วินิจฉัย

นาย  ก  เจ้าของรถยนต์ที่ถูกยึดจะต้องไปยื่นคำร้องขอปล่อยทรัพย์ต่อศาลแขวงที่ออกหมายบังคับคดี  การยื่นคำร้องขอปล่อยทรัพย์ผู้ร้องจะต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลตามราคาทรัพย์  แม้ทรัพย์นั้นจะมีราคามากกว่า  3  แสนบาท  ซึ่งถือว่าเกินอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงก็ตาม  แต่เนื่องจากการยื่นคำร้องขอปล่อยทรัพย์  ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  288  บัญญัติบังคับให้ยื่นต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดี  ผู้ยื่นคำร้องขอปล่อยทรัพย์จึงต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลแขวงเพราะเป็นศาลที่ออกหมายบังคับคดีและต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลตามราคาทรัพย์  โดยไม่ถูกจำกัดราคาทรัพย์ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  มาตรา  25(4)  ประกอบมาตรา  17  (ฎ.901/2511)

สรุป  ข้าพเจ้าจะแนะนำนาย  ก  ให้ยื่นคำร้องขอปล่อยทรัพย์ต่อศาลแขวง  เพราะเป็นศาลที่ออกหมายบังคับคดี

 

ข้อ  2  ในศาลฎีกา  นายเอกผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลฎีกา  นายโทและนายตรีผู้พิพากษาศาลฎีกา  เป็นองค์คณะพิจารณาคดีแพ่งทุนทรัพย์สามสิบล้านบาท  องค์คณะทั้งสามได้ร่วมกันพิจารณาและประชุมปรึกษาคดีกันแล้วทั้งสามคนมีความเห็นแตกต่างกันเป็นสามแนวทางไม่สามารถที่จะทำคำพิพากษาได้  จึงได้นำสำนวนคดีไปปรึกษากับนายใหญ่  ประธานศาลฎีกา  นายใหญ่ติดงานราชการหลายอย่างจึงยังมิได้ตรวจดูสำนวนคดีและให้คำปรึกษาปรากฏว่าจนถึงวันที่  30  กันยายน  นายใหญ่และรองประธานศาลฎีกาอีกหกท่านได้พ้นจากตำแหน่ง  เนื่องจากมีอายุครบหกสิบปีและไปดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสพิจารณาคดีที่ศาลชั้นต้น  (วันที่  1  ตุลาคม  ประธานศาลฎีกาและรองประธานศาลฎีกาทั้งสามยังไม่มารับตำแหน่ง)  นายบดีซึ่งเป็นผู้พิพากษาที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลฎีกาจึงได้นำสำนวนคดีดังกล่าวมาตรวจสำนวนและลงลายมือชื่อทำคำพิพากษาร่วมกับนายเอกและนายโท  แต่นายตรีนั้นไม่เห็นด้วยจึงไม่ยอมลงลายมือชื่อทำคำพิพากษา

ท่านเห็นว่า  คำพิพากษาชอบด้วยกฎหมายพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  8  วรรคสองและวรรคสาม  เมื่อตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์ภาค  ว่างลงหรือเมื่อผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวไม่อาจปฏิบัติราชการได้  ให้รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค  เป็นผู้ทำการแทน  ถ้ามีรองประธานศาลอุทธรณ์ภาคหลายคน  ให้รองประธานศาลอุทธรณ์ภาคที่มีอาวุโสสูงสุดเป็นผู้ทำการแทน  ถ้าผู้ที่มีอาวุโสสูงสุดไม่อาจปฏิบัติราชการได้  ให้ผู้ที่มีอาวุโสถัดลงมาตามลำดับเป็นผู้ทำการแทน

ในกรณีที่ไม่มีผู้ทำการแทนประธานศาลฎีกา  ตามวรรคสอง  หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้  ให้ผู้พิพากษาที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลนั้นเป็นผู้ทำการแทน  ถ้าผู้ที่มีอาวุโสสูงสุดไม่อาจปฏิบัติราชการได้  ให้ผู้พิพากษาที่มีอาวุโสถัดลงมาตามลำดับเป็นผู้ทำการแทน

มาตรา  29  ในระหว่างการทำคำพิพากษาคดีใด  หากมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้  ทำให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้นไม่อาจจะทำคำพิพากษาในคดีนั้นต่อไปได้  ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้มีอำนาจลงลายมือชื่อทำคำพิพากษา  และเฉพาะในศาลอุทธรณ์  ศาลอุทธรณ์ภาค  และศาลชั้นต้นมีอำนาจทำความเห็นแย้งได้ด้วย  ทั้งนี้หลังจากได้ตรวจสำนวนคดีนั้นแล้ว

(1) ในศาลฎีกา  ได้แก่  ประธานศาลฎีกาหรือรองประธานศาลฎีกา

ให้ผู้ทำการแทนในตำแหน่งต่างๆตามมาตรา  8  มาตรา  9  และมาตรา  13  มีอำนาจตาม  (1)  (2)  และ  (3)  ด้วย

มาตรา  31  เหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้างล่วงได้ตามมาตรา  28  และมาตรา  29  นอกจากที่กำหนดไว้ในมาตรา  30  แล้วให้หมายความรวมถึงกรณีดังต่อไปนี้ด้วย

(3) กรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งคดีแพ่งเรื่องใดของศาลนั้น  จะต้องกระทำโดยองค์คณะซึ่งประกอบด้วย  ผู้พิพากษาหลายคน  และผู้พิพากษาในองค์คณะนั้นมีความเห็นแย้งกันจนหาเสียงข้างมากมิได้

วินิจฉัย

ในศาลฎีกาที่องค์คณะทั้งสามคนมีความเห็นต่างกันจนไม่สามารถทำคำพิพากษาได้นั้น  ถือเป็นเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้  ตามมาตรา  31(3)  ผู้ที่จะเข้าเป็นองค์คณะแทนในระหว่างการทำคำพิพากษาได้นั้น  ได้แก่  ผู้พิพากษาตามมาตรา  29(1)  ซึ่งได้แก่  ประธานศาลฎีกาหรือรองประธานศาลฎีกา  แต่เนื่องจากประธานศาลฎีกาได้พ้นจากตำแหน่งจึงต้องให้ผู้ที่ทำการแทนประธานศาลฎีกามีอำนาจเข้าเป็นองค์คณะแทนได้  ทั้งนี้ผู้ทำการแทนประธานศาลฎีกา  ได้แก่  รองประธานศาลฎีกา  ตามมาตรา  8  วรรคสอง  แต่เมื่อรองประธานศาลฎีกาอีกหกคนได้พ้นจากตำแหน่งด้วย  จึงถือว่าไม่มีผู้ทำการแทนประธานศาลฎีกา  ตามมาตรา  8  วรรคสาม  จึงกำหนดให้ผู้พิพากษาที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลนั้นเป็นผู้ทำการแทน

ดังนี้การที่นายบดีเป็นผู้พิพากษาที่มีความอาวุโสสูงสุดในศาลฎีกา  ได้นำสำนวนคดีมาตรวจและลงลายมือชื่อทำคำพิพากษาร่วมกับนายเอกและนายโท  แม้นายตรีจะไม่เห็นด้วยและไม่ยอมลงลายมือชื่อทำคำพิพากษา  คำพิพากษาดังกล่าวก็ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

สรุป  คำพิพากษาดังกล่าวชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

 

ข้อ  3  โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดว่าโจทก์ได้ขายฝากที่ดินแก่จำเลย  โดยจดทะเบียนการขายฝาก  ณ  สำนักงานที่ดิน  ต่อมาโจทก์ได้ไถ่การขายฝากและจดทะเบียนการไถ่แล้ว  แต่จำเลยไม่ยอมคืนโฉนดที่ดินที่ขายฝากให้แก่โจทก์  ขอให้ศาลจังหวัดบังคับให้จำเลยคืนโฉนดที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์  ในวันนัดพิจารณานัดแรกผู้พิพากษาศาลจังหวัดที่นั่งพิจารณาคดีได้ถามโจทก์ถึงราคาที่ดิน  โจทก์แถลงว่าที่ดินที่ขายฝากราคา  250,000  บาท  ผู้พิพากษาศาลจังหวัด  จึงมีคำสั่งให้โอนคดีดังกล่าวไปยังศาลแขวงที่มีเขตอำนาจเหนือที่ดินที่ขายฝากกัน

การสั่งโอนคดีดังกล่าวของผู้พิพากษาศาลจังหวัด  ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  16  วรรคสาม  ในกรณีที่มีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลจังหวัด  และคดีนั้นเกิดขึ้นในเขตของศาลแขวงและอยู่ในอำนาจของศาลแขวง  ให้ศาลจังหวัดนั้นมีคำสั่งโอนคดีไปยังศาลแขวงที่มีเขตอำนาจ

มาตรา  17  ศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี  และมีอำนาจทำการไต่สวน  หรือมีคำสั่งใดๆ  ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจตามที่กำหนดไว้ในมาตรา  24  และมาตรา  25  วรรคหนึ่ง

มาตรา  25  ในศาลชั้นต้น  ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอำนาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลนั้น  ดังต่อไปนี้

(4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง  ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพากษาหรือจำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาท  ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

วินิจฉัย

เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องต่อศาลจังหวัดขอให้บังคับคืนโฉนดที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์  มิใช่คำฟ้องโต้แย้งเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท  อันจะทำให้เป็นคดีมีทุนทรัพย์  ดังนั้นกรณีนี้จึงเป็นคดีแพ่งที่ไม่มีทุนทรัพย์  ศาลแขวงจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา  25(4)  ประกอบมาตรา  17  ทั้งนี้เพราะศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งที่มีทุนทรัพย์ของคดีไม่เกิน  3 แสนบาทเท่านั้น  (ฎ.1593/2521)

ประเด็นที่ว่า  ศาลจังหวัดจะมีคำสั่งโอนคดีดังกล่าวไปยังศาลแขวงที่มีเขตอำนาจได้หรือไม่  เห็นว่า  ในกรณีที่มีการยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัด แต่คดีนั้นเกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลแขวงและอยู่ในอำนาจของศาลแขวง  มาตรา  16  วรรคท้ายได้บัญญัติให้ศาลจังหวัดนั้นมีคำสั่งโอนคดีไปยังศาลแขวงที่มีเขตอำนาจ  แต่กรณีนี้เมื่อคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลแขวง  กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติดังกล่าว  ดังนั้นการที่ผู้พิพากษาศาลจังหวัดมีคำสั่งโอนคดีไปยังศาลแขวง  จึงไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

สรุป  การสั่งโอนคดีดังกล่าวของผู้พิพากษาศาลจังหวัดไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

Advertisement