การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3004 พระธรรมนูญศาลยุติธรรม

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. พนักงานอัยการฟ้องนายเสาร์เป็นจําเลยต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี ข้อหาฆ่าผู้อื่นอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 (มีอัตราโทษจําคุกตั้งแต่ 15 ปี ถึงจําคุกตลอดชีวิตหรือ ประหารชีวิต) โดยมีนายจันทร์และนายอังคารผู้พิพากษาอาวุโสในศาลจังหวัดเพชรบุรีทั้งสองคน เป็นองค์คณะ ระหว่างพิจารณาคดีนายจันทร์ป่วยต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล นายอาทิตย์ผู้พิพากษา หัวหน้าศาลจังหวัดเพชรบุรีมอบหมายให้นายพุธผู้พิพากษาประจําศาลจังหวัดเพชรบุรีเป็นองค์คณะ แทนนายจันทร์ ต่อมานายเสาร์หลบหนีไม่มาศาล นายพุธจึงออกหมายจับนายเสาร์และเจ้าพนักงาน จับกุมนายเสาร์มาพิจารณาคดีต่อศาลได้ หลังจากพิจารณาคดีเสร็จ นายอังคารและนายพุธ มีคําพิพากษาว่านายเสาร์มีความผิดตามฟ้อง ให้จําคุกมีกําหนดยี่สิบปี

ให้วินิจฉัยว่า การที่นายอาทิตย์ให้นายพุธเป็นองค์คณะร่วมกับนายอังคาร การที่นายพุธออกหมายจับ นายเสาร์ และการทําคําพิพากษาของนายอังคารและนายพุธชอบด้วยกฎหมายพระธรรมนูญ ศาลยุติธรรมหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 24 “ให้ผู้พิพากษาคนหนึ่งมีอํานาจดังต่อไปนี้

(1) ออกหมายเรียก หมายอาญา หรือหมายสั่งให้ส่งคนมาจากหรือไปยังจังหวัดอื่น”

มาตรา 26 “ภายใต้บังคับมาตรา 25 ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้น นอกจาก ศาลแขวงและศาลยุติธรรมอื่นซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย สองคนและต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจําศาลเกินหนึ่งคน จึงเป็นองค์คณะที่มีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง หรือคดีอาญาทั้งปวง”

มาตรา 28 “ในระหว่างการพิจารณาคดีใด หากมีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจ ก้าวล่วงได้ ทําให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้น ไม่อาจจะนั่งพิจารณาคดีต่อไป ให้ผู้พิพากษา ดังต่อไปนี้นั่งพิจารณาคดีนั้นแทนต่อไปได้

(3) ในศาลชั้นต้น ได้แก่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค ผู้พิพากษา หัวหน้าศาล หรือรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค หรือผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นของศาลนั้น ซึ่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแล้วแต่กรณีมอบหมาย”

มาตรา 30 “เหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 หมายถึง กรณี ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะนั่งพิจารณาคดีนั้นพ้นจากตําแหน่งที่ดํารงอยู่ หรือถูกคัดค้านและถอนตัวไป หรือไม่อาจ ปฏิบัติราชการจนไม่สามารถนั่งพิจารณา หรือทําคําพิพากษาในคดีนั้นได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

1 การที่นายจันทร์และนายอังคาร ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลจังหวัดเป็นองค์คณะในการ พิจารณาคดีนั้น เมื่อปรากฏว่าในระหว่างพิจารณาคดีนายจันทร์ป่วยต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล ถือว่าเป็นกรณี ที่ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะนั่งพิจารณาคดีนั้นไม่อาจปฏิบัติราชการจนไม่สามารถนั่งพิจารณาคดีได้ ซึ่งถือ เป็นเหตุจําเป็นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 30 กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 28 (3) ที่นายอาทิตย์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลมีอํานาจมอบหมายให้นายพุธผู้พิพากษาประจําศาลของศาลนั้นเป็นองค์คณะนั่งพิจารณา คดีนั้นแทนนายจันทร์ได้

ดังนั้น การที่นายอาทิตย์ให้นายพุธเป็นองค์คณะร่วมกับนายอังคารจึงชอบด้วย พระธรรมนูญศาลยุติธรรม

2 ตามมาตรา 24 (1) ผู้พิพากษาคนหนึ่งมีอํานาจออกหมายจับซึ่งเป็นหมายอาญาชนิดหนึ่งได้ ดังนั้น เมื่อนายพุธผู้พิพากษาประจําศาลถือว่าเป็นผู้พิพากษาตามนัยของมาตรา 24 นายพุธจึงมีอํานาจออกหมายจับ นายเสาร์ได้ตามกฎหมาย

3 การที่นายเสาร์ถูกฟ้องข้อหาฆ่าผู้อื่นอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 นั้น จะต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนและต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจําศาลเกินหนึ่งคนเป็น องค์คณะที่มีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาดังกล่าวตามมาตรา 26 ดังนั้น การที่นายอังคารผู้พิพากษาอาวุโส และนายพุธผู้พิพากษาประจําศาลได้ร่วมกันพิจารณาและพิพากษาคดีอาญาดังกล่าวโดยให้จําคุกนายเสาร์มีกําหนด 20 ปีนั้น จึงชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

สรุป

การที่นายอาทิตย์ให้นายพุธเป็นองค์คณะร่วมกับนายอังคาร การที่นายพุธออกหมายจับ นายเสาร์ และการทําคําพิพากษาของนายอังคารและนายพุธชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

 

ข้อ 2. นายปราโมทย์เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายประดิษฐ์เป็นจําเลยต่อศาลจังหวัดสุรินทร์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 กล่าวหาว่านายประดิษฐ์ มีพฤติกรรมฉ้อโกงหลอกลวงซื้อสินค้าโจทก์ไปเป็นเงิน จํานวน 5 ล้านบาท แล้วสั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงเทพ จํากัด สาขาสุรินทร์ เพื่อชําระหนี้ค่าซื้อสินค้า จํานวน 5 ฉบับ ๆ ละ 1 ล้านบาท เมื่อเช็คถึงกําหนดนายปราโมทย์นําเช็คทั้ง 5 ฉบับเข้าธนาคาร เพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้ง 5 ฉบับ โดยนายประดิษฐ์มีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ศาลจังหวัดสุรินทร์มีคําสั่งในคําฟ้องว่า “นัดไต่สวนมูลฟ้องให้โจทก์นําส่งหมายนัด” ครั้นถึงวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง ผู้พิพากษาศาลจังหวัดสุรินทร์เห็นว่า คดีไม่อยู่ในอํานาจของ ศาลจังหวัดสุรินทร์ แต่เป็นคดีที่อยู่ในอํานาจศาลแขวงสุรินทร์ จึงให้งดการไต่สวนมูลฟ้องและมีคําสั่ง ให้โอนคดีไปยังศาลแขวงสุรินทร์ ขอให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า คําสั่งของผู้พิพากษาศาลจังหวัดสุรินทร์ ชอบด้วยกฎหมายพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 และ พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 มีอัตราโทษจําคุกอย่างสูง ไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท)

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 17 “ศาลแขวงมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดี และมีอํานาจทําการไต่สวน หรือมีคําสั่ง ใด ๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 วรรคหนึ่ง”

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ใน อํานาจของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(5) พิจารณาพิพากษาคดีอาญา ซึ่งกฎหมายกําหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ แต่จะลงโทษจําคุกเกินหกเดือน หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือ ทั้งจําทั้งปรับ ซึ่งโทษจําคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้”

มาตรา 19/1 วรรคหนึ่ง “บรรดาคดีซึ่งเกิดขึ้นในเขตศาลแขวงและอยู่ในอํานาจของศาลแขวงนั้น ถ้ายื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี หรือ ศาลจังหวัด ให้อยู่ในดุลพินิจของศาลดังกล่าวที่จะยอมรับพิจารณาคดีใดคดีหนึ่งที่ยื่นฟ้องเช่นนั้น หรือมีคําสั่งโอนคดี ไปยังศาลแขวงที่มีเขตอํานาจก็ได้ และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด หากศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี หรือศาลจังหวัดได้มีคําสั่งรับฟ้องคดีเช่นว่านั้นไว้แล้ว ให้ศาลดังกล่าว พิจารณาพิพากษาคดีนั้นต่อไป”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายปราโมทย์เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายประดิษฐ์เป็นจําเลยต่อศาล จังหวัดสุรินทร์ ในความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อาญา มาตรา 352 และความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจาก การใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ซึ่งเป็นคดีที่มีอัตราโทษจําคุกอย่างสูงไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาทนั้น ถือว่าเป็นคดีที่อยู่ในอํานาจการพิจารณาของศาลแขวงตามมาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (5) โดยหลักแล้ว นายปราโมทย์จะต้องนําคดีดังกล่าวไปฟ้องยังศาลแขวงมิใช่ศาลจังหวัดสุรินทร์

การที่นายปราโมทย์ได้นําคดีดังกล่าวไปฟ้องยังศาลจังหวัดสุรินทร์ และการที่ผู้พิพากษาศาล จังหวัดสุรินทร์มีคําสั่งในคําฟ้องว่า “นัดไต่สวนมูลฟ้องให้โจทก์นําส่งหมายนัด” นั้น กรณีเช่นนี้ ยังถือไม่ได้ว่า ศาลจังหวัดสุรินทร์ได้ใช้ดุลพินิจรับฟ้องคดีเช่นว่านั้นไว้แล้ว ดังนั้น เมื่อถึงวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง ผู้พิพากษาศาล จังหวัดสุรินทร์เห็นว่า คดีไม่อยู่ในอํานาจของศาลจังหวัดสุรินทร์ แต่เป็นคดีที่อยู่ในอํานาจศาลแขวงสุรินทร์ จึงให้ งดไต่สวนมูลฟ้องและมีคําสั่งให้โอนคดีไปยังศาลแขวงสุรินทร์เพื่อพิจารณาพิพากษาต่อไป คําสั่งของผู้พิพากษา ศาลจังหวัดสุรินทร์จึงชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมตามมาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (5) และมาตรา 19/1 วรรคหนึ่ง

สรุป คําสั่งของผู้พิพากษาศาลจังหวัดสุรินทร์ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

 

ข้อ 3. นายเขียวบุตรชายคนเดียวของนายดําผู้ตาย ได้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายดําต่อศาลแขวงธนบุรี เนื่องจากนายดํามีที่ดินจํานวนห้าสิบตารางวา ซึ่งมีราคาสามแสนบาทถ้วน ตามราคาประเมินของ กรมที่ดินในขณะนั้น ศาลแขวงธนบุรีสั่งไม่รับคําร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายเขียว ท่านเห็นว่า คําสั่งของศาลแขวงดังกล่าวชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 17 “ศาลแขวงมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดี และมีอํานาจทําการไต่สวน หรือมีคําสั่ง ใด ๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 วรรคหนึ่ง”

มาตรา 19 วรรคหนึ่ง “ศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ และศาลแพ่งธนบุรีมีอํานาจพิจารณา พิพากษาคดีแพ่งทั้งปวงและคดีอื่นใดที่มิได้อยู่ในอํานาจของศาลยุติธรรมอื่น”

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจ ของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกิน สามแสนบาท ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา”

วินิจฉัย

ตามหลักของพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 17 คดีแพ่งที่ศาลแขวง โดยผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ต้องเป็นคดีมีข้อพิพาท และคดีมีข้อพิพาทนั้นจะต้องเป็น คดีที่มีทุนทรัพย์ และทุนทรัพย์ที่ฟ้องนั้นต้องมีราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกิน 3 แสนบาท หากเกินกว่า 3 แสนบาท หรือเป็นคดีที่ไม่มีข้อพิพาท ศาลแขวงจะรับคดีนั้นไว้พิจารณาพิพากษาไม่ได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเขียวต้องการยื่นคําร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคําสั่งตั้งตนเป็น ผู้จัดการมรดกของนายดําเจ้ามรดกนั้น ถือเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทและคดีไม่มีทุนทรัพย์ จึงไม่อยู่ในอํานาจพิจารณา พิพากษาคดีของศาลแขวง ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 17 นายเขียวจะต้อง นําคดีนี้ไปยื่นคําร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกได้ที่ศาลแพ่งธนบุรี จะนําไปยื่นที่ศาลแขวงธนบุรีไม่ได้ เพราะคดี ดังกล่าวอยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษาของศาลแพ่งธนบุรี ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 19 วรรคหนึ่ง ดังนั้น การที่นายเขียวได้ยื่นคําร้องคดีดังกล่าวต่อศาลแขวงธนบุรีและศาลแขวงธนบุรีมีคําสั่งไม่รับคําร้องขอเป็น ผู้จัดการมรดกของนายเขียวนั้น คําสั่งของศาลแขวงธนบุรีจึงชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

สรุป คําสั่งของศาลแขวงธนบุรีดังกล่าวขอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

Advertisement