การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2557
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3004 พระธรรมนูญศาลยุติธรรม
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1. นายแดง ผู้พิพากษาศาลแขวงได้พิจารณาคดีอาญาเรื่องหนึ่ง ซึ่งมีอัตราโทษจําคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกพันบาท แล้วเห็นควรพิพากษาลงโทษจําคุกจําเลยหนึ่งปี แต่จําเลยให้การรับสารภาพ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อรูปคดีจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงเหลือจําคุกหกเดือน แต่จําเลยในคดีนี้เคยถูก ศาลพิพากษาลงโทษจําคุกในคดีอื่นมาแล้ว โดยศาลในคดีเดิมได้รอการลงโทษจําคุกสามเดือนไว้ ต่อมาจําเลยได้กระทําความผิดในคดีนี้ภายในระยะเวลาที่ถูกรอการลงโทษ ดังนั้น นายแดง จึง พิพากษาลงโทษจําคุกจําเลยโดยบวกโทษที่รอไว้ในคดีก่อนเข้ากับโทษในคดีหลัง เป็นจําคุกจําเลยเก้าเดือน ดังนี้การพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวชอบหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
มาตรา 17 “ศาลแขวงมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดี และมีอํานาจทําการไต่สวน หรือมีคําสั่งใด ๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 วรรคหนึ่ง”
มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ใน อํานาจของศาลนั้น ดังต่อไปนี้
(5) พิจารณาพิพากษาคดีอาญา ซึ่งกฎหมายกําหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ แต่จะลงโทษจําคุกเกินหกเดือน หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจํา ทั้งปรับ ซึ่งโทษจําคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้”
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58 วรรคแรก “เมื่อปรากฏแก่ศาลเอง หรือความปรากฏตาม คําแถลงของโจทก์หรือเจ้าพนักงานว่า ภายในเวลาที่ศาลกําหนดตามมาตรา 56 ผู้ที่ถูกศาลพิพากษาได้กระทําความผิด อันมิใช่ความผิดที่ได้กระทําโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ และศาลพิพากษาให้ลงโทษจําคุกสําหรับความผิดนั้น ให้ศาลที่พิพากษาคดีหลังกําหนดโทษที่รอการกําหนดไว้ในคดีก่อนบวกเข้ากับโทษในคดีหลัง หรือบวกโทษที่รอ การลงโทษไว้ในคดีก่อนเข้ากับโทษในคดีหลัง แล้วแต่กรณี”
วินิจฉัย
ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (5) ประกอบมาตรา 17 ศาลแขวงมีอํานาจพิจารณา พิพากษาคดีอาญา ซึ่งมีอัตราโทษจําคุกอย่างสูงไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับได้ แต่ จะลงโทษจําคุกเกิน 6 เดือน หรือปรับเกิน 10,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ซึ่งโทษจําคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายแดงผู้พิพากษาศาลแขวงได้พิจารณาคดีอาญาเรื่องหนึ่ง ซึ่งมี อัตราโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 6,000 บาท แล้วพิพากษาลงโทษจําคุกจําเลย 1 ปี แต่จําเลยให้การ รับสารภาพจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงเหลือจําคุก 6 เดือนนั้น คําพิพากษาของนายแดงดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย เพราะมิได้ลงโทษจําคุกเกิน 6 เดือน และแม้ว่านายแดงให้นําโทษจําคุกในคดีก่อนที่ศาลได้พิพากษาลงโทษจําคุก 3 เดือน แต่ให้รอการลงโทษไว้มาบวกเข้ากับโทษจําคุกในคดีนี้ทําให้จําเลยต้องรับโทษจําคุกรวมทั้งหมด 9 เดือนก็ตาม ก็เป็นเพียงการดําเนินการตามที่ ป.อาญา มาตรา 58 วรรคแรก ได้กําหนดไว้เท่านั้น ดังนั้น การพิจารณา พิพากษาคดีของนายแดงดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย
สรุป การพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย
ข้อ 2. นายปราณนท์ต้องการยื่นคําร้องขอต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการให้ศาลสั่งนายปราณพี่ชายฝาแฝดเป็นบุคคลไร้ความสามารถโดยมีตนเป็นผู้อนุบาล ซึ่งนายปราณป่วยนอนไม่ได้สติอยู่ที่โรงพยาบาล มานานเกินกว่า 2 ปีแล้วตามใบรับรองแพทย์ และนายปราณนที่ไม่สามารถจัดการเบิกถอนเงินใน บัญชีธนาคารของนายปราณ เพื่อนํามาจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับนายปราณได้ โดยนายปราณ มีเงินฝากธนาคารกรุงธนจังหวัดสมุทรปราการ 10 ล้านบาท และเงินฝากธนาคารกรุงสยาม จังหวัดสมุทรปราการ 3 แสนบาท นายสินธรซึ่งเป็นอาของนายปราณนท์และนายปราณได้คัดค้าน ในที่ประชุมญาติ อ้างว่านายปราณนท์ยื่นคําร้องดังกล่าวที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการหมดเลยไม่ได้ เนื่องจากต้องแยกยืนเป็น 2 ศาล คือศาลจังหวัดสมุทรปราการในบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงธน และ ศาลแขวงสมุทรปราการในบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงสยาม โดยดูจากจํานวนเงินในธนาคารที่มี ไม่เท่ากัน และอํานาจศาลที่จะสามารถรับคดีนี้ได้
ในฐานะที่ท่านเป็นนักศึกษากฎหมาย ให้ท่าน แนะนํานายปราณนท์และนายสินธรเกี่ยวกับการยื่นคําร้องขอให้นายปราณเป็นบุคคลไร้ความสามารถครั้งนี้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
มาตรา 17 “ศาลแขวงมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดี และมีอํานาจทําการไต่สวน หรือมีคําสั่งใด ๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 วรรคหนึ่ง”
มาตรา 18 “ศาลจังหวัดมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งและคดีอาญาทั้งปวงที่มิได้อยู่ใน อํานาจของศาลยุติธรรมอื่น”
มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ใน อํานาจของศาลนั้น ดังต่อไปนี้
(4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกิน สามแสนบาท ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา”
วินิจฉัย
ตามหลักของพระธรรมนูญศาลยุติธรรม คดีแพ่งที่ศาลแขวงโดยผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจ พิจารณาพิพากษาคดีนั้น ต้องเป็นคดีที่มีทุนทรัพย์ และทุนทรัพย์ที่ฟ้องนั้นต้องมีราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือ จํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกิน 3 แสนบาท หากเกินกว่า 3 แสนบาท ศาลแขวงจะรับคดีนั้นไว้พิจารณาไม่ได้ (มาตรา 25 (4) ประกอบกับมาตรา 17)
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายปราณนท์ต้องการยื่นคําร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคําสั่งให้ นายปราณเป็นบุคคลไร้ความสามารถ และตั้งให้ตนเองเป็นผู้อนุบาลนั้น ถือว่าเป็นคดีที่มีคําขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคํานวณเป็นตัวเงินได้ เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์และเป็นคดีไม่มีข้อพิพาท ดังนั้น นายปราณนท์จะต้อง ยื่นคําร้องดังกล่าวต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการตามมาตรา 18 โดยไม่ต้องพิจารณาเรื่องเงินในบัญชีของธนาคารใดเลย จะยื่นคําร้องต่อศาลแขวงสมุทรปราการไม่ได้ เพราะศาลแขวงมีอํานาจพิจารณาพิพากษาเฉพาะคดีแพ่งที่มีทุนทรัพย์ หรือจํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกิน 3 แสนบาทเท่านั้น (มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4)
สรุป
ข้าพเจ้าจะแนะนํานายปราณนท์และนายสินธรว่าจะต้องยื่นคําร้องดังกล่าวต่อศาล จังหวัดสมุทรปราการ โดยไม่ต้องพิจารณาเรื่องเงินในบัญชีของธนาคารใด ๆ เลย
ข้อ 3. นายมนัส อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาจ่ายสํานวนคดีอาญาเรื่องหนึ่งให้นายมนูกับนายมานิตผู้พิพากษาศาลอาญาเป็นองค์คณะพิจารณาคดี ระหว่างพิจารณาคดี นายมนูได้รับคําสั่งให้ย้ายไปรับราชการ ที่ต่างจังหวัด นายมานิตจะนําคดีไปปรึกษากับนายมนัส แต่ทราบว่านายมนัสลาป่วยอยู่ที่โรงพยาบาล และนายมโน รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคนที่ 1 ไปรับราชการยังต่างประเทศ ส่วนนายมานพ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคนที่ 2 ติดอบรมอยู่ต่างจังหวัด คงเหลือแต่นายมาโนช รองอธิบดี ผู้พิพากษาศาลอาญาคนที่ 3 เป็นผู้ที่มีอาวุโสสูงสุดจึงมอบหมายนายมานนท์ผู้พิพากษาศาลอาญา เข้าเป็นองค์คณะแทนนายมนูร่วมพิจารณาคดีกับนายมานิตต่อไป ดังนี้ การกระทําของนายมาโนชรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคนที่ 3 ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
มาตรา 8 วรรคสอง “เมื่อตําแหน่งประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลอุทธรณ์ ภาค หรืออธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นว่างลง หรือเมื่อผู้ดํารงตําแหน่งดังกล่าวไม่อาจปฏิบัติราชการได้ให้รองประธาน ศาลฎีกา รองประธานศาลอุทธรณ์ รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค หรือรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น แล้วแต่กรณี เป็นผู้ทําการแทน ถ้ามีรองประธานศาลฎีกา รองประธานศาลอุทธรณ์ รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค หรือรองอธิบดี ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นหลายคน ให้รองประธานศาลฎีกา รองประธานศาลอุทธรณ์ รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค หรือรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นที่มีอาวุโสสูงสุดเป็นผู้ทําการแทน ถ้าผู้ที่มีอาวุโสสูงสุดไม่อาจปฏิบัติราชการแทนได้ ให้ผู้ที่มีอาวุโสถัดลงมาตามลําดับเป็นผู้ทําการแทน”
มาตรา 26 “ภายใต้บังคับมาตรา 25 ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้น นอกจาก ศาลแขวงและศาลยุติธรรมอื่นซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย สองคนและต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจําศาลเกินหนึ่งคน จึงเป็นองค์คณะที่มีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีแพง หรือคดีอาญาทั้งปวง”
มาตรา 28 “ในระหว่างการพิจารณาคดีใด หากมีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจ ก้าวล่วงได้ ทําให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้น ไม่อาจจะนั่งพิจารณาคดีต่อไป ให้ผู้พิพากษา ดังต่อไปนี้นั่งพิจารณาคดีนั้นแทนต่อไปได้
(3) ในศาลชั้นต้น ได้แก่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค ผู้พิพากษา หัวหน้าศาล หรือรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรือผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นของศาลนั้นซึ่งอธิบดีผู้พิพากษา ศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแล้วแต่กรณีมอบหมาย
ให้ผู้ทําการแทนในตําแหน่งต่าง ๆ ตามมาตรา 8 มาตรา 9 และมาตรา 13 มีอํานาจตาม (1) (2) และ (3) ด้วย”
มาตรา 30 “เหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 หมายถึง กรณีที่ ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะนั่งพิจารณาคดีนั้นพ้นจากตําแหน่งที่ดํารงอยู่ หรือถูกคัดค้านและถอนตัวไป หรือไม่อาจ ปฏิบัติราชการจนไม่สามารถนั่งพิจารณา หรือทําคําพิพากษาในคดีนั้นได้”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายมนัส อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาจ่ายสํานวนคดีอาญาให้นายมนู กับนายมานิตผู้พิพากษาศาลอาญาเป็นองค์คณะพิจารณาคดีนั้น เมื่อในระหว่างพิจารณาคดี นายมนูได้รับคําสั่ง ให้ย้ายไปรับราชการที่ต่างจังหวัด ซึ่งถือเป็นเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 30 กรณีจึงต้องด้วย บทบัญญัติมาตรา 28 (3) ประกอบมาตรา 26 ที่ต้องให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาหรือผู้พิพากษาในศาลอาญา ซึ่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญามอบหมายนั่งพิจารณาคดีนั้นแทนต่อไป
แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายมนัสอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาลาป่วยอยู่ที่โรงพยาบาล นายมโนรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคนที่ 1 ไปรับราชการยังต่างประเทศ ส่วนนายมานพรองอธิบดีผู้พิพากษา ศาลอาญาคนที่ 2 ติดอบรมอยู่ต่างจังหวัด จึงถือเป็นเหตุจําเป็นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 30 กรณีจึงต้องด้วย บทบัญญัติมาตรา 8 วรรคสอง ประกอบมาตรา 28 วรรคสอง ที่นายมาโนช ซึ่งเป็นรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา คนที่ 3 เป็นผู้ทําการแทนโดยเป็นผู้นั่งพิจารณาคดีนั้นแทน หรืออาจมอบหมายให้ผู้พิพากษาในศาลอาญานั้นเป็น ผู้นั่งพิจารณาคดีนั้นแทนต่อไปก็ได้
ดังนั้น การที่นายมาโนชได้มอบหมายให้นายมานนท์ผู้พิพากษาศาลอาญาเข้าเป็นองค์คณะ แทนนายมนูร่วมพิจารณาคดีกับนายมานิต จึงเป็นการกระทําที่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
สรุป การกระทําของนายมาโนชรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคนที่ 3 ชอบด้วยพระธรรมนูญ ศาลยุติธรรม