การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2555

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3004 พระธรรมนูญศาลยุติธรรม

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. โจทก์ฟ้องขับไล่จําเลยออกจากที่ดินที่เช่าต่อศาลจังหวัดนครปฐมและขอให้ศาลจังหวัดนครปฐมพิพากษาบังคับให้จําเลยชําระค่าเช่าที่ดินที่ค้างชําระเป็นเงินสองแสนห้าหมื่นบาท ศาลจังหวัดนครปฐม เห็นว่าทุนทรัพย์ในคดีอยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงนครปฐม จึงสั่งโอนคดีไปยัง ศาลแขวงนครปฐม ซึ่งมีเขตอํานาจตลอดเขตจังหวัดนครปฐม ศาลแขวงนครปฐมสั่งไม่รับโอนคดี ที่โอนมาจากศาลจังหวัดนครปฐม โดยเห็นว่าคดีอยู่ในอํานาจของศาลจังหวัดนครปฐม

คําสั่งของศาลทั้งสองนี้ถูกต้องหรือไม่ ให้อธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 17 “ศาลแขวงมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดี และมีอํานาจทําการไต่สวน หรือมีคําสั่ง ใด ๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 วรรคหนึ่ง”

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจ ของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกิน สามแสนบาท ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา”

วินิจฉัย

ตามหลักของพระธรรมนูญศาลยุติธรรม คดีแพ่งที่ศาลแขวงโดยผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจ พิจารณาพิพากษาคดีนั้น ต้องเป็นคดีที่มีทุนทรัพย์ และทุนทรัพย์ที่ฟ้องนั้นต้องมีราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือ จํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกิน 3 แสนบาท หากเกินกว่า 3 แสนบาท ศาลแขวงจะรับคดีนั้นไว้พิจารณาไม่ได้ (มาตรา 25(4) ประกอบกับมาตรา 17)

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า คดีฟ้องขับไล่จําเลยออกจากที่ดินที่เช่าและ ให้จําเลยชําระค่าเช่าที่ดินที่ค้างชําระเป็นเงินสองแสนห้าหมื่นบาทนั้น เป็นคดีที่อยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษา ของศาลแขวงนครปฐมหรือศาลจังหวัดนครปฐม กรณีนี้เห็นว่าจากคําฟ้องของโจทก์นั้นคดีหลักคือคดีฟ้องขับไล่ จําเลยออกจากที่ดินที่เช่าเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ แม้ว่าโจทก์จะฟ้องเรียกค่าเช่ามาด้วยก็ตามก็ไม่ทําให้คดีนี้เป็นคดี ที่มีทุนทรัพย์ ดังนั้น คดีดังกล่าวจึงไม่อยู่ในอํานาจของศาลแขวงนครปฐมตามมาตรา 25(4) ประกอบมาตรา 17 (คําพิพากษาฎีกาที่ 22/2503 (ประชุมใหญ่)

เมื่อโจทก์นําคดีไปฟ้องยังศาลจังหวัดนครปฐม และศาลจังหวัดนครปฐมมีคําสั่งให้โอนคดีไป ยังศาลแขวงนครปฐมโดยเห็นว่าคดีอยู่ในอํานาจของศาลแขวงนครปฐม คําสั่งโอนคดีของศาลจังหวัดนครปฐม จึงไม่ถูกต้อง ส่วนคําสั่งไม่รับโอนคดีของศาลแขวงนครปฐมโดยเห็นว่าคดีอยู่ในอํานาจของศาลจังหวัดนครปฐม นั้นถูกต้อง เพราะคดีดังกล่าวศาลแขวงไม่มีอํานาจพิจารณาพิพากษาเพราะเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์แม้โจทก์จะ ฟ้องเรียกค่าเช่าไม่เกินสามแสนบาทซึ่งเป็นทุนทรัพย์ที่อยู่ในอํานาจศาลแขวงตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25(4) ก็ตาม

สรุป คําสั่งโอนคดีของศาลจังหวัดนครปฐมไม่ถูกต้อง ส่วนคําสั่งไม่รับโอนคดีของศาลแขวงนครปฐมถูกต้อง

 

ข้อ 2. ศาลจังหวัดมีนบุรีได้พิจารณาคดีซึ่งพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจําเลย ฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ซึ่งระวางโทษประหารชีวิต จําคุกตลอดชีวิตหรือจําคุกตั้งแต่สิบห้าปี ถึงยี่สิบปี เมื่อศาลได้พิจารณาคดีเสร็จแล้ว จึงมีคําพิพากษาลงโทษจําคุกจําเลยตลอดชีวิต โจทก์ จําเลย มิได้อุทธรณ์ ศาลจังหวัดมีนบุรีจึงได้ส่งสํานวนคดีดังกล่าวไปยังศาลอุทธรณ์ ตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญามาตรา 245 นายเอก นายโท นายตรี ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ได้เป็นองค์คณะ ร่วมกันพิจารณาคดีแล้วเห็นว่า การกระทําของจําเลยเป็นการทารุณโหดร้าย เป็นที่น่าหวาดกลัว แก่ประชาชนโดยทั่วไป จึงพิพากษาแก้ไขคําพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นลงโทษประหารชีวิต ท่านเห็นว่า คําพิพากษาของศาลอุทธรณ์ดังกล่าว ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 22 “ศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาคมีอํานาจพิจารณาพิพากษาบรรดาคดีที่อุทธรณ์ คําพิพากษาหรือคําสั่งของศาลชั้นต้น ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการอุทธรณ์ และว่าด้วยเขตอํานาจศาล และมีอํานาจดังต่อไปนี้

(1) พิพากษายืนตาม แก้ไข กลับ หรือยกคําพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพากษาลงโทษ ประหารชีวิตหรือจําคุกตลอดชีวิต ในเมื่อคดีนั้นได้ส่งขึ้นมายังศาลอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ภาคตามที่บัญญัติไว้ ในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา”

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 212 “คดีที่จําเลยอุทธรณ์คําพิพากษา ที่ให้ลงโทษ ห้ามมิให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาเพิ่มเติมโทษจําเลย เว้นแต่โจทก์จะได้อุทธรณ์ในทํานองนั้น”

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 วรรคสอง “ศาลชั้นต้นมีหน้าที่ ต้องส่งสํานวนคดีที่พิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิต หรือจําคุกตลอดชีวิต ไปยังศาลอุทธรณ์ในเมื่อไม่มีการอุทธรณ์ คําพิพากษานั้น และคําพิพากษาเช่นว่านี้จะยังไม่ถึงที่สุด เว้นแต่ศาลอุทธรณ์จะได้พิพากษายืน”

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา 22 ของพระธรรมนูญศาลยุติธรรมดังกล่าว จะเห็นว่าโดยหลักการแล้ว ศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคจะมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีที่คู่ความอุทธรณ์คัดค้านคําพิพากษาหรือคําสั่ง ของศาลชั้นต้นมาเท่านั้น ดังนั้นหากคู่ความมิได้อุทธรณ์ คดีย่อมยุติเสร็จเด็ดขาดไปตามคําพิพากษาหรือคําสั่ง ของศาลชั้นต้น แต่ความในมาตรา 22(1) ได้บัญญัติเป็นข้อยกเว้นกําหนดให้ศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค มีอํานาจพิพากษายืนตาม แก้ไข กลับ หรือยกคําพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพากษาลงโทษประหารชีวิต หรือ จําคุกตลอดชีวิต ในเมื่อคดีได้ส่งขึ้นมายังศาลอุทธรณ์ หรือศาลอุทธรณ์ภาคตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญามาตรา 245 วรรคสอง คือ เมื่อโจทก์และจําเลยไม่ได้อุทธรณ์คําพิพากษานั้น และพ้นกําหนด ระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว ในกรณีนี้หากศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น คดีเป็นอันยุติ คู่ความจะฎีกาต่อไปอีกไม่ได้

ดังนั้นกรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อศาลจังหวัดมีนบุรีพิพากษาลงโทษจําคุกจําเลยตลอดชีวิต พ้นกําหนดระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว โจทก์จําเลยไม่อุทธรณ์ ศาลจังหวัดมีนบุรีจึงต้องส่งสํานวนไปให้ศาลอุทธรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 245 วรรคสอง และศาลอุทธรณ์มีอํานาจพิพากษายืนตาม แก้ไข กลับ หรือยกคําพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพากษาลงโทษจําคุกตลอดชีวิตจําเลยดังกล่าวได้

แต่อย่างไรก็ตาม ศาลอุทธรณ์จะแก้ไขคําพิพากษาของศาลจังหวัดมีนบุรีเพื่อลงโทษจําเลย ให้หนักขึ้นไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 212 ทั้งนี้เพราะคดีดังกล่าวโจทก์และจําเลย มิได้อุทธรณ์คําพิพากษา ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาลงโทษจําเลยให้หนักขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคดีนั้นโจทก์อุทธรณ์ขอให้ เพิ่มโทษจําเลยเท่านั้น ดังนั้นเมื่อศาลอุทธรณ์แก้ไขคําพิพากษาของศาลชั้นต้นเป็นลงโทษประหารชีวิต คําพิพากษา ของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 22(1) ประกอบ ป.วิ.อาญา มาตรา 212

สรุป คําพิพากษาของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 3. ในศาลจังหวัดบึงกาฬ (ไม่มีศาลแขวงอยู่ในเขตอํานาจ) นายจันทร์ผู้พิพากษาจังหวัดบึงกาฬได้พิจารณาคดีแพ่งซึ่งโจทก์ฟ้องจําเลยมีทุนทรัพย์ 280,000 บาท ขณะที่ทําคําพิพากษานายจันทร์พบว่า ราคาทรัพย์สินดังกล่าวมีราคา 400,000 บาท นายจันทร์จึงนําคดีไปให้นายอังคารผู้พิพากษา หัวหน้าศาลจังหวัดบึงกาฬตรวจสํานวน ลงลายมือชื่อเป็นองค์คณะทําคําพิพากษา แต่เนื่องจาก นายอังคารได้เดินทางไปราชการต่างประเทศ นายพุธผู้พิพากษาอาวุโสในศาลนั้นจึงนําสํานวนดังกล่าว มาตรวจและลงลายมือชื่อทําคําพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี คําพิพากษาดังกล่าวของนายจันทร์และ นายพุธ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 9 วรรคสองและวรรคท้าย “เมื่อตําแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดหรือผู้พิพากษา หัวหน้าศาลแขวงว่างลง หรือเมื่อผู้ดํารงตําแหน่งดังกล่าวไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้ผู้พิพากษาที่มีอาวุโสสูงสุด ในศาลนั้นเป็นผู้ทําการแทน ถ้าผู้ที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลนั้นไม่อาจปฏิบัติราชการได้ให้ผู้พิพากษาที่มีอาวุโสถัดลงมา ตามลําดับในศาลนั้นเป็นผู้ทําการแทน

ผู้พิพากษาอาวุโสหรือผู้พิพากษาประจําศาลจะเป็นผู้ทําการแทนในตําแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ไม่ได้”

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจ ของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกิน สามแสนบาท ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา”

มาตรา 29 “ในระหว่างการทําคําพิพากษาคดีใด หากมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจ ก้าวล่วงได้ ทําให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้นไม่อาจจะทําคําพิพากษาในคดีนั้นต่อไปได้ ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้มีอํานาจลงลายมือชื่อทําคําพิพากษา และเฉพาะในศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค และ ศาลชั้นต้น มีอํานาจทําความเห็นแย้งได้ด้วย ทั้งนี้หลังจากได้ตรวจสํานวนคดีนั้นแล้ว

(3) ในศาลชั้นต้น ได้แก่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค รองอธิบดี ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล แล้วแต่กรณี

ให้ผู้ทําการแทนในตําแหน่งต่าง ๆ ตามมาตรา 8 มาตรา 9 และมาตรา 13 มีอํานาจตาม (1) (2) และ (3) ด้วย”

มาตรา 31 “เหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 นอกจากที่ กําหนดไว้ในมาตรา 30 แล้วให้หมายความรวมถึงกรณีดังต่อไปนี้ด้วย

(4) กรณีที่ผู้พิพากษาคนเดียวพิจารณาคดีแพ่งตามมาตรา 25(4) ไปแล้ว ต่อมาปรากฏว่า ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ฟ้องเกินกว่าอํานาจพิจารณาพิพากษาของผู้พิพากษาคนเดียว”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ คดีแพ่งซึ่งโจทก์ฟ้องจําเลยมีทุนทรัพย์เพียง 280,000 บาท ซึ่งไม่เกิน 300,000 บาท เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องที่ศาลจังหวัดบึงกาฬ จึงอยู่ในอํานาจผู้พิพากษาคนเดียวในการพิจารณาพิพากษา ดังนั้นนายจันทร์จึงพิจารณาคดีนี้ได้ตามมาตรา 25(4) แต่เมื่อต่อมาราคาทรัพย์ที่พิพาทเพิ่มขึ้นเป็น 400,000 บาท จึงเป็นกรณีเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 31(4) ที่นายจันทร์ผู้พิพากษาคนเดียวไม่อาจทําคําพิพากษา ในคดีนี้ต่อไปได้ นายจันทร์จะต้องนําสํานวนคดีนี้ไปให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดบึงกาฬตรวจสํานวนและ ทําคําพิพากษาร่วมตามมาตรา 29(3)

1 แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายอังคารผู้พิพากษาหัวหน้าศาลได้ไปราชการต่างประเทศจึงไม่อาจ ปฏิบัติราชการได้ จึงต้องนํามาตรา 9 วรรคสองมาใช้บังคับ (ตามมาตรา 29 วรรคสอง) กล่าวคือให้ผู้ทําการแทน นายอังคารผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดบึงกาฬซึ่งหมายถึงผู้พิพากษาที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลนั้นตรวจสํานวน และทําคําพิพากษา คําพิพากษานั้นจึงจะชอบด้วยกฎหมาย

แต่เมื่อตามอุทาหรณ์ นายพุธผู้พิพากษาอาวุโสในศาลนั้นเป็นผู้ตรวจสํานวนและลงลายมือชื่อ ทําคําพิพากษาร่วมกับนายจันทร์ การกระทําของนายพุธถือว่าเป็นการขัดต่อมาตรา 9 วรรคท้ายซึ่งบัญญัติ ห้ามมิให้ผู้พิพากษาอาวุโสเป็นผู้ทําการแทนในตําแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ดังนั้นคําพิพากษาดังกล่าวของ นายจันทร์และนายพุธจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป คําพิพากษาของนายจันทร์และนายพุธไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

Advertisement