การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2558
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1. นายสมยศชอบพอกับ น.ส.ปัทมาจนรักกันในที่สุด แต่นายสมยศไม่ทราบว่า น.ส.ปัทมามีสามีแล้ว ต่อมา น.ส.ปัทมาจึงจดทะเบียนหย่ากับนายกมล (สามี) และ 30 วันต่อมานายสมยศได้ทําสัญญาหมั้น น.ส.ปัทมาด้วยแหวนเพชรและทอง 10 บาท โดยไม่ทราบว่า น.ส.ปัทมาหย่าได้เพียง 30 วันเท่านั้น แต่นายสมยศไม่ทราบว่าก่อนการหย่านั้น น.ส.ปัทมาได้ทําการฉ้อโกงหลอกลวงเอาทรัพย์สินจาก บิดามารดาของนายกมลมาเป็นจํานวนมาก ทําให้มารดาของนายกมลเสียใจจนเสียชีวิต เมื่อนายสมยศ ทราบก็เห็นว่า น.ส.ปัทมาไม่เหมาะสมที่จะเป็นภริยาและการหมั้นทําไม่ถูกต้องเพราะหญิงสิ้นสุด การสมรสเพียง 30 วันเท่านั้น แต่ น.ส.ปัทมาอ้างว่าได้แจ้งแก่ญาติพี่น้องแล้วถึงงานสมรส จึงต้อง ทําการสมรสตามสัญญาหมั้น เช่นนี้ นายสมยศจะไม่ทําการสมรสกับ น.ส.ปัทมาได้หรือไม่ และจะฟ้องเรียกค่าทดแทนจาก น.ส.ปัทมาได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1442 “ในกรณีมีเหตุสําคัญอันเกิดแก่หญิงคู่หมั้น ทําให้ชายไม่สมควรสมรสกับหญิงนั้น ชายมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้และให้หญิงคืนของหมั้นแก่ชาย”
มาตรา 1444 “ถ้าเหตุอันทําให้คู่หมั้นบอกเลิกสัญญาหมั้น เป็นเพราะการกระทําชั่วอย่างร้ายแรง ของคู่หมั้นอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งได้กระทําภายหลังการหมั้นคู่หมั้นผู้กระทําชั่วอย่างร้ายแรงนั้นต้องรับผิดใช้ค่าทดแทน แก่คู่หมั้นผู้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นเสมือนเป็นผู้ผิดสัญญาหมั้น”
มาตรา 1453 วรรคหนึ่ง “หญิงที่สามีตายหรือที่การสมรสสิ้นสุดลงด้วยประการอื่นจะทําการ สมรสใหม่ได้ต่อเมื่อการสิ้นสุดแห่งการสมรสได้ผ่านพ้นไปแล้วไม่น้อยกว่าสามร้อยสิบวัน…”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้
ประเด็นแรก นายสมยศจะไม่ทําการสมรสกับ น.ส.ปัทมาได้หรือไม่ เห็นว่า การที่ น.ส.ปัทมา ได้ทําการฉ้อโกงหลอกลวงเอาทรัพย์สินจากบิดามารดาของนายกมลมาเป็นจํานวนมาก ทําให้มารดาของนายกมล เสียใจจนเสียชีวิตนั้น ถือเป็นกรณีที่มีเหตุสําคัญอันเกิดแก่หญิงคู่หมั้นทําให้ชายไม่สมควรสมรสกับหญิงนั้น ตามมาตรา 1442 ดังนั้นนายสมยศจึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้ และให้ น.ส.ปัทมาคืนของหมั้นแก่นายสมยศ
แต่อย่างไรก็ตาม การที่นายสมยศอ้างว่าการหมั้นทําไม่ถูกต้อง เพราะหญิงสิ้นสุดการสมรสได้ เพียง 30 วันเท่านั้น ไม่สามารถอ้างได้เพราะตามมาตรา 1453 วรรคหนึ่ง นั้น เป็นกรณีที่กฎหมายห้ามหญิงที่ การสมรสสิ้นสุดลงสมรสใหม่ภายในสามร้อยสิบวัน แต่ น.ส.ปัทมาเพียงแต่ทําการหมั้นกับนายสมยศจึงไม่ได้ เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าวแต่อย่างใด
ประเด็นที่สอง นายสมยศจะฟ้องเรียกค่าทดแทนจาก น.ส.ปัทมาได้หรือไม่ เห็นว่า แม้ว่า การที่ น.ส.ปัทมาได้ทําการฉ้อโกงหลอกลวงเอาทรัพย์สินจากบิดามารดาของนายกมลมาเป็นจํานวนมาก จนทําให้มารดาของนายกมลเสียใจจนเสียชีวิตนั้น จะเป็นการกระทําชั่วอย่างร้ายแรงของคู่หมั้นอีกฝ่ายหนึ่งก็ตาม แต่ก็เป็นการกระทําก่อนการหมั้น จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะทําให้มีการเรียกค่าทดแทนกันได้ตามมาตรา 1444 ดังนั้น นายสมยศจะฟ้องเรียกค่าทดแทนจาก น.ส.ปัทมาไม่ได้
สรุป
นายสมยศจะไม่ทําการสมรสกับ น.ส.ปัทมาได้ แต่จะฟ้องเรียกค่าทดแทนจาก น.ส.ปัทมาไม่ได้
ข้อ 2 นายสุชาติชอบ น.ส.วันเพ็ญ แต่ น.ส.วันเพ็ญไม่ชอบนายสุชาติ นายสุชาติจึงทําการข่มขู่อันถึงขนาดให้ น.ส.วันเพ็ญทําการจดทะเบียนสมรสด้วยในวันที่ 2 มีนาคม 2558 และทําการควบคุม น.ส.วันเพ็ญไว้ตลอดเวลา ต่อมา น.ส.วันเพ็ญตั้งครรภ์ นายสุชาติได้ยกที่ดิน 1 แปลงให้โดยเสน่หา ในวันที่ 12 มีนาคม 2559 นายสุชาติได้ปล่อยให้ น.ส.วันเพ็ญไปไหนมาไหนโดยอิสระ น.ส.วันเพ็ญ ได้ปรึกษาทนายความและฟ้องศาลให้เพิกถอนการสมรสนี้ในวันที่ 12 เมษายน 2559 ต่อมาในวันที่ 30 เมษายน 2559 น.ส.วันเพ็ญได้จดทะเบียนสมรสกับนายพิจิตรซึ่งยังรักตนอยู่ และได้ขายที่ดิน ให้แก่นายสุทินซึ่งไม่รู้จักกัน จากข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้การสมรสระหว่างนายสุชาติกับ น.ส.วันเพ็ญ จะมีผลอย่างไร บิดา น.ส.วันเพ็ญจะทําการฟ้องศาลให้เพิกถอนการสมรสได้หรือไม่ และการสมรส ระหว่างนายพิจิตรกับ น.ส.วันเพ็ญจะมีผลอย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1452 “ชายหรือหญิงจะทําการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้”
มาตรา 1495 “การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1449 มาตรา 1450 มาตรา 1452 และมาตรา 1458 เป็นโมฆะ”
มาตรา 1502 “การสมรสที่เป็นโมฆียะสิ้นสุดลงเมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอน”
มาตรา 1507 “ถ้าคู่สมรสได้ทําการสมรสโดยถูกข่มขู่อันถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่นั้นจะ ไม่ทําการสมรส การสมรสนั้นเป็นโมฆียะ
สิทธิขอเพิกถอนการสมรสเพราะถูกข่มขู่เป็นอันระงับ เมื่อเวลาได้ผ่านพ้นไปแล้วหนึ่งปีนับแต่ วันที่พ้นจากการข่มขู่”
มาตรา 1508 วรรคหนึ่ง “การสมรสที่เป็นโมฆียะเพราะคู่สมรสสําคัญผิดตัวหรือถูกกลฉ้อฉล หรือถูกข่มขู่ เฉพาะแต่คู่สมรสที่สําคัญผิดตัว หรือถูกกลฉ้อฉล หรือถูกข่มขู่เท่านั้นขอเพิกถอนการสมรสได้”
มาตรา 1511 “การสมรสที่ได้มีคําพิพากษาให้เพิกถอนนั้น ให้ถือว่าสิ้นสุดลงในวันที่คําพิพากษา ถึงที่สุด แต่จะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทําการโดยสุจริตไม่ได้ เว้นแต่จะได้จดทะเบียนการเพิกถอน การสมรสนั้นแล้ว”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์
ประเด็นแรกที่ต้องวินิจฉัยคือ การสมรสระหว่างนายสุชาติกับ น.ส.วันเพ็ญจะมีผลอย่างไร เห็นว่า ตามบทบัญญัติมาตรา 1507 วรรคหนึ่ง ได้กําหนดไว้ว่า ในการสมรสนั้นถ้าคู่สมรสได้ทําการสมรสเพราะถูกข่มขู่ โดยการข่มขู่นั้นถึงขนาดที่ว่าถ้าไม่มีการข่มขู่เช่นนั้น คู่สมรสก็จะไม่ทําการสมรสด้วย การสมรสดังกล่าวย่อมตกเป็น โมฆียะ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายสุชาติได้ทําการข่มขู่อันถึงขนาดให้ น.ส.วันเพ็ญทําการจดทะเบียนสมรส ด้วยในวันที่ 2 มีนาคม 2558 การสมรสระหว่างนายสุชาติกับ น.ส.วันเพ็ญจึงตกเป็นโมฆยะตามมาตรา 1507
ประเด็นที่สองที่ต้องวินิจฉัยคือ บิดาของ น.ส.วันเพ็ญจะทําการฟ้องศาลให้เพิกถอนการสมรส ได้หรือไม่ เห็นว่า ตามบทบัญญัติมาตรา 1508 วรรคหนึ่ง ได้กําหนดตัวบุคคลที่มีสิทธิขอเพิกถอนการสมรสที่เป็น โมมียะเพราะถูกข่มขู่ไว้โดยเฉพาะแล้ว คือ ตัวคู่สมรสที่ถูกข่มขู่เท่านั้นที่จะขอเพิกถอนได้ ดังนั้น บิดาของ น.ส.วันเพ็ญ ซึ่งมิใช่ตัวคู่สมรสเอง จะทําการฟ้องศาลให้เพิกถอนการสมรสไม่ได้ตามมาตรา 1508 วรรคหนึ่ง
ประเด็นสุดท้ายที่ต้องวินิจฉัย คือ การสมรสระหว่างนายพิจิตรกับ น.ส.วันเพ็ญจะมีผลอย่างไร เห็นว่า เมื่อการสมรสระหว่างนายสุชาติกับ น.ส.วันเพ็ญยังไม่สิ้นสุดลง เนื่องจากการสมรสที่เป็นโมฆยะนั้นจะสิ้นสุดลง ก็ต่อเมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอนการสมรสนั้น (มาตรา 1502) และการสมรสที่ได้มีคําพิพากษาให้เพิกถอน ก็จะถือว่า สิ้นสุดลงในวันที่คําพิพากษาถึงที่สุด (มาตรา 1511) ดังนั้น การที่ น.ส.วันเพ็ญได้ไปจดทะเบียนสมรสกับนายพิจิตร ย่อมถือเป็นการสมรสซ้อนและมีผลเป็นโมฆะตามมาตรา 1452 ประกอบมาตรา 1495
สรุป
การสมรสระหว่างนายสุชาติกับ น.ส.วันเพ็ญมีผลเป็นโมฆียะ
บิดา น.ส.วันเพ็ญจะทําการฟ้องศาลให้เพิกถอนการสมรสไม่ได้ และ การสมรสระหว่างนายพิจิตรกับ น.ส.วันเพ็ญมีผลเป็นโมฆะ
ข้อ 3 นายชาติชายกับนางสําเนาเป็นสามีภริยากัน แต่ไม่สามารถใช้ชีวิตครอบครัวร่วมกันได้ จึงยินยอมให้ต่างฝ่ายต่างมีอิสระที่จะใช้ชีวิตกับบุคคลอื่นได้ นายชาติชายได้รู้จักกับนายสมหวังอย่างสนิทสนม จนมีความสัมพันธ์ทางเพศกันและถูกใจกัน นายชาติชายได้จัดงานสมรสและอยู่กินฉันสามีภริยา กับนายสมหวัง ทําให้นายสมหวังภูมิใจได้ไปบอกกล่าวเพื่อน ๆ ในชุมชนว่าเป็นภริยาของนายชาติชาย และนายชาติชายได้ยกบ้านให้โดยเสน่หาด้วย นางสําเนาไม่พอใจต้องการฟ้องหย่าและฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนายสมหวัง เช่นนี้ท่านเห็นว่าอย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1516 “เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้
(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือ ร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้”
มาตรา 1517 วรรคหนึ่ง “เหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516 (1) และ (2) ถ้าสามีหรือภริยาแล้วแต่ กรณี ได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทําที่เป็นเหตุฟ้องหย่านั้น ฝ่ายที่ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจนั้นจะยกเป็น เหตุฟ้องหย่าไม่ได้”
มาตรา 1523 วรรคหนึ่ง “เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตามมาตรา 1516 (1) ภริยา หรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาและจากผู้ซึ่งได้รับการอุปการะเลี้ยงดู หรือยกย่องหรือผู้ซึ่งเป็น เหตุแห่งการหย่านั้น”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายชาติชายกับนางสําเนาเป็นสามีภริยากัน แต่นายชาติชายได้จัดงาน สมรสและอยู่กินฉันสามีภริยากับนายสมหวังนั้น ถือว่าเป็นเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (1) ที่ว่า สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามีอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้ ดังนั้นโดยหลักแล้วนางสําเนาย่อม สามารถฟ้องหย่านายชาติชายได้
แต่อย่างไรก็ตาม การที่นายชาติชายกับนางสําเนาเป็นสามีภริยากันแต่ไม่สามารถใช้ชีวิต ครอบครัวร่วมกันได้ จึงยินยอมให้ต่างฝ่ายต่างมีอิสระที่จะใช้ชีวิตกับบุคคลอื่นได้นั้น เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 1517 วรรคหนึ่ง ที่ว่า เหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516 (1) ถ้าสามีหรือภริยาแล้วแต่กรณีได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจใน การกระทําที่เป็นเหตุหย่านั้น ฝ่ายที่ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจนั้นจะยกเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้ ดังนั้น นางสําเนาจึง ฟ้องหย่านายชาติชายด้วยเหตุดังกล่าวไม่ได้
และการที่นางสําเนาไม่พอใจนายสมหวังที่ไปบอกกล่าวเพื่อน ๆ ในชุมชนว่าเป็นภริยาของ นายชาติชายและนายชาติชายได้ยกบ้านให้โดยเสน่หา จึงต้องการฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนายสมหวังนั้น นางสําเนา ก็ไม่สามารถทําได้ เพราะมาตรา 1523 วรรคหนึ่ง ได้กําหนดไว้ว่า ภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตน โดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทํานองชู้สาวก็ได้ แต่เมื่อปรากฏว่านายสมหวังเป็นชายจึง ไม่เข้าองค์ประกอบของกฎหมายที่นางสําเนาจะฟ้องเรียกค่าทดแทนได้
สรุป
นางสําเนาจะฟ้องหย่านายชาติชายไม่ได้ และจะฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนายสมหวัง ไม่ได้เช่นกัน
ข้อ 4 นายจักรกับนางนภาเป็นสามีภริยากัน ในระหว่างสมรสนางนภาได้รับสลากออมสิน 1 ล้านบาทโดยเสน่หาจากนางเมตตามารดา ต่อมานางนภาถูกรางวัลจากสลากออมสินเป็นจํานวนเงิน 2 ล้านบาท นางนภาเห็นว่าเป็นเงินที่ได้มาจากมารดา จึงยกให้ญาติโดยเสน่หาโดยไม่บอกให้นายจักรทราบ ต่อมานายจักรได้ยกที่ดิน 1 แปลงให้นางนภาโดยเสน่หา นางนภาให้นายเกียรติเช่า 5 ปี ได้รับค่าเช่าเดือนละ 100,00 บาท โดยไม่บอกให้นายจักรทราบ นายจักรไม่พอใจที่ทําอะไรไม่บอกกล่าวให้สามีทราบ จึงต้องการฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้น และฟ้องเรียกที่ดินคืนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
จงอธิบาย
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1469 “สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินใดที่สามีภริยาได้ทําไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยา กันนั้น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกําหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาด จากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทําการโดยสุจริต”
มาตรา 1471 “สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน
(3) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรส โดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หา”
มาตรา 1473 “สินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายใดให้ฝ่ายนั้นเป็นผู้จัดการ”
มาตรา 1474 “สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน
(1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส”
มาตรา 1476 “สามีเละภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง ในกรณีดังต่อไปนี้
(5) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัว เพื่อการกุศล เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา”
มาตรา 1480 วรรคหนึ่ง “การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกัน หรือต้องได้รับความยินยอม จากอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 1476 ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทํานิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือโดยปราศจาก ความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เว้นแต่คู่สมรส อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือในขณะที่ทํานิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทําโดยสุจริตและ เสียค่าตอบแทน”
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางเมตตามารดาของนางนภาได้ให้สลากออมสิน 1 ล้านบาท แก่นางนภานั้น สลากออมสินดังกล่าวถือเป็นสินส่วนตัวของนางนภา เพราะเป็นทรัพย์สินที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ได้มาระหว่างสมรสโดยการให้โดยเสน่หาตามมาตรา 1471 (3) ต่อมาเมื่อนางนภาถูกรางวัลจากสลากออมสินเป็น เงินจํานวน 2 ล้านบาท เงินจํานวนนี้ย่อมถือเป็นสินสมรส เพราะถือเป็นทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส ตามมาตรา 1474 (1)
ดังนั้น เมื่อนางนภาจะยกเงิน 2 ล้านบาทนี้ให้แก่ญาติของตนโดยเสน่หา จึงต้องทําตามมาตรา 1476 (5) กล่าวคือ จะต้องได้รับความยินยอมจากนายจักรคู่สมรสก่อน เมื่อปรากฏว่านางนภาได้ยกเงิน 2 ล้านบาท ซึ่งเป็นสินสมรสให้แก่ญาติโดยเสน่หาโดยปราศจากความยินยอมจากนายจักร นายจักรย่อมสามารถฟ้องให้ศาล เพิกถอนนิติกรรมการให้นั้นได้ตามมาตรา 1480 วรรคหนึ่ง
ส่วนการที่นายจักรยกที่ดิน 1 แปลง ให้แก่นางนภาโดยเสน่หานั้น ถือว่าเป็นสัญญาระหว่างสมรส ตามมาตรา 1469 ที่ดินนี้จึงเป็นสินส่วนตัวของนางนภาตามมาตรา 1471 (3) ดังนั้นการที่นางนภาให้นายเกียรติ เช่า 5 ปี ได้รับค่าเช่าเดือนละ 100,000 บาท โดยไม่บอกให้นายจักรทราบนั้น ย่อมสามารถทําได้โดยลําพังตาม มาตรา 1473 ที่กําหนดว่า สินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายใดให้ฝ่ายนั้นเป็นผู้จัดการ นายจักรจึงฟ้องให้ศาลเพิกถอน นิติกรรมการให้เช่าที่ดินนั้นไม่ได้
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อการให้ที่ดินระหว่างนายจักรกับนางนภาถือเป็นสัญญาระหว่างสมรส นายจักรจึงมีสิทธิที่จะบอกล้างนิติกรรมการให้ที่ดิน และเรียกที่ดินคืนจากนางนภาเสียในเวลาใดที่เป็นสามี ภริยากันอยู่ หรือภายในกําหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ตามมาตรา 1469
สรุป นายจักรสามารถฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการให้เงิน 2 ล้านบาทได้ แต่จะฟ้องให้ ศาลเพิกถอนนิติกรรมการให้เช่าที่ดินไม่ได้ และนายจักรสามารถบอกล้างการให้ที่ดินและเรียกที่ดินคืนได้