การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2550
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 นายมนูญ น.ส.ดารา และ น.ส.มณี เป็นเพื่อนกันมานานแล้ว ต่อมา น.ส.ดารา ได้จดทะเบียนสมรสกับนายอำนวย หกเดือนต่อมานายมนูญได้ทำสัญญาหมั้น น.ส.มณีด้วยแหวนเพชรหนึ่งวง นางดาราทราบข่าวและด้วยความชอบนายมนูญได้ไปเที่ยวด้วยกันและมีความสัมพันธ์ทางเพศกัน นางดาราไม่มีความสุขกับสามีจึงจดทะเบียนหย่าตามกฎหมายกับนายอำนวย เมื่อ น.ส.มณีทราบความจริงจึงต้องการฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนายมนูญและนางดาราได้หรือไม่ ด้วยสาเหตุใดและหากนายมนูญจดทะเบียนสมรสกับนางดาราจะได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย
ธงคำตอบ
มาตรา 1443 ในกรณีมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่ชายคู่หมั้น ทำให้หญิงไม่สมควรสมรสกับชายคนนั้น หญิงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้โดยมิต้องคืนของหมั้นแก่ชาย
มาตรา 1444 ถ้าเหตุอันทำให้คู่หมั้นบอกเลิกสัญญาหมั้น เป็นเพราะการกระทำชั่วอย่างร้ายแรงของคู่หมั้นอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งได้กระทำภายหลังการหมั้นคู่หมั้นผู้กระทำชั่วอย่างร้ายแรงนั้นต้องรับผิดใช้ค่าทดแทนแก่คู่หมั้นผู้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นเสมือนเป็นผู้ผิดสัญญาหมั้น
มาตรา 1445 ชายหรือหญิงคู่หมั้นอาจเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งได้ร่วมประเวณีกับคู่หมั้นของตนโดยรู้หรือควรจะรู้ถึงการหมั้นนั้น เมื่อได้บอกเลิกสัญญาหมั้นตามมาตรา 1442 หรือมาตรา 1443 แล้วแต่กรณี
มาตรา 1453 หญิงที่สามีตายหรือที่การสมรสสิ้นสุดลงด้วยประการอื่นจะทำการสมรสใหม่ได้ต่อเมื่อการสิ้นสุดแห่งการสมรสได้ผ่านพ้นไปแล้วไม่น้อยกว่าสามร้อยสิบวัน
วินิจฉัย
การที่นายมนูญทำสัญญาหมั้น น.ส.มณีด้วยแหวนเพชร 1 วง จึงเป็นสัญญาหมั้นที่สมบูรณ์ ตามมาตรา 1437 วรรคแรก
ส่วนการที่นางดาราได้ร่วมประเวณีกับนายมนูญโดยทราบว่านายมนูญได้ทำสัญญาหมั้นกับ น.ส.มณีด้วย จึงเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 1445 ที่นางดาราเป็นผู้ซึ่งได้ร่วมประเวณีกับคู่หมั้นของ น.ส.มณีโดยรู้ว่าได้หมั้นแล้ว น.ส.มณีจึงสามารถเรียกค่าทดแทนจากนางดาราได้ โดยต้องบอกเลิกสัญญาหมั้นตามมาตรา 1443 ก่อน
และ น.ส.มณีสามารถเรียกค่าทดแทนจากนายมนูญคู่หมั้นได้ เพราะเป็นการกระทำชั่วอย่างร้ายแรง ที่ได้กระทำภายหลังการหมั้น ตามมาตรา 1444 เพราะนายมนูญได้ร่วมประเวณีกับภริยาของนายอำนวยซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ร้ายแรง
ต่อมาได้ความว่านางดาราได้จดทะเบียนหย่ากับนายอำนวยและหากมีการจดทะเบียนกับนายมนูญในเวลานั้น จะเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 1453 ซึ่งยังไม่พ้น 310 วันนับแต่วันที่ได้จดทะเบียนหย่า แต่การฝ่าฝืนมาตรา 1453 ไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าเป็นโมฆะหรือโมฆียะแต่อย่างใด การจดทะเบียนสมรสจึงสมบูรณ์ตามกฎหมาย
สรุป น.ส.มณีฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนายมนูญและนางดาราได้ และนายมนูญสามารถจดทะเบียนสมรสกับนางดาราได้
ข้อ 2 นายจารึกหลังจากได้จดทะเบียนสมรสกับนางสาวสำเริงไม่นานนักก็เกิดอาการวิกลจริตอย่างหนัก ต้องนำส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาล นายจารึกได้ทราบความจริงว่านางสำเริงได้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถมากกว่า 1 ปีแล้ว ต่อมานายจารึกได้จดทะเบียนสมรสกับ น.ส.น้ำหวาน ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของตน เช่นนี้ การสมรสทั้งสองครั้งจะมีผลอย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย
ธงคำตอบ
มาตรา 1449 การสมรสจะกระทำมิได้ถ้าชายหรือหญิงเป็นบุคคลวิกลจริตหรือเป็นบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ
มาตรา 1451 ผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมจะสมรสกันไม่ได้
มาตรา 1452 ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้
มาตรา 1495 การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1449 มาตรา 1450 มาตรา 1452 และมาตรา 1458 เป็นโมฆะ
มาตรา 1598/32 การรับบุตรบุญธรรมย่อมเป็นอันยกเลิกเมื่อมีการสมรสฝ่าฝืนมาตรา 1451
วินิจฉัย
การสมรสของนายจารึกกับนางสำเริงมีผลสมบูรณ์ แม้ว่านางสำเริงจะถูกศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถมาก่อนก็ตาม เพราะไม่ได้เป็นการฝ่าฝืน มาตรา 1449 ที่ห้ามจดทะเบียนสมรสกับบุคคลวิกลจริตหรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถเท่านั้น และแม้นางสำเริงจะมีอาการวิกลจริต แต่ก็เป็นอาการวิกลจริตหลังจากทำการสมรสแล้วไม่ต้องห้ามแต่อย่างใด
ส่วนการสมรสของนายจารึกกับ น.ส.น้ำหวาน บุตรบุญธรรมนั้น เมื่อนายจารึกมีคู่สมรสอยู่ก่อนแล้ว จึงเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 1452 ที่ห้ามทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ การสมรสจึงมีผลเป็นโมฆะตามมาตรา 1495
สำหรับการสมรสระหว่างผู้รับบุตรบุญธรรมกับบุตรบุญธรรมนั้นทำไม่ได้ ตามมาตรา 1451 แต่ก็ไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าเป็นโมฆะหรือโมฆียะแต่อย่างใด คงมีแต่มาตรา 1598/32 ที่บัญญัติไว้ว่า การรับบุตรบุญธรรมเป็นอันยกเลิก เมื่อมีการสมรสฝ่าฝืนมาตรา 1451 ความเป็นผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมเป็นอันสิ้นสุด คงมีฐานะเป็นสามีภริยากันเท่านั้น
สรุป การสมรสของนายจารึกกับนางสำเริงมีผลสมบูรณ์
การสมรสของนายจารึกกับนางสาวน้ำหวานเป็นโมฆะ
ข้อ 3 นายสมคิดและนางอุสาเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย ได้ทำสัญญาก่อนสมรสกำหนดให้นายสมคิดมีอำนาจจัดการสินสมรสที่เป็นอสังหาริมทรัพย์แต่ผู้เดียว ต่อมานายสมคิดได้เดินทางไปต่างประเทศ นางอุสาได้จัดการโดยลำพังคือนำเงินค่าเช่าที่ดินสินสมรสจำนวน 8 แสนบาท ไปซื้อรถยนต์นำมาใช้เมื่อนายสมคิดกลับมาก็ไม่พอใจเพราะต้องการนำเงินไปลงทุนเพิ่มเติม เช่นนี้ นายสมคิดจะขอเพิกถอนการซื้อขายรถยนต์คันดังกล่าวได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย
ธงคำตอบ
มาตรา 1476 สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้
การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง สามีหรือภริยาจัดการได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง
มาตรา 1476/1 วรรคแรก สามีและภริยาจะจัดการสินสมรสให้แตกต่างไปจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1476 ทั้งหมดหรือบางส่วนได้ก็ต่อเมื่อได้ทำสัญญาก่อนสมรสไว้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1465 และมาตรา 1466 ในกรณีดังกล่าวนี้ การจัดการสินสมรสให้เป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญาก่อนสมรส
ในกรณีที่สัญญาก่อนสมรสระบุการจัดการทรัพย์สินไว้แต่เพียงบางส่วนของมาตรา 1476 การจัดการสินสมรสนอกจากที่ระบุไว้ในสัญญาก่อนสมรสให้เป็นไปตามมาตรา 1476
วินิจฉัย
การทำสัญญาก่อนสมรสที่กำหนดให้นายสมคิดมีอำนาจจัดการสินสมรสที่เป็นอสังหาริมทรัพย์แต่ผู้เดียว สามารถทำได้ตามมาตรา 1476/1 วรรคแรก สำหรับทรัพย์สินส่วนอื่นๆให้จัดการตามมาตรา 1476/1 วรรคสอง
การที่อุสาได้จัดการโดยลำพังคือนำเงินค่าเช่าที่ดินสินสมรสไปซื้อรถยนต์นั้น เห็นว่า เงินค่าเช่าที่ดินไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ ตามที่กำหนดไว้ให้นายสมคิดมีอำนาจจัดการแต่เพียงผู้เดียว จำต้องพิจารณาตามมาตรา 1476 ว่าสามีภริยามีกรณีใดต้องจัดการร่วมกัน หรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเมื่อพิจารณาตามมาตรา 1476 แล้ว การซื้อรถยนต์ไม่ใช่กรณีที่ต้องขอความยินยอมจากคู่สมรสก่อน ตามมาตรา 1476(1) แต่อย่างใด ดังนั้นนางอุสาจึงสามารถจัดการได้โดยลำพัง ตามมาตรา 1476 วรรคสอง
สรุป นายสมคิดจะขอเพิกถอนการซื้อขายรถยนต์ดังกล่าวไม่ได้
ข้อ 4 นายอำนาจกับนางปราณีเป็นสามีภริยากัน แต่มีปัญหาเข้ากันไม่ได้ ทั้งสองได้ตกลงสมัครใจแยกกันอยู่สองปีต่อมานายอำนาจได้รู้จักกับนางอรดีซึ่งมีปัญหากับสามี (นายสมบูรณ์) และกำลังจะหย่ากัน นายอำนาจกับนางอรดีเข้ากันได้ดีจึงใช้ชีวิตอยู่กินร่วมกัน นางปราณีได้รู้จักกับนายไมตรีเพื่อนร่วมงานใหม่ จึงได้ตกลงทำการค้าร่วมกัน เช่นนี้ นางปราณีจะฟ้องหย่านายอำนาจได้หรือไม่ และนายสมบูรณ์จะฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนายอำนาจและนางอรดีได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย
ธงคำตอบ
มาตรา 1516 เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้
(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
มาตรา 1523 วรรคแรก เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตามมาตรา 1516(1) ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาและจากหญิงอื่นหรือชู้ แล้วแต่กรณี
วินิจฉัย
นางปราณีสามารถฟ้องหย่านายอำนาจได้ โดยอาศัยเหตุที่นายอำนาจไปใช้ชีวิตอยู่กินร่วมกันกับนางอรดีซึ่งเป็นภริยาของนายสมบูรณ์ จึงเข้าเหตุฟ้องหย่า ตามมาตรา 1516(1) คือ สามีเป็นชู้กับภริยานายสมบูรณ์
ส่วนนายสมบูรณ์ก็สามารถฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนายอำนาจและนางอรดีได้ ตามมาตรา 1523 วรรคแรก โดยจะต้องฟ้องหย่านางอรดี ตามมาตรา 1516(1) เพราะเหตุมีชู้ก่อน เมื่อศาลสั่งให้หย่ากันแล้ว นายสมบูรณ์ก็ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากภริยาและผู้ซึ่งเป็นเหตุแห่งการหย่านั้นได้
สรุป นางปราณีฟ้องหย่านายอำนาจได้
นายสมบูรณ์ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนายอำนาจและนางอรดีได้