การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2552
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 นายสมบัติตกลงกับ น.ส.สุดา ว่าจะมาทำการหมั้นโดยจะมอบแหวนเพชร 1 วง และทอง 10 บาท ให้เป็นของหมั้นในวันที่ตกลงมาทำสัญญาหมั้น นายสมบัติไม่สามารถหาแหวนและทองได้ทันเวลา แต่ น.ส.เมตตา เพื่อนของ น.ส.สุดา เห็นว่าไม่ควรให้เลื่อนเวลาหมั้นจึงถอดแหวนให้นายสมบัตินำไปสวมให้ น.ส.สุดาก่อน ซึ่ง น.ส.สุดา ก็เห็นด้วย ส่วนทอง 10 บาทนั้นได้ทำสัญญากู้ยืมเงิน 170,000 บาทไว้ให้แทน ต่อมา น.ส.สุดาได้ลาออกจากงานมาช่วยทำงานที่บ้านของนายสมบัติ แต่นายสมบัติได้ไปร่วมประเวณีกับ น.ส.เมตตา และชวนมาอาศัยอยู่ในบ้านและปฏิเสธไม่สมรสกับ น.ส.สุดา น.ส.สุดา ไม่พอใจจึงต้องการฟ้องเรียกเงินกู้ 170,000 บาท เรียกค่าทดแทนที่ได้ลาออกจากงาน และฟ้องเรียกค่าทดแทนจาก น.ส.เมตตาด้วย เช่นนี้จะทำได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย
ธงคำตอบ
มาตรา 1437 วรรคแรกและวรรคสอง การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น
เมื่อหมั้นแล้วให้ของหมั้นตกเป็นสิทธิแก่หญิง
มาตรา 1440 ค่าทดแทนนั้นอาจเรียกได้ ดังต่อไปนี้
(3) ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้นได้จัดการทรัพย์สินหรือการอื่นอันเกี่ยวแก่อาชีพทำมาหาได้ของตนไปโดยสมควรด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรส
มาตรา 1445 ชายหรือหญิงคู่หมั้นอาจเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งได้ร่วมประเวณีกับคู่หมั้นของตนโดยรู้หรือควรจะรู้ถึงการหมั้นนั้น เมื่อได้บอกเลิกสัญญาหมั้นตามมาตรา 1442 หรือมาตรา 1443 แล้วแต่กรณี
วินิจฉัย
การหมั้นจะสมบูรณ์หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาว่า ฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานแสดงว่าจะสมรสกับหญิงหรือไม่ หรับการส่งมอบหรือการโอนจะเป็นอย่างไรนั้นย่อมขึ้นอยู่กับลักษณะของทรัพย์สินอันเป็นของหมั้น
ทรัพย์สินและกรรมสิทธิ์ในของหมั้นนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นของฝ่ายชายเสมอ กล่าวคือ ฝ่ายชายอาจไม่มีทรัพย์สินเงินทองเป็นของตนเองแล้วไปหยิบยืมจากบุคคลอื่นมาใช้เป็นของหมั้น เช่นนี้ ของหมั้นเป็นสิทธิของหญิงหรือไม่ หรือการหมั้นจะสมบูรณ์หรือไม่ ต้องพิจารณาว่า ถ้าเจ้าของทรัพย์สินให้ยืมทรัพย์สินไปใช้เป็นของหมั้นชั่วคราว เมื่อฝ่ายหญิงไม่ทราบ ของหมั้นนั้นย่อมตกเป็นสิทธิของฝ่ายหญิง (ฎ.1198/2492) แต่ถ้าหญิงก็ทราบว่าทรัพย์สินนั้นไม่ใช่ของฝ่ายชาย และเจ้าของทรัพย์สินนั้นก็ยังคงต้องการทรัพย์สินนั้นอยู่ กรณีเช่นนี้ถ้าฝ่ายชายส่งมอบทรัพย์สินนี้เป็นของหมั้นให้แก่หญิง การหมั้นก็คงไม่สมบูรณ์ เพราะไม่อาจถือได้ว่ามีการส่งมอบทรัพย์สินให้แก่หญิง ซึ่งทรัพย์สินนั้นจะตกเป็นสิทธิแก่หญิงได้ตามมาตรา 1437 วรรคสอง
เมื่อแหวนที่นายสมบัตินำมาหมั้น เป็นแหวนที่ยืมมาจาก น.ส.เมตตา โดย น.ส.สุดา ฝ่ายหญิงก็ทราบว่าแหวนดังกล่าวเป็นของ น.ส.เมตตา ดังนี้ แหวนที่สวมให้ น.ส.สุดา จึงไม่ใช่ของหมั้นเพราะไม่ถือว่าฝ่ายชายได้ส่งมอบทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิง การหมั้นจึงไม่สมบูรณ์ตามมาตรา 1437 วรรคแรก
สำหรับสัญญากู้ยืมเงินนั้น ก็ไม่ถือว่าเป็นการให้ของหมั้นตามกฎหมาย ทั้งนี้เพราะรูปแบบของการหมั้นตามกฎหมายจะต้องกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ การส่งมอบ หรือการโอนทรัพย์สิน รูปแบบของการหมั้นจึงไม่สามารถเขียนสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างชายกับหญิงได้ เมื่อสัญญากู้ยืมไม่ถือว่าเป็นของหมั้นตามกฎหมาย น.ส.สุดา จึงฟ้องเรียกเงินกู้ไม่ได้
ดังนั้น เมื่อไม่ได้ทำสัญญาหมั้นตามกฎหมาย การกระทำของนายสมบัติจึงไม่อาจถือว่าเป็นการผิดสัญญาหมั้นที่ น.ส.สุดา จะเรียกค่าทดแทนตามมาตรา 1440(3) ได้
ส่วนการที่จะฟ้องเรียกค่าทดแทนจาก น.ส.เมตตา ก็ไม่สามารถฟ้องตามมาตรา 1445 ได้เช่นกัน ทั้งนี้เพราะสัญญาหมั้นไม่สมบูรณ์
สรุป น.ส.สุดา จะฟ้องเรียกเงินกู้ 170,000 บาท เรียกค่าทดแทนที่ได้ลาออกจากงานและฟ้องเรียกค่าทดแทนจาก น.ส.เมตตา ไม่ได้
ข้อ 2 นายสอนและนางสร้อยเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย นายสอนได้ทำหนังสือและจดทะเบียนให้บ้านและที่ดิน 1 แปลง ที่เป็นสินสมรสให้เป็นกรรมสิทธิ์ของนางสร้อยแต่เพียงผู้เดียว ต่อมานางสร้อยไปกู้ยืมเงินนายก่อ จำนวน 10,000 บาท เพื่อมาจ่ายค่ารักษานางสร้อยที่ประสบอุบัติเหตุ โดยนายสอนไม่ได้รู้เห็นและให้ความยินยอมในการกู้ยืมเงินแต่อย่างใด หลังจากนั้น นายสอนและนางสร้อยทะเลาะกัน ทั้งสองได้จดทะเบียนหย่ากัน หลังจากที่หย่ากันได้ 3 เดือน นายสอนได้มาปรึกษาท่านที่เป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมายครอบครัวว่า นายสอนจะบอกล้างนิติกรรมการให้บ้านและที่ดินที่เป็นสินสมรสกับนางสร้อยได้หรือไม่ และนายสอนต้องร่วมรับผิดในหนี้จำนวน 10,000 บาทที่นางสร้อยยืมมาจากนายก่อหรือไม่ จงให้คำปรึกษาแก่นายสอน
ธงคำตอบ
มาตรา 1469 สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินใดที่สามีภริยาได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยากันนั้น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต
มาตรา 1490 หนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกันนั้นให้รวมถึงหนี้ที่สามีหรือภริยาก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างสมรสดังต่อไปนี้
หนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือนและจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว การอุปการะเลี้ยงดู ตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวและการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ
วินิจฉัย
การที่นายสอนได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนให้บ้านและที่ดิน 1 แปลงที่เป็นสินสมรสให้เป็นกรรมสิทธิ์ของนางสร้อยแต่เพียงผู้เดียว กรณีถือเป็นสัญญาระหว่างสมรสตามมาตรา 1469 นายสอนจึงมีสิทธิบอกล้างการให้บ้านและที่ดินในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนด 1 ปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ หลังจากที่นายสอนและนางสร้อยจดทะเบียนหย่ากันได้ 3 เดือน ซึ่งถือว่าอยู่ภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากัน นายสอนจึงมีสิทธิบอกล้างการให้บ้านและที่ดินที่เป็นสินสมรสได้
ส่วนการที่นางสร้อยไปกู้ยืมเงินจำนวน 10,000 บาท เพื่อม่ายค่ารักษานางสร้อยที่ประสบอุบัติเหตุนั้น กรณีถือว่าเป็นหนี้ที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวที่เกิดในระหว่างสมรส จึงเป็นหนี้ร่วมที่สามีภริยาต้องรับผิดร่วมกันตามมาตรา 1490(1) ทั้งนี้แม้ว่านายสอนและนางสร้อยได้หย่ากันแล้ว และนายสอนไม่ได้รู้เห็นและให้ความยินยอมในการกู้ยืมเงินนั้นก็ตาม นายสอนก็ต้องรับผิดร่วมกันกับนางสร้อยในหนี้จำนวน 10,000 บาท ที่นางสร้อยกู้ยืมจากนายก่อ
สรุป นายสอนบอกล้างนิติกรรมการให้บ้านและที่ดินที่เป็นสินสมรสกับนางสร้อยได้ และนายสอนจะต้องร่วมรับผิดในหนี้จำนวน 10,000 บาท ที่นางสร้อยยืมมาจากนายก่อ
ข้อ 3 นายแสบหลอกนางใสว่าเป็นหนุ่มโสดนางใสจึงจดทะเบียนสมรสด้วย มาทราบภายหลังว่านายแสบมีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้วคือ นางสี ต่อมานายแสบไปอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยากับนางแม้วและมีบุตรด้วยกันคือ ด.ช.เอก เมื่อนางสีตาย นายแสบจึงไปจดทะเบียนสมรสกับนางแม้วด้วยความสงสาร
การสมรสระหว่างนายแสบและนางใส การสมรสระหว่างนายแสบและนางแม้วมีผลในทางกฎหมายอย่างไร
บุตรที่นางแม้วคลอดมานั้นเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของใคร ตั้งแต่เมื่อใด
ธงคำตอบ
มาตรา 1452 ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้
มาตรา 1457 การสมรสตามประมวลกฎหมายนี้จะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น
มาตรา 1495 การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1449 มาตรา 1450 มาตรา 1452 และมาตรา 1458 เป็นโมฆะ
มาตรา 1501 การสมรสย่อมสิ้นสุดลงด้วยความตาย การหย่า หรือศาลพิพากษาให้เพิกถอน
มาตรา 1546 เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชายให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
มาตรา 1547 เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลังหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร
วินิจฉัย
(1) การที่นางใสจดทะเบียนสมรสกับนายแสบ ในขณะที่นายแสบมีภริยาคือ นางสีอยู่ จึงเป็นการสมรสซ้อนตามมาตรา 1452 มีผลเป็นโมฆะตามมาตรา 1495
ส่วนการสมรสระหว่างนายแสบและนางแม้วนั้น เมื่อนางสีถึงแก่ความตาย การสมรสระหว่างนายแสบกับนางสีย่อมสิ้นสุดลงตามมาตรา 1501 นายแสบไปจดทะเบียนสมรสกับนางแม้วจึงไม่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายแต่อย่างใด การสมรสมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ทั้งนี้ตามมาตรา 1547
(2) ด.ช.เอก เป็นบุตรของนายแสบและนางแม้วซึ่งเกิดก่อนที่บิดามารดาจะได้จดทะเบียนสมรสกัน ดังนั้น ด.ช.เอก จึงเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนางแม้วนับแต่คลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกตามมาตรา 1546 ที่ว่า เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชายให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น และเมื่อนายแสบและนางแม้วจดทะเบียนสมรสกันภายหลัง ด.ช.เอก จึงเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายแสบบิดานับตั้งแต่ที่ ด.ช.เอก เกิด แต่ทั้งนี้จะอ้างเป็นเหตุให้เสื่อมเสียสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตในระหว่างเวลาตั้งแต่ ด.ช.เอก เกิดจนถึงเวลาที่บิดามารดาได้สมรสกันไม่ได้ตามมาตรา 1547 ประกอบมาตรา 1557
สรุป
(1) การสมรสระหว่างนายแสบและนางใสเป็นโมฆะ ส่วนการสมรสระหว่างนายแสบและนางแม้วมีผลสมบูรณ์
(2) ด.ช.เอก เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนางแม้วนับแต่คลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกและเมื่อนางแม้วและนายแสบจดทะเบียนสมรสกัน ด.ช.เอก จึงเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายแสบนับแต่บิดามารดาจดทะเบียนสมรสกันย้อนไปถึงเกิด
ข้อ 4 นายไก่และนางไข่เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตรด้วยกันคือหนึ่ง ต่อมานางไข่ป่วยจึงยกนางแดงสาวใช้ให้ทำหน้าที่ภริยาอีกคนหนึ่ง ต่อมานายไก่ได้ไปรู้จักรักใคร่ชอบพอนางสาวสดใสส่งเสียเลี้ยงดูประหนึ่งเป็นภริยาอีกคนหนึ่ง
นางไข่จะฟ้องหย่านายไก่ เพราะนายไก่มีภริยาน้อย 2 คน คือ นางแดงและนางสาวสดใสได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
หนึ่งเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของใคร ตั้งแต่เมื่อใด
ธงคำตอบ
มาตรา 1516 เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้
(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
มาตรา 1517 วรรคแรก เหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516(1) และ (2) ถ้ามามีหรือภริยาแล้วแต่กรณี ได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำที่เป็นเหตุหย่านั้น ฝ่ายที่ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจนั้นจะยกเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้
มาตรา 1536 วรรคแรก เด็กเกิดแต่หญิงขณะเป็นภริยาชายหรือภายในสามร้อยวันนับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามี หรือเคยเป็นสามีแล้วแต่กรณี
วินิจฉัย
(1) นายไก่และนางไข่เป็นภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย การที่นายไก่มีภริยาน้อย คือ นางแดงสาวใช้ กรณีเช่นนี้โดยหลักแล้วนางไข่ย่อมสามารถนำไปเป็นเหตุฟ้องหย่าได้ตามมาตรา 1516(1) แต่อย่างไรก็ดีเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านางไข่ป่วยจึงยกนางแดงสาวใช้ให้ทำหน้าที่ภริยา กรณีจึงต้องถือว่านางไข่รู้เห็นเป็นใจ จึงไม่สามารถนำเหตุดังกล่าวมาเป็นเหตุฟ้องหย่าได้ตามมาตรา 1517 วรรคแรก
ส่วนกรณีที่นายไก่ได้ไปอุปการะเลี้ยงดูนางสาวสดใสนั้น เมื่อนางไข่ไม่ได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำของนายไก่ นางไข่จึงสามารถยกเหตุที่ว่านี้มาเป็นเหตุฟ้องหย่าได้ตามมาตรา 1516(1)
(2) เมื่อหนึ่งเกิดในขณะที่นายไก่และนางไข่เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย หนึ่งจึงเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายไก่และนางไข่ นับแต่คลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก เพราะเป็นเด็กที่เกิดระหว่างสมรสตามมาตรา 1536
สรุป
(1) นางไข่จะฟ้องหย่านายไก่เพราะมีนางแดงภริยาน้อยไม่ได้ แต่ฟ้องหย่าเพราะนายไก่มีนางสาวสดใสภริยาน้อยได้
(2) หนึ่งเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายไก่และนางไข่ นับแต่คลอดและอยู่รอดเป็นทารก