การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2551
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 นายสมคิดทำสัญญาหมั้น น.ส.น้ำผึ้งด้วยแหวนเพชร 1 วง ต่อมาทั้งสองได้มีเพศสัมพันธ์กันทำให้ น.ส.น้ำผึ้งตั้งครรภ์ แต่นายสมคิดไม่ทราบ นายสมคิดได้ไปเที่ยวเตร่กับแฟนเก่าอีก ทำให้ น.ส.น้ำผึ้งน้อยใจ จึงไปคบกับนายมานพเพื่อนเก่าที่ชอบ น.ส.น้ำผึ้งอยู่ นายมานพขอทำสัญญาหมั้น น.ส.น้ำผึ้งด้วยแหวนเพชร 1 วง ซึ่ง น.ส.น้ำผึ้งก็ยินยอมตกลงจะจดทะเบียนสมรสกัน นายสมคิดได้กลับมาง้องอนขอคืนดีนางน้ำผึ้งจึงทำหนังสือหย่ากับนายมานพและลงลายมือชื่อไว้เรียบร้อย นางน้ำผึ้งจึงจดทะเบียนสมรสกับนายสมคิดทันที เช่นนี้ การหมั้นระหว่างนายมานพกับ น.ส.น้ำผึ้งจะมีผลอย่างไร การสมรสระหว่างนายสมคิดกับนางน้ำผึ้งจะมีผลอย่างไร บุตรที่เกิดมาเป็นบุตรของใคร เพราะเหตุใด จงอธิบาย
ธงคำตอบ
มาตรา 1437 วรรคแรก การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น
มาตรา 1438 การหมั้นไม่เป็นเหตุที่จะร้องขอให้ศาลบังคับให้สมรสได้ ถ้าได้มีข้อตกลงกันไว้ว่าจะให้เบี้ยปรับในเมื่อผิดสัญญาหมั้น ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ
มาตรา 1452 ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้
มาตรา 1495 การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1449 มาตรา 1450 มาตรา 1452 และมาตรา 1458 เป็นโมฆะ
มาตรา 1514 การหย่านั้นจะทำได้แต่โดยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายหรือโดยคำพิพากษาของศาล
การหย่าโดยความยินยอมต้องทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อยสองคน
มาตรา 1515 เมื่อได้จดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายนี้การหย่าโดยความยินยอมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อสามีภริยาได้จดทะเบียนการหย่านั้นแล้ว
มาตรา 1538 วรรคแรก ในกรณีที่ชายหรือหญิงสมรสฝ่าฝืนมาตรา 1452 เด็กที่เกิดในระหว่างการสมรสที่ฝ่าฝืนนั้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามีซึ่งได้จดทะเบียนสมรสครั้งหลัง
ธงคำตอบ
การที่นายสมคิดได้ทำสัญญาหมั้น น.ส.น้ำผึ้งด้วยแหวนเพชร 1 วง ถือเป็นสัญญาหมั้นที่สมบูรณ์ ตามมาตรา 1437 วรรคแรก เพราะมีการส่งมอบของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น
แต่เนื่องจากการหมั้นไม่เป็นเหตุที่จะร้องขอให้ศาลบังคับให้สมรสได้ ตามมาตรา 1438 การที่ น.ส.น้ำผึ้งรับหั้นนายมานพอีกย่อมสามารถกระทำได้ และเป็นสัญญาหมั้นที่สมบูรณ์ ตามมาตรา 1437 วรรคแรก เพราะมีการส่งมอบแหวนเพชรของหมั้นแก่ น.ส.น้ำผึ้งแล้ว ไม่ตกเป็นโมฆะแต่อย่างใด
เมื่อนายมานพและ น.ส.น้ำผึ้งจดทะเบียนสมรสกัน ย่อมเป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย การหย่าโดยความยินยอม มาตรา 1514 บังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อย 2 คน และการหย่านั้นจะมีผลสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อสามีภริยาได้จดทะเบียนการหย่านั้นแล้ว ทั้งนี้ตามมาตรา 1515 ดังนั้นการที่ น.ส.น้ำผึ้งทำหนังสือหย่ากับนายมานพโดยลงลายมือชื่อไว้เรียบร้อยโดยยังมิได้จดทะเบียนหย่า การหย่าจึงไม่ถูกต้องตามกฎหมาย มาตรา 1514 และ 1515 การสมรสระหว่างนายมานพและ น.ส.น้ำผึ้งจึงยังสมบูรณ์อยู่ เมื่อนางน้ำผึ้งได้จดทะเบียนสมรสกับนายสมคิดจึงเป็นการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ อันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 1452 การสมรสที่ฝ่าฝืนนั้นจึงมีผลเป็นโมฆะ ตามมาตรา 1495
ส่วนบุตรที่เกิดมานั้น เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนางน้ำผึ้งมารดา และเมื่อนางน้ำผึ้งสมรสโดยฝ่าฝืนมาตรา 1452 และเด็กนั้นก็เกิดในระหว่างการสมรสที่ฝ่าฝืน ย่อมต้องด้วยข้อสันนิษฐาน ตามมาตรา 1538 วรรคแรก คือ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายสมคิดชายผู้เป็นสามีซึ่งได้จดทะเบียนสมรสครั้งหลังด้วย
สรุป
(1) การหมั้นระหว่างนายมานพกับ น.ส.น้ำผึ้งมีผลสมบูรณ์
(2) การสมรสระหว่างนายสมคิดกับนางน้ำผึ้งมีผลเป็นโมฆะ
(3) บุตรที่เกิดมานั้นเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนางน้ำผึ้งและนายสมคิด
ข้อ 2 ในงานเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อการกุศลของสมาคมแห่งหนึ่ง ทางคณะผู้จัดได้จัดให้มีการแสดงลิเกที่เป็นการแสดงของคนไทย ตัวพระเอกในเรื่องนี้ชื่อว่า นายไชยา ในขณะที่มีการแสดงอยู่นั้น ปรากฏว่าไม่มีใครคาดฝันนายไชยาได้ร้องและรำเดินลงมาจากเวที มาขอหมั้นนางสาวแบม อายุ 18 ปี จากบิดามารดาซึ่งนั่งอยู่ ณ ที่นั้น โดยรับรองว่าจะเลี้ยงดูและจะซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งบิดามารดาหญิงก็ยินยอมต่อหน้าแขกผู้มีเกียรติในงานนั้น ตกลงกันว่าจะจดทะเบียนสมรสภายใน 2 ปีข้างหน้า ครั้นถึงวันที่กำหนด นางสาวแบมไม่ยอมจดทะเบียนสมรสด้วย โดยอ้างว่าแพทย์ประจำตัวของตนได้บอกว่าตนจะมีชีวิตอยู่อีกเพียง 2 ปี อยากทราบว่า นายไชยาจะเรียกค่าเสียหายที่ตนได้รับความอับอายขายหน้า เสียหายต่อชื่อเสียง จากบิดามารดาหรือจากนางสาวแบมได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 1435 การหมั้นจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว
การหมั้นที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติวรรคหนึ่งเป็นโมฆะ
มาตรา 1436 ผู้เยาว์จะทำการหมั้นได้ต้องได้รับความยินยอมของบุคคลดังต่อไปนี้
(1) บิดาและมารดา ในกรณีที่มีทั้งบิดามารดา
การหมั้นที่ผู้เยาว์ทำโดยปราศจากความยินยอมดังกล่าวเป็นโมฆียะ
มาตรา 1437 วรรคแรก การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น
มาตรา 1439 เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิดใช้ค่าทดแทน ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย
มาตรา 1440 ค่าตอบแทนนั้นอาจเรียกได้ ดังต่อไปนี้
(1) ทดแทนความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียงแห่งชายหรือหญิงนั้น
วินิจฉัย
แม้นางสาวแบมจะมีอายุ 18 ปี ซึ่งสามารถทำการหมั้นได้ ตามมาตรา 1435 และแม้การหมั้นดังกล่าว จะได้รับความยินยอมจากบิดามารดาของนางสาวแบมผู้เยาว์ให้หมั้นกับนายไชยา ตามมาตรา 1436(1) ก็ตาม แต่การหมั้นนั้นจะสมบูรณ์ตามกฎหมายก็ต่อเมื่อชายหรือฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น ตามมาตรา 1437 วรรคแรก เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าการหมั้นครั้งนี้ไม่มีการส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นแต่อย่างใดให้นางสาวแบมเลย การหมั้นจึงไม่มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ถือว่าไม่มีการหมั้นเกิดขึ้น
เมื่อไม่มีการหมั้นเกิดขึ้น แม้นางสาวแบมจะปฏิเสธไม่ยอมจดทะเบียนสมรสกับนายไชยา ก็ไม่ถือว่านางสาวแบมผิดสัญญาหมั้น ตามมาตรา 1439 แต่อย่างใด เพราะการจะถือว่าคู้หมั้นฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นจะต้องเป็นกรณีที่การหมั้นมีผลสมบูรณ์ ตามมาตรา 1437 วรรคแรก และคู่หมั้นมีเจตนาที่จะจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย (ฎ.8954/2549) เมื่อการหมั้นไม่สมบูรณ์ ตามมาตรา 1437 วรรคแรก สิทธิและหน้าที่ตามสัญญาหมั้นย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้ นายไชยาจึงไม่อาจฟ้องเรียกค่าเสียหายต่อชื่อเสียง ตามมาตรา 1440(1) จากบิดามารดาหรือจากนางสาวแบมได้ ไม่มีบทมาตราใดบัญญัติว่า ในกรณีที่ไม่มีการหมั้น หากฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้น ให้ฝ่ายนั้นรับผิดใช้ค่าทดแทนอย่างเช่นกรณีที่มีการหมั้น (ฎ.45/2532)
สรุป นายไชยาไม่อาจฟ้องเรียกค่าเสียหายต่อชื่อเสียงจากบิดามารดาหรือนางสาวแบมได้
ข้อ 3 นายสันต์และนางแก้วเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย นางแก้วได้ยกเครื่องลายครามที่นางแก้วได้รับมรดกจากบิดาในระหว่างสมรสให้กับนายสันต์ ต่อมานายสันต์ได้นำเครื่องลายครามไปให้นายเพชรซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่นายสันต์นับถือ โดยนายเพชรไม่ได้ทราบว่าเป็นเครื่องลายครามที่นางแก้วยกให้นายสันต์ หลังจากนั้นนายสันต์เกษียณอายุราชการ นายสันต์นำเงินบำเหน็จจำนวน 500,000 บาท ไปเช่าซื้อบ้านและที่ดินแปลงหนึ่งในต่างจังหวัดที่ซึ่งนายสันต์ตั้งใจจะไปอยู่อาศัยในบั้นปลายชีวิตโดยนายสันต์ทำตามลำพัง นางแก้วไม่ได้รู้เห็นและให้ความยินยอมแต่อย่างใด ต่อมานางแก้วทราบเรื่องดังกล่าวทั้งหมด ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า
ก) นางแก้วจะบอกล้างนิติกรรมการให้เครื่องลายครามกับนายสันต์ได้หรือไม่ และนางแก้วจะฟ้องเรียกเอาเครื่องลายครามคืนจากนายเพชรได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ข) นางแก้วจะฟ้องศาลขอเพิกถอนนิติกรรมการเช่าซื้อบ้านและที่ดินได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 1469 สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินใดที่สามีภริยาได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยากันนั้น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต
มาตรา 1471 สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน
(1) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรส โดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่ห์หา
มาตรา 1473 สินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายใดให้ฝ่ายนั้นเป็นผู้จัดการ
มาตรา 1474 สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน
(1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส
มาตรา 1476 สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้
มาตรา 1480 การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 1476 ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เว้นแต่คู้สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน
วินิจฉัย
ก) การที่นางแก้วยกเครื่องลายครามที่นางแก้วได้รับมรดกจากบิดาในระหว่างสมรสอันเป็นสินส่วนตัวของนางแก้ว ตามมาตรา 1471(3) ให้กับนายสันต์ถือเป็นสัญญาระหว่างสมรสตามมาตรา 1469 เครื่องลายครามเป็นทรัพย์สินที่นายสันต์ได้มาโดยเสน่หาระหว่างสมรสจึงตกเป็นสินส่วนตัวของนายสันต์ ตามมาตรา 1471(3) นายสันต์มีอำนาจในการจัดการเกี่ยวกับเครื่องลายครามได้ ตามมาตรา 1473 นายสันต์จึงมีสิทธิให้เครื่องลายครามแก่นายเพชรได้ แต่เนื่องจากการให้เครื่องลายครามระหว่างนางแก้วและนายสันต์เป็นสัญญาระหว่างสมรส นางแก้วจึงมีสิทธิบอกล้างการให้เครื่องลายครามในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ แต่การบอกล้างต้องไม่กระทบกระเทือนสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต ตามมาตรา 1469 ดังนั้นเมื่อนายเพชรซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้รับเครื่องลายครามจากนายสันต์โดยสุจริต เพราะนายเพชรไม่ทราบว่าเป็นเครื่องลายครามที่นางแก้วยกให้นายสันต์ นายเพชรจึงมีกรรมสิทธิ์ในเครื่องลายครามดังกล่าว นางแก้วจะฟ้องเรียกเครื่องลายครามคืนจากนายเพชรไม่ได้
ข) ส่วนการที่นายสันต์ได้นำเงินบำเหน็จ จำนวน 500,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นสินสมรส ตามมาตรา 1474(1) ไปเช่าซื้อบ้านและที่ดินแปลงหนึ่งในต่างจังหวัดนั้น การเช่าซื้อไม่ใช่การจัดการสินสมรส ตามมาตรา 1476(1) ที่สามีภริยาต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง นายสันต์จึงสามารถเช่าซื้อบ้านและที่ดินดังกล่าวตามลำพังได้ นางแก้วจึงฟ้องศาลขอเพิกถอนนิติกรรมการเช่าซื้อบ้านและที่ดิน ตามมาตรา 1480 ไม่ได้
สรุป
ก) นางแก้วบอกล้างนิติกรรมการให้กับนายสันต์ได้ แต่ฟ้องเรียกเอาเครื่องลายครามคืนจากนายเพชรไม่ได้
ข) นางแก้วฟ้องศาลขอเพิกถอนนิติกรรมการเช่าซื้อบ้านและที่ดินตามมาตรา 1480 ไม่ได้
ข้อ 4 นายไก่และนางไข่อยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาจนมีบุตรด้วยกันคือ ด.ช.หนึ่ง จึงไปจดทะเบียนสมรสกัน หลังจากนั้นไม่นาน นางไข่ก็ไปอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยากับนายห่านแฟนเก่าและคลอดบุตรอีกหนึ่งคนคือ เด็กหญิงสอง ซึ่งการกระทำของนางไข่ทำให้นายไก่เสียใจมาก จึงไปตัดอวัยวะเพศทิ้งแปลงเพศเป็นหญิง
1) หนึ่งและสองเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของใคร นับแต่เมื่อใด
2) นายไก่จะฟ้องหย่านางไข่ และนางไข่จะฟ้องหย่านายไก่ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 1516 เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(10) สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกาย ทำให้สามีหรือภริยานั้นไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
มาตรา 1517 วรรคสอง เหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516(10) ถ้าเกิดเพราะการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่ง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะยกเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้
มาตรา 1546 เด็กหญิงจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชายให้ถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
มาตรา 1547 เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลังหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร
มาตรา 1557 การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1547 ให้มีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด แต่ทั้งนี้จะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตในระหว่างเวลาตั้งแต่เกิดจนถึงเวลาที่บิดามารดาได้สมรสกันหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นบุตรไม่ได้
วินิจฉัย
1) ด.ช.หนึ่งเป็นบุตรของนายไก่และนางไข่ซึ่งเกิดก่อนที่บิดามารดาจะได้จดทะเบียนสมรสกัน ดังนั้น ด.ช.หนึ่งจึงเป็นบุตรที่อชด้วยกฎหมายของนางไข่นับแต่คลอดและอยู่รอดเป็นทารกตามมาตรา 1546 ที่ว่าเด็กเกิดจากหญิงที่มิได้สมรสกับชาย ให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น และเมื่อนายไก่และนางไข่จดทะเบียนสมรสกันภายหลัง ด.ช.หนึ่งจึงเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายไก่บิดานับแต่วันที่ ด.ช.หนึ่งเกิด ตามมาตรา 1547 ประกอบมาตรา 1557
ส่วน ด.ญ.สอง เป็นบุตรที่เกิดจากนางไข่และนายห่านซึ่งมิได้จดทะเบียนสมรส ด.ญ.สองจึงเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนางไข่แต่เพียงผู้เดียวนับแต่คลอดและอยู่รอดเป็นทารก ตามมาตรา 1546
2) นายไก่เป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมีสิทธิฟ้องหย่านางไข่ได้ ตามมาตรา 1516(1) เพราะถือว่านางไข่มีชู้ ส่วนนางไข่ก็สามารถฟ้องหย่านายไก่ได้เช่นกัน ตามมาตรา 1516(10) เพราะนายไก่มีสภาพแห่งกายที่ทำให้ไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล ทั้งการที่นายไก่ไปตัดอวัยวะเพศและแปลงเพศเป็นหญิง ก็เกิดจากความสมัครใจของนายไก่เอง มิใช่เกิดเพราะการกระทำของนางไข่ (นางไข่มิได้เป็นผู้ตัดอวัยวะเพศ) กรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา 1517 วรรคสอง