การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2550
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 นายสุชาติทำสัญญาหมั้น น.ส.รำไพด้วยแหวนเพชรหนึ่งวง ต่อมานายสุชาติมีหนี้สินมากขึ้นจากการทำการค้า ทำให้ น.ส.รำไพไม่ต้องการสมรสด้วย น.ส.รำไพจึงไปจดทะเบียนสมรสกับนายสุเทพ ในวันที่ 3 มกราคม ในระหว่างสมรสนายสุเทพมอบรถยนต์ 1 คันให้นางรำไพโดยเสน่หา ต่อมานายสุเทพทราบว่านางรำไพมีคู่หมั้นอยู่แล้วแต่กลับมาจดทะเบียนสมรสกับตนเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง นายสุเทพจึงจดทะเบียนหย่ากับนางรำไพตามกฎหมายเช่นนี้
ก. ถ้านายสุชาติต้องการฟ้องนางรำไพเพื่อเรียกแหวนหมั้นคืน และเรียกค่าทดแทนด้วยในวันที่ 20 กรกฎาคม จะทำได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ข. ภายหลังการหย่าหนึ่งเดือน นายสุเทพต้องการเอารถยนต์ที่ให้นางรำไพไว้คืน แต่นางรำไพไม่ให้คืน จะสามารถทำได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย
ธงคำตอบ
มาตรา 1439 เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิดใช้ค่าทดแทน ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย
มาตรา 1440 ค่าทดแทนนั้นอาจเรียกได้ ดังต่อไปนี้
(1) ทดแทนความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียงแห่งชายหรือหญิงนั้น
มาตรา 1447/1 วรรคแรก สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนตามมาตรา 1439 ให้มีอายุความหกเดือนนับแต่วันที่ผิดสัญญาหมั้น
มาตรา 1447/2 วรรคแรก สิทธิเรียกคืนของหมั้นตามมาตรา 1439 ให้มีอายุความหกเดือนนับแต่วันที่ผิดสัญญาหมั้น
มาตรา 1469 สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินใดที่สามีภริยาได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยากันนั้น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต
วินิจฉัย
ก. การที่นายสุชาติทำสัญญาหมั้น น.ส.รำไพ ด้วยแหวนเพชรหนึ่งวง จึงถือเป็นสัญญาหมั้นที่สมบูรณ์ ตามมาตรา 1437 วรรคแรก เมื่อได้ความว่า น.ส.รำไพ ไปจดทะเบียนสมรสกับนายสุเทพจึงเป็นการผิดสัญญาหมั้นตามมาตรา 1439 นายสุชาติจึงสามารถฟ้องเรียกของหมั้นคืนได้ตามมาตรา 1439 และฟ้องเรียกค่าทดแทนในความเสียหายต่อชื่อเสียงได้ ตามมาตรา 1440(1) เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านางรำไพจดทะเบียนสมรสวันที่ 3 มกราคม แต่นายสุชาติมาฟ้องเรียกของหมั้นและค่าทดแทนในวันที่ 20 กรกฎาคม นั้น ไม่สามารถทำได้ เพราะสิทธิเรียกร้องค่าทดแทน และสิทธิเรียกคืนของหมั้นตามมาตรา 1439 นั้น จะต้องฟ้องในอายุความ 6 เดือนนับแต่วันที่ผิดสัญญาหมั้น ทั้งนี้ตามมาตรา 1447/1 วรรคแรก และมาตรา 1447/2 วรรคแรก
ข. เมื่อนางรำไพจดทะเบียนสมรสกับนายสุเทพ และในระหว่างสมรสการที่นายสุเทพมอบรถยนต์ให้นางรำไพโดยเสน่หานั้นถือเป็นการทำสัญญาระหว่างสมรสตามมาตรา 1469 เพราะเป็นสัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่สามีภริยาได้ทำต่อกันในระหว่างสมรส ซึ่งตามมาตรา 1469 กำหนดว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างสัญญาเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่ หรือภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ ดังนั้นภายหลังการหย่า 1 เดือน นายสุเทพสามารถบอกล้างสัญญาการให้รถยนต์และให้นางรำไพคืนรถยนต์ได้ตามมาตรา 1469
สรุป
ก. นายสุชาติไม่สามารถฟ้องเรียกแหวนหมั้นและค่าทดแทนได้
ข. นายสุเทพสามารถเรียกให้นางรำไพคืนรถยนต์ได้
ข้อ 2 นายจอมและนางภาเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย ปู่นายจอมได้ให้เงินนายจอมจำนวน 100,000 บาท หลังจากที่สมรสกับนางภา นายจอมนำเงินดังกล่าวไปให้นายสิงห์เพื่อนรักกู้ยืมโดยไม่ได้รับดอกเบี้ยซึ่งนางภาไม่เห็นด้วย และไม่ได้ให้ความยินยอมในการกู้ยืมเงินแต่อย่างใด ต่อมานายจอมได้นำเงินเดือนของตนเองที่ได้มาระหว่างสมรสจำนวน 200,000 บาท ไปซื้อหุ้นในบริษัทแห่งหนึ่ง หลังจากนั้นนายจอมได้นำหุ้นดังกล่าวไปแลกเปลี่ยนกับที่ดินแปลงหนึ่งของนายชาญเพื่อนของนายจอม โดยที่นางภาไม่ได้รู้เห็นและไม่ได้ให้ความยินยอมในการแลกเปลี่ยนดังกล่าว ต่อมานางภาได้ทราบเรื่องทั้งหมด นางภาเห็นว่าที่ดินแปลงที่นายจอมได้แลกเปลี่ยนมานั้นอยู่ในทำเลที่ไม่ดี นางภาจึงมาปรึกษาท่านที่เป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมายครอบครัวว่า นางภาจะฟ้องศาลขอเพิกถอนนิติกรรมการให้กู้ยืมเงินและการแลกเปลี่ยนดังกล่าวหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 1471 สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน
(3) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรส โดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หา
มาตรา 1473 สินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายใดให้ฝ่ายนั้นเป็นผู้จัดการ
มาตรา 1474 สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน
(1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส
มาตรา 1476 สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้
การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง สามีหรือภริยาจัดการได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง
วินิจฉัย
เงินที่นายจอมได้รับจากปู่โดยการให้โดยเสน่หาจำนวน 100,000 บาท ในระหว่างสมรสนั้นถือว่าเป็นสินส่วนตัวของนายจอม ตามมาตรา 1471(3) นายจอมจึงมีอำนาจจัดการเงินดังกล่าวได้โดยลำพังตามมาตรา 1473 แม้นายจอมนำเงินดังกล่าวไปให้นายสิงห์เพื่อนรักกู้ยืมโดยไม่ได้รับดอกเบี้ย และโดยที่นางภาไม่เห็นด้วยและไม่ได้ให้ความยินยอมก็ตาม นางภาก็จะฟ้องศาลขอเพิกถอนนิติกรรมการให้กู้ยืมเงินตามมาตรา 1480 ไม่ได้ (ฎ.337/2530)
ส่วนการที่นายจอมได้นำเงินเดือนของตนเองที่ได้มาระหว่างสมรสจำนวน 200,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นสินสมรสตามมาตรา 1474(1) ไปซื้อหุ้นในบริษัทแห่งหนึ่งนั้น หุ้นดังกล่าวก็ถือว่าเป็นสินสมรสด้วยเช่นกัน แต่การที่นายจอมนำหุ้นที่เป็นสินสมรสไปแลกเปลี่ยนกับที่ดินแปลงหนึ่งของนายชาญไม่ใช่การจัดการสินสมรสตามมาตรา 1476(1) ที่สามีภริยาต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง เพราะไม่ใช่การแลกเปลี่ยนระหว่างอสังหาริมทรัพย์กับอสังหาริมทรัพย์ หรืออสังหาริมทรัพย์กับสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้ นายจอมจึงจัดการแลกเปลี่ยนหุ้นกับที่ดินได้ตามลำพังโดยไม่ต้องขอความยินยอมจากนางภาตามมาตรา 1476 วรรคสอง ดังนั้นนางภาจึงฟ้องศาลขอเพิกถอนนิติกรรมการแลกเปลี่ยนดังกล่าวไม่ได้เช่นกัน
สรุป นางภาจะฟ้องศาลขอเพิกถอนนิติกรรมการให้กู้ยืมเงินและการแลกเปลี่ยนหุ้นกับที่ดินไม่ได้
ข้อ 3 นายปรีชาและนางนิติมา เป็นสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย นางนิติมาทราบว่านายปรีชาได้ไปอุปการะเลี้ยงดูนายสุรีย์ฉันภริยา นางนิติมาจึงฟ้องหย่าในระหว่างที่ศาลกำลังดำเนินกระบวนการพิจารณา นายปรีชาได้ขอให้นางนิติมาถอนฟ้องโดยสัญญายกเงิน 1 ล้านบาท ซึ่งเป็นสินส่วนตัวของตนให้แก่นางนิติมาและสัญญาว่าตนจะไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับนายสุรีย์อีก นางนิติมาจึงยอมถอนฟ้อง ต่อมานายปรีชาก็ได้ไปยุ่งเกี่ยวกับนายสุรีย์อีกจนนางนิติมาทนไม่ได้จึงมาฟ้องหย่าอีกครั้ง นายปรีชาต่อสู้ว่าเรื่องนี้นางนิติมาได้ให้อภัยตนแล้ว จึงไม่เป็นเหตุหย่า
1 อยากทราบว่าข้อต่อสู้ของนายปรีชาฟังขึ้นหรือไม่
2 นายปรีชาจะเรียกเงิน 1 ล้านบาทคืนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 1469 สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินใดที่สามีภริยาได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยากันนั้น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต
มาตรา 1516 เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้
(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
มาตรา 1518 สิทธิฟ้องหย่าย่อมหมดไปในเมื่อฝ่ายที่มีสิทธิฟ้องหย่าได้กระทำการอันแสดงให้เห็นว่าได้ให้อภัยในการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นเหตุให้เกิดสิทธิฟ้องหย่านั้นแล้ว
วินิจฉัย
1 ข้อต่อสู้ของนายปรีชาที่ว่านางนิติมาได้ให้อภัยตนแล้วฟังไม่ขึ้น เพราะการอภัยนั้นนางนิติมาได้อภัยการกระทำที่นายปรีชาได้ไปอุปการะเลี้ยงดูนายสุรีย์ฉันภริยาโดยการถอนฟ้อง เมื่อปรากฏว่าหลังจากนางนิติมาถอนฟ้องแล้ว นายปรีชายังคงไปยุ่งเกี่ยวกับนายสุรีย์อีก ทั้งการที่นางนิติมายอมถอนฟ้องในคดีก่อนที่นางนิติมาฟ้องหย่านายปรีชานั้นก็เป็นเพราะนายปรีชาตกลงเงื่อนไขว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับนายสุรีย์อีก เมื่อนายปรีชาไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข ยังคงอยู่กินฉันสามีภริยากับผู้อื่น จึงมิใช่กรณีที่นางนิติมายอมให้อภัยนายปรีชาตลอดไป ตามมาตรา 1518 การกระทำของนายปรีชาจึงเป็นเหตุฟ้องหย่าได้ตามมาตรา 1516(1) (ฎ.173/2540)
2 การที่นายปรีชาสัญญายกเงิน 1 ล้านให้กับนางนิติมานั้น เป็นสัญญาระหว่างสมรส ตามมาตรา 1469 เพราะเป็นสัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินใดๆที่สามีภริยาได้ทำต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยากัน (ศาลยังมิได้พิพากษาให้หย่ากัน) ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกลเกเสียในเวลาที่เป็นสามีภริยากันอยู่ หรือภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ ดังนั้นนายปรีชาสามารถเรียกเงิน 1 ล้านบาทคืนได้
สรุป
1 ข้อต่อสู้ของนายปรีชาฟังไม่ขึ้น
2 นายปรีชาเรียกเงิน 1 ล้านบาทคืนได้
ข้อ 4 นายไก่และนางไข่อยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาจนนางไข่ตั้งครรภ์ นายไก่จึงไปกู้เงินนายดำมา 5 แสนบาท เพื่อใช้ในการคลอดของนางไข่และต่อเติมบ้านของนายไก่เพื่อใช้อยู่อาศัยร่วมกันกับนางไข่ หลังจากคลอด ด.ช.หนึ่ง นายไก่และนางไข่ได้ไปจดทะเบียนสมรสกัน ห้าเดือนต่อมานางไข่ก็คลอดบุตรอีกคนหนึ่งคือ สอง ต่อมานายดำทวงเงิน 5 แสนบาทจากนางไข่ๆปฏิเสธ
1 ด.ช.หนึ่งและสองเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของใคร ตั้งแต่เมื่อใด
2 หนี้นายดำ 5 แสนบาท นายไก่และนางไข่จะต้องรับผิดชอบอย่างไร เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 1488 ถ้าสามีหรือภริยาต้องรับผิดเป็นส่วนตัวเพื่อชำระหนี้ที่ก่อไว้ก่อนหรือระหว่างสมรสให้ชำระหนี้นั้นด้วยสินส่วนตัวของฝ่ายนั้นก่อน เมื่อไม่พอจึงให้ชำระด้วยสินสมรสที่เป็นส่วนของฝ่ายนั้น
มาตรา 1489 ถ้าสามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกัน ให้ชำระหนี้นั้นจากสินสมรสและสินส่วนตัวของทั้งสองฝ่าย
มาตรา 1490 หนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกันนั้น ให้รวมถึงหนี้ที่สามีหรือภริยาก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างสมรสดังต่อไปนี้
(1) หนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือนและจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว การอุปการะเลี้ยงดูตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวและการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ
มาตรา 1536 วรรคแรก เด็กเกิดแต่หญิงขณะเป็นภริยาชายหรือภายในสามร้อยวันนับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามี หรือเคยเป็นสามีแล้วแต่กรณี
มาตรา 1546 เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชายให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
มาตรา 1547 เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลังหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร
มาตรา 1557 การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1547 ให้มีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด แต่ทั้งนี้จะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตในระหว่างเวลาตั้งแต่เกิดจนถึงเวลาที่บิดามารดาได้สมรสกันหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นบุตรไม่ได้
วินิจฉัย
1 ด.ช.หนึ่งเป็นบุตรของนายไก่และนางไข่ซึ่งเกิดก่อนที่บิดามารดาจะได้จดทะเบียนสมรสกัน ดังนั้นด.ช.หนึ่งจึงเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนางไข่นับแต่คลอดและอยู่รอดเป็นมารก ตามมาตรา 1546 ที่ว่า เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้สมรสกับชาย ให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น และเมื่อนายไก่และนางไข่จดทะเบียนสมรสกันภายหลัง ด.ช.หนึ่งจึงเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายไก่บิดานับแต่วันที่ ด.ช.หนึ่งเกิด แต่ทั้งนี้จะอ้างเป็นเหตุให้เสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตในระหว่างเวลาตั้งแต่ ด.ช.หนึ่งเกิดจนถึงเวลาที่บาดามารดาได้สมรสกันไม่ได้ ตามมาตรา 1547 ประกอบมาตรา 1557
ส่วนสองนั้นเป็นบุตรที่เกิดเมื่อบิดามารดาจดทะเบียนสมรสกันแล้ว (เกิดระหว่างสมรส) จึงเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายไก่และนางไข่นับแต่คลอดและอยู่รอดเป็นทารก ตามมาตรา 1536 วรรคแรก
2 หนี้เงินกู้จำนวน 5 แสนบาท ที่นายไก่ไปกู้ยืมมาจากนายดำ เป็นหนี้ส่วนตัวของนายดำตามมาตรา 1488 เพราะเป็นหนี้ที่นายไก่ได้ก่อขึ้นก่อนจดทะเบียนสมรส แม้จะมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้คลอดบุตรและต่อเติมบ้านเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของครอบครัว ก็ไม่ทำให้เป็นหนี้ร่วมตามมาตรา 1490(1) อันจะทำให้สามีภริยาต้องรับผิดร่วมกันตามมาตรา 1489 ได้ เพราะหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยาจะต้องเกิดขึ้นระหว่างสมรสเท่านั้น ดังนั้นหนี้เงินกู้จำนวน 5 แสนบาทนี้นายไก่ต้องรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว
สรุป
1 ด.ช.หนึ่งเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนางไข่ นับแต่คลอดและอยู่รอดเป็นทารก ตามมาตรา 1546 และเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายไก่ นับแต่คลอดและอยู่รอดเป็นทารก ตามมาตรา 1547 ประกอบมาตรา 1557
2 หนี้เงินกู้จำนวน 5 แสนบาท นายไก่ต้องรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว