การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นายสมควรทำสัญญาหมั้นนางสาวฤดีด้วยแหวนเพชร  1  วง  นางสาวฤดีได้ลาออกจากงานมาช่วยทำงานและอยู่กินด้วยฉันสามีภริยาที่บ้านของนายสมควร  เมื่อใกล้วันจดทะเบียนสมรส  สามีของนางดาราแฟนเก่าป่วยหนักเป็นโรคมะเร็งซึ่งจะเสียชีวิตแน่นอน  นายสมควรยังมีความรักนางดาราอยู่จึงได้ทำสัญญาหมั้นนางดาราด้วยแหวนเพชรและจะสมรสกันในอีก  1  ปีข้างหน้า  และนายสมควรได้ขับไล่นางสาวฤดีไปอยู่กับนางลัดดามารดา  แต่นายสมควรยอมรับผิดจะชดใช้ค่าทดแทนให้นางสาวฤดีเป็นเงิน  300,000  บาท  โดยรับสภาพเป็นหนังสือไว้  หลังจากนั้นนางสาวฤดีถึงแก่ความตาย

จากข้อเท็จจริงดังกล่าว  นางสาวฤดีจะมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนอะไรบ้าง  และเมื่อนางสาวฤดีถึงแก่ความตาย  นางลัดดามารกาจะมีสิทธิอย่างไร  เพราะเหตุใด  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

มาตรา  1437  วรรคแรก  การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น

มาตรา  1439  เมื่อมีการหมั้นแล้ว  ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิดใช้ค่าทดแทน  ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย

มาตรา  1440  ค่าทดแทนนั้นอาจเรียกได้  ดังต่อไปนี้

(1)          ทดแทนความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียงแห่งชายหรือหญิงนั้น

(2)          ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้น  บิดามารดา  หรือบุคคลผู้กระทำการในฐานะเช่นบิดามารดาได้ใช้จ่ายหรือต้องตกเป็นลูกหนี้เนื่องจากในการเตรียมการสมรสโดยสุจริตและตามสมควร

(3)          ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้นได้จัดการทรัพย์สินหรือการอื่นอันเกี่ยวแก่อาชีพทำมาหาได้ของตนไปโดยสมควรด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรส

มาตรา  1447  วรรคสอง  สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนตามหมวดนี้  นอกจากค่าทดแทนตามมาตรา  1440(2)  ไม่อาจโอนกันได้และไม่ตกทอดไปถึงทายาท  เว้นแต่สิทธินั้นจะได้รับสภาพกันไว้เป็นหนังสือหรือผู้เสียหายได้เริ่มฟ้องคดีตามสิทธินั้นแล้ว

วินิจฉัย

การที่นายสมควรได้ทำสัญญาหมั้นนางสาวฤดีด้วยแหวนเพชร  1  วง  ถือเป็นสัญญาหมั้นที่สมบูรณ์ตามมาตรา  1437  วรรคแรก  เพราะมีการส่งมอบของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า  นางสาวฤดีมีสิทธิเรียกค่าทดแทนอะไรบ้าง  เห็นว่า  เมื่อมีการหมั้นแล้ว  การที่สมควรได้ขับไล่นางสาวฤดีกลับไปอยู่กับนางลัดดามารดาในขณะเมื่อใกล้วันจดทะเบียนสมรสนั้น  ถือว่าเป็นการผิดสัญญาหมั้นตามมาตรา  1439 เนื่องจากเป็นกรณีที่คู่หมั้นฝ่ายหนึ่งปฏิเสธไม่สมรสกับอีกฝ่ายหนึ่งโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร  สำหรับผลของการผิดสัญญาหมั้น  เมื่อกรณีนี้นายสมควรฝ่ายชายเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น  นางสาวฤดีจึงไม่ต้องคืนแหวนเพชรของหมั้นให้แก่นายสมควรฝ่ายชาย  (ฎ.982/251/)

นอกจากนี้นางสาวฤดียังมีสิทธิเรียกค่าทดแทนได้ตามที่ระบุไว้ในมาตรา  1440  กล่าวคือ  มีสิทธิเรียกค่าทดแทนความเสียหายแก่กายหรือชื่อเสียงตามมาตรา  1440(1)  และมีสิทธิเรียกค่าทดแทนความเสียหายเนื่องจากการอื่นอันเกี่ยวเนื่องกับอาชีพโดยสมควรด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรสตามมาตรา  1440(3)  ส่วนค่าทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้นได้ใช้จ่าย  หรือต้องตกเป็นลูกหนี้เนื่องในการเตรียมการสมรสโดยสุจริตและตามสมควรตามมาตรา  1440(2)  นั้น  เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่านางสาวฤดีได้ใช้จ่ายไปในการนี้แต่อย่างใด  จึงไม่มีสิทธิเรียกได้

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า  เมื่อนางสาวฤดีถึงแก่ความตาย  นางลัดดามารดาจะมีสิทธิอย่างไร  เห็นว่า  สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนที่โอนหรือตกทอดไปยังทายาทได้คงมีแต่เฉพาะค่าทดแทนตามมาตรา  1440(2)  เท่านั้น  ส่วนค่าทดแทนอื่นๆ  ไม่อาจโอนกันได้และไม่ตกทอดไปถึงทายาท  เป็นสิทธิเฉพาะตัวของชายหรือหญิงคู่หมั้นเท่านั้นที่จะต้องเรียกร้องเอง  บุคคลอื่นไม่มีสิทธิ  เว้นแต่จะมีการรับสภาพกันไว้เป็นหนังสือหรือผู้เสียหายได้เริ่มฟ้องคดีตามสิทธิเหล่านี้ไว้แล้ว  ทั้งนี้ตามมาตรา  1447  วรรคสอง

กรณีนี้เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  นายสมควรได้ยอมรับผิดจะชดใช้ค่าทดแทนให้นางสาวฤดีเป็นเงิน  300,000  บาท  โดยรับสภาพเป็นหนังสือไว้แล้วก่อนที่นางสาวฤดีจะถึงแก่ความตาย  กรณีจึงต้องด้วยข้อยกเว้นตามมาตรา  1447  วรรคสอง  สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนตามมาตรา  1440(1)  และมาตรา  1440(3)  ย่อมเป็นมรดกตกทอดไปยังนางลัดดามารดาซึ่งเป็นทายาทได้  นางลัดดาจึงมีสิทธิเรียกร้องให้นายสมควรรับผิดชดใช้ค่าทดแทนดังกล่าวได้

สรุป  นางสาวฤดีมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนตามมาตรา  1440(1)  และมาตรา  1440(3)  และนางลัดดามีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนดังกล่าวได้

 

ข้อ  2  นายเอกและนางใจทำสัญญาก่อนสมรสให้นายเอกมีอำนาจในการจัดการสินสมรสแต่เพียงผู้เดียว  หลังจากสมรสนางใจเปิดร้านตัดเสื้อ  นางใจได้นำเงินเดือนของนายเอกที่ได้มาระหว่างสมรสจำนวน  50,000  บาท  ไปซื้อจักรเย็บผ้าเพื่อมาใช้ในร้าน  ต่อมานางใจต้องการเปลี่ยนอาชีพไปขายอาหาร  นางใจจึงขายจักรเย็บผ้าให้กับนางสวยในราคา  40,000  บาท  นางใจได้นำเงินดังกล่าวไปให้นายชอบยืมโดยที่นายเอกไม่ได้รู้เห็นในการให้ยืมเงินนั้น  ต่อมานางใจไปไปทำสัญญาเช่าที่ดินแปลงหนึ่งเป็นเวลา  5  ปี  เพื่อที่จะมาเปิดร้านอาหารโดยที่นายเอกไม่ได้รู้เห็นและให้ความยินยอม  ภายหลังนายเอกทราบเรื่องทั้งหมด  นายเอกอ้างว่านางใจไม่มีอำนาจนำเงินไปให้นายชอบยืมและไปเช่าที่ดินตามลำพังได้  เพราะนายเอกมีอำนาจในการจัดการสินสมรสแต่เพียงผู้เดียวตามสัญญาก่อนสมรส  ดังนี้  นายเอกจะฟ้องศาลขอเพิกถอนนิติกรรมการให้ยืมเงินและการเช่าที่ดินได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1471  สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน

(2) ที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว  เครื่องแต่งกาย  หรือเครื่องประดับกายตามสมควรแก่ฐานะหรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

มาตรา  1472  วรรคแรก  สินส่วนตัวนั้น  ถ้าได้แลกเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินอื่นก็ดี  ซื้อทรัพย์สินอื่นมาก็ดี  หรือขายได้เป็นเงินมาก็ดี  ทรัพย์สินอื่นหรือเงินที่ได้มานั้นเป็นสินส่วนตัว

มาตรา  1473  สินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายใดให้ฝ่ายนั้นเป็นผู้จัดการ

มาตรา  1474  สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน

(1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส

มาตรา  1476  สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีดังต่อไปนี้

(2)  ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี

การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง  สามีหรือภริยาจัดการได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง

มาตรา  1476/1  วรรคแรก  สามีและภริยาจะจัดการสินสมรสให้แตกต่างไปจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา  1476  ทั้งหมดหรือบางส่วนได้ก็ต่อเมื่อได้ทำสัญญาก่อนสมรสไว้ตามที่บัญญัติในมาตรา  1465  และมาตรา  1466  ในกรณีดังกล่าวนี้  การจัดการสินสมรสให้เป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญาก่อนสมรส

มาตรา  1480  วรรคแรก  การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกัน  หรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา  1476  ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว  หรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง  คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้  เว้นแต่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว  หรือในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน

วินิจฉัย

การที่นางใจนำเงินเดือนของนายเอกจำนวน  50,000  บาท  ที่ได้มาระหว่างสมรสซึ่งถือว่าเป็นสินสมรสตามมาตรา  1474(1)  ไปซื้อจักรเย็บผ้าซึ่งเป็นเครื่องมือใช้ในการประกอบอาชีพตัดเสื้อของนางใจ  จักรเย็บผ้าจึงถือว่าเป็นสินส่วนตัวของนางใจตามมาตรา  1471(2)  แม้จะได้มาระหว่างสมรสโดยการเอาเงินสินสมรสไปซื้อมาก็ตาม  (ฎ.3666  3667/2535)  เมื่อนางใจขายจักรเย็บผ้าได้เงินมา  40,000  บาท  เงินที่ได้จากการขายจักรเย็บผ้าก็คงเป็นสินส่วนตัวของนางใจตามมาตรา  1472  วรรคแรกที่ว่า  สินส่วนตัวนั้น  ถ้าขายได้เป็นเงินมา  เงินที่ได้มานั้นเป็นสินส่วนตัว  นางใจจึงมีอำนาจในการจัดการสินส่วนตัวโดยการนำเงินนั้นไปให้นายชอบยืมตามลำพังได้ตามมาตรา  1473  นายเอกจึงฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมการให้กู้เงินไม่ได้  (ฎ.2472/2522)

ส่วนการที่นางใจได้ทำสัญญาเช่าที่ดินแปลงหนึ่งเป็นเวลา  5  ปี  เพื่อที่จะมาเปิดร้านขายอาหารนั้นไม่ใช่นิติกรรมที่เกี่ยวข้องกับสินสมรสที่นายเอกมีอำนาจจัดการแต่เพียงผู้เดียวตามสัญญาก่อนสมรสตามมาตรา  1476/1  วรรคแรก  เนื่องจากมิใช่การจัดการสินสมรสที่สามีและภริยาจะต้องจัดการร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งก่อนตามมาตรา  1476  วรรคแรก  (3)  เพราะมิใช่การให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินกว่า  3  ปี  ดังนั้นนางใจจึงมีอำนาจที่จะกระทำตามลำพังได้ตามมาตรา  1476  วรรคสอง  นายเอกจะฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมการเช่าที่ดินดังกล่าวตามมาตรา  1480  วรรคแรก  ไม่ได้เช่นกัน

ดังนั้น  แม้นายเอกจะมีอำนาจในการจัดการสินสมรสแต่เพียงผู้เดียวตามสัญญาก่อนสมรสก็ตาม    แต่เมื่อไม่ใช่นิติกรรมที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส  นายเอกจึงฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมการให้กู้ยืมเงินและการเช่าที่ดินไม่ได้

สรุป  นายเอกจะฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้กู้ยืมเงินและการเช่าที่ดินไม่ได้

 

ข้อ  3  ก.  มีที่ดิน  1  แปลง  ข.  มีเงินในธนาคาร  100,000  บาท  ต่อมา  ก.  และ  ข.  ได้จดทะเบียนสมรสกัน  ข.  ได้ถอนเงินจากธนาคาร  50,000  บาท  ไปซื้อต้นมะม่วงในที่ดิน  ก.  เมื่อมะม่วงออกผล  ข.  เก็บไปขายได้เงิน  40,000  บาท  20,000  บาท  นำไปซื้อรถยนต์  อีก  20,000  บาท  ฝากไว้ในธนาคาร  ต่อมา  ข.  เป็นนักเล่นการผันไปยืมเงิน  ค.  มา  200,000  บาท  ข. ไม่ชำระหนี้  ค.  จะบังคับชำระหนี้อย่างไรจาก

(1) เงินในบัญชีธนาคาร  และ/หรือ

(2) รถยนต์

ธงคำตอบ

มาตรา  1471  สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน

(1) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส

มาตรา  1472  วรรคแรก  สินส่วนตัวนั้น  ถ้าได้แลกเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินอื่นก็ดี  ซื้อทรัพย์สินอื่นมาก็ดี  หรือขายได้เป็นเงินมาก็ดี  ทรัพย์สินอื่นหรือเงินที่ได้มานั้นเป็นสินส่วนตัว

มาตรา  1474  สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน

(1)  ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส

(3)  ที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว

มาตรา  1488  ถ้าสามีหรือภริยาต้องรับผิดเป็นส่วนตัวเพื่อชำระหนี้ที่ก่อไว้ก่อนหรือระหว่างสมรส  ให้ชำระหนี้นั้นด้วยสินส่วนตัวของฝ่ายนั้นก่อน  เมื่อไม่พอจึงให้ชำระด้วยสินสมรสที่เป็นส่วนของฝ่ายนั้น

มาตรา  1490  หนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกันนั้นให้รวมถึงหนี้ที่สามีหรือภริยาก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างสมรสดังต่อไปนี้

 (1) หนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือนหรือจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว  การอุปการะเลี้ยงดูตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวและการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ

(2) หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส

(3) หนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานซึ่งสามีภริยาทำด้วยกัน

(4) หนี้ที่สามีหรือภริยาก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียว  แต่อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบัน

วินิจฉัย

หนี้เงิน  200,000  บาท  ที่  ข  ไปยืม  ค  เพื่อมาเล่นการพนันนั้นถือว่าเป็นหนี้ส่วนตัวของ  ข  แต่เพียงผู้เดียวตามมาตรา  1488  ไม่ถือว่าหนี้ร่วมของสามีภริยาตามมาตรา  1490  เนื่องจากไม่ใช่หนี้ตามที่ระบุไว้ใน  (1)  (4)  ของบทบัญญัติดังกล่าว  ดังนั้นแม้จะเป็นหนี้ที่ก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างสมรส  แต่เมื่อมีวัตถุประสงค์เป็นเรื่องส่วนตัวแล้วย่อมต้องถือว่าเป็นหนี้ส่วนตัว  (ฎ.159/2537)

เมื่อถือว่าเป็นหนี้ส่วนตัวแล้ว  การบังคับชำระหนี้จึงต้องเป็นไปตามลำดับตามที่มาตรา  1488  กำหนดไว้  คือ  ลำดับแรกให้บังคับชำระหนี้จากเงินฝากในธนาคารที่เป็นชื่อบัญชีของ  ข  ที่เหลืออีก  50,000  บาท  ก่อน  เพราะจากข้อเท็จจริง  เงินฝากในธนาคารเป็นทรัพย์สินที่ ข  ได้มาก่อนจดทะเบียนสมรส  จึงถือว่าเป็นสินส่วนตัวของ  ข  ตามมาตรา  1471(1)  จึงต้องถูกบังคับชำระหนี้เป็นอันดับแรก

เมื่อบังคับชำระหนี้จากเงินฝากในธนาคารไม่พอชำระหนี้  ค  เจ้าหนี้ก็สามารถบังคับชำระหนี้จากต้นมะม่วงซึ่ง  ข  ได้นำเงินฝากธนาคารที่เป็นสินส่วนตัวมาซื้อ  ต้นมะม่วงย่อมเป็นสินส่วนตัวด้วยตามมาตรา  1472  วรรคแรก

อนึ่งในการนี้  ถ้าบังคับชำระหนี้จากต้นมะม่วงแล้วยังไม่พอชำระหนี้อีก  ค  เจ้าหนี้สามารถบังคับชำระหนี้จากสินสมรสได้  กล่าวคือ  ผลมะม่วงนั้นเป็นดอกผลของสินส่วนตัวที่เกิดขึ้นในระหว่างสมรส  จึงถือว่าเป็นสินสมรสตามมาตรา  1474(3)  เมื่อถือว่าเป็นสินสมรส  แม้จะได้แลกเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินอื่นก็ดี  ซื้อทรัพย์สินอื่นมาก็ดี  หรือขายได้เป็นเงินมาก็ดี  ทรัพย์สินอื่นหรือเงินที่ได้มานั้นก็ย่อมเป็นสินสมรสด้วยเช่นกัน  ทั้งนี้ตามมาตรา  1474(1)  ดังนั้นเงินฝากจำนวน  20,000  บาทและรถยนต์ถือเป็นสินสมรสอันอาจถูกบังคับชำระหนี้ได้ครึ่งหนึ่งในส่วนของ  ข  ตามมาตรา  1533

สรุป  ค  จะต้องบังคับชำระหนี้จากเงินในบัญชีธนาคารซึ่งเป็นสินส่วนตัวก่อน  หากไม่พอชำระหนี้จึงจะมีสิทธิบังคับชำระหนี้เอาจากรถยนต์ที่เป็นสินสมรสได้ครึ่งหนึ่งในส่วนของ  ข

 

ข้อ  4  นายไก่และนางไข่เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ต่อมานางไข่หนีไปอยู่กับนายขวดและมีบุตรคือ  หนึ่ง  หลังจากนั้นไม่นานนายไก่ตาย  นางไข่ก็ไปจดทะเบียนสมรสทันทีกับนายขิง  5  เดือนต่อมา  นางไข่คลอดบุตรอีกคือ  สอง  นายขิงรู้สึกว่าตนเป็นคนแสนโง่ถูกนางไข่หลอกลวงจึงหนีนางไข่ไปบวชได้ปีกว่าแล้ว

(1) การสมรสระหว่างนางไข่และนายขิงมีผลในทางกฎหมายอย่างไร

(2) หนึ่งต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของใคร

(3) นางไข่จะฟ้องหย่านายขิงได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1453  วรรคแรก  หญิงที่สามีตายหรือที่การสมรสสิ้นสุดลงด้วยประการอื่นจะทำการสมรสใหม่ได้ต่อเมื่อการสิ้นสุดแห่งการสมรสได้ผ่านพ้นไปแล้วไม่น้อยกว่าสามร้อยสิบวัน

มาตรา  1516  เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้

(4) สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปีอีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

มาตรา  1536  วรรคแรก  เด็กเกิดแต่หญิงขณะเป็นภริยาชายหรือภายในสามร้อยวันนับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลง  ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามี  หรือเคยเป็นสามีแล้วแต่กรณี

มาตรา  1537  ในกรณีที่หญิงทำการสมรสใหม่นั้นเป็นการฝ่าฝืนมาตรา  1453  และคลอดบุตรภายในสามร้อยสิบวันนับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลงให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเด็กที่เกิดแต่หญิงนั้นเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามีคนใหม่  และห้ามมิให้นำข้อสันนิษฐานในมาตรา  1536  ที่ว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีเดิมมาใช้บังคับ  ทั้งนี้เว้นแต่มีคำพิพากษาของศาล  แสดงว่าเด็กมิใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามีคนใหม่

วินิจฉัย

 (1) นายขิงจดทะเบียนสมรสกับนางไข่เป็นการสมรสฝ่าฝืนมาตรา  1453  วรรคแรก  คือ นางไข่ต้องรอให้ผ่านไป  310  วันก่อน  นับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลง  (การตายเป็นเหตุให้การสมรสสิ้นสุดลงตามมาตรา  1501)  แต่การฝ่าฝืนมาตรา  1453  วรรคแรก  กฎหมายไม่ได้บัญญัติว่าเป็นโมฆะหรือโมฆียะแต่อย่างใด  การสมรสดังกล่าวจึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย

 (2) หนึ่งเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายไก่และนางไข่  นับแต่คลอดและอยู่รอดเป็นทารก  เพราะเป็นบุตรที่เกิดระหว่างสมรสตามมาตรา  1536  วรรคแรก  แม้จะเกิดในขณะนางไข่หนีไปอยู่กินกับนายขวด  แต่เมื่อการสมรสระหว่างนายไก่และนางไข่ยังไม่สิ้นสุด  จึงต้องถือว่าหนึ่งเป็นบุตรที่เกิดในระหว่างที่บิดามารดาเป็นสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย

ส่วนสองเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายขิงและนางไข่  เพราะเป็นบุตรที่เกิดจากหญิงที่ทำการสมรสใหม่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา  1453  และคลอดภายใน  310  วันนับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลง  กรณีเช่นนี้ต้องด้วยข้อสันนิษฐานของกฎหมายตามมาตรา  1537  ว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามีคนใหม่ซึ่งก็คือ  นายขิง  นอกจากนั้นในกรณีของบุตรที่เกิดจากการสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา  1453  นี้  กฎหมายห้ามมิให้นำข้อสันนิษฐานตามมาตรา  1536  ที่ว่า  เด็กที่เกิดภายใน  310  วันนับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เคยเป็นสามี  คือ  นายไก่มาใช้บังคับ

 (3) การที่นายขิงหนีไปบวชได้ปีกว่านั้น  ถือได้ว่าสามีจงใจละทิ้งร้างภริยาไปเกิน  1  ปีแล้ว  นางไข่จึงฟ้องหย่าได้ตามมาตรา  1516(4)

สรุป 

(1) การสมรสสมบูรณ์ตามกฎหมาย

(2) หนึ่งเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายไก่และนางไข่  ส่วนสองเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายขิงและนางไข่

(3) นางไข่สามารถฟ้องหย่านายขิงได้

Advertisement