การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายสิทธิได้ทําสัญญาหมั้นนางสาววิไลด้วยแหวนเพชรและเงิน 200,000 บาท แต่ยังไม่มีเงินจึงทําสัญญากู้ให้ไว้ และบิดาของนายสิทธิได้ตกลงให้สินสอดแก่มารดานางสาววิไลเป็นจํานวนเงิน 300,000 บาท แต่ไม่มีเงินเพียงพอจึงทําสัญญากู้ให้ไว้ และตกลงจะทําการจดทะเบียนสมรส ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ต่อมานายสิทธิและนางสาววิไลได้ทําการจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย นางสาววิไลและมารดานางสาววิไลได้ทวงถามเงินของหมั้น 200,000 บาท และสินสอดจํานวน 300,000 บาท จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจะทําได้หรือไม่ อย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1437 วรรคหนึ่งและวรรคสาม “การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือ โอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น

สินสอดเป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรมหรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง แล้วแต่กรณี เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสําคัญอันเกิดแก่หญิง หรือโดยมีพฤติการณ์ ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ ทําให้ชายไม่สมควรหรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น ฝ่ายชายเรียกสินสอดคืนได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสิทธิได้ทําสัญญาหมั้นนางสาววิไลด้วยแหวนเพชรและเงิน 200,000 บาทนั้น เมื่อได้มีการส่งมอบแหวนเพชรอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงแล้ว แม้จะไม่มีการส่งมอบเงิน ให้แก่หญิง การหมั้นระหว่างนายสิทธิและนางสาววิไลย่อมมีผลสมบูรณ์ตามมาตรา 1437 วรรคหนึ่ง ส่วนการที่นายสิทธิได้ทําสัญญากู้ยืมเงิน 200,000 บาทให้นางสาววิไลไว้เป็นของหมั้นนั้น เมื่อยังไม่มีการส่งมอบทรัพย์สิน คือเงิน 200,000 บาทให้แก่หญิงคู่หมั้น เป็นเพียงการทําสัญญาว่าจะให้ทรัพย์สินที่เป็นของหมั้นในวันข้างหน้า ทรัพย์สินคือเงิน 200,000 บาท จึงไม่ถือว่าเป็นของหมั้นตามมาตรา 1437 วรรคหนึ่ง ดังนั้น นางสาววิไล จะเรียกเงิน 200,000 บาทตามสัญญากู้ในฐานะเป็นของหมั้นไม่ได้ (คําพิพากษาฎีกาที่ 1482/2506)

ส่วนการที่บิดาของนายสิทธิได้ตกลงให้สินสอดแก่มารดานางสาววิไลเป็นจํานวนเงิน 300,000 บาท แต่ในขณะหมั้นไม่มีเงินเพียงพอจึงทําสัญญากู้ให้ไว้โดยยังไม่มีการส่งมอบเงินให้แก่กันนั้น ข้อตกลงในเรื่องสินสอด ย่อมมีผลสมบูรณ์ตามมาตรา 1437 วรรคสาม เพราะสินสอดนั้นจะส่งมอบให้แก่กันเมื่อใดก็ได้ และแม้ว่านายสิทธิ์ ได้ทําการสมรสกับนางสาววิไลแล้ว สัญญาว่าจะให้สินสอดยังคงมีผลบังคับกันได้ ดังนั้น บิดาของนายสิทธิจึงต้อง ผูกพันตามสัญญากู้ซึ่งมีมูลหนี้อันชอบด้วยกฎหมายและได้แปลงหนี้ใหม่ มารดาของนางสาววิไลจึงมีสิทธิเรียกเงิน จํานวน 300,000 บาทตามสัญญากู้จากบิดาของนายสิทธิได้ (คําพิพากษาฎีกาที่ 878/2518)

สรุป นางสาววิไลจะเรียกเงิน 200,000 บาทจากนายสิทธิไม่ได้ แต่มารดานางสาววิไลสามารถ เรียกเงิน 300,000 บาทจากบิดาของนายสิทธิได้

 

ข้อ 2 นางสาวพอใจ อายุ 25 ปี จดทะเบียนสมรสกับนายสุกิจ อายุ 30 ปี ต่อมา นางสาวพอใจประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560 เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2560 นายสุกิจได้จดทะเบียน สมรสกับนางสาวทองคํา อายุ 19 ปี โดยบิดามารดาของนางสาวทองคําไม่ทราบเรื่อง หลังจากนั้น อีก 3 ปี บิดามารดาของนางสาวทองคําทราบเรื่องจึงโกรธมากและต้องการฟ้องยกเลิกการสมรส ดังกล่าว เช่นนี้ ท่านเห็นว่าบิดามารดาของนางสาวทองคําจะฟ้องศาลให้เพิกถอนการสมรสได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1436 “ผู้เยาว์จะทําการหมั้นได้ต้องได้รับความยินยอมของบุคคลดังต่อไปนี้

(1) บิดาและมารดา ในกรณีที่มีทั้งบิดามารดา การหมั้นที่ผู้เยาว์ทําโดยปราศจากความยินยอมดังกล่าวเป็นโมฆียะ”

มาตรา 1452 “ชายหรือหญิงจะทําการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้”

มาตรา 1454 “ผู้เยาว์จะทําการสมรสให้นําความในมาตรา 1436 มาใช้บังคับโดยอนุโลม” มาตรา 1501 “การสมรสย่อมสิ้นสุดลงด้วยความตาย การหย่า หรือศาลพิพากษาให้เพิกถอน”

มาตรา 1509 “การสมรสที่มิได้รับความยินยอมของบุคคลดังกล่าวในมาตรา 1454 การสมรสนั้น เป็นโมฆียะ”

มาตรา 1510 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “การสมรสที่เป็นโมฆียะเพราะมิได้รับความยินยอม ของบุคคลดังกล่าวในมาตรา 1454 เฉพาะบุคคลที่อาจให้ความยินยอมตามมาตรา 1454 เท่านั้น ขอให้เพิกถอน การสมรสได้

สิทธิขอเพิกถอนการสมรสตามมาตรานี้เป็นอันระงับเมื่อคู่สมรสนั้นมีอายุครบยี่สิบปีบริบูรณ์ หรือเมื่อหญิงมีครรภ์”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางสาวพอใจได้จดทะเบียนสมรสกับนายสุกิจ และต่อมานางสาวพอใจ ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตนั้น ย่อมทําให้การสมรสระหว่างนางสาวพอใจกับนายสุกิจสิ้นสุดลงตามมาตรา 1501 ดังนั้น ต่อมาเมื่อนายสุกิจได้จดทะเบียนสมรสกับนางสาวทองคําจึงไม่เป็นการสมรสที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 1452

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในขณะทําการสมรสนั้น นางสาวทองคํามีอายุเพียง 19 ปี และได้สมรสโดยไม่ได้รับความยินยอมจากบิดามารดา ดังนั้น การสมรสระหว่างนายสุกิจกับนางสาวทองคํา จึงตกเป็นโมฆี่ยะตามมาตรา 1454 ประกอบมาตรา 1436 และมาตรา 1509 บิดามารดาของนางสาวทองคํา จึงสามารถฟ้องขอให้เพิกถอนการสมรสได้ตามมาตรา 1510 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อบิดามารดาของนางสาวทองคํา มาทราบเรื่องภายหลังจากนางสาวทองคํามีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์แล้ว สิทธิในการฟ้องขอเพิกถอนการสมรส จึงเป็นอันระงับไปตามมาตรา 1510 วรรคสอง ดังนั้น บิดามารดาของนางสาวทองคําจึงไม่สามารถฟ้องศาล ให้เพิกถอนการสมรสระหว่างนายสุกิจกับนางสาวทองคําได้

สรุป บิดามารดาของนางสาวทองคําจะฟ้องศาลให้เพิกถอนการสมรสไม่ได้

 

ข้อ 3. นายพงษ์และนางแพรวตกลงกันในขณะที่จดทะเบียนสมรสกันที่เขตบางรักว่าไม่ประสงค์จะให้บันทึกเกี่ยวกับทรัพย์สินของทั้ง 2 ฝ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น หลังจากที่จดทะเบียนสมรสกันแล้วนายพงษ์และ นางแพรวกลับไปบ้านและพูดคุยกัน นายพงษ์ตกลงยกบ้านและที่ดิน 1 แปลงของนายพงษ์ให้แก่ นางแพรว ในวันเดียวกันนั้นทั้งสองกลับมาที่เขตบางรักอีกครั้งและมาขอบันทึกเพิ่มเติมว่านายพงษ์ จะยกบ้านและที่ดิน 1 แปลงให้กับนางแพรว วันรุ่งขึ้นนายพงษ์ได้ทําหนังสือและจดทะเบียน โอนบ้านและที่ดินดังกล่าวให้แก่นางแพรวตามที่ได้ตกลงกัน ยี่สิบปีต่อมานายพงษ์ได้รับเงินบําเหน็จ จากการเกษียณอายุราชการจํานวน 2 ล้านบาท นายพงษ์นําไปซื้อตึกแถวโดยลําพัง หลังจากนั้น นายพงษ์ขายตึกแถวให้แก่นายนพซึ่งเป็นญาติสนิทของนายพงษ์ โดยนายพงษ์และนายนพตกลงกัน ว่าจะไม่บอกเรื่องนายพงษ์ขายตึกแถวแก่นายนพให้นางแพรวทราบ นางแพรวจึงไม่ได้รู้เห็นและ ให้ความยินยอมในการขายตึกแถวแต่อย่างใด ต่อมานางแพรวทราบเรื่องทั้งหมด นายพงษ์และ นางแพรวทะเลาะกันอย่างรุนแรง ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า

(ก) นายพงษ์จะบอกล้างการให้ที่ดินที่นายพงษ์โอนให้แก่นางแพรวเมื่อยี่สิบปีที่แล้วได้หรือไม่เพราะเหตุใด

(ข) นางแพรวจะฟ้องศาลขอเพิกถอนนิติกรรมการขายตึกแถวของนายพงษ์ได้หรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1469 “สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินใดที่สามีภริยาได้ทําไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยา กันนั้น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกําหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาด จากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทําการโดยสุจริต”

มาตรา 1474 “สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน

(1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส”

มาตรา 1476 “สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีก ฝ่ายหนึ่งในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จํานอง ปลดจํานอง หรือโอนสิทธิจํานองซึ่ง อสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจํานองได้”

มาตรา 1480 วรรคหนึ่ง “การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกัน หรือต้องได้รับความ ยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 1476 ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทํานิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือโดยปราศจาก ความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เว้นแต่คู่สมรส อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือในขณะที่ทํานิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทําโดยสุจริตและ เสียค่าตอบแทน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่นายพงษ์และนางแพรวมาขอบันทึกเพิ่มเติมที่เขตบางรักหลังจากที่ได้จดทะเบียน สมรสกันแล้ว ว่านายพงษ์จะยกบ้านและที่ดิน 1 แปลงของนายพงษ์ให้กับนางแพรวนั้น บันทึกดังกล่าวเป็นสัญญา ที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่สามีภริยาได้ทําไว้ต่อกันในระหว่างสมรส จึงเป็นสัญญาระหว่างสมรสตามมาตรา 1469 ซึ่ง นางพงษ์จะบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกําหนด 1 ปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็น สามีภริยากันก็ได้ ดังนั้นข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ แม้นายพงษ์และนางแพรวจะได้ทําสัญญากันเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว นายพงษ์ก็มีสิทธิที่จะบอกล้างสัญญาระหว่างสมรสนี้ได้

(ข) การที่นายพงษ์ได้นําเงินบําเหน็จจากการเกษียณอายุราชการจํานวน 2 ล้านบาท ซึ่ง ถือว่าเป็นสินสมรสตามมาตรา 1474 (1) ไปซื้อตึกแถวโดยลําพังนั้น ตึกแถวดังกล่าวย่อมเป็นสินสมรสซึ่งการที่ สามีหรือภริยาจะขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นสินสมรสให้ผู้อื่นนั้น ถือเป็นนิติกรรมตามมาตรา 1476 (1) ที่สามี และภริยาต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง ดังนั้น การที่นายพงษ์ได้ขายตึกแถว ให้แก่นายนพซึ่งได้รับซื้อไว้โดยไม่สุจริตเพราะนายนพได้ตกลงกับนายพงษ์ที่จะไม่บอกเรื่องการซื้อขายตึกแถว ให้นางแพรวทราบ ดังนั้น นางแพรวซึ่งไม่ได้รู้เห็นและให้ความยินยอมด้วยในการขายตึกแถว จึงมีสิทธิที่จะฟ้อง ให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการขายตึกแถวดังกล่าวได้ตามมาตรา 1480 วรรคหนึ่ง

สรุป

(ก) นายพงษ์สามารถบอกล้างการให้ที่ดินที่นายพงษ์โอนให้แก่นางแพรวเมื่อยี่สิบปีที่แล้วได้

(ข) นางแพรวสามารถฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการขายตึกแถวของนายพงษ์ได้

 

ข้อ 4. นายไก่และนางไข่อยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาจนมีบุตรด้วยกันหนึ่งคน คือ เด็กชายเป็ด จึงไปจดทะเบียนสมรสกัน โดยนางไข่ทราบดีอยู่ว่านายไก่อยู่กินร่วมกันกับหญิงอีกคนหนึ่งคือ นางนก โดยนายไก่และนางไข่ตกลงกันว่าจะจดทะเบียนสมรสกับนางไข่ หากนางไข่ยินยอมให้ตนอยู่กินร่วมกัน ฉันสามีภริยากับนางนกได้ ต่อไป นางไข่ยินยอมตามขอ ต่อมานายไก่มีลูกกับนางนกคือ เด็กหญิงห่าน นายไก่ก็หลงรักเด็กหญิงห่านมากทําให้นางไข่โมโห จึงมาปรึกษานักศึกษาว่า จากข้อเท็จจริงตามโจทย์ นางไข่จะฟ้องหย่านายไก่ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด และเด็กชายเป็ดและเด็กหญิงห่าน เป็นบุตรชอบ ด้วยกฎหมายของใคร ตั้งแต่เมื่อใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1457 “การสมรสตามประมวลกฎหมายนี้จะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น”

มาตรา 1516 “เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้

(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือ ร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้”

มาตรา 1517 วรรคหนึ่ง “เหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516 (1) และ (2) ถ้าสามีหรือภริยา แล้วแต่กรณี ได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทําที่เป็นเหตุฟ้องหย่านั้น ฝ่ายที่ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจนั้นจะ ยกเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้”

1546 “เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชายให้ถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ของหญิงนั้น เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”

มาตรา 1547 “เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อ บิดามารดาได้สมรสกันในภายหลัง หรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร”

วินิจฉัย กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(1) การที่นายไก่และนางไข่อยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาจนมีบุตรด้วยกันหนึ่งคน คือ เด็กชายเป็ด แต่ต่อมาเมื่อนายไก่และนางไข่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ย่อมถือว่านายไก่และนางไข่เป็นสามีและ ภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1457 ดังนั้น การที่นายไก่ได้ไปอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยากับนางนก จนมีลูก คือ เด็กหญิงห่านนั้น ย่อมถือว่าเป็นกรณีที่นายไก่ได้อุปการะเลี้ยงดูและยกย่องหญิงอื่นฉันภริยา ตาม มาตรา 1516 (1) นางไข่จึงสามารถถือเป็นเหตุฟ้องหย่านายไม่ได้

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า การที่นายไก่ได้ไปอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยา กับนางนกนั้น นางไข่ได้ยินยอมหรืออนุญาตนายไก่แล้ว ดังนั้น นางไข่จึงอ้างเหตุดังกล่าวเพื่อที่จะฟ้องหย่านายไก่ ไม่ได้ตามมาตรา 1517 วรรคหนึ่ง

(2) เด็กชายเป็ดเป็นบุตรที่เกิดก่อนที่นายไก่และนางไข่จะได้จดทะเบียนสมรส ซึ่งโดยหลักแล้ว ย่อมเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนางไข่แต่เพียงผู้เดียวนับแต่คลอดและอยู่รอดเป็นทารกตามมาตรา 1546 แต่เมื่อต่อมานายไก่และนางไข่ได้จดทะเบียนสมรสกันย่อมถือว่าเด็กชายเป็ดเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของ นายไก่ด้วยตามมาตรา 1547

(3) เด็กหญิงห่านเป็นบุตรที่เกิดจากนางนกซึ่งมิได้จดทะเบียนสมรสกับนายไก่ ดังนั้น เด็กหญิงห่านจึงเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนางนกแต่เพียงผู้เดียวนับแต่คลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกตาม มาตรา 1546

สรุป

นางไข่จะฟ้องหย่านายไก่ไม่ได้ และเด็กชายเป็ดเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของ นายไข่ตั้งแต่คลอดและอยู่รอดเป็นทารก และเป็นบุตรโดยชอบของนายไก่ เมื่อนายไก่และนางไข่ได้จดทะเบียน สมรสกัน ส่วนเด็กหญิงห่านเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนางนกแต่เพียงผู้เดียวนับแต่คลอดและอยู่รอด เป็นทารก

Advertisement