การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2559
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1. นายสนั่นชอบพอรักใคร่กับนางสาวเอมอร นายสนั่นได้ตกลงจัดงานแต่งงานกับนางสาวเอมอรโดยวิธีการผูกข้อมือ ในวันทําพิธีนายสนั่นมีความประทับใจกับนางเปรื่องมารดาของนางสาวเอมอรและนางสาวเอมอรเป็นอย่างมากจึงได้ถอดแหวนทอง 1 บาทให้แก่นางสาวเอมอรและถอดสร้อยคอทอง 1 บาทให้แก่นางเปรื่องมารดาของนางสาวเอมอร ต่อมานายสนั่นกับนางสาวเอมอรมีความขัดแย้งกัน นางสาวเอมอรจึงไม่ยอมอยู่กินร่วมกัน นายสนั่นเห็นว่านางสาวเอมอรมีเจตนาไม่ทําตามสัญญาจึง ต้องการฟ้องเรียกแหวนทองคืนจากนางสาวเอมอร และเรียกสร้อยทองคืนจากนางเปรื่องมารดาของนางสาวเอมอร เช่นนี้ท่านเห็นว่าอย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1437 วรรคหนึ่งและวรรคสาม “การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือ โอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น
สินสอดเป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรมหรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง แล้วแต่กรณี เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสําคัญอันเกิดแก่หญิง หรือโดยมีพฤติการณ์ ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ ทําให้ชายไม่สมควรหรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น ฝ่ายชายเรียกสินสอดคืนได้”
มาตรา 1442 “ในกรณีมีเหตุสําคัญอันเกิดแก่หญิงคู่หมั้น ทําให้ชายไม่สมควรสมรสกับหญิงนั้น ชายมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้และให้หญิงคืนของหมั้นแก่ชาย”
วินิจฉัย
การที่นายสนั่นได้ตกลงจัดงานแต่งงานกับนางสาวเอมอรโดยวิธีการผูกข้อมือ และในวันทําพิธี นายสนั่นซึ่งมีความประทับใจนางเปรื่องมารดาของนางสาวเอมอรและนางสาวเอมอรเป็นอย่างมาก ได้ถอดแหวนทอง 1 บาทให้แก่นางสาวเอมอร และถอดสร้อยคอทอง 1 บาทให้แก่นางเปรื่องมารดาของนางสาวเอมอรนั้น ไม่ถือว่าแหวนทองและสร้อยคอทองเป็นของหมั่นและสินสอด ทั้งนี้เพราะแหวนทองที่นายสนั่นได้ส่งมอบ ให้แก่นางสาวเอมอรนั้น มิใช่ทรัพย์สินที่นายสนั่นได้ส่งมอบให้นางสาวเอมอรเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับ นางสาวเอมอรตามมาตรา 1437 วรรคหนึ่ง และสร้อยคอทองที่นายสนั่นได้ส่งมอบให้แก่นางเปรื่องมิใช่ทรัพย์สิน ที่นายสนั่นให้แก่นางเปรื่องเพื่อตอบแทนที่นางสาวเอมอรยอมสมรสตามมาตรา 1437 วรรคสาม
เมื่อแหวนทองและสร้อยคอทองมิใช่ของหมั้นและสินสอด ดังนั้นการที่นายสนั่นกับนางสาวเอมอร มีความขัดแย้งกัน นางสาวเอมอรจึงไม่ยอมอยู่กินร่วมกันกับนายสนั่น นายสนั่นจะอ้างว่ามีเหตุสําคัญอันเกิดแก่ หญิงคู่หมั้น และฟ้องเรียกแหวนทองคืนจากนางสาวเอมอรตามมาตรา 1442 และเรียกสร้อยคอทองคืนจากนางเปรื่อง มารดานางสาวเอมอรตามมาตรา 1437 วรรคสามไม่ได้
สรุป
นายสนั่นจะฟ้องเรียกแหวนทองคืนจากนางสาวเอมอร และฟ้องเรียกสร้อยคอทองคืน จากนางเปรื่องมารดานางสาวเอมอรไม่ได้
ข้อ 2 นายทรงกลดและนางสาวชมพูอายุ 19 ปีบริบูรณ์ ทั้งสองได้ไปจดทะเบียนสมรสกัน โดยที่บิดามารดาของทั้งสองฝ่ายมิทราบ ต่อมาอีกสองปี บิดามารดาของนางสาวชมพูทราบว่าทั้งสองแอบไปจดทะเบียนสมรสกันก็โกรธมาก จึงได้ฟ้องศาลขอให้เพิกถอนการสมรสนี้ เช่นนี้จะทําได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1436 “ผู้เยาว์จะทําการหมั้นได้ต้องได้รับความยินยอมของบุคคลดังต่อไปนี้
(1) บิดาและมารดา ในกรณีที่มีทั้งบิดามารดา การหมั้นที่ผู้เยาว์ทําโดยปราศจากความยินยอมดังกล่าวเป็นโมฆียะ”
มาตรา 1454 “ผู้เยาว์จะทําการสมรสให้นําความในมาตรา 1436 มาใช้บังคับโดยอนุโลม”
มาตรา 1509 “การสมรสที่มิได้รับความยินยอมของบุคคลดังกล่าวในมาตรา 1454 การสมรสนั้น เป็นโมฆียะ”
มาตรา 1510 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “การสมรสที่เป็นโมฆียะเพราะมิได้รับความยินยอม ของบุคคลดังกล่าวในมาตรา 1454 เฉพาะบุคคลที่อาจให้ความยินยอมตามมาตรา 1454 เท่านั้น ขอให้เพิกถอน การสมรสได้
สิทธิขอเพิกถอนการสมรสตามมาตรานี้เป็นอันระงับเมื่อคู่สมรสนั้นมีอายุครบยี่สิบปีบริบูรณ์ หรือเมื่อหญิงมีครรภ์”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายทรงกลดและนางสาวชมพูซึ่งมีอายุ 19 ปีทั้งคู่ ได้ไปจดทะเบียน สมรสกันโดยที่บิดามารดาของทั้งสองฝ่ายมิทราบนั้น เป็นการสมรสที่ฝ่าฝืนตามมาตรา 1454 ประกอบมาตรา 1436 (1) ดังนั้น การสมรสดังกล่าวจึงมีผลเป็นโมฆียะตามมาตรา 1509 และเฉพาะบิดามารดาของนายทรงกลด และนางสาวชมพูเท่านั้นที่มีสิทธิฟ้องให้ศาลเพิกถอนการสมรสได้ตามมาตรา 1510 วรรคหนึ่ง
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในขณะที่บิดามารดาของนางสาวชมพูจะฟ้องศาล เพื่อเพิกถอนการสมรสนั้น นายทรงกลดและนางสาวชมพูมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์แล้ว ดังนั้นสิทธิในการฟ้อง ขอให้เพิกถอนการสมรสกรณีนี้จึงเป็นอันระงับ บิดามารดาของนางสาวชมพูจึงไม่สามารถฟ้องศาลให้เพิกถอน การสมรสกรณีนี้ได้ตามมาตรา 1510 วรรคสอง
สรุป
บิดามารดาของนางสาวชมพูจะฟ้องศาลขอให้เพิกถอนการสมรสกรณีนี้ไม่ได้
ข้อ 3 นายเทพกับนางสาวพรทําสัญญาตอนที่คบหาดูใจกันว่า เมื่อสมรสกันแล้วให้นายเทพมีอํานาจในการจัดการสินสมรสทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว โดยนายเทพ นางสาวพร และพยาน 2 คน ลงลายมือชื่อ ในสัญญานั้น ต่อมานายเทพและนางสาวพรได้ไปจดทะเบียนสมรสกันโดยไม่ได้จดแจ้งข้อตกลงใน สัญญาที่ทําไว้ก่อนสมรสไว้ในทะเบียนสมรสและไม่ได้นําสัญญาดังกล่าวแนบไว้ท้ายทะเบียนสมรส ต่อมานายเทพนําเงินบําเหน็จที่ได้จากการเกษียณอายุราชการไปซื้อที่ดินแปลงหนึ่งโดยใส่ชื่อนายเทพ ในโฉนดที่ดินแต่เพียงผู้เดียว หลังจากนั้นนายเทพนําที่ดินแปลงดังกล่าวไปขายฝากกับนายชาติในราคา 500,000 บาท นายเทพบอกกับนายชาติว่านายเทพโสดไม่เคยสมรสมาก่อน ต่อมานายเทพกู้เงิน จากนายเก่งจํานวน 100,000 บาทตามลําพัง นางพรไม่ได้รู้เห็นและให้ความยินยอมในการขายฝาก ที่ดินและการกู้ยืมเงินแต่อย่างใด
ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า นางพรจะฟ้องศาลขอเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินและการกู้ยืมเงินของนายเทพได้หรือไม่ เพราะเหตุใด ๆ
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1465 วรรคหนึ่ง “ถ้าสามีภริยามิได้ทําสัญญากันไว้ในเรื่องทรัพย์สินเป็นพิเศษก่อนสมรส ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาในเรื่องทรัพย์สินนั้น ให้บังคับตามบทบัญญัติในหมวดนี้”
มาตรา 1466 “สัญญาก่อนสมรสเป็นโมฆะ ถ้ามิได้จดแจ้งข้อตกลงกันเป็นสัญญาก่อนสมรส นั้นไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการจดทะเบียนสมรส หรือมิได้ทําเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สมรสและพยาน อย่างน้อยสองคนแนบไว้ท้ายทะเบียนสมรส และได้จดไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการจดทะเบียนสมรสว่าได้มี สัญญานั้นแนบไว้”
มาตรา 1474 “สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน
(1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส”
มาตรา 1476 “สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีก ฝ่ายหนึ่งในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จํานอง ปลดจํานอง หรือโอนสิทธิจํานองซึ่ง อสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจํานองได้
(4) ให้กู้ยืมเงิน”
มาตรา 1480 วรรคหนึ่ง “การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกัน หรือต้องได้รับความ ยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 1476 ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทํานิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือโดยปราศจาก ความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เว้นแต่คู่สมรส อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือในขณะที่ทํานิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทําโดยสุจริตและ เสียค่าตอบแทน”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ แม้นายเทพกับนางพรจะได้ทําสัญญาก่อนสมรส ให้นายเทพมีอํานาจจัดการ สินสมรสทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียวก็ตาม แต่ต่อมาเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าทั้งสองได้ไปจดทะเบียนสมรสกันโดย ไม่ได้จดแจ้งข้อตกลงในสัญญาที่ทําไว้ก่อนสมรสไว้ในทะเบียนสมรสและไม่ได้นําสัญญาดังกล่าวแนบไว้ท้าย ทะเบียนสมรส ดังนั้นสัญญาก่อนสมรสดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1466 ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา ในเรื่องทรัพย์สินจึงต้องบังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (มาตรา 1465 วรรคหนึ่ง)
การที่นายเทพได้นําเงินบําเหน็จที่ได้รับจากการเกษียณอายุราชการไปซื้อที่ดินแปลงหนึ่งและแม้จะได้ใส่ชื่อนายเทพในโฉนดที่ดินแต่เพียงผู้เดียว ที่ดินแปลงดังกล่าวก็ถือว่าเป็นสินสมรสตามมาตรา 1474 (1) เพราะเป็นทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างสมรส การที่นายเทพได้นําที่ดินแปลงดังกล่าวไปขายฝากไว้กับนายชาติ ซึ่ง การขายฝากที่ดินนั้นถือเป็นการจัดการสินสมรสที่สามีภริยาต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจาก อีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 1476 (1) เมื่อนายเทพได้นําที่ดินที่เป็นสินสมรสไปขายฝากไว้กับนายชาติ โดยที่นางพรไม่ได้ รู้เห็นและให้ความยินยอมในการขายฝากที่ดินนั้น โดยหลักแล้ว นางพรย่อมสามารถฟ้องศาลขอเพิกถอนนิติกรรม การขายฝากที่ดินนั้นได้ตามมาตรา 1480 วรรคหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อนายชาติผู้รับซื้อฝากซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ได้กระทําการโดยสุจริตเพราะนายชาติไม่ทราบว่านายเทพสมรสแล้ว นายชาติจึงไม่ทราบว่าที่ดินแปลงนั้นเป็น สินสมรส อีกทั้งนายชาติเสียค่าตอบแทนในการนั้นด้วย จึงต้องด้วยข้อยกเว้นตามมาตรา 1480 วรรคหนึ่งตอนท้าย ดังนั้น นางพรจึงฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินดังกล่าวไม่ได้
ส่วนการที่นายเทพได้ไปกู้ยืมเงินจากนายเก่ง 100,000 บาทนั้น การกู้ยืมเงินมิใช่การจัดการ สินสมรสที่สามีภริยาต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 1476 (4) เพราะ มิใช่การให้กู้ยืมเงิน ดังนั้น นายเทพจึงสามารถกู้ยืมเงินตามลําพังได้ นางพรจะฟ้องศาลขอเพิกถอนนิติกรรมการ กู้ยืมเงินของนายเทพไม่ได้ ”
สรุป
นางพรจะฟ้องศาลขอเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินและการกู้ยืมเงินของนายเทพ ไม่ได้
ข้อ 4 นายไก่อยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยากับนางไข่จนมีลูกด้วยกัน 1 คน คือเด็กชายเป็ด นายไก่ก็ไปจดทะเบียนสมรสกับนางปลาโดยนางปลาอนุญาตให้นายไก่ไปอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยากับนางไข่ ได้เช่นเคยเป็นมา แต่นางปลาก็แอบไปมีเพศสัมพันธ์กับนายปแฟนเก่า และนางปลาคลอดลูกมา 1 คน คือเด็กหญิงกุ้ง
(1) นางปลาจะฟ้องหย่านายไก่ว่าไปยกย่องเลี้ยงดูหญิงอื่นฉันภริยาได้หรือไม่
(2) เด็กชายเป็ดและเด็กหญิงกุ้งเป็นลูกชอบด้วยกฎหมายของใคร ตั้งแต่เมื่อใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1457 “การสมรสตามประมวลกฎหมายนี้จะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น”
มาตรา 1516 “เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้
(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือ ร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้”
มาตรา 1517 วรรคหนึ่ง “เหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516 (1) และ (2) ถ้าสามีหรือภริยา แล้วแต่กรณี ได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทําที่เป็นเหตุฟ้องหย่านั้น ฝ่ายที่ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจนั้นจะ ยกเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้”
มาตรา 1536 วรรคหนึ่ง “เด็กเกิดแต่หญิงขณะเป็นภริยาชายหรือภายในสามร้อยสิบวันนับ แต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามี หรือเคยเป็น สามีแล้วแต่กรณี”
มาตรา 1546 “เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชายให้ถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ของหญิงนั้น เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้
(1) การที่นายไก่อยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยากับนางไข่นั้น ถือว่านายไก่และนางไข่ไม่ได้เป็น สามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะมิได้จดทะเบียนสมรสกันตามมาตรา 1457 แต่การที่นายไก่ได้ไป จดทะเบียนสมรสกับนางปลา ย่อมถือว่านายไก่และนางปลาเป็นสามีและภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายตาม มาตรา 1457 ดังนั้น การที่นายไก่ได้ไปอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยากับนางไข่ ย่อมถือว่านายไก่ได้อุปการะเลี้ยงดู และยกย่องหญิงอื่นฉันภริยาตามมาตรา 1516 (1) นางปลาจึงสามารถถือเป็นเหตุฟ้องหย่านายไก่ได้
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า การที่นายไก่ได้ไปอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยา กับนางไข่นั้น นางปลาได้ยินยอมหรืออนุญาตนายไก่แล้ว ดังนั้น นางปลาจึงอ้างเหตุดังกล่าวเพื่อที่จะฟ้องหย่า นายไก่ไม่ได้ตามมาตรา 1517 วรรคหนึ่ง
(2) เด็กชายเป็ดซึ่งเกิดจากนายไก่บิดาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับนางไข่มารดา จึงถือว่า เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนางไข่แต่เพียงผู้เดียวตั้งแต่คลอดและอยู่รอดเป็นทารกตามมาตรา 1546 ส่วนเด็กหญิงกุ้งซึ่งเกิดในขณะที่นางปลาเป็นภริยาของนายไก่ กฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตร ชอบด้วยกฎหมายของนายไก่ผู้เป็นสามี ดังนั้นย่อมถือว่าเด็กหญิงกุ้งเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายไก่ และนางปลาตามมาตรา 1536 วรรคหนึ่งและมาตรา 1546 ประสานงาน
สรุป
(1) นางปลาจะฟ้องหย่านายไก่โดยอ้างว่าไปยกย่องเลี้ยงดูหญิงอื่นฉันภริยาไม่ได้
(2) เด็กชายเป็ดเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนางไข่แต่เพียงผู้เดียว ส่วนเด็กหญิงกุ้งเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายไก่และนางปลา