การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายสุนัยได้ทําสัญญาหมั้น น.ส.ปริศนา ด้วยแหวนเพชร 1 วง และทอง 10 บาท น.ส.ปริศนาก็ได้ให้ทอง 5 บาท แก่นายสุนัยด้วย ต่อมานายสุนัยทราบว่า น.ส.ปริศนายังเที่ยวเตร่มีความสัมพันธ์ทางเพศกับนายอํานาจแฟนเก่าอยู่ และ น.ส.ปริศนาก็ยอมรับผิด นายสุนัยได้ไปบวชและเมื่อสึก จากสมณเพศจึงได้ไปจดทะเบียนสมรสกับ น.ส.ดวงเดือนและได้มอบทอง 5 บาท (ที่ได้รับจาก น.ส.ปริศนา) ให้แก่ น.ส.ดวงเดือน เมื่อ น.ส.ปริศนาทราบก็ไม่พอใจต้องการฟ้องเรียกทอง 5 บาทคืนและฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนายสุนัย เช่นนี้ ท่านเห็นว่าอย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 521 “อันว่าให้นั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ โอนทรัพย์สินของตนให้ โดยเสน่หาแก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับ และผู้รับยอมรับเอาทรัพย์สินนั้น”

มาตรา 531 “อันผู้ให้จะเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณนั้น ท่านว่าอาจจะ เรียกได้แต่เพียงในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้

(1) ถ้าผู้รับได้ประทุษร้ายต่อผู้ให้เป็นความผิดฐานอาญาอย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมาย ลักษณะอาญา หรือ

(2) ถ้าผู้รับได้ทําให้ผู้ให้เสียชื่อเสียง หรือหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง หรือ

(3) ถ้าผู้รับได้บอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจําเป็นเลี้ยงชีวิตแก่ผู้ให้ ในเวลาที่ผู้ให้ยากไร้และผู้รับ ยังสามารถจะให้ได้”

มาตรา 1437 วรรคแรก “การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอัน เป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น”

มาตรา 1439 “เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิด ใช้ค่าทดแทน ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย”

มาตรา 1440 “ค่าทดแทนนั้นอาจเรียกได้ ดังต่อไปนี้

(1) ทดแทนความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียงแห่งชายหรือหญิงนั้น”

มาตรา 1442 “ในกรณีมีเหตุสําคัญอันเกิดแก่หญิงคู่หมั้น ทําให้ชายไม่สมควรสมรสกับหญิงนั้น ชายมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั่นได้และให้หญิงคืนของหมั้นแก่ชาย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสุนัยได้ทําสัญญาหมั้น น.ส.ปริศนาด้วยแหวนเพชร 1 วง และ ทอง 10 บาทนั้น เมื่อมีการส่งมอบของหมั้นให้แก่หญิงแล้ว การหมั้นย่อมมีผลสมบูรณ์ตามมาตรา 1437 วรรคแรก

ดังนั้น ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาหมั้น อีกฝ่ายหนึ่งย่อมมีสิทธิเรียกให้รับผิดใช้ค่าทดแทนได้ตามมาตรา 1439

การที่ น.ส.ปริศนายังเที่ยวเตร่และมีความสัมพันธ์ทางเพศกับนายอํานาจแฟนเก่าอยู่นั้น ถือว่า มีเหตุสําคัญอันเกิดแก่หญิงคู่หมั้น ทําให้นายสุนัยไม่สมควรสมรสกับ น.ส.ปริศนา ซึ่งโดยหลักแล้วนายสุนัยย่อมมีสิทธิ บอกเลิกสัญญาหมั้น และเรียกให้ น.ส.ปริศนาคืนของหมั้นได้ตามมาตรา 1442 แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริง ปรากฏว่า นายสุนัยทราบเรื่องดังกล่าวแล้วและตัวของ น.ส.ปริศนาก็ยอมรับผิด แต่นายสุนัยไม่ได้บอกเลิกสัญญาหมั้น แต่อย่างใด เช่นนี้ถือว่าสัญญาหมั้นยังคงมีอยู่ และ น.ส.ปริศนาก็ไม่ต้องคืนของหมั่นให้แก่นายสุนัย

การที่นายสุนัยได้ไปบวชและเมื่อสึกจากสมณเพศก็ได้ไปจดทะเบียนสมรสกับ น.ส.ดวงเดือนนั้น การกระทําของนายสุนัยถือได้ว่าเป็นการผิดสัญญาหมั้น ดังนั้น น.ส.ปริศนาจึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนายสุนัย ได้ตามมาตรา 1439 ประกอบมาตรา 1440 (1)

ส่วนทอง 5 บาท ที่ น.ส.ปริศนาได้ให้แก่นายสุนัยในวันหมั้นนั้นไม่ถือว่าเป็นของหมั้นตาม มาตรา 1437 วรรคแรก เพราะมิใช่ทรัพย์สินที่ฝ่ายชายได้ส่งมอบให้แก่หญิงคู่หมั้น แต่ถือว่าเป็นการให้โดยเสน่หา ตามมาตรา 521 ดังนั้นทอง 5 บาท จึงตกเป็นสิทธิของนายสุนัย และเมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่านายสุนัยได้กระทําการ อย่างใดอย่างหนึ่งอันถือว่าเป็นการประพฤติเนรคุณตามมาตรา 531 ดังนั้น น.ส.ปริศนาจึงไม่สามารถฟ้องเรียก ทอง 5 บาท คืนจากนายสุนัยได้

สรุป

น.ส.ปริศนามีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากการที่นายสุนัยผิดสัญญาหมั้นได้ แต่จะฟ้อง เรียกทอง 5 บาท คืนไม่ได้

 

ข้อ 2 นางสาวหนึ่ง สาว กทม. ถูกกลฉ้อฉลอันถึงขนาดจากบิดามารดาของหนุ่มใต้รูปหล่อตามที่เห็นในภาพถ่ายคือนายสอง ทําให้นางสาวหนึ่งหลงเชื่อจึงจดทะเบียนสมรสกับนายสอง ภายหลังนางหนึ่งจึง ทราบว่านายสองจบประถมสี่ฐานะยากจน ไม่ทํางาน ตรงข้ามกับที่พ่อแม่ของนายสองพูดไว้ นางหนึ่ง จึงไปจดทะเบียนสมรสกับนายสามชายชราซึ่งมาหลงรักนางหนึ่งเพราะฐานะร่ำรวยและรักจริง หวังแต่ง การจดทะเบียนสมรสระหว่างนางหนึ่งกับนายสอง นางหนึ่งกับนายสามมีผลในทางกฎหมาย อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1452 “ชายหรือหญิงจะทําการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้”

มาตรา 1457 “การสมรสตามประมวลกฎหมายนี้จะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น”

มาตรา 1495 “การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1449 มาตรา 1450 มาตรา 1452 และมาตรา 1458 เป็นโมฆะ”

มาตรา 1506 “ถ้าคู่สมรสได้ทําการสมรสโดยถูกกลฉ้อฉลอันถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉล นั้นจะไม่ทําการสมรส การสมรสนั้นเป็นโมฆียะ

ความในวรรคหนึ่ง ไม่ใช้บังคับในกรณีที่กลฉ้อฉลนั้นเกิดขึ้นโดยบุคคลที่สามโดยคู่สมรสอีก ฝ่ายหนึ่งมิได้รู้เห็นด้วย

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางสาวหนึ่งได้ถูกกลฉ้อฉลอันถึงขนาดจากบิดามารดาของนายสอง ทําให้นางสาวหนึ่งหลงเชื่อและได้จดทะเบียนสมรสกับนายสองนั้น ถือว่าการสมรสระหว่างนางหนึ่งกับนายสองมี ผลสมบูรณ์ตามมาตรา 1457 กรณีดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการสมรสเพราะถูกกลฉ้อฉลที่จะทําให้การสมรสตกเป็น โมฆียะตามมาตรา 1506 วรรคแรก ทั้งนี้เพราะการที่นางหนึ่งได้ทําการสมรสเพราะถูกกลฉ้อฉลนั้น กลฉ้อฉลมิได้ เกิดจากนายสองซึ่งเป็นคู่สมรส แต่เกิดจากบิดามารดาของนายสองซึ่งเป็นบุคคลที่สาม และตามข้อเท็จจริงก็ ไม่ปรากฏว่านายสองได้รู้เห็นถึงกลฉ้อฉลนั้นด้วยแต่อย่างใด (มาตรา 1506 วรรคสอง)

เมื่อการสมรสระหว่างนางหนึ่งกับนายสองมีผลสมบูรณ์ นางหนึ่งกับนายสองย่อมเป็นภริยา และสามีกันโดยชอบด้วยกฎหมาย การที่นางหนึ่งไปจดทะเบียนสมรสกับนายสามจึงเป็นการสมรสซ้อน คือ เป็นการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่แล้ว ดังนั้นการสมรสระหว่างนางหนึ่งกับนายสามจึงเป็นโมฆะตามมาตรา 1452 และมาตรา 1495

สรุป การจดทะเบียนสมรสระหว่างนางหนึ่งกับนายสองมีผลสมบูรณ์ ส่วนการจดทะเบียน สมรสระหว่างนางหนึ่งกับนายสามเป็นโมฆะ

 

ข้อ 3 นายนนท์และนางศรีเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย ระหว่างสมรสนายนนท์ให้แหวนเพชรที่นายนนท์ซื้อมาก่อนสมรสแก่นางศรี นางศรีไม่ชอบแบบของแหวนเพชร นางศรีจึงให้แหวนเพชรดังกล่าวแก่ นางใจซึ่งเป็นป้าของนางศรีโดยที่นางใจไม่ทราบว่าเป็นแหวนเพชรที่นายนนท์ให้แก่นางศรี ต่อมา นางศรีทําสัญญาให้เช่าที่ดินที่เป็นสินสมรสกับนายโชติซึ่งเป็นน้าชายของนางศรีมีกําหนดเวลา 3 ปี ตามลําพัง โดยที่นายนนท์ไม่ได้รู้เห็นและให้ความยินยอมในการให้เช่านั้น หลังจากนายนนท์ทราบ เรื่องทั้งหมด นายนนท์โกรธมากที่นางศรีให้แหวนเพชรแก่นางใจ และนายนนท์ก็เห็นว่าถ้าให้บุคคลอื่น เช่าที่ดินที่เป็นสินสมรสจะได้ค่าเช่าสูงกว่าที่ให้นายโชติเช่ามาก ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า

(ก) นายนนท์จะบอกล้างการให้แหวนเพชรแก่นางศรีได้หรือไม่ และใครจะมีกรรมสิทธิ์ในแหวนเพชรดังกล่าว

(ข) นายนนท์จะฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการให้เช่าที่ดินได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1469 “สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินใดที่สามีภริยาได้ทําไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยา กันนั้น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกําหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาด จากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทําการโดยสุจริต”

มาตรา 1471 “สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน

(1) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส

(3) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรส โดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หา”

มาตรา 1473 “สินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายใดให้ฝ่ายนั้นเป็นผู้จัดการ”

มาตรา 1476 “สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง ในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จํานอง ปลดจํานอง หรือโอนสิทธิจํานองซึ่ง อสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจํานองได้

(2) ก่อตั้งหรือกระทําให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจํายอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ สาขา

(3) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี

(4) ให้กู้ยืมเงิน

(5) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัว เพื่อการกุศล เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา

(6) ประนีประนอมยอมความ

(7) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย

(8) นําทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล

การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง สามีหรือภริยาจัดการได้โดยมิต้อง ได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง”

มาตรา 1480 วรรคแรก “การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกัน หรือต้องได้รับความยินยอม จากอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 1476 ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทํานิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือโดยปราศจากความยินยอม ของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เว้นแต่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ให้ สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือในขณะที่ทํานิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทําโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ วินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่นายนนท์ให้แหวนเพชรที่นายนนท์มีอยู่ก่อนสมรสซึ่งเป็นสินส่วนตัวตามมาตรา 1471 (1) แก่นางศรีนั้น เป็นสัญญาระหว่างสมรสตามมาตรา 1469 เพราะเป็นสัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่สามีภริยา ได้ทําไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยากัน และแหวนเพชรดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่นางศรีได้มาในระหว่างสมรส โดยการให้โดยเสน่หา จึงถือว่าเป็นสินส่วนตัวของนางศรีตามมาตรา 1471 (3) ซึ่งนางศรีย่อมมีอํานาจในการจัดการ เกี่ยวกับแหวนเพชรนี้ได้โดยลําพังตามมาตรา 1473 ดังนั้นนางศรีจึงมีสิทธิที่จะให้แหวนเพชรแก่นางใจได้

แต่เนื่องจากการให้แหวนเพชรระหว่างนายนนท์กับนางศรีเป็นสัญญาระหว่างสมรส นายนนท์จึงมีสิทธิที่จะบอกล้างการให้แหวนเพชรกับนางศรีได้ตามมาตรา 1469 แต่การบอกล้างดังกล่าวจะต้อง ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทําการโดยสุจริต ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านางใจเป็น บุคคลภายนอกที่ได้รับแหวนเพชรจากนางศรีโดยสุจริตเพราะนางใจไม่ทราบว่าเป็นแหวนเพชรที่นายนนท์ได้ให้แก่ นางศรี นางใจจึงได้กรรมสิทธิ์ในแหวนเพชรดังกล่าว

(ข) การที่นางศรีได้ทําสัญญาให้เช่าที่ดินที่เป็นสินสมรสกับนายโชติซึ่งเป็นน้าชายของนางศรี มีกําหนดเวลา 3 ปีนั้น ไม่ถือว่าเป็นการจัดการสินสมรสตามมาตรา 1476 วรรคหนึ่ง ที่สามีภริยาต้องจัดการร่วมกัน หรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง ดังนั้น นางศรีจึงมีอํานาจจัดการได้โดยลําพังตามมาตรา 1476 วรรคสอง นายนนท์จะฟ้องศาลขอเพิกถอนนิติกรรมให้เช่าที่ดินดังกล่าวตามมาตรา 1480 ไม่ได้

สรุป

(ก) นายนนท์สามารถบอกล้างการให้แหวนเพชรแก่นางศรีได้ และนางใจมีกรรมสิทธิ์ในแหวนเพชรดังกล่าว

(ข) นายนนท์จะฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการให้เช่าที่ดินไม่ได้

 

ข้อ 4 นายไก่และนางไข่เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ต่อมานายไก่หนีนางไข่ไปบวช เวลาผ่านไปเกือบสองปีนางไข่เพิ่งจะทราบว่านายไก่บวชจึงตามไปและขอร้องให้สึก ถ้าไม่สึกนางไข่ก็จะไปอยู่กิน ร่วมกันฉันสามีภริยากับนายเป็ดซึ่งเป็นนายจ้าง นายไก่ก็ไม่ขัดข้องแต่อย่างใด หลังจากนั้นนางไข่ มีลูกกับนายเป็ดคือเด็กชายห่าน จากเหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้น นายไก่จะฟ้องหย่านางไข่ และนางไข่จะฟ้องหย่านายไก่ได้หรือไม่

และเด็กชายห่านเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของใครนับแต่เมื่อใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1457 “การสมรสตามประมวลกฎหมายนี้จะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น”

มาตรา 1501 “การสมรสย่อมสิ้นสุดลงด้วยความตาย การหย่า หรือศาลพิพากษาให้เพิกถอน”

มาตรา 1516 “เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้

(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือ ร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(4) สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปีอีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้”

มาตรา 1517 วรรคแรก “เหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516 (1) และ (2) ถ้าสามีหรือภริยาแล้วแต่ กรณี ได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทําที่เป็นเหตุฟ้องหย่านั้น ฝ่ายที่ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจนั้นจะยกเป็นเหตุ ฟ้องหย่าไม่ได้”

มาตรา 1536 วรรคแรก “เด็กเกิดแต่หญิงขณะเป็นภริยาชายหรือภายในสามร้อยสิบวันนับแต่ วันที่การสมรสสิ้นสุดลง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามี หรือเคยเป็นสามี แล้วแต่กรณี

มาตรา 1546 “เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชายให้ถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ของหญิงนั้น เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ การที่นายไก่สามีของนางไข่ได้หนีนางไข่ไปบวชเป็นเวลาเกือบ 2 ปีนั้น ถือได้ว่า เป็นกรณีที่สามีจงใจละทิ้งร้างนางไข่ภริยาไปเกิน 1 ปี ดังนั้นนางไข่สามารถฟ้องหย่านายไก่ได้ตามมาตรา 1516 (4) แต่การที่นางไข่ได้ไปอยู่กินฉันสามีภริยากับนายเป็ด นายไก่จะอ้างเหตุตามมาตรา 1516 (1) เพื่อฟ้องหย่านางไข่ไม่ได้ เพราะเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 1517 วรรคแรก กล่าวคือ นายไก่ได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทําของ นางไข่นั้นเอง

เมื่อนายไก่และนางไข่ยังเป็นสามีภริยากันอยู่ เพราะการสมรสยังไม่สิ้นสุดลง การที่นางไข่มีบุตร กับนายเป็ดคือเด็กชายห่าน เด็กชายห่านย่อมเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนางไข่ตามมาตรา 1546 และเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายไก่ เพราะเด็กชายห่านได้เกิดในขณะที่นางไข่เป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย ของนายไก่ตามมาตรา 1536

สรุป

นางไข่ฟ้องหย่านายไก่ได้ แต่นายไก่จะฟ้องหย่านางไข่ไม่ได้

เด็กชายห่านเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายไก่และนางไข่นับแต่คลอดและอยู่รอด เป็นทารก

Advertisement