การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2556
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 นายมานพทราบว่านางสมัยทะเลาะกับนายอํานวย (สามี) และได้ทําหนังสือหย่ากันเป็นที่เรียบร้อยนายมานพซึ่งหลงรักนางสมัยได้ทําสัญญาหมั้นนางสมัยโดยส่งมอบเงินให้ 200,000 บาท และจะให้อีก 200,000 บาท ในวันสมรส แต่ต่อมานายมานพได้รู้จักกับ น.ส.อรสา และเห็นว่าเหมาะสมกว่าจึงทําสัญญาหมั้น น.ส.อรสาด้วยการส่งมอบเงินให้ 200,000 บาท และจะให้อีก 200,000 บาท ในวันที่ ทําการสมรส นายมานพได้อ้างว่านางสมัยยังอยู่กินกับนายอํานวย จึงไม่ต้องการสมรสด้วย และขอเงิน 200,000 บาทคืน เพื่อนําไปมอบให้แก่ น.ส.อรสา แต่นางสมัยไม่คืนให้ นายมานพต้องการสมรสกับ น.ส.อรสา แต่นายมานพอ้างว่าไม่มีเงินให้ตามที่สัญญาไว้เนื่องจากนางสมัยไม่ยอมคืนให้ น.ส.อรสา จึงขอเลิกสัญญาโดยไม่คืนเงินให้ เช่นนี้ ทั้งสองกรณีท่านเห็นว่าอย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1437 วรรคแรกและวรรคสอง “การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอน ทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น
เมื่อหมั้นแล้วให้ของหมั้นตกเป็นสิทธิแก่หญิง”
มาตรา 1442 “ในกรณีมีเหตุสําคัญอันเกิดแก่หญิงคู่หมั้น ทําให้ชายไม่สมควรสมรสกับหญิงนั้น ชายมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้และให้หญิงคืนของหมั้นแก่ชาย”
มาตรา 1443 “ในกรณีมีเหตุสําคัญอันเกิดแก่ชายคู่หมั้น ทําให้หญิงไม่สมควรสมรสกับชายนั้น หญิงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้โดยมิต้องคืนของหมั้นแก่ชาย”
มาตรา 1514 “การหย่านั้นจะทําได้แต่โดยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายหรือโดยคําพิพากษาของศาล
การหย่าโดยความยินยอมต้องทําเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อยสองคน”
มาตรา 1515 “เมื่อได้จดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายนี้ การหย่าโดยความยินยอม จะสมบูรณ์ต่อเมื่อสามีและภริยาได้จดทะเบียนการหย่านั้นแล้ว”
วินิจฉัย
ตามอุทาหรณ์ การที่นางสมัยได้ทําหนังสือหย่ากับนายอํานวย แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนการหย่า ถือว่าการหย่ายังไม่สมบูรณ์ (มาตรา 1514 วรรคสอง ประกอบมาตรา 1515) การที่นายมานพได้ทําสัญญาหมั้น กับนางสมัยในขณะที่หญิงยังมีคู่สมรส การสมรสจึงตกเป็นโมฆะ ชายจะเรียกทรัพย์สินคืนไม่ได้ (คําพิพากษาฎีกา ที่ 1913/2505)
ดังนั้น นายมานพจะอ้างมาตรา 1442 ว่ามีเหตุสําคัญเกิดแก่หญิงคู่หมั้นเพื่อเรียกของหมั้นคืนไม่ได้
การที่นายมานพทําสัญญาหมั้นนางสาวอรสาด้วยเงิน 200,000 บาทนั้น ถือเป็นการหมั้นที่สมบูรณ์แล้วตามมาตรา 1437 วรรคแรก ส่วนเงินที่ยังไม่ได้ส่งมอบอีก 200,000 บาท ไม่ใช่ของหมั้น (คําพิพากษา ฎีกาที่ 1087/2492) และการที่นายมานพไม่ให้ของหมั้นอีกส่วนหนึ่งตามที่ได้ตกลงทําสัญญากันไว้นั้น นางสาวอรสาถือว่ามีเหตุสําคัญอันเกิดแก่ชายคู่หมั้น ทําให้หญิงไม่สมควรสมรสกับชายนั้นได้ตามมาตรา 1443 ดังนั้นนางสาวอรสา มีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้โดยไม่ต้องคืนของหมั้นตามมาตรา 1437 วรรคสอง ประกอบมาตรา 1443
สรุป
นายมานพจะอ้างมาตรา 1442 เพื่อเรียกของหมั้นคืนไม่ได้ ส่วนนางสาวอรสามีสิทธิอ้าง มาตรา 1443 เพื่อบอกเลิกสัญญาหมั้นได้โดยไม่ต้องคืนของหมั้น
ข้อ 2 นางสาวจันทร์อายุย่างเข้า 17 ปี ได้รับอนุญาตจากบิดามารดา ให้หมั้นกับนายอาทิตย์มหาเศรษฐีแห่งประเทศไทย อายุ 80 ปี ด้วยแหวนเพชรมูลค่า 10 ล้านบาท เมื่ออายุครบ 18 ปีบริบูรณ์จึงมีการ จัดงานแต่งงานอย่างมโหฬาร หลังจากพิธีแต่งงานนางสาวจันทร์ก็ไปจดทะเบียนสมรสกับนายอังคาร โดยบิดามารดา ไม่ได้รู้เห็นยินยอมด้วยแต่อย่างไร นายอาทิตย์โกรธมากจะเรียกแหวนเพชรคืนจาก นางสาวจันทร์ ดังนี้ (1) การหมั้นระหว่างนางสาวจันทร์และนายอาทิตย์มีผลในทางกฎหมายอย่างไร และนายอาทิตย์เรียกแหวนคืนได้หรือไม่ด้วยเหตุผลใด
(2) การสมรสระหว่างนางสาวจันทร์กับนายอาทิตย์ และระหว่างนางสาวจันทร์กับนายอังคาร มีผลในทางกฎหมายอย่างไร
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1435 “การหมั้นจะทําได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว
การหมั้นที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติวรรคหนึ่งเป็นโมฆะ”
มาตรา 1436 “ผู้เยาว์จะทําการหมั้นได้ต้องได้รับความยินยอมของบุคคลดังต่อไปนี้
(1) บิดาและมารดา ในกรณีที่มีทั้งบิดามารดา การหมั้นที่ผู้เยาว์ทําโดยปราศจากความยินยอมดังกล่าวเป็นโมฆียะ”
มาตรา 1454 “ผู้เยาว์จะทําการสมรสให้นําความในมาตรา 1436 มาใช้บังคับโดยอนุโลม”
มาตรา 1457 “การสมรสตามประมวลกฎหมายนี้จะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ วินิจฉัยได้ดังนี้
(1) การหมั้นระหว่างนางสาวจันทร์และนายอาทิตย์เป็นโมฆะตามมาตรา 1435 เพราะ นางสาวจันทร์ยังมีอายุไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ แม้ว่าการหมั้นนั้นจะได้รับความยินยอมจากบิดามารดาของนางสาวจันทร์ ก็ตาม และเมื่อการหมั้นเป็นโมฆะ นายอาทิตย์ย่อมสามารถเรียกแหวนเพชรคืนได้ในฐานลาภมิควรได้
(2) การสมรสระหว่างนางสาวจันทร์และนายอาทิตย์ถือว่าไม่เกิดขึ้น เพราะไม่ได้มีการ จดทะเบียนสมรส (ตามมาตรา 1457) ส่วนการสมรสระหว่างนางสาวจันทร์กับนายอังคารมีผลเป็นโมฆยะ เพราะนางสาวจันทร์ได้สมรสในขณะที่เป็นผู้เยาว์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากบิดามารดาตามมาตรา 1454 ประกอบ มาตรา 1436
สรุป
(1) การหมั้นระหว่างนางสาวจันทร์และนายอาทิตย์เป็นโมฆะ นายอาทิตย์เรียกแหวนเพชรคืนได้ในฐานลาภมิควรได้
(2) การสมรสระหว่างนางสาวจันทร์และนายอาทิตย์ไม่เกิดขึ้น ส่วนการสมรสระหว่างนางสาวจันทร์กับนายอังคารมีผลเป็นโมฆียะ
ข้อ 3 นายเสือและนางปลาเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย นางปลาได้ไปจดทะเบียนรับสิทธิเก็บกินในสวนมะม่วงที่อยู่ต่างจังหวัดของพี่ชายตามลําพังและไม่ได้ปรึกษานายเสือแต่อย่างใด โดยพี่ชายนางปลามีเงื่อนไขว่านางปลาจะต้องไปดูแลสวนมะม่วงด้วยตนเอง ต่อมานางปลาได้นําเงินเดือน ของตนจํานวน 50,000 บาท ไปให้นางหนูกู้ยืม โดยทําสัญญากู้ยืมเงินเป็นเวลา 1 ปี ระบุอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 15 ต่อปี นางปลาบอกกับนางหนูว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินส่วนตัวของนางปลาเอง โดยที่นายเสือ ไม่ได้รู้เห็นและให้ความยินยอมในการให้กู้ยืมนั้น เมื่อนายเสือทราบเรื่องภายหลัง นายเสือโกรธมาก เพราะไม่ต้องการให้นางปลาไปดูแลสวนมะม่วงที่ต่างจังหวัด อีกทั้งนายเสือยังทราบมาจากเพื่อน ๆ ว่านางหนูไม่ยอมชําระหนี้เจ้าหนี้หลายราย ดังนี้นายเสือจะฟ้องศาลเพิกถอนการจดทะเบียนรับสิทธิ เก็บกินของนางปลาเเละสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1474 “สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน
(1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส”
มาตรา 1476 “สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง ในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จํานอง ปลดจํานอง หรือโอนสิทธิจํานองซึ่ง อสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจํานองได้
(2) ก่อตั้งหรือกระทําให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจํายอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือ พื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์
(3) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี
(4) ให้กู้ยืมเงิน
(5) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัว เพื่อการกุศล เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา
(6) ประนีประนอมยอมความ
(7) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย
(8) นําทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล
การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง สามีหรือภริยาจัดการได้โดยมิต้อง ได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง”
มาตรา 1480 วรรคแรก “การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกัน หรือต้องได้รับความ ยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 1476 ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทํานิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือโดยปราศจาก ความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เว้นแต่คู่สมรส อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือในขณะที่ทํานิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทําโดยสุจริต และเสียค่าตอบแทน”
วินิจฉัย
ตามกฎหมาย การจัดการสินสมรสตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 1476 (1) – (8) นั้น สามีภริยาจะต้อง จัดการร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งก่อน ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทํานิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยมิได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งนั้นอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ ตามมาตรา 1480 วรรคแรก
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางปลาได้จดทะเบียนรับสิทธิเก็บกินในสวนมะม่วงของพี่ชายนั้น ไม่ใช่เป็นการจัดการสินสมรสตามที่ระบุไว้ในมาตรา 1476 (1) – (8) ที่สามีภริยาต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับ ความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง นางปลาจึงสามารถจดทะเบียนรับสิทธิเก็บกินดังกล่าวได้โดยลําพังโดยไม่ต้อง ได้รับความยินยอมจากนายเสือแต่อย่างใดตามมาตรา 1476 วรรคท้าย ดังนั้นนายเสือจะฟ้องศาลเพื่อขอเพิกถอน การจดทะเบียนรับสิทธิเก็บกินของนางปลาไม่ได้
ส่วนเงินเดือนของนางปลาที่ได้มาระหว่างสมรสนั้น ถือเป็นสินสมรส ตามมาตรา 1474 (1) เมื่อนางปลาได้นําเงินเดือนของตนจํานวน 50,000 บาท ไปให้นางหนูกู้ยืมโดยทําสัญญากู้ยืมกันเป็นเวลา 1 ปี ระบุ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีนั้น การให้กู้ยืมเงินซึ่งเป็นสินสมรสนั้นเป็นการจัดการสินสมรสตามมาตรา 1476 (4) ที่สามีภริยาต้องจัดการร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อนายเสือไม่ได้รู้เห็นและให้ความยินยอม ในการให้กู้ยืมเงินดังกล่าว โดยหลักแล้วนายเสือย่อมมีสิทธิฟ้องศาลเพื่อให้เพิกถอนสัญญากู้ยืมเงินได้ตามมาตรา 1489 วรรคแรก
แต่เมื่อตามข้อเท็จจริงนั้นปรากฏว่า นางหนูซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้กระทําการโดยสุจริต เพราะนางหนู ไม่ทราบว่าเป็นสินสมรสเนื่องจากนางปลาบอกว่าเป็นเงินส่วนตัวของตน และนางหนูได้เสียค่าตอบแทนคือดอกเบี้ย ตามที่ระบุไว้ในสัญญากู้ยืมเงิน ดังนั้น นายเสือจึงฟ้องศาลเพื่อเพิกถอนสัญญาการกู้ยืมเงินตามมาตรา 1480 ไม่ได้
สรุป
นายเสือจะฟ้องศาลเพื่อเพิกถอนการจดทะเบียนรับสิทธิเก็บกินของนางปลาและสัญญา กู้ยืมเงินดังกล่าวไม่ได้
ข้อ 4 นายไก่และนางไข่เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่นายไก่เป็นคนเจ้าชู้ ทําให้นางไข่เกรงจะเสียชื่อเสียง จึงอนุญาตให้นางมะเมียะสาวใช้ทําหน้าที่ภริยาอีกหนึ่งหน้าที่ ต่อมานายไก่และนางมะเลี้ยะมีบุตรชายด้วยกัน คือ หนึ่ง นางไข่จึงหนีนายไก่ไปบวชชีเป็นเวลาเกือบสองปีแล้วนายไก่ จึงรู้ว่าเมียหนีไปบวช
(1) นายไก่จะฟ้องหย่านางไข่ และนางไข่จะฟ้องหย่านายไก่ได้หรือไม่
(2) หนึ่งเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของใคร นับแต่เมื่อใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 “เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้
(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือ ร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(4) สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้”
มาตรา 1517 วรรคแรก “เหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516 (1) และ (2) ถ้าสามีหรือภริยาแล้วแต่ กรณี ได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทําที่เป็นเหตุฟ้องหย่านั้น ฝ่ายที่ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจนั้นจะยกเป็นเหตุ ฟ้องหย่าไม่ได้”
มาตรา 1546 “เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชายให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ของหญิงนั้น เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ วินิจฉัยได้ดังนี้
(1) การที่นางไข่หนีนายไก่ไปบวชชีเป็นเวลาเกือบสองปีนั้น นายเก่ย่อมสามารถฟ้องหย่า นางไข่ได้ เพราะถือว่าเป็นกรณีที่นางไข่จงใจละทิ้งร้างนายไก่สามีไปเกินกว่า 1 ปี ตามมาตรา 1516 (4)
ส่วนการที่นายไก่มีภริยาน้อยอีกหนึ่งคนคือนางมะเมียะนั้น นางไข่จะฟ้องหย่านายไก่ไม่ได้ เพราะการที่นายไก่ได้นางมะเมียะเป็นภริยาซึ่งถือว่าเป็นเหตุฟ้องหย่าได้ตามมาตรา 1516 (1) นั้น เข้าข้อยกเว้น ตามมาตรา 1517 วรรคแรก กล่าวคือ นางไข่ได้ยินยอมและรู้เห็นเป็นใจด้วยกับการที่นายไก่ได้นางมะเมียะเป็นภริยา นางไข่จึงฟ้องหย่าเพราะเหตุนี้ไม่ได้
(2) เมื่อนายไก่และนางมะเมียะเป็นสามีและภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส จึงถือว่า เด็กชายหนึ่งเป็นบุตรที่เกิดจากหญิงที่มิได้สมรสกับชาย ดังนั้นเด็กชายหนึ่งจึงเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของ นางมะเมียะแต่เพียงผู้เดียวตามมาตรา 1546 และเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายนับตั้งแต่คลอดและอยู่รอดเป็นทารก
สรุป
(1) นายไก่ฟ้องหย่านางไข่ได้ แต่นางไข่จะฟ้องหย่านายไก่ไม่ได้
(2) นายหนึ่งเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนางมะเมียะแต่เพียงผู้เดียวนับแต่คลอดและอยู่รอดเป็นทารก