การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2561
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1. นายสมจิตได้อยู่กินฉันสามีภริยากับนางสาวสุดา แต่ได้มาชอบพอรักใคร่กับนางสาวพิมพาจึงได้ทําสัญญาหมั้นด้วยแหวนเพชร 1 วง ทอง 10 บาท และจะยกที่ดินให้เป็นสินสอด 1 แปลง แก่บิดามารดาของนางสาวพิมพา ต่อมาก่อนจดทะเบียนสมรสบิดาและมารดาของนางสาวพิมพา ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต นายสมจิตจึงตกลงจะยกที่ดินที่เป็นสินสอดให้แก่นางสาวพิมพา เพื่อตอบแทนการสมรสแทน เมื่อนายสมจิตทําการจดทะเบียนสมรสแล้วไม่ยินยอมโอนที่ดินให้ เช่นนี้ นางสาวพิมพาต้องการเรียกร้องให้โอนที่ดินได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1437 วรรคหนึ่งและวรรคสาม “การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สิน อันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น
สินสอดเป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรมหรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง แล้วแต่กรณี เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสําคัญอันเกิดแก่หญิง หรือโดยมี พฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ ทําให้ชายไม่สมควรหรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น ฝ่ายชายเรียกสินสอดคืนได้”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสมจิตได้ทําสัญญาหมั้นกับนางสาวพิมพาด้วยแหวนเพชร 1 วง ทอง 10 บาทนั้น การหมั้นระหว่างนายสมจิตและนางสาวพิมพาย่อมมีผลสมบูรณ์ตามมาตรา 1437 วรรคหนึ่ง และการที่นายสมจิตตกลงจะยกที่ดินให้เป็นสินสอด 1 แปลงแก่บิดามารดาของนางสาวพิมพานั้น ถือเป็นสินสอด ตามมาตรา 1437 วรรคสาม
แต่อย่างไรก็ดี ก่อนที่นายสมจิตและนางสาวพิมพาจะจดทะเบียนสมรสกันนั้น บิดามารดาของ นางสาวพิมพาได้ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต นายสมจิตจึงตกลงจะยกที่ดินที่เป็นสินสอดให้แก่นางสาวพิมพาเพื่อ ตอบแทนการสมรสแทนนั้น เมื่อปรากฏว่าในขณะที่จดทะเบียนสมรสนางสาวพิมพาไม่มีบิดามารดาหรือ ผู้ปกครอง และตามกฎหมายสินสอดเป็นทรัพย์สินที่ฝ่ายชายให้ไว้แก่บิดามารดาของฝ่ายหญิงเพื่อตอบแทน การที่หญิงยอมสมรส
ดังนั้น ที่ดินที่นายสมจิตตกลงจะยกให้แก่นางสาวพิมพาจึงไม่ใช่สินสอดตามมาตรา 1437 วรรคสาม และไม่มีความผูกพันตามสัญญาสินสอดที่จะต้องโอนที่ดินให้แก่ฝ่ายหญิง
แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ถือว่าเป็นสินสอดแต่ก็ถือว่าเป็นสัญญาที่สามารถบังคับกันได้ในระหว่างคู่สัญญาในฐานะบุคคลสิทธิ์
ดังนั้น เมื่อนายสมจิตได้ทําการจดทะเบียนสมรสกับนางสาวพิมพาแล้วแต่ไม่ยินยอมโอนที่ดินให้ นางสาวพิมพา จึงสามารถเรียกร้องให้โอนที่ดินได้ (คําพิพากษาฎีกาที่ 3442/2526)
สรุป นางสาวพิมพาสามารถเรียกร้องให้นายสมจิตโอนที่ดินให้แก่ตนได้
ข้อ 2 นายแดง อายุ 40 ปี จดทะเบียนหย่ากับนางดํา อายุ 21 ปี ในวันที่ 15 มกราคม 2560 เพราะนางดําไม่มีบุตรให้ แต่นายแดงอยากมีบุตรมาก นายแดงจึงว่าจ้างให้ น.ส.สวยตั้งครรภ์บุตรให้ด้วยวิธีการ ผสมเทียม และนายแดงไปจดทะเบียนสมรสกับ น.ส.สวยในวันที่ 1 มีนาคม 2560 โดยที่นายแดง และ น.ส.สวยไม่ประสงค์จะใช้ชีวิตร่วมกันฉันสามีภริยากันเลย ส่วนนางดําไปจดทะเบียนสมรสใหม่ กับนายมั่งมี อายุ 16 ปี ในวันที่ 30 กันยายน 2561 อีกสามเดือนต่อมานางดําตั้งครรภ์ นางฟ้า มารดาของนายมั่งมีทราบเรื่องไม่พอใจอย่างมากที่ลูกชายไปจดทะเบียนสมรสกับนางดํา ขอให้ท่านวินิจฉัยว่า
(ก) การสมรสระหว่างนายแดงกับ น.ส.สวยมีผลเช่นไร เพราะเหตุใด
(ข) นางฟ้าจะมาเพิกถอนการสมรสระหว่างนางดํากับนายมั่งมีได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1448 “การสมรสจะทําได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีที่มี เหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทําการสมรสก่อนนั้นได้”
มาตรา 1458 “การสมรสจะทําได้ต่อเมื่อชายหญิงยินยอมเป็นสามีภริยากันและต้องแสดงการ ยินยอมนั้นให้ปรากฏโดยเปิดเผยต่อหน้า นายทะเบียนและให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมนั้นไว้ด้วย”
มาตรา 1495 “การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1449 มาตรา 1450 มาตรา 1452 และมาตรา 1458 เป็นโมฆะ”
มาตรา 1503 “เหตุที่จะขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการสมรสเพราะเหตุว่าเป็นโมฆียะ มีเฉพาะในกรณีที่คู่สมรสทําการฝ่าฝืนมาตรา 1448 มาตรา 1505 มาตรา 1506 มาตรา 1507 และมาตรา 1509″
มาตรา 1504 “การสมรสที่เป็นโมฆียะเพราะฝ่าฝืนมาตรา 1448 ผู้มีส่วนได้เสียขอให้เพิกถอน การสมรสได้ แต่บิดามารดาหรือผู้ปกครองที่ให้ความยินยอมแล้วจะขอให้เพิกถอนการสมรสไม่ได้
ถ้าศาลมิได้สั่งให้เพิกถอนการสมรสจนชายหญิงมีอายุครบตามมาตรา 1448 หรือเมื่อหญิงมีครรภ์ ก่อนอายุครบตามมาตรา 1448 ให้ถือว่าการสมรสสมบูรณ์มาตั้งแต่เวลาสมรส”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้
(ก) การที่นายแดงได้จดทะเบียนสมรสกับ น.ส.สวยนั้น แม้ว่านายแดงได้จดทะเบียนสมรสในขณะที่ ตนไม่มีคู่สมรสเพราะได้หย่ากับนางดําแล้วก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า การที่นายแดงสมรสกับ น.ส.สวยนั้น นายแดงและ น.ส.สวยไม่ประสงค์จะใช้ชีวิตร่วมกันฉันสามีภริยากันเลย ดังนั้น ถือได้ว่าการสมรสของนายแดง และ น.ส.สวย เป็นการสมรสที่ฝ่าฝืนเงื่อนไขของการสมรสในเรื่องความยินยอมตามมาตรา 1458 การสมรส จึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495
(ข) การที่นางดําอายุ 21 ปี ได้จดทะเบียนหย่ากับนายแดง และได้ไปจดทะเบียนสมรสใหม่กับ นายมั่งมีอายุ 16 ปีนั้น ถือเป็นการสมรสที่มีการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 1448 เพราะนายมั่งมีมีอายุยังไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ ดังนั้น การสมรสระหว่างนางดําและนายมั่งมีจึงตกเป็นโมฆียะตามมาตรา 1503
และเมื่อสมรสไปได้ 3 เดือน การที่นางดําได้ตั้งครรภ์ และนางฟ้ามารดาของนายมั่งมีทราบเรื่อง จึงจะฟ้องศาลขอให้เพิกถอนการสมรสระหว่างนายมั่งมีกับนางดํานั้น เมื่อนางฟ้ามารดาของนายมั่งมีถือว่า เป็นผู้มีส่วนได้เสียจึงสามารถฟ้องขอให้เพิกถอนการสมรสที่เป็นโมฆียะดังกล่าวได้ตามมาตรา 1504 วรรคหนึ่ง และกรณีดังกล่าวก็ไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 1504 วรรคสอง กล่าวคือ นายมั่งมียังมีอายุไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ และบทบัญญัติในมาตรา 1504 วรรคสองนั้น เป็นบทบัญญัติคุ้มครองเฉพาะในกรณีที่หญิงมีครรภ์ก่อนอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์เท่านั้น แต่กรณีนี้ นางดํามีครรภ์ตอนอายุเกิน 17 ปีแล้ว
สรุป
(ก) การสมรสระหว่างนายแดงกับ น.ส.สวยมีผลเป็นโมฆะ
(ข) นางฟ้ามารดาของนายมั่งมีสามารถเพิกถอนการสมรสระหว่างนางดํากับนายมั่งมีได้
ข้อ 3 นายใหญ่และนางเล็กเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย นางเล็กทําสัญญากู้ยืมเงินจากนายโตจํานวน 50,000 บาท โดยนายใหญ่ได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญากู้ยืมเงินนั้น นางเล็กบอกนายใหญ่ ว่าจะนําเงินดังกล่าวมาเป็นทุนในการเปิดร้านขายอาหาร แต่นางเล็กกลับนําเงินทั้งหมดไปซื้อเสื้อผ้า และเครื่องประดับของตน ต่อมานางเล็กได้ไปทําสัญญากู้เงินจากนายเอกจํานวน 30,000 บาท เพื่อจ่ายค่าเล่าเรียนในระดับปริญญาโทของนางเล็ก หลังจากนั้นบิดาของนายใหญ่ให้เงินนายใหญ่ จํานวน 100,000 บาท นางเล็กขอให้นายใหญ่นําเงินนั้นมาชําระหนี้ที่ตนเองไปกู้ยืมมาทั้งหมดแต่นายใหญ่ปฏิเสธโดยอ้างว่านายใหญ่ไม่ได้ใช้เงินที่นางเล็กกู้ยืมมาเลย นายใหญ่นําเงินที่ได้รับมา จํานวน 20,000 บาทให้แก่นางสาวสวยซึ่งเป็นแฟนเก่าของนายใหญ่ ต่อมานายใหญ่เอารถยนต์ซึ่งเป็น สินสมรสไปให้นางสาวสายยืมใช้เป็นเวลา 3 เดือน โดยที่นางเล็กไม่ได้ให้การยินยอมในการยืมนั้น
ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า
(ก) นายใหญ่จะต้องร่วมรับผิดชําระหนี้ที่นางเล็กไปกู้ยืมเงินมาจากนายโตและนายเอกด้วยหรือไม่เพราะเหตุใด
(ข) นางเล็กจะฟ้องศาลขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่นายใหญ่ให้เงิน 20,000 บาทแก่นางสาวสวย และการให้ยืมรถยนต์ซึ่งเป็นสินสมรสแก่นางสาวสวยได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1471 “สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน
(3) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ด้มาระหว่างสมรส โดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หา” มาตรา 1473 “สินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายใดให้ฝ่ายนั้นเป็นผู้จัดการ”
มาตรา 1476 “สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งใน กรณีดังต่อไปนี้
(1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จํานอง ปลดจํานอง หรือโอนสิทธิจํานองซึ่งอสังหา ริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจํานองได้
(2) ก่อตั้งหรือกระทําให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจํายอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์
(3) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี
(4) ให้กู้ยืมเงิน
(5) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัว เพื่อการกุศล เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา
(6) ประนีประนอมยอมความ
(7) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย
(8) นําทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล
การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง สามีหรือภริยาจัดการได้โดยมิต้องได้รับ ความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง”
มาตรา 1480 วรรคหนึ่ง “การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกัน หรือต้องได้รับความยินยอม จากอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 1476 ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทํานิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือโดยปราศจากความ ยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เว้นแต่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง ได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือในขณะที่ทํานิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทําโดยสุจริตและเสีย ค่าตอบแทน”
มาตรา 1490 “หนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกันนั้นให้รวมถึงหนี้ที่สามีหรือภริยาก่อให้เกิดขึ้น ในระหว่างสมรสดังต่อไปนี้
(1) หนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือนหรือจัดหาสิ่งจําเป็นสําหรับครอบครัว การอุปการะเลี้ยงดู ตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวและการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ
(2) หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส
(3) หนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานซึ่งสามีภริยาทําด้วยกัน
(4) หนี้ที่สามีหรือภริยาก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียว แต่อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบัน”
วินิจฉัย กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้
(ก) การที่นางเล็กทําสัญญากู้ยืมเงินจากนายโตจํานวน 50,000 บาท โดยนางเล็กได้นําเงินทั้งหมด ไปซื้อเสื้อผ้าและเครื่องประดับของตนนั้น ถือเป็นหนี้ที่นางเล็กก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียว แต่การที่นายใหญ่ ได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญากู้ยืมเงินนั้น ย่อมถือว่านายใหญ่ได้ให้สัตยาบันในหนี้นั้นแล้ว ดังนั้น หนี้ดังกล่าว จึงเป็นหนี้ร่วมตามมาตรา 1490 (4) นายใหญ่จึงต้องร่วมรับผิดในหนี้จํานวน 50,000 บาทที่นางเล็กกู้ยืมมาจาก นายโตร่วมกับนางเล็ก
ส่วนหนี้ที่นางเล็กได้ไปทําสัญญากู้ยืมจากนายเอกจํานวน 30,000 บาท เพื่อจ่ายค่าเล่าเรียนใน ระดับปริญญาโทของนางเล็กนั้นไม่ใช่หนี้ร่วมตามมาตรา 1490 (1) แต่อย่างใด เพราะไม่ใช่หนี้ที่เกี่ยวกับ การศึกษาของบุตร และไม่ใช่หนี้ร่วมตามมาตรา 1490 (4) เนื่องจากเป็นหนี้ที่นางเล็กก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตน ฝ่ายเดียว โดยนายใหญ่ไม่ได้ให้สัตยาบันในหนี้นั้นแต่อย่างใด ดังนั้น นายใหญ่จึงไม่ต้องร่วมรับผิดชําระหนี้ในหนี้ที่ นางเล็กไปกู้ยืมเงินจากนายเอก
(ข) การที่บิดาของนายใหญ่ได้ให้เงินแก่นายใหญ่จํานวน 100,000 บาท ถือเป็นสินส่วนตัวตาม มาตรา 1471 (3) เพราะเป็นทรัพย์สินที่นายใหญ่ได้มาระหว่างสมรสโดยการให้โดยเสน่หา นายใหญ่จึงมีอํานาจ ในการจัดการเงินดังกล่าวได้ตามมาตรา 1473 เมื่อนายใหญ่นําเงิน 20,000 บาทไปให้นางสาวสวยซึ่งเป็นแฟนเก่า ของนายใหญ่ นางเล็กจึงไม่มีสิทธิฟ้องศาลขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่นายใหญ่ให้เงิน 20,000 บาทแก่นางสาวสวย
ส่วนการที่นายใหญ่ได้เอารถยนต์ซึ่งเป็นสินสมรสไปให้นางสาวสวยยืมใช้เป็นเวลา 3 เดือนนั้น ไม่ใช่การจัดการสินสมรสตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1476 (1) – (8) ที่สามีภริยาต้องจัดการร่วมกัน หรือต้อง ได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งแต่อย่างใด นายใหญ่จึงมีสิทธินํารถยนต์ซึ่งเป็นสินสมรสไปให้นางสาวสวย ยืมใช้ได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากนางเล็ก ดังนั้น นางเล็กจะฟ้องศาลขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่นายใหญ่ ให้นางสาวสวยยืมรถยนต์ไม่ได้ (มาตรา 1480 วรรคหนึ่ง)
สรุป
(ก) นายใหญ่จะต้องร่วมรับผิดชําระหนี้ที่นางเล็กไปกู้ยืมเงินมาจากนายโต แต่ไม่ต้องร่วม รับผิดชําระหนี้ที่นางเล็กไปกู้ยืมเงินมาจากนายเอก
(ข) นางเล็กจะฟ้องศาลขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่นายใหญ่ให้เงินแก่นางสาวสวย 20,000 บาท และการให้ยืมรถยนต์ซึ่งเป็นสินสมรสแก่นางสาวสวยไม่ได้
ข้อ 4 นายไก่และนางไข่อยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยา และมีบุตรด้วยกันคือเด็กชายเป็ด ต่อมานายไก่ไปจดทะเบียนสมรสกับนางห่านโดยตกลงกันว่านางห่านยินยอมให้นายไก่ไปอยู่กินร่วมกันฉันสามี ภริยากับนางไข่ได้เหมือนเดิม ต่อมานางห่านมีบุตรสาวคือเด็กหญิงหงส์จึงมีความรู้สึกหึงหวงนายไก่ ไม่อยากให้นายไก่ไปยุ่งกับนางไข่และเด็กชายเป็ด จึงมาปรึกษาท่านว่า
(1) ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวนางห่านจะอ้างเป็นเหตุฟ้องหย่านายไก่ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
(2) เด็กชายเป็ดและเด็กหญิงหงส์ เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของใคร นับแต่เมื่อใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1457 “การสมรสตามประมวลกฎหมายนี้จะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น”
มาตรา 1516 “เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้
(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วม ประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้”
มาตรา 1517 วรรคหนึ่ง “เหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516 (1) และ (2) ถ้าสามีหรือภริยาแล้วแต่กรณี ได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทําที่เป็นเหตุฟ้องหย่านั้น ฝ่ายที่ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจนั้น จะยกเป็นเหตุ ฟ้องหย่าไม่ได้”
มาตรา 1536 วรรคหนึ่ง “เด็กเกิดแต่หญิงขณะเป็นภริยาชายหรือภายในสามร้อยสิบวันนับแต่ วันที่การสมรสสิ้นสุดลง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามี หรือเคยเป็นสามี แล้วแต่กรณี”
มาตรา 1546 “เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชายให้ถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ของหญิงนั้น เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้
(1) การที่นายไก่และนางไข่อยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาและมีบุตรด้วยกันคือเด็กชายเป็ด ต่อมา นายไก่ได้ไปจดทะเบียนสมรสกับนางห่านโดยตกลงกันว่านางห่านยินยอมให้นายไก่ไปอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยา กับนางไข่ได้เหมือนเดิมนั้น การกระทําของนายไก่ที่ไปอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยากับนางไข่ ถือเป็นการเลี้ยงดูหรือ ยกย่องผู้อื่นฉันภริยาตามมาตรา 1516 (1) แล้ว แต่อย่างไรก็ตามเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านางห่านได้รู้เห็นเป็นใจ หรือยินยอมด้วยกับการกระทําของนายไก่ ดังนั้น นางห่านแม้จะเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของนายไก่ก็จะ ยกเหตุดังกล่าวขึ้นมาฟ้องหย่านายไก่ไม่เด้ตามมาตรา 1517 วรรคหนึ่ง
(2) เมื่อนายไก่และนางไข่อยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสตามมาตรา 1457 นายไก่และนางไข่จึงมิใช่สามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น เด็กชายเป็ดจึงเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนางไข่ แต่เพียงผู้เดียวนับแต่คลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกตามมาตรา 1546
ส่วนเด็กหญิงหงส์ซึ่งเกิดจากนายไก่และนางห่านสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย ย่อมเป็นบุตร โดยชอบด้วยกฎหมายของนางห่านตามมาตรา 1546 และเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายไก่ตามมาตรา 1536 วรรคหนึ่ง เพราะเด็กหญิงหงส์ได้เกิดในขณะที่นางห่านเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของนายไก่ และเป็นบุตร ที่ชอบด้วยกฎหมายของนายไก่และนางห่านนับแต่คลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก
สรุป
(1) นางห่านจะยกเหตุดังกล่าวขึ้นอ้างเพื่อฟ้องหย่านายไก่ไม่ได้
(2) เด็กชายเป็ดเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนางไข่แต่เพียงผู้เดียว และเด็กหญิงหงส์ เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายไก่และนางห่านนับแต่คลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก