การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2560
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1. ในวันที่ 5 มกราคม นายเจริญทรัพย์ อายุ 25 ปี ได้ทําสัญญาหมั้น น.ส.อรุณี อายุ 16 ปี 9 เดือน โดยบิดามารดายินยอมด้วยแหวนเพชรและเงิน 200,000 บาท และตกลงจะทําการสมรสในวันที่ 5 กันยายน ต่อมาในเดือนสิงหาคม น.ส.อรุณีได้ทําสัญญารับหมั้นจากนายอุทัย อายุ 23 ปี ด้วยทอง 10 บาท โดยบิดามารดาของ น.ส.อรุณียินยอมด้วย นายเจริญทรัพย์จึงต้องการฟ้อง น.ส.อรุณีและบิดามารดา (คู่สัญญาหมั้น) ฐานผิดสัญญาหมั้นและ เรียกค่าทดแทนตามมาตรา 1440 (1) ด้วย และกล่าวอ้างว่าการหมั้นของ น.ส.อรุณีกับนายอุทัย ไม่สมบูรณ์ เช่นนี้ท่านเห็นว่าอย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1435 “การหมั้นจะทําได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว การหมั้นที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติวรรคหนึ่งเป็นโมฆะ”
มาตรา 1436 “ผู้เยาว์จะทําการหมั้นได้ต้องได้รับความยินยอมของบุคคลดังต่อไปนี้
(1) บิดาและมารดา ในกรณีที่มีทั้งบิดามารดา การหมั้นที่ผู้เยาว์ทําโดยปราศจากความยินยอมดังกล่าวเป็นโมฆียะ”
มาตรา 1437 วรรคหนึ่ง “การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็น ของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น”
มาตรา 1439 “เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิด ใช้ค่าทดแทน ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย”
มาตรา 1440 “ค่าทดแทนนั้นอาจเรียกได้ ดังต่อไปนี้
(1) ทดแทนความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียงแห่งชายหรือหญิงนั้น”
วินิจฉัย
ตามหลักกฎหมายในเรื่องการหมั้นนั้น ชายและหญิงจะหมั้นกันได้ทั้งสองฝ่ายจะต้องมีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์แล้ว หากชายและหญิงทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอายุไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ ย่อมมีผลทําให้ การหมั้นนั้นเป็นโมฆะ (ตามมาตรา 1435) กล่าวคือ จะมีผลเสมือนหนึ่งว่ามิได้มีการหมั้นเกิดขึ้นเลย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเจริญทรัพย์อายุ 25 ปี ได้ทําสัญญาหมั้นกับ น.ส.อรุณี อายุ 16 ปี 9 เดือนนั้น แม้การหมั้นจะมีของหมั้นคือแหวนเพชรและเงิน 200,000 บาท และบิดามารดาของ น.ส.อรุณีจะได้ ยินยอมด้วยก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่า น.ส.อรุณีมีอายุยังไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ การหมั้นดังกล่าวจึงเป็นการฝ่าฝืน บทบัญญัติมาตรา 1435 วรรคหนึ่ง และจะมีผลเป็นโมฆะตามมาตรา 1435 วรรคสอง จึงถือเสมือนว่ามิได้มีการหมั้น เกิดขึ้นเลย ดังนั้น การที่นายเจริญทรัพย์ต้องการฟ้อง น.ส.อรุณีและบิดามารดา (คู่สัญญาหมั้น) ฐานผิดสัญญาหมั้น
และเรียกค่าทดแทนตามมาตรา 1440 (1) ด้วยนั้น จึงไม่สามารถทําได้ เพราะกรณีที่จะถือว่ามีการผิดสัญญาหมั้น ทําให้คู่หมั้นอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิดใช้ค่าทดแทนตามมาตรา 1439 ได้นั้น จะต้องเป็นกรณีที่ได้มีการหมั้น กันแล้วเท่านั้น
และต่อมาในเดือนสิงหาคม (7 เดือนต่อมา) น.ส.อรุณีมีอายุเกิน 17 ปีแล้ว ได้ทําสัญญาหมั้น กับนายอุทัยอายุ 23 ปี ด้วยทอง 10 บาท โดยบิดามารดาของ น.ส.อรุณียินยอมด้วยนั้น ย่อมเป็นการหมั้นที่ สมบูรณ์ตามมาตรา 1435 มาตรา 1436 และมาตรา 1437 วรรคหนึ่ง ดังนั้น การที่นายเจริญทรัพย์กล่าวอ้างว่า การหมั้นของ น.ส.อรุณีกับนายอุทัยไม่สมบูรณ์นั้นจึงไม่ถูกต้อง
สรุป
นายเจริญทรัพย์จะฟ้อง น.ส.อรุณีและบิดามารดาของ น.ส.อรุณีฐานผิดสัญญาหมั้นไม่ได้ และจะกล่าวอ้างว่าการหมั้นของ น.ส.อรุณีกับนายอุทัยไม่สมบูรณ์ก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน
ข้อ 2 นายโชคชัยได้จดทะเบียนสมรสกับ น.ส.นภาพร ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของตน หลังจากนั้นอีก 2 เดือน นายโชคชัยก็ได้ไปจดทะเบียนสมรสกับ น.ส.อ้อยใจ โดยอ้างว่าการสมรสครั้งก่อนไม่มีผลแต่อย่างใด เพราะตนได้จดทะเบียนสมรสกับบุตรบุญธรรมของตนเอง โดยในระหว่างสมรสนั้นเอง น.ส.อ้อยใจ ได้ซื้อสลากออมสินและถูกรางวัล 10 ล้านบาท ดังนี้ขอให้ท่านวินิจฉัยว่า การสมรสระหว่างนายโชคชัย และ น.ส.อ้อยใจมีผลเช่นไร และเงินรางวัล 10 ล้านบาทเป็นของใคร เพราะเหตุใด จงอธิบาย
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1451 “ผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมจะสมรสกันไม่ได้”
มาตรา 1452 “ชายหรือหญิงจะทําการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้”
มาตรา 1495 “การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1449 มาตรา 1450 มาตรา 1452 และมาตรา 1458 เป็นโมฆะ”
มาตรา 1498 “การสมรสที่เป็นโมฆะ ไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา
ในกรณีที่การสมรสเป็นโมฆะ ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดมีหรือได้มาไม่ว่าก่อนหรือหลังการสมรส รวมทั้งดอกผลคงเป็นของฝ่ายนั้น ส่วนบรรดาทรัพย์สินที่ทํามาหาได้ร่วมกันให้แบ่งคนละครึ่งเว้นแต่ศาลจะเห็น สมควรสั่งเป็นประการอื่น เมื่อได้พิเคราะห์ถึงภาระในครอบครัว ภาระในการหาเลี้ยงชีพ และฐานะของคู่กรณี ทั้งสองฝ่ายตลอดจนพฤติการณ์อื่นทั้งปวงแล้ว”
มาตรา 1598/32 “การรับบุตรบุญธรรมย่อมเป็นอันยกเลิกเมื่อมีการสมรสฝ่าฝืนมาตรา 1451”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายโชคชัยได้จดทะเบียนสมรสกับ น.ส.นภาพร ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรม ของตนนั้น แม้จะเป็นการสมรสที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 1451 ก็ตาม แต่เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติให้การสมรส ดังกล่าวตกเป็นโมฆะ เพียงแต่บัญญัติให้การรับบุตรบุญธรรมย่อมเป็นอันยกเลิกไปเท่านั้น (มาตรา 1495 และ มาตรา 1598/32) ดังนั้น การสมรสระหว่างนายโชคชัยกับ น.ส.นภาพรจึงมีผลสมบูรณ์
เมื่อการสมรสระหว่างนายโชคชัยกับ น.ส.นภาพรมีผลสมบูรณ์ การที่นายโชคชัยได้ไปจดทะเบียน สมรสกับ น.ส.อ้อยใจอีกในภายหลัง จึงเป็นการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่แล้วซึ่งเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติ มาตรา 1452 ดังนั้น การสมรสครั้งหลังระหว่างนายโชคชัยกับ น.ส.อ้อยใจจึงมีผลเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 และ ย่อมไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามมาตรา 1498 วรรคหนึ่ง ดังนั้น การที่ น.ส.อ้อยใจ ได้ซื้อสลากออมสินและถูกรางวัล 10 ล้านบาท เงินรางวัล 10 ล้านบาทดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินที่ น.ส.อ้อยใจ ได้มาภายหลังการสมรสที่ตกเป็นโมฆะ จึงตกเป็นของ น.ส.อ้อยใจแต่เพียงผู้เดียวตามมาตรา 1498 วรรคสอง
สรุป
การสมรสระหว่างนายโชคชัยกับ น.ส.อ้อยใจมีผลเป็นโมฆะ
และเงินรางวัล 10 ล้านบาท ตกเป็นของ น.ส.อ้อยใจแต่เพียงผู้เดียว
ข้อ 3 นายวิทยาและนางบงกชเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย ทั้งสองทําสัญญาระหว่างสมรสให้นายวิทยาเป็นผู้มีอํานาจในการจัดการเงินสมรสทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว นายวิทยานําเงินบําเหน็จที่ได้มา ระหว่างสมรสจํานวนหนึ่งล้านบาทไปซื้อที่ดินแปลงหนึ่งโดยใส่ชื่อนายวิทยาในโฉนดที่ดินแต่เพียง ผู้เดียว นายวิทยาได้นําที่ดินดังกล่าวไปให้นายมานพซึ่งเป็นญาติสนิทของนายวิทยาเช่าเป็นระยะเวลา 7 ปี โดยนายวิทยาและนายมานพตกลงกันว่าจะไม่บอกเรื่องการเช่าที่ดินให้นางบงกชทราบเพราะกลัว นางบงกชจะไม่เห็นด้วยกับราคาค่าเช่าที่ดินที่ต่ำกว่าราคาค่าเช่าที่ดินโดยทั่วไปมาก ต่อมานายวิทยา ทําสัญญากู้ยืมเงินกับนายพงษ์จํานวนหนึ่งแสนบาทตามลําพังโดยที่นางบงกชไม่ได้ให้ความยินยอม ในการกู้เงินนั้น หลังจากนั้นนางบงกชถึงทราบเรื่องทั้งหมด นางบงกชโกรธมากที่นายวิทยาให้เช่าที่ดิน ในราคาต่ำกว่าราคาค่าเช่าที่ดินโดยทั่วไปมาก และนายวิทยากู้ยืมเงินจากนายพงษ์ในอัตราดอกเบี้ย ร้อยละสิบห้าซึ่งนางบงกชเห็นว่าเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินไป
ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่านางบงกช จะฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการให้เช่าที่ดินแก่นายมานพและการกู้ยืมเงินกับนายพงษ์ได้หรือไม่เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1465 วรรคหนึ่ง “ถ้าสามีภริยามิได้ทําสัญญากันไว้ในเรื่องทรัพย์สินเป็นพิเศษก่อน สมรส ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาในเรื่องทรัพย์สินนั้น ให้บังคับตามบทบัญญัติในหมวดนี้”
มาตรา 1474 “สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน
(1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส”
มาตรา 1476 “สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง ในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จํานอง ปลดจํานอง หรือโอนสิทธิจํานองซึ่ง อสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจํานองได้
(2) ก่อตั้งหรือกระทําให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจํายอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือ พื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์
(3) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี
(4) ให้กู้ยืมเงิน
(5) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัว เพื่อการกุศล เพื่อ การสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา
(6) ประนีประนอมยอมความ
(7) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย
(8) นําทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล
การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง สามีหรือภริยาจัดการได้โดยมิต้อง ได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง”
มาตรา 1476/1 วรรคหนึ่ง “สามีและภริยาจะจัดการสินสมรสให้แตกต่างไปจากที่บัญญัติไว้ ในมาตรา 1476 ทั้งหมดหรือบางส่วนได้ก็ต่อเมื่อได้ทําสัญญาก่อนสมรสไว้ตามที่บัญญัติในมาตรา 1465 และ มาตรา 1466 ในกรณีดังกล่าวนี้ การจัดการสินสมรสให้เป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญาก่อนสมรส”
มาตรา 1480 วรรคหนึ่ง “การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกัน หรือต้องได้รับความ ยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 1476 ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทํานิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือโดยปราศจาก ความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เว้นแต่คู่สมรส อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือในขณะที่ทํานิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทําโดยสุจริตและ เสียค่าตอบแทน”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ สัญญาระหว่างสมรสที่นายวิทยาและนางบงกชได้ทําต่อกันโดยให้นายวิทยา เป็นผู้มีอํานาจในการจัดการสินสมรสทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียวนั้นใช้บังคับไม่ได้ เพราะกรณีที่สามีหรือภริยาจะจัดการ สินสมรสให้แตกต่างไปจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1476 ได้ก็ต่อเมื่อได้ทําสัญญาก่อนสมรสไว้ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 1465 และมาตรา 1466 เท่านั้น (มาตรา 1476/1 วรรคหนึ่ง) ดังนั้น เมื่อนายวิทยาและนางบงกชไม่ได้ทําสัญญา ก่อนสมรสไว้ ความสัมพันธ์ระหว่างนายวิทยาและนางบงกชในเรื่องทรัพย์สิน จึงต้องบังคับกันตามมาตรา 1473 และ มาตรา 1476
การที่นายวิทยานําเงินบําเหน็จที่ได้มาในระหว่างสมรสจํานวนหนึ่งล้านบาทซึ่งเป็นสินสมรส ตามมาตรา 1474 (1) ไปซื้อที่ดินแปลงหนึ่งโดยใส่ชื่อนายวิทยาในโฉนดที่ดินแต่เพียงผู้เดียวนั้น ที่ดินดังกล่าวถือเป็น สินสมรส และเมื่อนายวิทยาได้นําที่ดินแปลงดังกล่าวไปให้นายมานพเช่าเป็นระยะเวลา 7 ปี ถือเป็นการทํานิติกรรม ตามมาตรา 1476 (3) เพราะเป็นการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกิน 3 ปี ซึ่งสามีและภริยาต้องจัดการร่วมกันหรือ ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อนายวิทยาได้นําที่ดินไปให้นายมานพเช่าโดยไม่ได้รับความยินยอม จากนางบงกช แม้นายมานพจะเช่าที่ดินโดยเสียค่าตอบแทน แต่เมื่อนายมานพกระทําการโดยไม่สุจริตเพราะนายมานพ ได้ตกลงกับนายวิทยาว่าจะไม่บอกเรื่องการเช่าที่ดินให้นางบงกชทราบ อีกทั้งราคาค่าเช่าก็ต่ำกว่าราคาเช่าโดยทั่วไปมาก ดังนั้น นางบงกชจึงสามารถฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการให้เช่าที่ดินดังกล่าวได้ตามมาตรา 1480 วรรคหนึ่ง
ส่วนการที่นายวิทยาได้ทําสัญญากู้ยืมเงินกับนายพงษ์จํานวนหนึ่งแสนบาทโดยที่นางบงกช ไม่ได้รู้เห็นหรือให้ความยินยอมในการกู้เงินนั้น เมื่อนิติกรรมการกู้ยืมเงินดังกล่าวไม่ใช่นิติกรรมที่เกี่ยวข้องกับ สินสมรสที่คู่สมรสต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 1476 ดังนั้น นางบงกชจะฟ้องให้ศาลเพิกถอนการกู้ยืมเงินดังกล่าวไม่ได้
สรุป นางบงกชจะฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการให้เช่าที่ดินได้ แต่จะฟ้องให้ศาลเพิกถอน นิติกรรมการกู้ยืมเงินไม่ได้
ข้อ 4 นายไก่และนางเป็ดเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาทั้งคู่มีความรู้สึกว่าไม่ใช่เนื้อคู่กันที่แท้จริง จึงตกลงหย่ากันโดยทําเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่าย มีพยาน 2 คน ทําขึ้น 2 ฉบับ เก็บไว้เป็นหลักฐานคนละฉบับ หลังจากนั้น นายไก่ก็ไปอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยากับนางนกโดย คําแนะนําและสนับสนุนจากนางเป็ด นางเป็ดก็ไปอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยากับนายห่านเพื่อนรัก นายไก่ นายไก่สนับสนุนเช่นกัน ต่อมานางเป็ดคลอดบุตรมา 1 คน คือเด็กหญิงหงส์
1) การตกลงหย่าระหว่างนายไก่และนางเป็ดมีผลในทางกฎหมายอย่างไร
2) นายไก่จะฟ้องหย่านางเป็ด นางเป็ดจะฟ้องหย่านายไก่ได้หรือไม่ตามข้อเท็จจริงตามโจทย์
3) เด็กหญิงหงส์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของใคร ตั้งแต่เมื่อใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1457 “การสมรสตามประมวลกฎหมายนี้จะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น”
มาตรา 1501 “การสมรสย่อมสิ้นสุดลงด้วยความตาย การหย่า หรือศาลพิพากษาให้เพิกถอน”
มาตรา 1514 “การหย่านั้นจะทําได้แต่โดยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายหรือโดยคําพิพากษา ของศาล
การหย่าโดยความยินยอมต้องทําเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อยสองคน”
มาตรา 1515 “เมื่อได้จดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายนี้ การหย่าโดยความยินยอม จะสมบูรณ์ต่อเมื่อสามีภริยาได้จดทะเบียนการหย่านั้นแล้ว”
มาตรา 1516 “เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้
(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือ ร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้”
มาตรา 1517 วรรคหนึ่ง “เหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516 (1) และ (2) ถ้าสามีหรือภริยาแล้วแต่ กรณี ได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทําที่เป็นเหตุฟ้องหย่านั้น ฝ่ายที่ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจนั้นจะยกเป็นเหตุ ฟ้องหย่าไม่ได้”
มาตรา 1536 วรรคหนึ่ง “เด็กเกิดแต่หญิงขณะเป็นภริยาชายหรือภายในสามร้อยสิบวันนับแต่ วันที่การสมรสสิ้นสุดลง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามี หรือเคยเป็นสามี แล้วแต่กรณี”
มาตรา 1546 “เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชายให้ถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ของหญิงนั้น เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้
(1) การที่นายไก่และนางเป็ดได้ตกลงหย่ากันโดยทําเป็นหนังสือลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่าย และ มีพยานลงลายมือชื่อสองคนนั้น แม้จะได้ทําถูกต้องตามมาตรา 1514 แต่เมื่อนายไก่และนางเป็ดยังไม่ได้จดทะเบียน การหย่า การหย่าโดยความยินยอมระหว่างนายไก่และนางเป็ดจึงยังไม่สมบูรณ์ (ตามมาตรา 1515)
(2) การที่นายไก่ได้ไปอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยากับนางนกโดยคําแนะนําและสนับสนุนจากนางเป็ด และนางเป็ดก็ได้ไปอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยากับนายห่านโดยนายไก่สนับสนุนนั้น ถือว่าเป็นกรณีที่สามี และภริยาได้อุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามีตามมาตรา 1516 (1) แล้ว แต่อย่างไรก็ตามเมื่อ การกระทําของนายไก่และนางเป็ดดังกล่าวนั้น นางเป็ดและนายไก่ได้รู้เห็นเป็นใจและยินยอมด้วย ดังนั้นทั้ง นายไก่และนางเป็ดจะยกเอาเหตุดังกล่าวขึ้นมาฟ้องหย่าอีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้ตามมาตรา 1517 วรรคหนึ่ง
(3) เมื่อนายไก่และนางเป็ดยังเป็นสามีภริยากันอยู่ เพราะการสมรสยังไม่สิ้นสุดลง เนื่องจาก การหย่ายังไม่สมบูรณ์ การที่นางเป็ดมีบุตร 1 คน คือเด็กหญิงหงส์ เด็กหญิงหงส์ย่อมเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย ของนางเป็ดตามมาตรา 1546 และเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายไก่ เพราะเด็กหญิงหงส์ได้เกิดในขณะที่ นางเป็ดเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของนายไก่ตามมาตรา 1536
สรุป
(1) การตกลงหย่าระหว่างนายไก่และนางเป็ดมีผลไม่สมบูรณ์
(2) นายไก่จะฟ้องหย่านางเป็ด และนางเป็ดจะฟ้องหย่านายไก่ไม่ได้
(3) เด็กหญิงหงส์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายไก่และนางเป็ดนับแต่คลอดและอยู่รอดเป็นทารก