การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2555
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1 นายสมคิดได้ทําสัญญาหมั้น น.ส.อรสา ด้วยแหวนเพชร 1 วง และให้สินสอดแก่บิดาของ น.ส.อรสาเป็นจํานวนเงินสองแสนบาท โดย น.ส.อรสาได้รู้จักและทราบดีว่านายสมคิดได้อยู่กินกับ น.ส.อรทัย มาก่อน แต่ก็เลิกรากันไป น.ส.อรสาได้ลาออกจากงานเพราะได้วางแผนว่าจะย้ายไปอยู่กินกับนายสมคิด ที่จังหวัดแพร่ แต่ต่อมา น.ส.อรสาทราบว่านายสมคิดได้กลับไปเที่ยวเตร่หลับนอนกับ น.ส.อรทัยอีก น.ส.อรสาไม่ต้องการสมรสด้วย ได้บอกเลิกสัญญาหมั้น แต่นายสมคิดอ้างว่า น.ส.อรสาทราบอยู่แล้ว ก่อนการทําสัญญาหมั้นถ้าไม่ทําการสมรสจะฟ้องฐานผิดสัญญาหมั้น แต่ น.ส.อรสาก็ต้องการฟ้อง เรียกค่าทดแทนจากนายสมคิด และ น.ส.อรทัยด้วยเช่นนี้ ท่านเห็นว่าอย่างไร เพราะเหตุผลใด จงอธิบาย
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1437 วรรคแรก “การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็น ของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น”
มาตรา 1443 “ในกรณีมีเหตุสําคัญอันเกิดแก่ชายคู่หมั้น ทําให้หญิงไม่สมควรสมรสกับชายนั้น หญิงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้โดยมิต้องคืนของหมั้นแก่ชาย”
มาตรา 1444 “ถ้าเหตุอันทําให้คู่หมั้นบอกเลิกสัญญาหมั้น เป็นเพราะการกระทําชั่วอย่าง ร้ายแรงของคู่หมั้นอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งได้กระทําภายหลังการหมั้นคู่หมั้นผู้กระทําชั่วอย่างร้ายแรงนั้นต้องรับผิดใช้ค่าทดแทน แก่คู่หมั้นผู้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นเสมือนเป็นผู้ผิดสัญญาหมั้น”
มาตรา 1445 “ชายหรือหญิงคู่หมั้นอาจเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งได้ร่วมประเวณีกับคู่หมั้น ของตนโดยรู้หรือควรจะรู้ถึงการหมั้นนั้น เมื่อได้บอกเลิกสัญญาหมั้นตามมาตรา 1442 หรือมาตรา 1443 แล้วแต่กรณี”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสมคิดได้ทําสัญญาหมั้น น.ส.อรสาด้วยแหวนเพชร 1 วงนั้น เมื่อมีการส่งมอบแหวนหมั้นให้แก่หญิงแล้ว การหมั้นย่อมสมบูรณ์ตามมาตรา 1437 วรรคแรก
ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยมีดังนี้ คือ
1 น.ส.อรสาไม่ต้องการสมรสกับนายสมคิด จะทําได้หรือไม่
การที่นายสมคิดได้กลับไปเที่ยวเตร่หลับนอนกับ น.ส.อรทัยอีก ถือได้ว่ามีเหตุสําคัญ อันเกิดแก่ชายคู่หมั้น ทําให้หญิงไม่สมควรสมรสกับชายนั้นตามมาตรา 1443 ดังนั้น น.ส.อรสาจึงมีสิทธิบอกเลิก สัญญาหมั้น เพื่อจะได้ไม่ต้องสมรสกับนายสมคิดได้โดยไม่ต้องคืนของหมั้นให้แก่นายสมคิด
2 น.ส.อรสาต้องการฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนายสมคิด จะทําได้หรือไม่
การที่นายสมคิดได้กลับไปเที่ยวเตร่หลับนอนกับ น.ส.อรทัยอีกนั้น แม้จะเป็นการกระทํา ซึ่งได้กระทําภายหลังการหมั้นก็ตาม แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นการกระทําชั่วอย่างร้ายแรงตามมาตรา 1444 ที่จะต้องทําให้ นายสมคิดต้องรับผิดใช้ค่าทดแทนแก่ น.ส.อรสา ดังนั้น น.ส.อรสาจะฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนายสมคิดไม่ได้
3 น.ส.อรสาต้องการฟ้องเรียกค่าทดแทนจาก น.ส.อรทัย จะทําได้หรือไม่
การที่ น.ส.อรทัยได้รู้จักกับ น.ส.อรสาจึงน่าจะได้รู้หรือควรจะรู้ถึงการหมั้นระหว่าง นายสมคิดกับ น.ส.อรสาแล้ว เมื่อ น.ส.อรทัยได้หลับนอน (ร่วมประเวณี) กับนายสมคิด น.ส.อรสาจึงมีสิทธิฟ้อง เรียกค่าทดแทนจาก น.ส.อรทัยผู้ซึ่งได้ร่วมประเวณีกับคู่หมั้นของตนได้เมื่อได้บอกเลิกสัญญาหมั้นตาม มาตรา 1443 แล้ว (มาตรา 1445)
สรุป
น.ส.อรสาสามารถบอกเลิกสัญญาหมั้นเพื่อไม่ต้องสมรสกับนายสมคิดได้ โดยจะฟ้อง เรียกค่าทดแทนจากนายสมคิดไม่ได้ แต่สามารถฟ้องเรียกค่าทดแทนจาก น.ส.อรทัยได้
ข้อ 2 นายจันทร์และนายอังคารเป็นฝาแฝดเหมือน นายจันทร์เป็นคู่รักกับนางเสาร์ ต่อมาตกลงแต่งงานกันในวันสมรสนายจันทร์ติดภารกิจด่วน นายอังคารก็สวมรอยมาจดทะเบียนสมรสกับนางเสาร์ อาทิตย์ถัดมานางเสาร์ทราบโมโห จึงไปจดทะเบียนสมรสกับนายอาทิตย์คู่รักอีกคนหนึ่งทันที
(1) การสมรสระหว่างนายอังคารและนางเสาร์
(2) การสมรสระหว่างนางเสาร์และนายอาทิตย์
มีผลในทางกฎหมายอย่างไร จงอธิบาย ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1452 “ชายหรือหญิงจะทําการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้”
มาตรา 1457 “การสมรสตามประมวลกฎหมายนี้จะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น”
มาตรา 1495 “การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1449 มาตรา 1450 มาตรา 1452 และมาตรา 1458 เป็นโมฆะ”
มาตรา 1502 “การสมรสที่เป็นโมฆยะสิ้นสุดลงเมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอน”
มาตรา 1505 วรรคแรก “การสมรสที่ได้กระทําไปโดยคู่สมรสฝ่ายหนึ่งสําคัญผิดตัวคู่สมรส การสมรสนั้นเป็นโมฆียะ”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ วินิจฉัยได้ดังนี้
(1) การที่นายอังคารได้สวมรอยทําการจดทะเบียนสมรสกับนางเสาร์ โดยที่นางเสาร์ไม่ทราบว่า เป็นนายอังคาร แต่สําคัญผิดว่าเป็นนายจันทร์เพราะนายจันทร์และนายอังคารเป็นฝาแฝดกันนั้น ถือได้ว่าเป็นกรณี ที่นางเสาร์ได้ทําการสมรสโดยสําคัญผิดตัวคู่สมรส ดังนั้นการสมรสระหว่างนายอังคารและนางเสาร์จึงเป็นโมฆยะ ตามมาตรา 1505 วรรคแรก
แต่อย่างไรก็ตาม การสมรสที่เป็นโมฆียะดังกล่าวนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ายังไม่มี การฟ้องให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการสมรสนั้น ถือว่าการสมรสยังไม่สิ้นสุดลง และถือว่านายอังคารและนางเสาร์ ยังคงเป็นสามีภริยากันอยู่ (มาตรา 1502)
(2) การที่นางเสาร์ไปจดทะเบียนสมรสกับนายอาทิตย์ในขณะที่ตนยังเป็นภริยาของนายอังคาร จึงถือว่านางเสาร์ได้ทําการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ (เป็นการสมรสซ้อน) ดังนั้นการสมรสระหว่างนางเสาร์ และนายอาทิตย์จึงมีผลเป็นโมฆะตามมาตรา 1452 ประกอบกับมาตรา 1495
สรุป
(1) การสมรสระหว่างนายอังคารและนางเสาร์มีผลเป็นโมฆียะ
(2) การสมรสระหว่างนางเสาร์และนายอาทิตย์มีผลเป็นโมฆะ
ข้อ 3 นายกล้าและนางช้อยเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย หลังจากสมรสนายกล้าได้ให้สร้อยเพชรที่เป็นมรดกตกทอดของตระกูลของนายกล้าให้แก่นางช้อย ห้าปีต่อมานายกล้าไปหลงรักนางสาวพลอย นายกล้าได้มาขอสร้อยเพชรคืนจากนางข้อยเพื่อที่นายกล้าจะนําไปให้นางสาวพลอย แต่นางช้อย ไม่ยอมคืนให้นายกล้า ต่อมานายกล้าได้ไปกู้ยืมเงินจากนายรงค์ซึ่งเป็นคุณลุงของนางช้อยจํานวน 500,000 บาท โดยนางช้อยไม่ได้รู้เห็นและให้ความยินยอมในการกู้ยืมเงินแต่อย่างใด นายกล้านำเงิน ทั้งหมดไปซื้อรถยนต์ให้กับนางสาวพลอย หลังจากนั้นนายกล้าไม่ยอมคืนเงินแก่นายรงค์ นายรงค์ จึงได้มาทวงเงินที่นายกล้ายืมจากนางช้อย นางช้อยรับปากนายรงค์ด้วยวาจาว่าจะร่วมกันกับนายกล้า ผ่อนชําระเงินคืนให้กับนายรงค์เพราะเกรงใจนายรงค์ ต่อมานางช้อยโกรธมาก เมื่อทราบว่านายกล้า นําเงินที่กู้ยืมมาไปซื้อรถยนต์ให้นางสาวพลอย นางช้อยจึงปฏิเสธไม่ยอมร่วมกับนายกล้าชําระเงินคืน แก่นายรงค์ ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า
(ก) นายกล้าจะบอกล้างนิติกรรมการให้สร้อยเพชรกับนางช้อยเพื่อที่จะนําไปให้นางสาวพลอยได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
(ข) นางช้อยจะต้องร่วมรับผิดในหนี้เงินกู้จํานวน 500,000 บาท ที่นายกล้ายืมมาจากนายรงค์หรือไม่
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1469 “สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินใดที่สามีภริยาได้ทําไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามี ภริยากันนั้น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกําหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทําการโดยสุจริต”
มาตรา 1471 “สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน
(1) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส”
มาตรา 1473 “สินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายใดให้ฝ่ายนั้นเป็นผู้จัดการ”
มาตรา 1490 “หนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกันนั้นให้รวมถึงหนี้ที่สามีหรือภริยาก่อให้เกิดขึ้น ในระหว่างสมรสดังต่อไปนี้
(4) หนี้ที่สามีหรือภริยาก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียว แต่อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบัน”
วินิจฉัย
(ก) การที่นายกล้าให้สร้อยเพชรที่เป็นมรดกตกทอดของตระกูลของนายกล้าอันเป็นสินส่วนตัว ตามมาตรา 1471(1) ให้กับนางช้อยนั้น ถือว่าเป็นสัญญาระหว่างสมรสตามมาตรา 1469 ดังนั้นนายกล้าจึงมีสิทธิ บอกล้างในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกําหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันได้ และเมื่อนายกล้าได้บอกล้างสัญญาระหว่างสมรสแล้ว สร้อยเพชรก็จะกลับมาเป็นสินส่วนตัวของนายกล้า นายกล้า จึงมีสิทธิจัดการสร้อยเพชรโดยจะเอาไปให้นางสาวพลอยได้ตามมาตรา 1473
(ข) การที่นายกล้าได้ไปกู้ยืมเงินจากนายรงค์ซึ่งเป็นคุณลุงของนางช้อยจํานวน 500,000 บาท โดยนายกล้านําเงินทั้งหมดไปซื้อรถยนต์ให้กับนางสาวพลอยนั้น หนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่นายกล้าก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ ของตนฝ่ายเดียว แต่การที่นางช้อยได้รับปากนายรงค์ด้วยวาจาว่าจะร่วมกันกับนายกล้าผ่อนชําระเงินคืนให้กับ นายรงค์นั้น ถือได้ว่านางช้อยได้ให้สัตยาบันในหนี้นั้นแล้ว และกฎหมายก็ไม่ได้บังคับว่าจะต้องให้สัตยาบัน โดย การทําเป็นหนังสือแต่อย่างใด ดังนั้นหนี้ดังกล่าวจึงถือว่าเป็นหนี้ร่วมที่นางช้อยจะต้องรับผิดร่วมกันกับนายกล้า ตามมาตรา 1490(4)
สรุป
(ก) นายกล้าสามารถบอกล้างนิติกรรมการให้สร้อยเพชรกับนางช้อยเพื่อที่จะนําไปให้นางสาวพลอยได้
(ข) นางช้อยจะต้องร่วมรับผิดในหนี้เงินกู้จํานวน 500,000 บาท ที่นายกล้ายืมมาจากนายรงค์
ข้อ 4 นายไก่และนางไข่เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่นางไข่ชอบไปคบหาสมาคมกับนายเป็ดเพื่อนบ้าน ต่อมานางไข่คลอดบุตร นายไก่ก็กล่าวหาประจําว่าเป็นลูกชู้ ทําให้นางไข่น้อยใจอยู่เสมอ ต่อมาไม่นานนางไข่หายไปจากบ้านไม่มีใครพบเห็นตัวหรือได้ข่าว นายไก่ร้องขอต่อศาลให้มีคําสั่งว่า นางไข่สาบสูญ และศาลสั่งตามคําขอ หลังจากนั้นนายไก่ก็นํานางแมวมาอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยา
(1) บุตรที่นางไข่คลอดเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของใคร ตั้งแต่เมื่อใด
(2) ถ้านางไข่กลับมาจะฟ้องหย่านายไก่ตามมาตรา 1516(1) ได้หรือไม่
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1501 “การสมรสย่อมสิ้นสุดลงด้วยความตาย การหย่า หรือศาลพิพากษาให้เพิกถอน”
มาตรา 1516 “เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้
(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือ ร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(5) สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ…”
มาตรา 1536 วรรคแรก “เด็กเกิดแต่หญิงขณะเป็นภริยาชายหรือภายในสามร้อยสิบวันนับแต่ วันที่การสมรสสิ้นสุดลง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามี หรือเคยเป็นสามี แล้วแต่กรณี”
วินิจฉัย
(1) กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางไข่คลอดบุตรในขณะที่เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย ของนายไก่ ดังนั้นบุตรที่นางไข่คลอดจึงเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายไก่และนางไข่นับตั้งแต่คลอดและอยู่รอด เป็นทารกตามมาตรา 1536 วรรคแรก
(2) การที่นายไก่และนางไข่เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย และต่อมานางไข่ได้ ถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญนั้น มิได้ทําให้การสมรสระหว่างนายไก่และนางไข่สิ้นสุดลงแต่อย่างใด เป็นแต่เพียง ทําให้นายไก่ถือเป็นเหตุฟ้องหย่านางไข่ได้เท่านั้น (มาตรา 1516(5) และมาตรา 1501)
ดังนั้นการที่นายไก่ได้นํานางแมวมาอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยา ถือว่านายไก่อุปการะเลี้ยงดู ยกย่องหญิงอื่นเป็นภริยาตามมาตรา 1516(1) นางไข่จึงสามารถฟ้องหย่านายไก่ได้
สรุป
(1) บุตรที่นางไข่คลอดเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายไก่และนางไข่นับตั้งแต่คลอดและอยู่รอดเป็นทารก
(2) นางไข่สามารถฟ้องหย่านายไก่ตามมาตรา 1516(1) ได้