การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2551
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 แดง ดำ และขาว ตกลงเข้าหุ้นส่วนกัน โดยตั้งเป็นหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน มีดำเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนนี้มีวัตถุประสงค์รับจ้างตกแต่งภายในอาคารดำเนินกิจการมาได้สามปีเศษแล้ว มีกำไรดีทุกปี
ต่อมา เขียวซึ่งเป็นเพื่อนของแดงได้มาชักชวนแดงให้ร่วมลงหุ้นเปิดร้านรับจ้างตกแต่งภายในเช่นเดียวกัน โดยให้แดงลงหุ้นเป็นเงินหนึ่งล้านบาท ส่วนเขียวจะเป็นผู้ลงแรงดำเนินการทั้งหมดและถ้ามีกำไรก็จะแบ่งกำไรเท่าๆกัน เมื่อมีหนี้สินก็จะร่วมกันรับผิดชอบแดงก็ตกลงร่วมหุ้นกับเขียว ดำเนินกิจการมาได้หนึ่งปี ดำและขาวทราบเรื่องว่าแดงร่วมหุ้นกับเขียวเปิดกิจการแข่งขันกับห้างฯ
จึงต้องการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากแดง ทั้งสองคนจึงมาปรึกษาท่านว่า ในกรณีดังกล่าวดำและขาวจะเรียกค่าเสียหายจากแดงได้หรือไม่ ให้ท่านแนะนำบุคคลทั้งสอง
ธงคำตอบ
มาตรา 1038 ห้ามมิให้ผู้เป็นหุ้นส่วนประกอบกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งมีสภาพดุจเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนนั้นไม่ว่าทำเพื่อประโยชน์ตนหรือประโยชน์ผู้อื่น โดยมิได้รับความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นๆ
ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดทำการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรานี้ไซร้ ผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นๆชอบที่จะเรียกเอาผลกำไรซึ่งผู้นั้นหาได้ทั้งหมด หรือเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อการที่ห้างหุ้นส่วนได้รับความเสียหายเพราะเหตุนั้น แต่ท่านห้ามมิให้ฟ้องเรียกเมื่อพ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่วันทำการฝ่าฝืน
วินิจฉัย
ในกรณีเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนนั้น มาตรา 1038 ห้ามมิให้ผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการค้าขายแข่งกับห้างฯ หากผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งฝ่าฝืนไปประกอบกิจการที่มีลักษณะค้าขายแข่งกับห้าง ผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นสามารถเรียกเอาผลกำไรทั้งหมด หรือเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากผู้เป็นหุ้นส่วนนั้นได้
แต่ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งไปร่วมลงทุนหรือลงหุ้นกับผู้อื่นโดยมิใช่เป็นผู้ดำเนินกิจการในห้างหุ้นส่วนอันใหม่ แม้กิจการอันใหม่จะมีลักษณะเป็นการค้าขายกับห้างก็ตาม ไม่ถือว่าเป็นการค้าขายแข่งกับห้างหุ้นส่วนสามัญเดิม
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า ดำและขาวจะเรียกค่าเสียหายจากแดงได้หรือไม่ เห็นว่า การที่แดง ดำ และขาว ตกลงเข้าหุ้นกันโดยตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนมีวัตถุประสงค์รับจ้างตกแต่งภายในอาคาร ต่อมาปรากฏว่า แดงได้ไปร่วมลงทุนกับเขียวเปิดร้านตกแต่งภายในเช่นเดียวกัน โดยแดงลงหุ้น 1 ล้านบาท ส่วนเขียวจะเป็นผู้ลงแรงดำเนินกิจการทั้งหมด และถ้ามีกำไรจะแบ่งเท่าๆกัน กรณีไม่ถือว่าแดงประกอบกิจการซึ่งมีลักษณะค้าขายแข่งกับห้าง แม้กิจการนั้นจะมีสภาพดุจเดียวกันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนเดิมเพราะเนื่องจากแดงมิได้เข้าไปดำเนินกิจการในห้างอันใหม่ที่แดงร่วมลงหุ้นกับเขียว ทั้งกฎหมายก็ไม่มีข้อห้ามมิให้หุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนไปลงหุ้นกับบุคคลอื่นเพื่อประกอบกิจการอันเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างฯ แต่อย่างใด
เมื่อกรณีไม่เข้าตามมาตรา 1038 ดำและขาวจึงเรียกค่าสินไหมทดแทนจากแดงไม่ได้
สรุป ดำและขาวไม่สามารถเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากแดงได้
ข้อ 2 เอก โท และตรี ตกลงเข้าหุ้นส่วนกันโดยจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มีเอกเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด ส่วนโทและตรีเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด แต่ก่อนที่จะไปจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เอกได้ทำสัญญาซื้อสินค้าจากจัตวาเพื่อจะนำมาค้าขายตามวัตถุประสงค์ของห้างฯ และยังไม่ชำระหนี้ ต่อมาได้มีการจดทะเบียนตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด แต่หนี้ดังกล่าวก็ยังมิได้มีการชำระ จัตวาจึงเรียกร้องให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอก โท และตรี ร่วมกันรับผิดแทนห้างฯ แต่โทและตรีได้ต่อสู้ว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดยังมิได้เลิกกัน เจ้าหนี้ของห้างฯ จะเรียกร้องในหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดมิได้ ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า ข้ออ้างของโทและตรีรับฟังได้หรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 1079 อันหางหุ้นส่วนจำกัดนั้น ถ้ายังมิได้จดทะเบียนอยู่ตราบใด ท่านให้ถือว่าเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดย่อมต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่มีจำกัดจำนวนจนกว่าจะได้จดทะเบียน
มาตรา 1095 วรรคแรก ตราบใดห้างหุ้นส่วนจำกัดยังมิได้เลิกกัน ตราบนั้นเจ้าหนี้ของห้างย่อมไม่มีสิทธิจะฟ้องร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดได้
วินิจฉัย
โดยหลักตามมาตรา 1095 วรรคแรก เจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดจะฟ้องหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดไม่ได้ ถ้าห้างหุ้นส่วนจำกัดยังมิได้เลิกกัน แต่ก็มีข้อยกเว้นในกรณีต่อไปนี้คือ
1 หนี้นั้นเกิดขึ้นก่อนจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือเกิดขึ้นภายหลังจดทะเบียนแต่ก่อนที่จะประกาศโฆษณาข้อความในหนังสือราชกิจจานุเบกษา (มาตรา 1079)
2 หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดใช้ชื่อตนหรือใช้ชื่อระคนเป็นชื่อห้างฯ (มาตรา 1082)
3 หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดแสดงให้บุคคลภายนอกทราบว่าตนได้ลงหุ้นไว้มากกว่าจำนวนซึ่งได้จดทะเบียน (มาตรา 1085)
4 หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างฯ (มาตรา 1088)
เอก โท และตรี ตกลงเข้าหุ้นจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด โดยมีเอกเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด ส่วนโทและตรีเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าก่อนที่ห้างฯ จะจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เอกได้ทำสัญญาซื้อสินค้าจากจัตวาเพื่อนำมาค้าขายตามวัตถุประสงค์ของห้างฯ และยังไม่ชำระหนี้ เช่นนี้จัตวามีสิทธิเรียกร้อง เอก โท และตรีร่วมกันรับผิดแทนห้างฯได้ เพราะว่าหนี้ตามสัญญาซื้อขายสินค้าเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด กฎหมายให้ถือว่าหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ของห้างหุ้นส่วนสามัญ ซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดหรือจำพวกไม่จำกัดความรับผิดจะต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่มีจำกัดจำนวน ตามมาตรา 1079 จัตวาเจ้าหนี้ของห้างฯ จึงสามารถฟ้องเรียกให้เอก โท และตรีรับผิดได้ แม้ว่าห้างจะยังมิได้เลิกกันก็ตาม ดังนั้นข้อต่อสู้ของตรีที่ว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดมิได้เลิกกัน เจ้าหนี้ของห้างฯ จะเรียกร้องให้หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดรับผิดมิได้นั้นจึงฟังไม่ขึ้น เพราะบทบัญญัติมาตรา 1079 เป็นข้อยกเว้นของมาตรา 1095 วรรคแรกนั่นเอง
สรุป ข้ออ้างของโทและตรีรับฟังไม่ได้
ข้อ 3 สมชาย สมศักดิ์ และดุสิต เป็นผู้เริ่มก่อการจัดตั้งบริษัทจำกัดแห่งหนึ่งที่มีวัตถุประสงค์รับจ้างก่อสร้างบ้าน เมื่อได้จดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิเสร็จสิ้นแล้ว สมชายจึงไปทำสัญญาซื้อปูนซีเมนต์จากบริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด จำนวน 100 ตัน โดยสมชายได้บอกกับผู้ขายว่า จะนำปูนซีเมนต์ดังกล่าวมาใช้ในกิจการของบริษัทซึ่งกำลังจะจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นในเร็วๆนี้ หลังจากที่มีการขายหุ้นครบถ้วนแล้ว จึงได้มีการประชุมผู้ถือหุ้นและที่ประชุมได้อนุมัติในสัญญาสั่งซื้อปูนซีเมนต์แล้ว และที่ประชุมได้เลือกสมศักดิ์และดุสิตเป็นกรรมการชุดแรกของบริษัท ทำให้สมชายไม่พอใจจึงขอถอนการลงทุนโดยอ้างว่าสำคัญผิดคิดว่าตัวเองจะได้เป็นกรรมการบริษัท แต่สมศักดิ์และดุสิตไม่ยอมให้ถอน จึงเกิดการทะเลาะกัน และไม่สามารถจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทได้ บริษัทปูนซีเมนต์จึงมาปรึกษาท่านว่า ถ้าหนี้ค่าปูนซีเมนต์ถึงกำหนดชำระแล้ว จะเรียกร้องค่าปูนซีเมนต์จากผู้ใดได้บ้าง ให้ท่านแนะนำบริษัทปูนซีเมนต์ไทย
ธงคำตอบ
มาตรา 1113 ผู้เริ่มก่อการบริษัทต้องรับผิดร่วมกันและโดยไม่จำกัดในบรรดาหนี้และการจ่ายเงิน ซึ่งที่ประชุมตั้งบริษัทมิได้อนุมัติ และแม้จะได้มีอนุมัติก็ยังคงต้องรับผิดอยู่เช่นนั้นไปจนกว่าจะได้จดทะเบียนบริษัท
วินิจฉัย
ตามมาตรา 1113 นั้น บัญญัติให้ผู้เริ่มก่อการบริษัทต้องร่วมรับผิดกันโดยไม่จำกัดในบรรดาหนี้และการจ่ายเงิน ซึ่งที่ประชุมตั้งบริษัทมิได้อนุมัติ และแม้ที่ประชุมตั้งบริษัทจะได้อนุมัติแล้ว ผู้เริ่มก่อการก็ยังต้องรับผิดอยู่จนกว่าจะได้จดทะเบียนบริษัท ดังนั้นผู้ก่อการจะหลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ของบริษัทก็ต่อเมื่อที่ประชุมบริษัทได้อนุมัติหนี้ดังกล่าวแล้วและบริษัทได้จดทะเบียนตั้งขึ้น
เหตุที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้เริ่มก่อการยังต้องรับผิดอยู่ถึงแม้ว่าที่ประชุมตั้งบริษัทจะได้อนุมัติแล้วก็ตาม ทั้งนี้ก็เพราะว่าบริษัทยังมิได้จดทะเบียนจึงยังไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย จึงไม่มีสิทธิและหน้าที่ต่างๆไม่สามารถเป็นจำเลยได้ ดังนั้นเจ้าหนี้จึงต้องฟ้องผู้เริ่มก่อการเท่านั้น
แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าที่ประชุมตั้งบริษัทได้อนุมัติสัญญาสั่งซื้อปูนซีเมนต์แล้วก็ตาม แต่เมื่อบริษัทไม่สามารถจดทะเบียนตั้งขึ้นได้ ผู้ก่อการจัดตั้งบริษัททั้งหมดจึงต้องรับผิดในหนี้ค่าปูนซีเมนต์ดังกล่าว ตามมาตรา 1113 หาได้หลุดพ้นจากความรับผิดไปไม่ ดังนั้นเมื่อหนี้ค่าปูนซีเมนต์ถึงกำหนดชำระแล้ว บริษัทปูนซีเมนต์ไทยฯ เจ้าหนี้จึงเรียกให้สมชาย สมศักดิ์ และดุสิตซึ่งเป็นผู้ก่อการจัดตั้งบริษัทรับผิดได้
สรุป บริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด มีสิทธิเรียกร้องให้สมชาย สมศักดิ์ และดุสิตรับผิดชำระหนี้ค่าปูนซีเมนต์ได้