การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2548
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 นายสินกับนายสอนตกลงเข้าหุ้นกันโดยจะรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้สินที่เกิดขึ้นทั้งหมด และได้ลงหุ้นไว้เป็นเงินคนละ 1 แสนบาท ทั้งสองร่วมกันผลิตน้ำดื่มบรรจุขวดออกจำหน่าย นายสินได้นำน้ำดื่มไปส่งให้ลูกค้าที่สั่งซื้อระหว่างทางที่ไปรถที่บรรทุกน้ำดื่มได้เสียหลักพุ่งชนรถของนายแสงเสียหายเป็นเงิน 5 หมื่นบาท ต่อมานายสอนได้ชวนนายสีมาเข้าหุ้นด้วยโดยนายสินไม่ขัดข้อง และในการเข้าหุ้นครั้งนี้นายสีได้กู้ยืมเงินจากนายรวยมา 1 แสนบาท เพื่อนำมาลงหุ้นกับนายสินและนายสอน
ต่อมาหนี้เงินกู้ที่นายสีกู้มาจากนายรวยถึงกำหนดชำระแต่นายสีไม่มีเงินชำระหนี้ ส่วนนายสินก็ยังไม่มีเงินชดใช้ค่าเสียหายให้นายแสง ดังนี้ถามว่านายรวยและนายแสงจะเรียกให้นายสิน นายสอน และนายสีร่วมกันรับผิดชำระหนี้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 1050 การใดๆอันผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งได้จัดทำไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วนนั้น ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนย่อมมีความผูกพันในการนั้นๆด้วย และจะต้องรับผิดร่วมกันโดยไม่จำกัดจำนวนในการชำระหนี้ อันได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะจัดการไปเช่นนั้น
มาตรา 1052 บุคคลผู้เข้าเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนย่อมต้องรับผิดในหนี้ใดๆ ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนเข้ามาเป็นหุ้นส่วนด้วย
วินิจฉัย
1 กรณีนายรวย เรียกให้นายสีชำระหนี้ได้คนเดียว เพราะนายสีกู้เงินจากนายรวยเพื่อนำมาลงหุ้น หนี้เงินกู้นี้จึงเป็นหนี้ส่วนตัวของนายสี มิใช่หนี้ของผู้เป็นหุ้นส่วนที่จะต้องรับผิดชอบร่วมกัน เนื่องจากนายสีกู้ยืมเงินมาแล้วนำมาลงหุ้น จึงถือว่าเป็นหนี้ส่วนตัวที่จะต้องรับผิดชอบเอง ไม่ใช่หนี้สินที่เกิดจากธรรมดาการค้าขายของห้างฯ ตามมาตรา 1050
2 กรณีนายแสง ถูกนายสินทำละเมิดเนื่องจากนำน้ำดื่มไปส่งให้ลูกค้า การละเมิดนั้นสืบเนื่องมาจากจัดการงานของห้างฯ เพราะการนำสินค้าไปส่งให้ลูกค้าที่สั่งซื้อ ก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาของการค้าขายของห้างฯ อย่างหนึ่ง หนี้ละเมิดที่เกิดขึ้นเนื่องจากจัดการงานเช่นนี้ นายสินและนายสอนต้องรับผิดร่วมกันตามมาตรา 1050 ส่วนนายสีได้เข้าหุ้นในภายหลังก็ต้องรับผิดในหนี้สินของห้างฯ ที่เกิดขึ้นก่อนที่ตนเข้ามาเป็นหุ้นส่วนด้วยตามมาตรา 1052 ดังนั้น นายแสงจึงเรียกให้นายสิน นายสอน และนายสี ร่วมกันรับผิดชำระหนี้ละเมิดได้
ข้อ 2 กรรณิการ์และมารศรีตกลงเข้าหุ้นส่วนกันโดยตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดมีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการค้าขายเครื่องสำอาง กรรณิการ์ได้นำเงินสดมาลงหุ้นจำนวนห้าแสนบาทและได้จดทะเบียนจำกัดความรับผิดไว้ ส่วนมารศรีไม่มีเงินจึงขอลงหุ้นด้วยแรงงานโดยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ แต่เมื่อถึงเวลาจัดการงานของห้างฯ มารศรีจะมอบหมายให้กรรณิการ์เป็นผู้ลงนามสั่งซื้อเครื่องสำอางแทนตนอยู่เสมอ เนื่องจากผู้ขายเชื่อมั่นในหลักทรัพย์ของกรรณิการ์ ต่อมากรรณิการ์ได้มาศึกษากฎหมายที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง จึงทราบว่าการที่ตนลงนามสั่งซื้อเครื่องสำอางนั้น ตนจะต้องรับผิดในหนี้สินของห้างฯ โดยไม่จำกัดจำนวน จึงได้โอนหุ้นของตนทั้งหมดให้สุวรรณาซึ่งเป็นพี่สาว และได้จดทะเบียนลาออกจากห้างฯไป โดยสุวรรณาเข้ามาเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดแทน ซึ่งมีการจดทะเบียนถูกต้องเป็นที่เรียบร้อย ต่อมาหนี้สินต่างๆ ที่กรรณิการ์ได้ลงนามสั่งซื้อไว้ถึงกำหนดชำระ แต่ห้างฯไม่มีเงินชำระหนี้ได้ทั้งหมด เจ้าหนี้ของห้างฯ จึงเรียกให้สุวรรณารับผิดเพราะเป็นหุ้นส่วนใหม่จึงต้องรับผิดในหนี้สินของห้างฯ ที่เกิดขึ้นก่อนที่เข้ามาเป็นหุ้นส่วนและเป็นผู้รับโอนหุ้นของกรรณิการ์จึงต้องรับผิดแทนกรรณิการ์ด้วย แต่สุวรรณาต่อสู้ว่า ตนมิได้สอดเข้าจัดการงานของห้างฯ และตนเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด และได้ลงหุ้นครบถ้วนแล้ว และห้างหุ้นส่วนจำกัดยังมิได้เลิกกัน ดังนั้น จึงไม่ต้องรับผิดใดๆทั้งสิ้น ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า ข้อต่อสู้ของสุวรรณารับฟังได้หรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 1050 การใดๆอันผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งได้จัดทำไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วนนั้น ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนย่อมมีความผูกพันในการนั้นๆด้วย และจะต้องรับผิดร่วมกันโดยไม่จำกัดจำนวนในการชำระหนี้ อันได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะจัดการไปเช่นนั้น
มาตรา 1052 บุคคลผู้ข้าเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนย่อมต้องรับผิดในหนี้ใดๆ ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนเข้ามาเป็นหุ้นส่วนด้วย
มาตรา 1077 อันห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น คือห้างหุ้นส่วนประเภทหนึ่ง ซึ่งมีผู้เป็นหุ้นส่วนสองจำพวก ดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
(1) ผู้เป็นหุ้นส่วนคนเดียวหรือหลายคนซึ่งมีจำกัดความรับผิดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนรับจะลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนนั้นจำพวกหนึ่ง และ……
มาตรา 1080 วรรคแรก บทบัญญัติว่าด้วยห้างหุ้นส่วนสามัญข้อใดๆ หากมิได้ยกเว้นหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปโดยบทบัญญัติแห่งหมวด 3 นี้ ท่านให้นำมาใช้บังคับแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดด้วย
มาตรา 1088 วรรคแรก ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดผู้ใดสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วน ท่านว่าผู้นั้นจะต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ทั้งหลายของห้างหุ้นส่วนนั้นโดยไม่จำกัดจำนวน
มาตรา 1095 วรรคแรก ตราบใดห้างหุ้นส่วนจำกัดยังมิได้เลิกกัน ตราบนั้นเจ้าหนี้ของห้างย่อมไม่มีสิทธิจะฟ้องร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดได้
วินิจฉัย
การที่สุวรรณาต่อสู้ว่าตนเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด และไม่ได้เคยยุ่งเกี่ยวจัดการงานของห้างฯเลย ข้อต่อสู้ของสุวรรณาในเรื่องนี้รับฟังได้ เนื่องจากสุวรรณาไม่ได้สอดเข้าจัดการงานของห้างฯ จึงไม่ต้องรับผิดในหนี้สินตามมาตรา 1088 วรรคแรก แต่สุวรรณาเป็นหุ้นส่วนใหม่จึงต้องรับผิดในหนี้สินของห้างฯที่เกิดขึ้นก่อนเข้ามาเป็นหุ้นส่วนด้วย ตามมาตรา 1052 ประกอบมาตรา 1050 และมาตรา 1080 วรรคแรก และรับผิดจำกัดจำนวนตามมาตรา 1077 (1) คือ ไม่เกินจำนวนเงินที่รับลงหุ้น เมื่อสุวรรณาส่งเงินลงหุ้นครบถ้วนแล้วก็ไม่ต้องรับผิดอีกต่อไป และเจาหนี้จะฟ้องสุวรรณาไม่ได้ เพราะห้างหุ้นส่วนจำกัดยังมิได้เลิกกัน ตามมาตรา 1095 วรรคแรก
สรุป ข้อต่อสู้ของสุวรรณาจึงรับฟังได้ทั้งหมด
ข้อ 3 ประธานกรรมการบริษัท รามอินทรา จำกัด ได้นัดประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเพื่อขอมติในเรื่องการตั้งกรรมการใหม่แทนกรรมการที่ครบวาระโดยนัดประชุมในวันที่ 8 เมษายน 2549 ณ ที่ทำการบริษัท เวลา 09.00 น. ในการประชุมครั้งนี้ประธานกรรมการได้สั่งให้เลขานุการส่งคำบอกกล่าวไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนที่มีชื่อในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทโดยจดหมายลงทะเบียนไปรษณีย์ ลงวันที่ในจดหมายคือวันที่ 25 มีนาคม 2549 แต่ไปรษณีย์ได้รับประทับตราลงวันที่ 2 เมษายน 2549 จดหมายทุกฉบับได้ไปถึงผู้ถือหุ้นทุกคนในวันที่ 4 เมษายน 2549 และนอกจากนี้บริษัทยังได้ลงโฆษณาคำบอกกล่าวนัดประชุมในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อีก 1 ครั้งด้วยโดยลงโฆษณาเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2549 ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยการบอกกล่าวนัดประชุมใหญ่ของบริษัทนี้ชอบด้วยหลักกฎหมายหรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 1175 คำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ทุกคราวนั้นให้ลงพิมพ์โฆษณาอย่างน้อยสองคราวในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่ฉบับหนึ่ง ก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวันหรือส่งทางไปรษณีย์ไปยังผู้ถือหุ้นทุกคน บรรดามีชื่อในทะเบียนของบริษัทก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน
ในคำบอกกล่าวนั้น ให้ระบุสถานที่ วัน เวลา และสภาพแห่งกิจการที่จะได้ประชุมปรึกษากันนั้นด้วย
วินิจฉัย
การบอกกล่าวนัดประชุมโดยจดหมายลงทะเบียน แต่ส่งไปเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 จึงก่อนวันประชุมน้อยกว่าเจ็ดวัน โดยต้องถือวันที่ไปรษณีย์รับประทับตราเป็นวันส่ง มิใช่ถือวันที่ที่ลงในจดหมายเมื่อนัดประชุมในวันที่ 8 เมษายน 2549 จึงน้อยกว่าเจ็ดวัน การส่งทางไปรษณีย์ครั้งนี้จึงไม่ถูกต้องด้วยหลักของกฎหมายมาตรา 1175
ส่วนการลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่ได้ลงโฆษณาเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2549 ซึ่งเป็นการลงก่อนวันประชุม 9 วัน แต่เนื่องจากเป็นการลงโฆษณาครั้งเดียว จึงไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมาย ซึ่งต้องลงสองครั้งและก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ดังนั้นการลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ท้องที่จึงไม่ชอบด้วยหลักกฎหมายมาตรา 1175
สรุป การบอกกล่าวนัดประชุมใหญ่ของบริษัทนี้ไม่ชอบด้วยหลักของกฎหมาย