การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2553
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 นายเอกตั้งโรงงานขนมปังอยู่แล้ว นายโทและนายตรีชวนนายเอกให้เข้าหุ้นส่วนตั้งโรงงานทำขนมปังอีกโรงหนึ่ง นายเอกก็ตกลง แล้วจดทะเบียนให้นายโทเป็นผู้จัดการโรงงานขนมปังของห้างหุ้นส่วนแต่เพียงผู้เดียว ปรากฏต่อมาว่า โรงงานขนมปังของนายเอกขายดี ส่วนโรงงานขนมปังของห้างหุ้นส่วนขายไม่ดี จึงขาดทุนไป 100,000 บาท ดังนี้ ห้างหุ้นส่วนจะเรียกร้องแก่นายเอกได้อย่างไรหรือไม่
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1066 ห้ามมิให้ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งคนใดในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนประกอบกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดอันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนนั้น ไม่ว่าทำเพื่อประโยชน์ตนหรือเพื่อประโยชน์ผู้อื่น หรือไปเข้าเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนอื่น ซึ่งประกอบกิจการอันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกัน และแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนนั้น เว้นไว้แต่จะได้รับคำยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนอื่นทั้งหมด
แต่ข้อห้ามเช่นว่ามานี้ ท่านว่าจะไม่พึงใช้ได้ ถ้าหากผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายได้รู้อยู่แล้วในเวลาเมื่อลงทะเบียนห้างหุ้นส่วนนั้นว่า ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งได้ทำกิจการหรือเข้าเป็นหุ้นส่วนอยู่ในห้างหุ้นส่วนอื่นอันมีวัตถุประสงค์อย่างเดียวกัน และในสัญญาเข้าหุ้นส่วนที่ทำไว้ต่อกันนั้นก็ไม่ได้บังคับให้ถอนตัวออก
มาตรา 1067 วรรคแรก ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดกระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติในมาตราก่อนนี้ไซร้ ท่านว่าห้างหุ้นส่วนซึ่งจดทะเบียนนั้นชอบที่จะเรียกเอาผลกำไรอันผู้นั้นหาได้ทั้งหมด หรือเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายซึ่งห้างหุ้นส่วนได้รับเพราะเหตุนั้น
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า นายเอกได้ประกอบกิจการอันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียนหรือไม่ เห็นว่าการที่นายเอกได้ตั้งโรงงานขนมปังอยู่ก่อนแล้ว เมื่อนายโทและนายตรีได้ชวนนายเอกให้เข้าหุ้นส่วนตั้งโรงงานขนมปังอีกโรงหนึ่ง ซึ่งนายเอกได้ตกลงและได้จดทะเบียนให้นายโทเป็นผู้จัดการนั้น จะเห็นได้ว่าแม้นายเอกจะยังคงประกอบกิจการโรงงานขนมปังต่อไปซึ่งเป็นกิจการอันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกันกับกิจการของห้างหุ้นส่วน แต่เมื่อในสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนนั้นก็ไม่ได้บังคับให้นายเอกเลิกกิจการ ดังนั้น จะถือว่าการกระทำของนายเอกเป็นการประกอบกิจการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนไม่ได้ ตามมาตรา 1066 วรรคสอง
และเมื่อไม่ถือว่านายเอกได้กระทำการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 1066 วรรคแรก ดังนั้น ห้างหุ้นส่วนจะใช้สิทธิตามมาตรา 1067 วรรคแรก เพื่อเรียกร้องเอาผลกำไรหรือเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนใดๆ แก่นายเอกไม่ได้เลย
สรุป ห้างหุ้นส่วนจะเรียกร้องแก่นายเอกเพื่อเรียกเอาผลกำไรที่นายเอกหาได้ทั้งหมด หรือเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนใดๆไม่ได้เลย
ข้อ 2 ห้างหุ้นส่วนจำกัดแดงดำ มีนายแดงและนายดำเป็นหุ้นส่วนกัน 2 คน โดยนายแดงเป็นหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดไว้ 100,000 บาท แต่ได้ส่งเงินไปแล้ว 50,000 บาท ต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัดแดงดำนั้น เป็นหนี้นายขาว 100,000 บาท ดังนี้ ขาวจะฟ้องนายแดงและนายดำให้ใช้หนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดได้อย่างไรหรือไม่
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1081 ห้ามมิให้เอาชื่อของผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดมาเรียกขานระคนเป็นชื่อห้าง
มาตรา 1082 ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดคนใดยินยอมโดยแสดงออกชัดหรือโดยปริยายให้ใช้ชื่อของตนระคนเป็นชื่อห้างไซร้ ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกเสมือนดังว่าเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดฉะนั้น
มาตรา 1095 วรรคแรก ตราบใดห้างหุ้นส่วนจำกัดยังมิได้เลิกกัน ตราบนั้นเจ้าหนี้ของห้างย่อมไม่มีสิทธิจะฟ้องร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดได้
แต่เมื่อห้างหุ้นส่วนนั้นได้เลิกกันแล้ว เจ้าหนี้ของห้างมีสิทธิฟ้องร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดได้เพียงจำนวนดังนี้ คือ
(1) จำนวนลงหุ้นของผู้เป็นหุ้นส่วนเท่าที่ยังค้างส่งแก่ห้างหุ้นส่วน
วินิจฉัย
โดยหลักตามมาตรา 1095 วรรคแรก ถ้าห้างหุ้นส่วนจำกัดยังมิได้เลิกกัน เจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัด จะฟ้องหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดไม่ได้ จะฟ้องได้ก็แต่เฉพาะหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดเท่านั้น เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นบางกรณีที่เจ้าหนี้สามารถฟ้องหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดแม้ห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้นจะยังมิได้เลิกกัน เช่น กรณีที่หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดได้ยินยอมให้ใช้ชื่อตนเรียกขานระคนเป็นชื่อห้าง เป็นต้น
ตามอุทาหรณ์ การที่นายแดงซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดได้ฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 1081 โดยยินยอมให้ใช้ชื่อของตนเรียกขานระคนเป็นชื่อห้าง ดังนั้น นายแดงจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกเสมือนเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดตามมาตรา 1082 และอาจถูกเจ้าหนี้ฟ้องได้แม้ห้างหุ้นส่วนจำกัดแดงดำจะยังมิได้เลิกกัน
ดังนั้นตามอุทาหรณ์ เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดแดงดำเป็นหนี้นายขาว 100,000 บาท นายขาวย่อมสามารถฟ้องให้นายดำหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด และนายแดงซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดร่วมกันรับผิดชำระหนี้ทั้งหมดให้แก่ตนได้
สรุป นายขาวสามารถฟ้องนายแดงและนายดำให้ใช้หนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำนวน 100,000 บาทแก่ตนได้
ข้อ 3 บริษัท สยาม จำกัด จัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนมกราคม 2554 มีทุนจดทะเบียน 3,000,000 บาท มีมูลค่าหุ้นละ 100 บาท มีนายหนึ่งและนายสองเป็นกรรมการ ต่อมาในเดือนมีนาคม 2554 บริษัทฯขาดเงินหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ จึงขอยืมเงินจากนายหนึ่งจำนวน 1,000,000 บาท อย่างไรก็ตาม ในเดือนสิงหาคม 2554 กิจการของบริษัทฯดีขึ้น ผู้ถือหุ้นประสงค์จะตอบแทนความช่วยเหลือของนายหนึ่ง ผู้ถือหุ้นจึงได้ประชุมกันลงมติพิเศษให้บริษัทฯ ออกหุ้นเพิ่มทุนจำนวนทั้งสิ้น 10,000 หุ้น โดยให้เสนอขายให้นายหนึ่งคนเดียวในราคาหุ้นละ 90 บาท โดยให้ถือว่า เงินที่กู้ยืมส่วนหนึ่งจำนวน 900,000 บาท ที่บริษัทฯยืมไปจากนายหนึ่งเป็นเงินชำระค่าหุ้นและให้คืนเงินที่กู้ยืมที่เหลืออีก 100,000 บาท ให้นายหนึ่ง ให้วินิจฉัยว่ามติพิเศษของผู้ถือหุ้นดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1105 วรรคแรก อันหุ้นนั้น ท่านห้ามมิให้ออกโดยราคาต่ำไปกว่ามูลค่าของหุ้นที่ตั้งไว้
มาตรา 1220 บริษัทจำกัดอาจเพิ่มทุนของบริษัทขึ้นได้ด้วยออกหุ้นใหม่โดยมติพิเศษของประชุมผู้ถือหุ้น
มาตรา 1222 วรรคแรก บรรดาหุ้นที่ออกใหม่นั้น ต้องเสนอให้แก่ผู้ถือหุ้นทั้งหลายตามส่วนจำนวนหุ้นซึ่งเขาถืออยู่
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ผู้ถือหุ้นได้ประชุมกันและลงมติพิเศษให้บริษัทฯ ออกหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 10,000 หุ้นนั้น แม้การเพิ่มทุนของบริษัทฯ โดยการออกหุ้นใหม่เพิ่มขึ้นจะได้กระทำถูกต้องตามมาตรา 1220 แต่การที่บริษัทได้เสนอขายหุ้นทั้งหมดให้แก่นายหนึ่งคนเดียวในราคาหุ้นละ 90 บาทนั้น ถือว่าเป็นการขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 1222 วรรคแรก ที่กำหนดให้หุ้นที่ออกใหม่นั้นต้องเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นทั้งหลายตามจำนวนหุ้นซึ่งเขาถืออยู่ และเป็นการขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 1105 วรรคแรก ซึ่งกำหนดห้ามมิให้นำหุ้นออกขายในราคาต่ำไปกว่ามูลค่าของหุ้นที่ตั้งไว้ ดังนั้น มติพิเศษของผู้ถือหุ้นดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สรุป มติพิเศษของผู้ถือหุ้นที่ให้เสนอขายหุ้นออกใหม่ทั้งหมดให้แก่นายหนึ่งคนเดียวในราคาหุ้นละ 90 บาท ไม่ชอบด้วยกฎหมาย