การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  เอก  โท  และตรี  ตกลงเข้าหุ้นส่วนกันโดยตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน  มีเอกเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ  ห้างฯดำเนินกิจการมาได้  5  ปี  โทก็ลาออกจากห้างฯโดยมีจัตวาเข้ามาเป็นหุ้นส่วนแทนที่ซึ่งเอกและตรีก็ยินยอม  แต่การลาออกของโทและการเข้าเป็นหุ้นส่วนใหม่ของตรี  มิได้มีการทำเป็นหนังสือกันไว้  และยังไม่ได้ไปจดทะเบียนต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนฯ  เพราะจัตวายังไม่ได้จ่ายเงินลงหุ้นมาเลย  หลังจากนายโทออกจากห้างฯมาได้  3  ปีแล้ว

ห้างฯก็ถูกกรมสรรพากรเรียกให้ชำระภาษีที่ค้างชำระ  แต่ห้างฯไม่มีเงินชำระค่าภาษี  สรรพากรจึงเรียกให้เอก  โท  ตรี  และจัตวาร่วมกันรับผิด  แต่โทได้ต่อสู้ว่าออกจากห้างฯไป  3  ปีแล้ว  จึงไม่ต้องรับผิด  ส่วนจัตวาต่อสู้ว่ายังไม่ได้จดทะเบียนเข้าเป็นหุ้นส่วนจึงยังมิใช่หุ้นส่วนและไม่ขอรับผิดในหนีดังกล่าว  ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า  ข้ออ้างของโทและจัตวาฟังขึ้นหรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1023  วรรคแรก  ผู้เป็นหุ้นส่วนก็ดี  ห้างหุ้นส่วนก็ดี  หรือบริษัทก็ดี  จะถือเอาประโยชน์ประโยชน์แก่บุคคลภายนอกเพราะเหตุที่มีสัญญาหรือเอกสาร  หรือข้อความอันบังคับให้จดทะเบียนตามลักษณะนี้ยังไม่ได้  จนกว่าจะได้จดทะเบียนแล้ว  แต่ฝ่ายบุคคลภายนอกจะถือเอาประโยชน์เช่นว่านั้นได้

มาตรา  1052  บุคคลผู้เข้าเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนย่อมต้องรับผิดในหนี้ใดๆ  ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนเข้ามาเป็นหุ้นส่วนด้วย

มาตรา  1068  ความรับผิดของผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนอันเกี่ยวแก่หนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนออกจากหุ้นส่วนนั้น  ย่อมมีจำกัดเพียงสองปีนับแต่เมื่อออกจากหุ้นส่วน

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย  กรณีที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียนนั้น  ในการจดทะเบียนจะต้องมีการจดแจ้งชื่อของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน  และในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้เป็นหุ้นส่วน  ก็จะต้องนำความนั้นไปจดทะเบียนเช่นเดียวกัน  และเมื่อได้จดทะเบียนแล้ว  ผู้เป็นหุ้นส่วน  ห้างหุ้นส่วน ก็สามารถที่จะถือเอาประโยชน์จากบุคคลภายนอกได้  และถ้ายังไม่ได้จดทะเบียน  ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือห้างหุ้นส่วนจะถือเอาประโยชน์จากบุคคลภายนอกตามข้อความที่กฎหมายบังคับให้จดทะเบียนหาได้ไม่  แต่บุคคลภายนอกจะถือเอาประโยชน์เช่นว่านั้นได้แม้จะยังไม่ได้จดทะเบียน  (มาตรา  1023  วรรคแรก)

ตามปัญหา  การที่โทถูกกรมสรรพากรเรียกให้ชำระภาษีที่ค้างชำระ  แต่โทได้ต่อสู้ว่าตนได้ออกจากห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนไป  3  ปีแล้ว จึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ของห้างฯ  ที่เกิดขึ้นก่อนที่ตนจะได้ออกจากห้างฯไปตามมาตรา  1068  นั้น  ข้อต่อสู้ของโทฟังไม่ขึ้น  ทั้งนี้เพราะแม้ว่าโทจะได้ออกจากห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนไปเกิด  2  ปีแล้วก็ตาม  แต่การออกจากการเป็นหุ้นส่วนของโทนั้น  ยังไม่ได้นำไปจดทะเบียนเพื่อให้นายทะเบียนคัดชื่อโทออกจากการเป็นหุ้นส่วน  ดังนั้นโทจะนำข้อความที่โทได้ออกจากการเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วน  และเป็นข้อความที่ยังไม่ได้จดทะเบียนขึ้นต่อสู้กรมสรรพากรซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่ได้ตามมาตรา  1023  วรรคแรก

จัตวาซึ่งได้ตกลงเข้ามาเป็นหุ้นส่วนกับเอกและตรีแทนที่โทนั้น  แม้จะยังไม่ได้จดทะเบียนเพื่อชื่อจัตวาในทางทะเบียน  ก็ถือว่าจัตวาเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนนั้นแล้ว  และมีผลทำให้กรมสรรพากรซึ่งเป็นบุคคลภายนอกสามารถที่จะถือเอาประโยชน์จากข้อตกลงนั้นได้ตามมาตรา  1023  วรรคแรก  ดังนั้นจัตวาจึงต้องรับผิดในหนี้ของห้างฯ  ก่อนเข้ามาเป็นหุ้นส่วนตามมาตรา  1052  ข้อต่อสู้ของจัตวาจึงฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน

สรุป  ข้ออ้างของโทและจัตวาฟังไม่ขึ้น  ด้วยเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ  2  สมชายและลินดา  ตกลงเข้าหุ้นส่วนกันโดยจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด  มีสมชายเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด  และเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ  ลินดาเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด  ห้างหุ้นส่วนนี้มีวัตถุประสงค์ค้าขายวัสดุก่อสร้าง  ต่อมาสมชายได้เดินทางไปต่างประเทศ  จึงมอบหมายให้ลินดาดูแลจัดการงานของห้างฯ  ลินดาได้ขายวัสดุให้อุไร  โดยให้นครลูกจ้างขับรถนำสินค้าไปส่งให้อุไร  ขากลับจากส่งสินค้า  นครขับรถหลับในชนรถสมศักดิ์เสียหาย  สมศักดิ์ต้องการเรียกค่าเสียหายจากห้างฯและสมชาย  แต่ห้างฯและสมชายไม่มีเงินจ่ายค่าซ่อมรถ  ส่วนลินดาไม่ยอมรับผิดโดยอ้างว่าได้ลงหุ้นครบถ้วนแล้ว  และห้างหุ้นส่วนจำกัดยังมิได้เลิกกับเจ้าหนี้ของห้างฯ  จะฟ้องหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดมิได้  และยังต่อสู้อีกว่าหนี้ละเมิดครั้งนี้มิใช่หนี้ตามสัญญาที่ลินดาเป็นผู้กระทำ  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  ข้ออ้างของลินดารับฟังได้หรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1088  วรรคแรก  ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดผู้ใดสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วน  ท่านว่าผู้นั้นจะต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ทั้งหลายของห้างหุ้นส่วนนั้นโดยไม่จำกัดจำนวน

มาตรา  1095  วรรคแรก  ตราบใดห้างหุ้นส่วนจำกัดยังมิได้เลิกกัน  ตราบนั้นเจ้าหนี้ของห้างย่อมไม่มีสิทธิจะฟ้องร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดได้

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  ตราบใดที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดยังมิได้เลิกกัน  ตราบนั้นเจ้าหนี้ของห้างฯย่อมไม่มีสิทธิที่จะฟ้องร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด  (มาตรา  1095  วรรคแรก)  แต่อย่างไรก็ดี  ถ้ามีกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นทำให้ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดต้องรับผิดเพื่อหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดจำนวนแล้ว  เจ้าหนี้ของห้างฯย่อมมีสิทธิฟ้องผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดคนนั้นได้  แม้ว่าห้างหุ้นส่วนจะยังมิได้เลิกกัน

ตามอุทาหรณ์  เมื่อลินดาซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดได้เข้ามาดูแลจัดการงานของห้างฯ  ตามที่ได้รับมอบหมายจากสมชาย  การกระทำของลินดาถือว่าเป็นการสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วนจึงต้องรับผิดเพื่อหนี้ของห้างฯโดยไม่จำกัดจำนวนตามมาตรา  1088  วรรคแรก  และเมื่อห้างฯเกิดหนี้ขึ้นมา  แม้ว่าหนี้นั้นจะเป็นหนี้ที่เกิดจากการทำละเมิดของนครซึ่งเป็นลูกจ้างก็ตาม  แต่เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากเป็นผลโดยตรงของการสอดเข้าไปจัดการงานของห้างฯของลินดา  ดังนั้นลินดาจึงต้องรับผิดในหนี้ละเมิดที่เกิดขึ้นนั้นด้วย  และสมศักดิ์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ย่อมสามารถฟ้องลินดาให้รับผิดได้  แม้ห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้นจะยังมิได้เลิกกันตามมาตรา  1095  วรรคแรก  ประกอบกับมาตรา  1088  วรรคแรก

สรุป  ข้ออ้างของลินดารับฟังไม่ได้  ตามเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ  3  ประเทือง  ประทีป  และเพ็ญศรี  เป็นผู้เริ่มก่อการตั้งบริษัทสามสหายจำกัด  ซึ่งมีวัตถุประสงค์ผลิตเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดและตรวจสอบยาเสพติด  ก่อนที่จะมีการประชุมผู้เข้าชื่อหุ้น  ประเทืองได้สั่งซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จากเสงี่ยมพ่อค้าแถวบริเวณคลองถม  เพื่อนำมาใช้ประกอบเป็นเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิด  แต่ที่ประชุมผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นเห็นอุปกรณ์ดังกล่าวแล้วไม่เชื่อว่า  จะตรวจกู้วัตถุระเบิดได้ จึงไม่ไห้ความเห็นชอบในการซื้ออุปกรณ์ครั้งนี้  ต่อมาได้มีการประชุมตั้งบริษัทจนเสร็จ  โดยที่ประชุมได้เลือกเพ็ญศรีและประทีปเป็นกรรมการบริษัทชุดแรก  เพ็ญศรีจึงได้นำความไปจดทะเบียนตั้งบริษัทจำกัด  ส่วนเสงี่ยมพ่อค้าซึ่งขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้ประเทืองจึงเรียกให้บริษัทชำระราคาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์  แต่บริษัทไม่ยอมชำระ  เสงี่ยมจึงทวงถามประเทือง  ประทีปและเพ็ญศรีให้รับผิดชอบร่วมกัน  แต่ประทีปและเพ็ญศรีไม่ยอมรับผิดโดยกล่าวอ้างว่ามิได้เป็นผู้สั่งซื้ออุปกรณ์ดังกล่าว  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  ข้ออ้างของประทีปและเพ็ญศรีชอบด้วยหลักกฎหมายหรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ธงคำตอบ

มาตรา  1108  กิจการอันจะพึงทำในที่ประชุมตั้งบริษัทนั้น  คือ

(2) ให้สัตยาบันแก่บรรดาสัญญาซึ่งผู้ริเริ่มก่อการได้ทำไว้  และค่าใช้จ่ายอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งเขาต้องออกไปในการเริ่มก่อบริษัท

มาตรา  1113  ผู้เริ่มก่อการบริษัทต้องรับผิดร่วมกันและโดยไม่จำกัดในบรรดาหนี้และการจ่ายเงินซึ่งที่ประชุมตั้งบริษัทมิได้อนุมัติ  และแม้จะได้มีอนุมัติก็ยังคงต้องรับผิดอยู่เช่นนั้นไปจนกว่าจะได้จดทะเบียนบริษัท

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  ผู้เริ่มก่อการบริษัทจะต้องรับผิดร่วมกันและโดยไม่จำกัดจำนวนในบรรดาหนี้สินและการจ่ายเงินซึ่งผู้เริ่มก่อการได้ทำไว้หรือได้ออกไปในการเริ่มก่อตั้งบริษัท  ผู้เริ่มก่อการบริษัทจะหลุดพ้นจากความรับผิดในบรรดาหนี้สินและการจ่ายเงินดังกล่าวนั้น  จะต้องเข้าหลักเกณฑ์  2  ประการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  1113  คือ

 1       ที่ประชุมตั้งบริษัทได้อนุมัติหรือให้สัตยาบันแก่บรรดาสัญญาซึ่งผู้เริ่มก่อการได้ทำไว้หรือค่าใช้จ่ายซึ่งผู้เริ่มก่อการได้ออกไปในการเริ่มก่อตั้งบริษัทนั้นแล้ว  และ

2       บริษัทได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายแล้ว

ตามอุทาหรณ์  แม้ว่าบริษัทจะได้จดทะเบียนแล้วก็ตาม  แต่เมื่อหนี้ค่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ประเทืองซึ่งเป็นผู้เริ่มก่อการคนหนึ่งได้ไปทำสัญญาซื้อมาจากเสงี่ยมนั้น  ที่ประชุมผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นในที่ประชุมตั้งบริษัทไม่ให้ความเห็นชอบคือไม่อนุมัติแก่สัญญาดังกล่าวตามมาตรา  1108(2)  จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ทั้ง  2  ประการ  ตามมาตรา  1113  ดังกล่าวข้างต้น  ดังนั้นประเทือง  ประทีป  และเพ็ญศรี  ในฐานะผู้เริ่มก่อการบริษัท  จึงต้องร่วมกันรับผิดในหนี้ค่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นั้นแก่เสงี่ยม  ข้ออ้างของประทีปและเพ็ญศรีที่ว่าตนมิได้เป็นผู้สั่งซื้ออุปกรณ์นั้นจึงไม่ชอบด้วยหลักกฎหมาย

สรุป  ข้ออ้างของประทีปและเพ็ญศรีไม่ชอบด้วยหลักกฎหมาย

Advertisement