การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2554
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 นายไก่ นายเป็ด และนายห่าน สามพี่น้องได้ตกลงเข้ากันเพื่อกระทำธุรกิจร่วมกัน ในกิจการรับถมดินโดยมีข้อตกลงกันว่า ถ้าดำเนินธุรกิจไปแล้วมีกำไรก็จะแบ่งปันผลกำไรระหว่างกัน แต่ไม่พบว่าทั้งสามพี่น้องได้นำกิจการของตนไปทำการจดทะเบียนแต่อย่างใด ต่อมานายเป็ดเพียงผู้เดียวได้ไปตกลงทำสัญญาซื้อรถแบคโฮจากบริษัท ไทยมอเตอร์ จำกัด ราคา 2 ล้านบาท เพื่อใช้ในกิจการถมดิน ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า
1 นายไก่และนายห่านจะต้องร่วมกันรับผิดกับนายเป็ด ในการชำระหนี้ค่ารถแบคโฮราคา 2 ล้านบาทให้แก่บริษัท ไทยมอเตอร์ จำกัด หรือไม่ อย่างไร
2 ถ้าปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายเป็ดได้ทำการชำระราคาค่ารถแบคโฮให้แก่บริษัท ไทยมอเตอร์ จำกัด ไปแล้ว แต่บริษัทฯยังไม่ยอมส่งมอบรถแบคโฮให้ นายไก่และนายห่านจะมีสิทธิฟ้องเรียกให้บริษัทฯส่งมอบรถแบคโฮได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1012 อันว่าสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกัน ด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น
มาตรา 1025 อันว่าห้างหุ้นส่วนสามัญนั้น คือห้างหุ้นส่วนประเภทซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนต้องรับผิดร่วมกัน เพื่อหนี้ทั้งปวงของหุ้นส่วนโดยไม่มีจำกัด
มาตรา 1049 ผู้เป็นหุ้นส่วนจะถือเอาสิทธิใดๆแก่บุคคลภายนอกในกิจการค้าขายซึ่งไม่ปรากฏชื่อของตนนั้นหาได้ไม่
มาตรา 1050 การใดๆอันผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งได้จัดทำไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วนนั้น ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนย่อมมีความผูกพันในการนั้นๆด้วย และจะต้องรับผิดร่วมกันโดยไม่จำกัดจำนวนในการชำระหนี้ อันได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะจัดการไปเช่นนั้น
วินิจฉัย
ตามอุทาหรณ์ การที่นายไก่ นายเป็ด และนายห่าน ได้ตกลงเข้ากันเพื่อกระทำธุรกิจร่วมกัน ในกิจการรับถมดิน โดยมีข้อตกลงกันว่าถ้ามีกำไรก็จะแบ่งผลกำไรจากกิจการนั้น ถือได้ว่าทั้งสามคนได้ทำสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนตามมาตรา 1012 แล้ว และเมื่อทั้งสามคนมิได้นำห้างหุ้นส่วนนั้นไปจดทะเบียน จึงถือว่าห้างหุ้นส่วนนั้นเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิได้จดทะเบียน ซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนจะต้องร่วมกันรับผิดเพื่อหนี้ของหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดจำนวนตามมาตรา 1025
และเมื่อต่อมานายเป็ดเพียงผู้เดียวได้ไปตกลงทำสัญญาซื้อรถแบคโฮจากบริษัท ไทยมอเตอร์ จำกัด ราคา 2 ล้านบาท เพื่อใช้ในกิจการถมดิน ดังนี้
1 การดำเนินการของนายเป็ด ถือว่า เป็นการจัดทำไปในฐานะผู้เป็นหุ้นส่วนและได้จัดทำไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วนนั้น ดังนั้น นายไก่และนายห่านย่อมต้องมีความผูกพันในการนั้นด้วย คือ จะต้องร่วมกันรับผิดกับนายเป็ดโดยไม่จำกัดจำนวนในการชำระหนี้ค่ารถแบคโฮจำนวน 2 ล้านบาทให้แก่บริษัท ไทยมอเตอร์ จำกัด ตามมาตรา 1050 (เทียบเคียงคำพิพากษาฎีกาที่ 2624/2551)
2 ถ้านายเป็ดได้ทำการชำระราคาค่ารถแบคโฮให้แก่บริษัท ไทยมอเตอร์ จำกัด ไปแล้ว แต่บริษัทฯ ยังไม่ยอมส่งมอบรถแบคโฮให้ ดังนี้เฉพาะนายเป็ดเพียงผู้เดียวเท่านั้นที่จะมีสิทธิฟ้องเรียกให้บริษัทฯส่งมอบรถแบคโฮตามสัญญา ทั้งนี้เพราะแม้นายไก่และนายห่านจะเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญนั้นด้วย แต่เมื่อห้างหุ้นส่วนสามัญนั้น เป็นห้างหุ้นส่วนที่ไม่ได้จดทะเบียน จึงต้องนำมาตรา 1049 มาใช้บังคับ กล่าวคือ เมื่อนายเป็ดเพียงผู้เดียวเป็นผู้ปรากฏชื่อในการทำสัญญาซื้อขายรถแบคโฮ นายไก่และนายห่านมิได้เป็นคู่สัญญากับบริษัทฯ จึงไม่มีนิติสัมพันธ์กับบริษัทฯ ดังนั้น นายไก่และนายห่านจึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้บริษัทฯส่งมอบรถแบคโฮตามสัญญาได้ เพราะสิทธิเรียกร้องให้บริษัทฯ ส่งมอบรถแบคโฮเป็นสิทธิของนายเป็ดแต่เพียงผู้เดียว (เทียบเคียงคำพิพากษาฎีกาที่ 7721/2543)
สรุป
1 นายไก่และนายห่านจะต้องร่วมกันรับผิดกับนายเป็ด ในการชำระหนี้ค่ารถแบคโฮราคา 2 ล้านบาท ให้แก่บริษัท ไทยมอเตอร์ จำกัด
2 นายไก่และนายห่านไม่มีสิทธิฟ้องเรียกให้บริษัท ไทยมอเตอร์ จำกัด ส่งมอบรถแบคโฮตามสัญญา
ข้อ 2 ห้างหุ้นส่วนจำกัด งามวิไล มีวัตถุประสงค์รับตัดเย็บชุดวิวาห์ มีนางวิไลเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ นางสาวงามเนตรเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด ห้างหุ้นส่วนจำกัดนี้เป็นหนี้ค่าผ้าที่ซื้อมาตัดชุดวิวาห์ 200,000 บาท ต่อมานางสาวงามเนตรซึ่งมีชื่อเล่นว่า “งาม” ได้ทะเลาะกับนางวิไลเนื่องจากไม่พอใจที่นางวิไลจัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดแล้วเกิดการขาดทุนหลายแสนบาท นางสาวงามเนตรจึงขอลาออกจากการลงหุ้นโดยโอนหุ้นของตนทั้งหมดให้นางสาววลัยพร และได้จดทะเบียนออกจากห้างหุ้นส่วนไป โดยนางสาววลัยพรได้จดทะเบียนเข้ามาเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดแทนที่ ทั้งนี้ได้มีการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2553 ต่อมาหนี้ค่าผ้า จำนวน 200,000 บาท ถึงกำหนดชำระ แต่ห้างหุ้นส่วนจำกัดไม่มีเงินชำระหนี้ ดังนี้เจ้าหนี้จะเรียกร้องให้นางสาวงามเนตรรับผิดได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1051 ผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งออกจากหุ้นส่วนไปแล้วยังคงต้องรับผิดในหนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนได้ออกจากหุ้นส่วนไป
มาตรา 1068 ความรับผิดของผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนอันเกี่ยวแก่หนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนออกจากหุ้นส่วนนั้น ย่อมมีจำกัดเพียงสองปีนับแต่เมื่อออกจากหุ้นส่วน
มาตรา 1080 วรรคแรก บทบัญญัติว่าด้วยห้างหุ้นส่วนสามัญข้อใดๆ หากมิได้ยกเว้นหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปโดยบทบัญญัติแห่งหมวด 3 นี้ ท่านให้นำมาใช้บังคับแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดด้วย
มาตรา 1082 ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดคนใดยินยอมโดยแสดงออกชัดหรือโดยปริยายให้ใช้ชื่อของตนระคนเป็นชื่อห้างไซร้ ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกเสมือนดังว่าเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดฉะนั้น
มาตรา 1091 ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดจะโอนหุ้นของตนปราศจากความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนอื่นๆก็โอนได้
วินิจฉัย
ตามอุทาหรณ์ การที่นางสาวงามเนตรซึ่งมีชื่อเล่นว่า “งาม” ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด ได้ยินยอมให้ใช้ชื่อของตนเองระคนเป็นชื่อของห้างหุ้นส่วนจำกัด งามวิไล นางสาวงามเนตรจึงต้องรับผิดในหนี้สินของห้างฯ เสมือนว่าตนเองเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดตามมาตรา 1082 วรรคแรก คือต้องรับผิดในหนี้สินของห้างโดยไม่จำกัดจำนวน
การที่นางสาวงามเนตรได้ขอลาออกจากการเป็นหุ้นส่วน และได้โอนหุ้นของตนทั้งหมดให้แก่นางสาววลัยพรนั้น ย่อมสามารถทำได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นๆ ตามมาตรา 1091
และข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ เมื่อปรากฏว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด งามวิไล เป็นหนี้ค่าผ้าที่ซื้อมาตัดชุดวิวาห์ 200,000 บาท หนี้รายนี้แม้นางสาวงามเนตรจะได้โอนหุ้นให้นางสาววลัยพรและได้จดทะเบียนออกจากห้างฯไปแล้วก็ตาม แต่เมื่อเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนที่นางสาวงามเนตรจะได้ออกจากหุ้นส่วนไป นางสาวงามเนตรจึงต้องรับผิดในหนี้ดังกล่าวด้วย และต้องรับผิดเป็นเวลา 2 ปี นับแต่วันที่ได้ออกจากหุ้นส่วนไปตามมาตรา 1051 มาตรา 1068 ประกอบกับมาตรา 1080 วรรคแรก ดังนั้น เมื่อหนี้ค่าผ้าจำนวน 200,000 บาท ถึงกำหนดชำระ แต่ห้างหุ้นส่วนจำกัดไม่มีเงินชำระหนี้ เจ้าหนี้ย่อมสามารถเรียกร้องให้นางสาวงามเนตรรับผิดในหนี้ดังกล่าวได้
สรุป เจ้าหนี้สามารถเรียกร้องให้นางสาวงามเนตรรับผิดในหนี้ดังกล่าวได้
ข้อ 3 บริษัท ต้นกล้า จำกัด ได้นัดประชุมผู้ถือหุ้น เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2554 แต่เมื่อถึงวันเวลาประชุมแล้ว ผู้ถือหุ้นก็ยังมาไม่ครบเป็นองค์ประชุม จนเวลาล่วงเลยไปถึงหนึ่งชั่วโมงเศษแล้ว ผู้ถือหุ้นก็ยังมาไม่ครบเป็นองค์ประชุม นายต้นกล้าประธานกรรมการจึงมาปรึกษาท่านว่า บริษัทมีความจำเป็นต้องประชุมผู้ถือหุ้นเป็นอย่างยิ่ง ดังนี้ บริษัทควรจะทำอย่างไรต่อไป จึงจะประชุมได้แม้ผู้ถือหุ้นจะมาไม่ครบองค์ประชุมในครั้งต่อไปก็ตาม ดังนี้ ให้ท่านแนะนำนายต้นกล้าด้วย
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1179 การประชุมใหญ่เรียกนัดเวลาใด เมื่อล่วงเวลานัดนั้นไปแล้วถึงชั่วโมงหนึ่ง จำนวนผู้ถือหุ้นซึ่งมาเข้าประชุมยังไม่ครบถ้วนเป็นองค์ประชุมดังบัญญัติไว้ในมาตรา 1178 นั้นไซร้ หากว่าการประชุมใหญ่นั้นได้เรียกนัดเพราะผู้ถือหุ้นร้องขอ ท่านให้เลิกประชุม
ถ้าการประชุมใหญ่นั้นมิใช่ชนิดซึ่งเรียกนัดเพราะผู้ถือหุ้นร้องขอไซร้ ท่านให้เรียกนัดใหม่อีกคราวหนึ่งภายในสิบสี่วัน และการประชุมใหญ่ครั้งหลังนี้ท่านไม่บังคับว่าจำต้องครบองค์ประชุม
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่บริษัท ต้นกล้า จำกัด ได้นัดประชุมผู้ถือหุ้นวันที่ 26 สิงหาคม 2554 แต่เมื่อถึงวันและเวลาประชุมแล้ว ผู้ถือหุ้นก็ยังมาไม่ครบเป็นองค์ประชุม จนเวลานัดล่วงเลยไปถึงหนึ่งชั่วโมงเศษแล้ว ผู้ถือหุ้นก็ยังมาไม่ครบเป็นองค์ประชุม ดังนี้ เมื่อการประชุมใหญ่ดังกล่าวมิใช่การประชุมใหญ่ซึ่งเรียกนัดเพราะผู้ถือหุ้นร้องขอ และเมื่อบริษัทมีความจำเป็นต้องประชุมผู้ถือหุ้นเป็นอย่างยิ่ง บริษัทก็ต้องเรียกนัดประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นใหม่ภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2554 กล่าวคือ บริษัทจะต้องบอกกล่าวเรียกนัดประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นใหม่ภายในวันที่ 9 กันยายน 2554 ซึ่งในการประชุมใหญ่ครั้งหลังนี้เมื่อถึงวันและเวลานัดประชุมตามที่ได้ส่งคำบอกกล่าวไปแล้ว ถ้าผู้ถือหุ้นมาไม่ครบเป็นองค์ประชุมก็สามารถประชุมกันได้ ตามมาตรา 1179
สรุป เมื่อนายต้นกล้าประธานกรรมการบริษัทมาปรึกษาข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะแนะนำนายต้นกล้าตามที่ได้อธิบายไว้ดังกล่าวข้างต้น