การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2551
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 ชมพู่ น้ำอ้อย และแอปเปิ้ล เข้าหุ้นส่วนกันเปิดร้านขายเสื้อผ้าและเครื่องประดับสตรี โดยจดทะเบียนภายใต้ชื่อห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลสี่สาวแพรพรรณ ต่อมาห้างจะขยายกิจการจึงไปกู้เงินจากธนาคารไทยกสิกร จำนวนห้าแสนบาท เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2547
ต่อมาวันที่ 1 ธันวาคม 2547 น้ำอ้อยมีเรื่องบาดหมางกับหุ้นส่วนอื่นจึงออกจากการเป็นหุ้นส่วน ชมพู่แหม่ม และแอปเปิ้ลยังคงเข้าหุ้นส่วนดำเนินการค้าต่อไปโดยไปจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อห้างเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลสามสาวแพรพรรณ ต่อมาวันที่ 2 มกราคม 2548 ธนาคารไทยกสิกรเรียกให้ห้างหุ้นส่วนชำระหนี้เงินกู้ แต่ห้างฯผัดผ่อนเรื่อยมา
วันที่ 3 มกราคม 2550 ธนาคารจึงฟ้องห้างหุ้นส่วนฯ ชมพู่ แอปเปิ้ล และน้ำอ้อย ให้ชำระหนี้จำนวนห้าแสนบาท น้ำอ้อยต่อสู้ว่า น้ำอ้อยไม่ต้องรับผิดต่อธนาคารเพราะน้ำอ้อยออกจากการเป็นหุ้นส่วน ในห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลสามสาวแพรพรรณแล้ว จึงไม่ต้องรับผิด ดังนี้ ข้อต่อสู้ของน้ำอ้อยรับฟังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 1068 ความรับผิดของผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนอันเกี่ยวแก่หนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนออกจากหุ้นส่วนนั้น ย่อมมีจำกัดเพียงสองปีนับแต่เมื่อออกจากหุ้นส่วน
วินิจฉัย
น้ำอ้อยออกจากการเป็นหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลสี่สาวแพรพรรณ ตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2547 จึงยังคงต้องร่วมรับผิดในหนี้สินที่ห้างก่อขึ้นตั้งแต่ก่อนตนออกจากหุ้นส่วน แต่รับผิดไม่เกิน 2 ปี ตามหลักเกณฑ์ของมาตรา 1068 เมื่อห้างหุ้นส่วนได้กู้ยืมเงินจากธนาคารไทยกสิกร เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2547 ก่อนนั้นน้ำอ้อยจะลาออกจากการเป็นหุ้นส่วน ดังนั้นน้ำอ้อยจึงต้องร่วมรับผิด แต่รับผิดไม่เกินวันที่ 1 ธันวาคม 2549 การที่ธนาคารฟ้องให้น้ำอ้อยร่วมรับผิดใช้หนี้เงินกู้ต่อธนาคารในวันที่ 3 มกราคม 2550 จึงเกินกำหนด 2 ปี นับจากวันที่น้ำอ้อยออกจากการเป็นหุ้นส่วน น้ำอ้อยจึงไม่ต้องร่วมรับผิดชดใช้หนี้แก่ธนาคาร
สรุป ข้อต่อสู้ของน้ำอ้อยรับฟังได้
ข้อ 2 หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด จะต้องรับผิดไม่จำกัดจำนวนในกรณีใดบ้าง ให้นักศึกษาอธิบายพร้อมยกตัวอย่างมา 3 กรณี
ธงคำตอบ
โดยหลักแล้ว หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัด ย่อมจะต้องรับผิดโดยจำกัดจำนวนหาต้องรับผิดโดยไม่จำกัดจำนวนไม่ อย่างไรก็ตามหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดอาจรับผิดอย่างไม่จำกัดจำนวนได้ หากเป็นไปตามกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้ เช่น
1 ในกรณีที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้นยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนไม่ว่าจะตกลงเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด หรือไม่จำกัดความรับผิดก็ต้องรับผิดโดยไม่จำกัดจำนวน ทั้งนี้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1079 “อันห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น ถ้ายังมิได้จดทะเบียนอยู่ตราบใด ท่านให้ถือว่าเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดย่อมต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่มีจำกัดจำนวนจนกว่าจะได้จดทะเบียน”
2 ในกรณีที่หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดยินยอมให้ใช้ชื่อของตนเป็นชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด
มาตรา 1082 ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดคนใดยินยอมโดยแสดงออกชัดหรือโดยปริยายให้ใช้ชื่อของตนระคนเป็นชื่อห้าง ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกเสมือนดังว่าเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดฉะนั้น
แต่ในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนกันเองนั้น ความรับผิดของผู้เป็นหุ้นส่วนเช่นนี้ ท่านให้คงบังคับตามสัญญาหุ้นส่วน
ตัวอย่างเช่น ศรีเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด ส่วนสมรเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด จดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัดโดยใช้ชื่อว่า ห้างหุ้นส่วนศรีสมร เช่นนี้หากห้างฯเป็นลูกหนี้ เจ้าหนี้ของห้างฯย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ศรีและสมรรับผิดได้ทันทีโดยไม่จำกัดจำนวน เพราะศรีใช้ชื่อระคนปนเป็นชื่อห้างนั่นเอง
3 ในกรณีที่หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดแสดงให้บุคคลภายนอกทราบว่าตนได้ลงหุ้นไว้มากกว่าจำนวนซึ่งได้จดทะเบียน
มาตรา 1085 ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดได้แสดงด้วยจดหมายหรือใบแจ้งความหรือด้วยวิธีอย่างอื่นให้บุคคลภายนอกทราบว่าตนได้ลงหุ้นไว้มากกว่าจำนวนซึ่งได้จดทะเบียนเพียงใดท่านว่าผู้นั้นจะต้องรับผิดเท่าถึงจำนวนเพียงนั้น
ตัวอย่างเช่น เอกเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด ลงหุ้นเพียง 5 หมื่นบาท แต่มักจะบอกกับผู้มาติดต่อค้าขายกับห้างฯ ว่าตนได้ลงหุ้นเป็นเงิน 5 ล้านบาท ดังนี้เอกก็ต้องรับผิดเท่าถึงจำนวน 5 ล้านบาทเป็นต้น
ข้อ 3 เอกเป็นหุ้นส่วนของบริษัทแห่งหนึ่งอยู่จำนวน 50 หุ้น โดยบริษัทออกใบหุ้นชนิดระบุชื่อให้เอกถือไว้ และยังเรียกเก็บค่าหุ้นไม่ครบ เอกตกลงขายหุ้นทั้งหมดให้แก่โท เมื่อตกลงพูดคุยกันเรียบร้อยแล้วเอกบอกว่าจะเป็นผู้แจ้งไปยังบริษัทเอง ต่อมาเอกมีหนังสือไปที่บริษัทแจ้งให้ทราบว่าตนขายหุ้นแก่โททั้งหมดแล้ว ขอให้บริษัทเปลี่ยนชื่อผู้ถือหุ้นในทางทะเบียนเป็นชื่อโท ดังนี้ การโอนหุ้นระหว่างเอกและโทได้ทำถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ และบริษัทจะเปลี่ยนชื่อผู้ถือหุ้นตามที่เอกร้องขอได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย
ธงคำตอบ
มาตรา 1129 อันว่าหุ้นนั้นย่อมโอนกันได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมของบริษัท เว้นแต่เมื่อเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นซึ่งมีข้อบังคับของบริษัทกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้น ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอน มีพยานคนหนึ่งเป็นอย่างน้อยลงชื่อรับรองลายมือนั้นๆด้วยแล้ว ท่านว่าเป็นโมฆะ อนึ่งตราสารอันนั้นต้องแถลงเลขหมายของหุ้นซึ่งโอนกันนั้นด้วย
การโอนเช่นนี้จะนำมาใช้แก่บริษัทหรือบุคคลภายนอกไม่ได้ จนกว่าจะได้จดแจ้งการโอนทั้งชื่อและสำนักของผู้รับโอนนั้นลงในทะเบียนผู้ถือหุ้น
วินิจฉัย
การโอนหุ้นนั้นโดยหลักแล้ว ไม่ต้องได้รับความยินยอมจากบริษัท แต่ถ้าเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้น และบริษัทมีข้อกำหนดการโอนอย่างไรไว้ ก็ให้เป็นไปตามนั้น มิฉะนั้นการโอนย่อมไม่ชอบ ตามมาตรา 1129 วรรคแรก
อย่างไรก็ตาม การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้น จะมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ไม่ตกเป็นโมฆะจะต้องปฏิบัติตามมาตรา 1129 วรรคสองด้วย กล่าวคือ
1 ต้องทำเป็นหนังสือ
2 ลงลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับโอน
3 มีพยานอย่างน้อย 1 คน ลงชื่อรับรองลายมือชื่อนั้นๆ
4 ในตราสารการโอนนั้น ต้องแสดงหมายเลขของหุ้นซึ่งโอนกันนั้นด้วย
กรณีตามอุทาหรณ์ เป็นเรื่องการโอนหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้น เมื่อทำการโอนด้วยวาจาไม่ได้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับโอน และมีพยานรับรองลายมือชื่ออย่างน้อย 1 คน รวมทั้งแถลงหมายเลขหุ้นด้วย การโอนย่อมถือว่าไม่ได้ทำตามแบบที่กำหนดไว้ในมาตรา 1129 วรรคสอง จึงมีผลเป็นโมฆะ บริษัทจึงไม่สามารถทำการเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือหุ้นตามที่เอกเรียกร้องได้
สรุป การโอนไม่ถูกต้องตามกำหมาย และบริษัทไม่สามารถเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือหุ้นได้