การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายแสง  นายสี  และนายใส  ตกลงเข้าหุ้นส่วนกัน  โดยจัดตั้งเป็นห้างหุนส่วนสามัญนิติบุคคลใช้ชื่อห้างหุ้นส่วน  แสงบริการ  ห้างฯนี้มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการเดินรถยนต์ขนส่งสินค้าและคนโดยสารวิ่งระหว่างจังหวัดตราด  กับจังหวัดจันทบุรี  ทุกคนลงหุ้นเป็นเงินคนละ  2  ล้านบาท  จดทะเบียนให้นายสีเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ  ระหว่างดำเนินการ  นายสีได้กู้ยืมเงินจากนายแสดเพื่อนำไปซื้อรถยนต์ไว้ใช้ในกิจการของห้างฯ  ต่อมาเมื่อวันที่  1  มาคม  2547  นายแสงได้จดทะเบียนลาออกจากห้างฯ

โดยหุ้นส่วนคนอื่นๆไม่ขัดข้องและห้างหุ้นส่วนฯแสงบริการ  ก็ยังคงดำเนินกิจการต่อไป  ต่อมาเมื่อวันที่  3  มีนาคม  2549  คนขับรถยนต์ของห้างฯ  ได้ขับรถยนต์โดยประมาทชนนายแดงบาดเจ็บสาหัส  และหนี้เงินกู้ที่นายแสดเป็นเจ้าหนี้ก็ได้ถึงกำหนดชำระด้วย  แต่ห้างฯไม่มีเงินชำระหนี้  ดังนี้นายแสด  และนายแดง  จะเรียกให้นายแสงรับผิดชอบได้หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  1054  วรรคแรก  บุคคลใดแสดงตนว่าเป็นหุ้นส่วนด้วยวาจาก็ดี  ด้วยลายลักษณ์อักษรก็ดี  ด้วยกิริยาก็ดี  ด้วยยินยอมให้เขาใช้ชื่อตนเป็นชื่อห้างหุ้นส่วนก็ดี  หรือรู้แล้วไม่คัดค้านปล่อยให้เขาแสดงว่าตนเป็นหุ้นส่วนก็ดี  ท่านว่าบุคคลนั้นย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนเสมือนเป็นหุ้นส่วน

มาตรา  1068  ความรับผิดของผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนอันเกี่ยวแก่หนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนออกจากหุ้นส่วนนั้น  ย่อมมีจำกัดเพียงสองปีนับแต่เมื่อออกจากหุ้นส่วน

วินิจฉัย

 1       กรณีนายแสดเป็นเจ้าหนี้ 

นายแสงได้ลาออกจากห้างฯ  เมื่อวันที่  1  มีนาคม  2547  แต่นายแสงซึ่งเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนยังคงต้องรับผิดในหนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนออกจากหุ้นส่วนนั้น  แต่ความรับผิดดังกล่าวมีจำกัดเพียงสองปีนับแต่เมื่อออกจากห้างหุ้นส่วน  ตามมาตรา  1068  ดังนั้นเมื่อนายแสดได้เรียกร้องหลังจากวันที่  3  มีนาคม  2549  จึงพ้นกำหนดเวลาสองปีนับแต่ที่นายแสงได้ลาออกจากห้างไปแล้ว  แต่อย่างไรก็ตามชื่อของนายแสงยังคงเรียกขานเป็นชื่อห้างฯอยู่  จึงเป็นกรณีที่บุคคลที่ไม่ได้เป็นหุ้นส่วน  แต่กลับแสดงตนว่าเป็นหุ้นส่วนด้วยยินยอมให้เขาใช้ชื่อตนเป็นชื่อห้างหุ้นส่วน  ดังนั้นนายแสดจึงเรียกให้นายแสงรับผิดเสมือนเป็นหุ้นส่วนตามมาตรา  1054 วรรคแรก

 2       กรณีนายแดงเรียกค่าเสียหาย

อันเกิดจากการที่คนขับรถยนต์ของห้างฯ  ได้ขับรถยนต์โดยประมาทชนนายแดงบาดเจ็บ  จะเห็นว่าแม้ว่าหนี้ดังกล่าวจะเกิดเนื่องจากการกระทำที่อยู่ภายในวัตถุประสงค์ของห้างฯ  แต่ก็เป็นหนี้ละเมิด  ซึ่งผู้ถูกละเมิดเถียงไม่ได้ว่าการที่ตนเสียหายนั้นเพราะหลงเชื่อข้อความอันใดอันหนึ่ง  หรือการแสดงออกอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา  1054  วรรคแรก  ดังนั้น  ความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงมิใช่ผลโดยตรงในการที่นายแสงได้ใช้ชื่อเป็นชื่อห้างหุ้นส่วน  ดังนั้นนายแดงจึงเรียกค่าเสียหายจากนายแสงไม่ได้

สรุป  นายแสดเรียกให้นายแสงรับผิดได้  แต่นายแดงเรียกให้นายแสงรับผิดไม่ได้

 

ข้อ  2  ห้างหุ้นส่วนจำกัด  ศรีทองก่อสร้าง  มีวัตถุประสงค์ค้าขายวัสดุก่อสร้าง  มีนายศรีเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด  และเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ  นายทองและนายเงินเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด  ห้างหุ้นส่วนจำกัดนี้เป็นหนี้นางสาวสกุนตลาหลายแสนบาท  แต่ยังไม่ได้คิดบัญชีกัน  นายศรีจึงวานนายเงินให้ช่วยคิดบัญชีในการที่ห้างฯ  เป็นหนี้นางสาวสกุนตลา  นายเงินจึงไปคิดบัญชีกับนางสาวสกุนจลาเป็นที่เรียบร้อยว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด  ศรีทองก่อสร้าง  ยังค้างชำระหนี้ค่าวัสดุก่อสร้างเป็นเงิน  125,000  บาท  โดยนายเงินได้ลงนามไว้ข้างหนังสือ  ต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัด  ศรีทองก่อสร้าง  ไม่ยอมชำระหนี้ให้นางสาวสกุนตลาตามหนังสือที่นายเงินได้ทำไว้  ดังนี้  นางสาวสกุนตลาจะเรียกให้หุ้นส่วนคนใดรับผิดใช้หนี้ได้บ้าง

ธงคำตอบ

มาตรา  1070  เมื่อใดห้างหุ้นส่วนซึ่งจดทะเบียนผิดนัดชำระหนี้  เมื่อนั้นเจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนนั้นชอบที่จะเรียกให้ชำระหนี้เอาแต่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งก็ได้

มาตรา  1080  วรรคแรก  บทบัญญัติว่าด้วยห้างหุ้นส่วนสามัญข้อใดๆ  หากมิได้ยกเว้นหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปโดยบทบัญญัติแห่งหมวด  3  นี้  ท่านให้นำมาใช้บังคับแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดด้วย

มาตรา  1082  ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดคนใดยินยอมโดยแสดงออกชัดหรือโดยปริยายให้ใช้ชื่อของตนระคนเป็นชื่อห้างไซร้  ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกเสมือนดังว่าเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดฉะนั้น

มาตรา  1088  วรรคแรก  ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดผู้ใดสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วน  ท่านว่าผู้นั้นจะต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ทั้งหลายของห้างหุ้นส่วนนั้นโดยไม่จำกัดจำนวน

วินิจฉัย

 1       กรณีนายศรี  ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด  ต้องรับผิดเพราะเมื่อห้างผิดนั้นชำระหนี้  เจ้าหนี้ของห้างฯ  ก็เรียกให้หุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดชำระหนี้ได้ตามมาตรา  1070  ประกอบมาตรา  1080  วรรคแรก

 2       กรณีนายทอง  ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด  ต้องรับผิดเพราะได้ใช้ชื่อระคนเป็นชื่อห้างฯตามมาตรา  1082  วรรคแรก

 3       กรณีนายเงิน  ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด  ต้องรับผิดเพราะได้ไปทำหนังสือรับสภาพหนี้ของห้างฯไว้  ตามที่นายศรีมอบหมาย  จึงเป็นการสอดเข้าจัดการงานของห้างฯ  ตามมาตรา  1088  วรรคแรก

สรุป  นางสาวสกุนตลา  เรียกให้หุ้นส่วนทั้งสามคม  คือ  นายศรี  นายทอง  และนายเงินรับผิดใช้หนี้ได้

 

ข้อ  3  นายเอก  นายโท  และเพื่อนอีกเจ็ดคน  เป็นผู้เริ่มก่อการจัดตั้งบริษัทจำกัดแห่งหนึ่ง  ซึ่งมีวัตถุประสงค์ค้าขายเครื่องสำอาง  นายเอกได้ขับรถยนต์ส่วนตัวของตน  นำตัวอย่างเครื่องสำอางที่จะผลิตขายในบริษัทไปแนะนำให้ลูกค้าดูก่อน  ขากลับรถยนต์ของนายเอกเบรกแตก    และได้พุ่งชนรถยนต์ซีตรองของนางสาวขวัญเสียหายเป็นเงินหนึ่งแสนบาท  แต่นายเอกได้ปิดบังเรื่องนี้มิได้แจ้งให้ผู้ใดทราบเลยเพราะกลัวว่าจะถูกตำหนิ  ต่อมาได้มีการประชุมตั้งบริษัท  และที่ประชุมได้ตั้งนายเอก  กับนายโทเป็นกรรมการผู้จัดการ  นายเอก  กับนายโทได้เรียกเก็บเงินจากผู้เขาชื่อหุ้นและได้ไปจดทะเบียนตั้งบริษัทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  นางสาวขวัญใจจึงมีหนังสือทวงถามให้บริษัทจำกัดและนายเอกร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย  แต่นายเอกก็ยังเพิกเฉยอยู่  นางสาวขวัญใจจึงมาปรึกษาท่านว่า  กรณีดังกล่าวนางสาวขวัญใจจะเรียกค่าเสียหายจากใครได้บ้าง  ให้ท่านแนะนำด้วย

ธงคำตอบ

มาตรา  1108  กิจการอันจะพึงทำในที่ประชุมตั้งบริษัทนั้น  คือ

 (2) ให้สัตยาบันแก่บรรดาสัญญาซึ่งผู้ริเริ่มก่อการได้ทำไว้  และค่าใช้จ่ายอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งเขาต้องออกไปในการเริ่มก่อบริษัท

มาตรา  1113  ผู้เริ่มก่อการบริษัทต้องรับผิดร่วมกันและโดยไม่จำกัดในบรรดาหนี้และการจ่ายเงินซึ่งที่ประชุมตั้งบริษัทมิได้อนุมัติ  และแม้จะได้มีอนุมัติก็ยังคงต้องรับผิดอยู่เช่นนั้นไปจนกว่าจะได้จดทะเบียนบริษัท

วินิจฉัย

นายเอก  เป็นผู้เริ่มก่อการตั้งบริษัทค้าขายเครื่องสำอาง  ได้ทำละเมิดนางาสาวขวัญใจระหว่างก่อตั้งบริษัท  ซึ่งแม้ว่า  การทำละเมิดดังกล่าวจะเกิดจากการที่นายเอกได้ขับรถยนต์ส่วนตัวของตน  เพื่อนำตัวอย่างเครื่องสำอางที่จะผลิตขายในบริษัทไปแนะนำให้ลูกค้าดูก่อน จึงถือว่าการกระทำของนายเอกเป็นการทำเพื่อผลประโยชน์ของบริษัทก็ตาม  แต่ไม่ปรากฏว่าเมื่อคราวประชุมตั้งบริษัทนายเอกได้ขออนุมัติให้ที่ประชุมผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นพิจารณาอนุมัติค่าเสียหายตามมาตรา  1108(2)  จึงถือได้ว่าที่ประชุมตั้งบริษัทมิได้อนุมัติในเรื่องดังกล่าว  ดังนั้นหนี้สินไหมทดแทนที่เกิดขึ้นผู้เริ่มก่อการทุกคนจึงต้องรับผิดชอบร่วมกัน  และโดยไม่จำกัดตามมาตรา  1113  นางสาวขวัญใจจึงเรียกให้ผู้เริ่มก่อการทุกคนรับผิดได้  แต่จะเรียกให้บริษัทรับผิดไม่ได้

สรุป  นางสาวขวัญใจสามารถเรียกค่าเสียหายจากนายเอก  นายโท  และเพื่อนอีกเจ็ดคนซึ่งเป็นผู้เริ่มก่อการจัดตั้งบริษัท

Advertisement