การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  ขาว  เขียว  เหลือง  แดง  และม่วง  ตกลงเข้าหุ้นส่วนกันทำฟาร์มเลี้ยงกุ้ง  โดยจะรับผิดร่วมกันในหนี้ทั้งหลายที่เกิดขึ้น  ทั้งนี้  ขาว  เขียว  เหลือง  ได้ลงหุ้นเป็นเงินคนละ  2  แสนบาท  แดงลงหุ้นด้วยแรง  โดยเป็นผู้ดูแลเลี้ยงกุ้ง  ส่วนม่วงเป็นกำนันในท้องที่ที่ทำฟาร์มเลี้ยงกุ้งและเป็นผู้มีอิทธิพล  แต่ไม่มีอะไรมาลงหุ้นด้วยเลย  เพียงแต่ยินยอมให้นำชื่อม่วงมาเขียนไว้ที่หน้าฟาร์มกุ้งว่า  ฟาร์มกุ้งกำนันม่วง”  เพื่อให้คนเกรงกลัวไม่กล้ามาลักขโมยกุ้ง  ดังนี้ถามว่า

 1       แดงลงหุ้นด้วยแรงคิดเป็นเงินมีมูลค่าเท่าใด  และถ้ามีกำไรสุทธิเป็นเงิน  4  แสนบาท  จะแบ่งกำไรกันอย่างไร  จึงจะชอบด้วยกฎหมาย

2       ถ้าฟาร์มกุ้งมีหนี้สิน  เจ้าหนี้จะฟ้องนายม่วงให้รับผิดได้หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  1028  ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดได้ลงแต่แรงงานของตนเข้าเป็นหุ้นส่วน  และในสัญญาเข้าหุ้นส่วนมิได้ตีราคาค่าแรงไว้  ท่านให้คำนวณส่วนกำไรของผู้ที่เป็นหุ้นส่วนด้วยลงแรงงานเช่นนั้น  เสมอด้วยส่วนถัวเฉลี่ยของผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งได้ลงเงินหรือลงทรัพย์สินเข้าหุ้นในการนั้น

มาตรา  1054  วรรคแรก  บุคคลใดแสดงตนว่าเป็นหุ้นส่วนด้วยวาจาก็ดี  ด้วยลายลักษณ์อักษรก็ดี  ด้วยกิริยาก็ดี  ด้วยยินยอมให้เขาใช้ชื่อตนเป็นชื่อห้างหุ้นส่วนก็ดี  หรือรู้แล้วไม่คัดค้านปล่อยให้เขาแสดงว่าตนเป็นหุ้นส่วนก็ดี  ท่านว่าบุคคลนั้นย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนเสมือนเป็นหุ้นส่วน

วินิจฉัย

 1       การคิดค่าแรงของแดงต้องนำส่วนลงหุ้นของขาว  เขียว  เหลือง  มาเฉลี่ยกันตามมาตรา  1028 (200,000 + 200,000 + 200,000 แล้วหารด้วย 3)  ก็จะได้ส่วนลงหุ้นที่เป็นค่าแรงของแดงคือ  200,000  บาท  เมื่อห้างมีกำไรสุทธิ  400,000  บาท  ก็ต้องแบ่งกำไรให้ผู้ที่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดมาลงหุ้น  ตามปัญหา  ม่วงไม่มีอะไรมาลงหุ้นด้วยเลย  ม่วงจึงไม่เป็นหุ้นส่วนจึงไม่ต้องแบ่งกำไรให้  ดังนั้นกำไรทั้งหมด  4  แสนบาท  จึงต้องแบ่งให้เฉพาะขาว  เขียว  เหลือง  แดง  ซึ่งลงหุ้นมีมูลค่าเท่ากัน  จึงควรได้รับส่วนแบ่งเท่ากันคือคนละ  100,000  บาท

 2       เมื่อม่วงไม่ใช่หุ้นส่วน  แต่ม่วงได้นำชื่อตนไปเป็นชื่อฟาร์มกุ้ง  และม่วงเป็นกำนันในท้องที่นั้นคนย่อมรู้จักดี  และเจ้าหนี้ของฟาร์มกุ้งคงเข้าใจว่า  ม่วงต้องเป็นหุ้นส่วน  เพราะฟาร์มกุ้งก็เป็นชื่อของม่วงจึงถือได้ว่าม่วงแสดงตนว่าเป็นหุ้นส่วนร่วมกับผู้อื่นด้วยยินยอมให้เขาใช้ชื่อตนเป็นชื่อห้างหุ้นส่วน  คือ  เอาชื่อตัวเองเป็นชื่อฟาร์มกุ้ง  ดังนั้น  ม่วงจึงต้องรับผิดในหนี้ของห้างฯ  เสมือนเป็นหุ้นส่วนด้วย  ตามมาตรา  1054  วรรคแรก

 

ข้อ  2  ห้างหุ้นส่วนจำกัด  พรสนอง  มีนางสาวพรสวรรค์ซึ่งมีชื่อเล่นทั่วไปเรียกกันว่า  พร  และนายสนองเป็นหุ้นส่วนกัน  โดยนางสาวพรสวรรค์เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด  และได้ลงหุ้นเป็นเงิน  3  แสนบาท  นายสนองเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด  และลงหุ้นด้วยแรงโดยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ  ห้างหุ้นส่วนจำกัดนี้จดทะเบียนเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว  มีวัตถุประสงค์ค้าขายเครื่องจักรอะไหล่รถจักรยานยนต์  นางสนองได้สั่งซื้ออะไหล่รถจากบริษัทตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์มาขายในห้างหุ้นส่วนเป็นเงิน  5  แสนบาท  อีกห้าเดือนต่อมานายสนองได้ชักชวนนายเสนอมาเข้าเป็นหุ้นส่วนอีกคนหนึ่ง  โดยนายเสนอได้นำเงินมาลงหุ้น  1  แสนบาท  และเป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิด  ต่อมาหนี้อะไหล่ถึงกำหนดชำระห้างหุ้นส่วนผิดนัดไม่ชำระหนี้  เจ้าหนี้จึงเรียกให้หุ้นส่วนทั้งหมดร่วมกันชำระหนี้ นางสาวพรสวรรค์และนายเสนอได้ต่อสู้ว่า  เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดยังไม่ได้เลิกกัน   เจ้าหนี้ของห้างฯ  จะฟ้องหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดไม่ได้  และบุคคลทั้งสองก็ได้ส่งเงินลงหุ้นครบถ้วนแล้ว  จึงไม่ต้องรับผิดใดๆทั้งสิ้น  ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยข้อต่อสู้ดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  1050  การใดๆอันผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งได้จัดทำไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วนนั้น  ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนย่อมมีความผูกพันในการนั้นๆด้วย  และจะต้องรับผิดร่วมกันโดยไม่จำกัดจำนวนในการชำระหนี้  อันได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะจัดการไปเช่นนั้น

มาตรา  1070  เมื่อใดห้างหุ้นส่วนซึ่งจดทะเบียนผิดนัดชำระหนี้  เมื่อนั้นเจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนนั้นชอบที่จะเรียกให้ชำระหนี้เอาแต่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งก็ได้

มาตรา  1080  วรรคแรก  บทบัญญัติว่าด้วยห้างหุ้นส่วนสามัญข้อใดๆ  หากมิได้ยกเว้นหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปโดยบทบัญญัติแห่งหมวด  3  นี้  ท่านให้นำมาใช้บังคับแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดด้วย

มาตรา  1082  ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดคนใดยินยอมโดยแสดงออกชัดหรือโดยปริยายให้ใช้ชื่อของตนระคนเป็นชื่อห้างไซร้  ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกเสมือนดังว่าเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดฉะนั้น

มาตรา  1095  วรรคแรก  ตราบใดห้างหุ้นส่วนจำกัดยังมิได้เลิกกัน  ตราบนั้นเจ้าหนี้ของห้างย่อมไม่มีสิทธิจะฟ้องร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดได้

แต่เมื่อห้างหุ้นส่วนนั้นได้เลิกกันแล้ว  เจ้าหนี้ของห้างมีสิทธิฟ้องร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดได้เพียงจำนวนดังนี้  คือ 

 (1) จำนวนลงหุ้นของผู้เป็นหุ้นส่วนเท่าที่ยังค้างส่งแก่ห้างหุ้นส่วน

วินิจฉัย

1       ข้อต่อสู้ของนางสาวพรสวรรค์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  เพราะแม้ว่านางสาวพรสวรรค์จะเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด  เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดยังไม่ได้เลิกกัน  เจ้าหนี้ของห้างจึงฟ้องร้องไม่ได้ตามมาตรา  1095  วรรคแรก  อีกทั้งได้ส่งเงินลงหุ้นครบถ้วนแล้ว  จึงไม่ต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ของห้าง  ตามมาตรา  1095 (1) ก็ตาม  แต่นางสาวพรสวรรค์ได้นำชื่อเล่นของตนคือ  พร  มาระคนกับชื่อ  นายสนอง  เป็นชื่อห้างฯ  ว่า  พรสนอง  จึงต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกเสมือนดังว่าเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด  ตามมาตรา  1082  วรรคแรก  เมื่อห้างฯ  ผิดนัดชำระหนี้ค่าอะไหล่รถจักรยานยนต์  ซึ่งเป็นหนี้ที่เกิดจากธรรมดาของการค้าขายตามมาตรา  1050  เจ้าหนี้จึงเรียกให้นางสาวพรสวรรค์ชำระหนี้ได้ตามมาตรา  1070  ประกอบมาตรา  1080  วรรคแรก

 2       ข้อต่อสู้ของนายเสนอรับฟังได้  แม้นายเสนอจะต้องรับผิดในหนี้ของห้างฯ  ที่ได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่นายเสนอจะมาเข้าเป็นหุ้นส่วน  แต่นายเสนอก็เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด  เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดยังไม่ได้เลิกกัน  เจ้าหนี้ของห้างจึงจะฟ้องร้องหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดไม่ได้ตามมาตรา  1095  วรรคแรก  อีกทั้งนายเสนอก็ได้ส่งเงินลงหุ้นครบถ้วนแล้วจึงไม่ต้องรับผิดใดๆอีกเลย  ตามมาตรา  1095 (1)

 

ข้อ  3  บริษัท  นพคุณ  จำกัด  ได้ออกข้อบังคับเกี่ยวกับเรื่องใบหุ้นไว้ดังนี้

 (1) ผู้ถือหุ้นที่ต้องการใบหุ้นชนิดที่ออกให้กับผู้ถือ  จะต้องได้ชำระเงินค่าหุ้นครบถ้วนแล้ว

(2) การโอนหุ้นที่ยังชำระเงินค่าหุ้นไม่ครบถ้วน  ต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการบริษัทก่อนจึงจะโอนได้  เว้นแต่เป็นการตกทอดโดยทางมรดก

(3) การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อต้องลงลายมือชื่อผู้โอน  ผู้รับโอน  และต้องมีพยานรับรองลายมือชื่อด้วยอย่างน้อยสองคน  และต้องแถลงหมายเลขหุ้นด้วย  ถ้าฝ่าฝืนเป็นโมฆะ

นางสาวสกุณา  มีหุ้นชนิดระบุชื่อที่ส่งเงินค่าหุ้นครบถ้วนแล้ว  1  แสนหุ้น  และมีใบหุ้นที่ออกให้แก่ผู้ถือจำนวน  2  แสนหุ้น  ต้องการโอนหุ้นทั้งหมด  3  แสนหุ้นนี้ให้นายจันทร์  แต่คณะกรรมการบริษัทไม่อนุญาตให้โอนหุ้นทั้งหมด  เพราะเห็นว่านายจันทร์เป็นคู่แข่งทางการค้าของบริษัท  นางสาวสกุณาจึงมาถามท่านว่าคำสั่งไม่อนุญาตให้โอนหุ้นทั้งหมดของคณะกรรมการฯ  ชอบด้วยหลักกฎหมายและข้อบังคับของบริษัทหรือไม่  ให้ท่านแนะนำนางสาวสกุณา

ธงคำตอบ

มาตรา  1129  อันว่าหุ้นนั้นย่อมโอนกันได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมของบริษัท  เว้นแต่เมื่อเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้น  ซึ่งมีข้อบังคับของบริษัทกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา  1134  ใบหุ้นออกให้แก่ผู้ถือนั้น  จะออกได้ก็แต่เมื่อมีข้อบังคับของบริษัทอนุญาตไว้  และจะออกให้ได้เฉพาะเพื่อหุ้นซึ่งได้ใช้เต็มค่าแล้ว  ในกรณีเช่นว่านี้  ผู้ทรงใบหุ้นชนิดระบุชื่อย่อมมีสิทธิจะได้รับใบหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือ  เมื่อเวนคืนใบหุ้นระบุชื่อนั้นให้ขีดฆ่าเสีย

มาตรา  1135  หุ้นชนิดที่มีใบหุ้นออกให้แก่ผู้ถือนั้น  ย่อมโอนกันได้เพียงด้วยส่งมอบใบหุ้นแก่กัน

วินิจฉัย

คำสั่งของคณะกรรมการไม่ชอบด้วยกฎหมาย  และไม่ชอบด้วยข้อบังคับของบริษัท  เนื่องจากการโอนหุ้นผู้ถือซึ่งต้องเป็นหุ้นที่ได้ชำระเงินค่าหุ้นครบถ้วนแล้ว  หากจะโอนก็โอนได้โดยการส่งมอบใบหุ้นแก่กัน  และไม่ต้องขอความยินยอมจากคณะกรรมการแต่อย่างใด  (มาตรา 1134  และมาตรา  1135)  ส่วนหุ้นชนิดระบุชื่อนั้นมีข้อบังคับของบริษัทกำหนดไว้ก็เฉพาะหุ้นที่ยังชำระเงินค่าหุ้นไม่ครบถ้วนเท่านั้นที่ต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการบริษัทก่อนจึงจะโอนได้  แต่หุ้นชนิดระบุชื่อของนางสาวสกุณาเป็นหุ้นที่ได้ชำระเงินค่าหุ้นครบถ้วนแล้ว  จึงไม่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับที่จะต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการก่อน (ตามมาตรา  1129  วรรคแรก)  ดังนั้นคำสั่งของคณะกรรมการบริษัทที่ไม่อนุญาตให้โอนหุ้นทั้งหมด  เพราะเห็นว่านายจันทร์เป็นคู่แข่งทางการค้าของ บริษัท  จึงไม่ชอบด้วยหลักกฎหมายและข้อบังคับของบริษัท

Advertisement