การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2554
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน บริษัทฯ
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1. จันทร์และอังคารตกลงเข้าหุ้นส่วนกัน โดยตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล (จดทะเบียน) มีวัตถุประสงค์เป็นสถานเสริมความงามและลดความอ้วน โดยลงหุ้นด้วยเงินคนละ 5 ล้านบาท มีจันทร์เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ กิจการมีกําไรดีทุกปี ต่อมาพุธซึ่งเป็นเพื่อนของอังคารได้มาชักชวนอังคารร่วมหุ้นกับตนด้วย โดยตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจํากัด มีอังคารเป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิด ลงหุ้น 3 ล้านบาท และพุธเป็นหุ้นส่วนจําพวกไม่จํากัดความรับผิด และเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการด้วย ห้างหุ้นส่วนจํากัดระหว่างพุธและอังคารนี้ก็มีวัตถุประสงค์เป็นสถานเสริมความงามและลดความอ้วน เช่นเดียวกัน และยังได้ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกันกับห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลที่จันทร์และอังคาร เข้าหุ้นกันอีกด้วย เป็นเหตุให้รายได้ของห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลลดลงไปมาก จันทร์จึงกล่าวหาอังคารว่า ไปร่วมหุ้นกับบุคคลอื่นประกอบกิจการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนสามัญ เป็นเหตุให้ห้างหุ้นส่วนสามัญระหว่างตนกับอังคารมีกําไรลดลง ห้างหุ้นส่วนสามัญจึงมีสิทธิเรียกเอาผลกําไร จากอังคารได้ อังคารจึงมาปรึกษาท่านว่า ข้ออ้างของจันทร์ดังกล่าวรับฟังได้หรือไม่ ให้ท่านแนะนํา อังคารด้วย
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1066 “ห้ามมิให้ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งคนใดในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนประกอบกิจการ อย่างหนึ่งอย่างใดอันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนนั้น ไม่ว่าทําเพื่อประโยชน์ตนหรือเพื่อประโยชน์ผู้อื่น หรือไปเข้าเป็นหุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนอื่น ซึ่งประกอบกิจการ อันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกัน และแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนนั้น เว้นไว้แต่จะได้รับคํายินยอม ของผู้เป็นหุ้นส่วนอื่นทั้งหมด
แต่ข้อห้ามเช่นว่ามานี้ ท่านว่าจะไม่พึงใช้ได้ ถ้าหากผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายได้รู้อยู่แล้วในเวลา เมื่อลงทะเบียนห้างหุ้นส่วนนั้นว่า ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งได้ทํากิจการหรือเข้าเป็นหุ้นส่วนอยู่ในห้างหุ้นส่วนอื่นอันมี วัตถุประสงค์อย่างเดียวกัน และในสัญญาเข้าหุ้นส่วนที่ทําไว้ต่อกันนั้นก็ไม่ได้บังคับให้ถอนตัวออก”
มาตรา 1067 วรรคแรก “ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดกระทําการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติในมาตรา ก่อนนี้ไซร้ ท่านว่าห้างหุ้นส่วนซึ่งจดทะเบียนนั้นชอบที่จะเรียกเอาผลกําไรอันผู้นั้นหาได้ทั้งหมด หรือเรียกเอา ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายซึ่งห้างหุ้นส่วนได้รับเพราะเหตุนั้น”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า อังคารได้กระทําการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 1066 หรือไม่ ซึ่งตามมาตรา 1066 นั้น ได้ห้ามมิให้ผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนประกอบกิจการอย่างใดอย่างหนึ่ง อันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนนั้น หรือเข้าไปเป็นหุ้นส่วนไม่จํากัด ความรับผิดในห้างหุ้นส่วนอื่นซึ่งประกอบกิจการอันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับกิจการของ ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนนั้น
แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า อังคารไม่ได้ประกอบกิจการแข่งขันกับกิจการของห้างฯ แต่อย่างใด เพียงแต่อังคารได้เข้าไปเป็นหุ้นส่วนจํากัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจํากัดอื่นเท่านั้น ดังนี้ แม้ว่าห้างหุ้นส่วนจํากัด อื่นนั้นจะประกอบกิจการอันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนเดิมที่อังคาร เป็นหุ้นส่วนอยู่ก็ตาม ก็ไม่ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามมาตรา 1066 เพราะไม่ได้เข้าไปเป็นหุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิด ดังนั้นการที่จันทร์กล่าวหาอังคารว่าไปร่วมหุ้นกับบุคคลอื่นประกอบกิจการแข่งขันกับกิจการของ ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ทําให้ห้างฯ มีสิทธิเรียกเอาผลกําไรจากอังคารได้นั้น ข้ออ้างของจันทร์รับฟังไม่ได้
สรุป ข้าพเจ้าจะแนะนําอังคารว่าข้ออ้างของจันทร์รับฟังไม่ได้ ตามเหตุผลและหลักกฎหมาย ดังกล่าวข้างต้น
ข้อ 2. ห้างหุ้นส่วนจํากัดแสงโสมก่อสร้าง มีนายแสงเป็นหุ้นส่วนจําพวกไม่จํากัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ นางโสมเป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิด ห้างหุ้นส่วนจํากัดนี้มีวัตถุประสงค์ รับเหมาก่อสร้างดําเนินกิจการมาได้ 10 ปีเศษ นางโสมก็โอนหุ้นของตนทั้งหมดให้นางสาวสายพิณ ซึ่งเป็นบุตรสาว โดยนายแสงไม่ขัดข้อง และได้จดทะเบียนออกจากการเป็นหุ้นส่วนไปเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2555 ต่อมาเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2555 ห้างหุ้นส่วนจํากัดผิดนัดชําระหนี้ค่าวัสดุก่อสร้าง จํานวน 2 ล้านบาท เจ้าหนี้จึงทวงถามให้นายแสงชําระหนี้ แต่นายแสงไม่มีเงินชําระเจ้าหนี้รายนี้ จึงมาปรึกษาท่านว่า จะเรียกร้องให้นางโสมรับผิดชอบในหนี้ดังกล่าวได้หรือไม่ เพราะหนี้สินดังกล่าว ได้เกิดขึ้นขณะที่นางโสมยังเป็นหุ้นส่วนอยู่ และเพิ่งจะครบกําหนดชําระเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2555 นี้เอง ให้ท่านแนะนําเจ้าหนี้รายนี้ด้วย
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1051 “ผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งออกจากหุ้นส่วนไปแล้วยังคงต้องรับผิดในหนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วน ได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนได้ออกจากหุ้นส่วนไป”
มาตรา 1068 “ความรับผิดของผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน อันเกี่ยวแก่หนี้ซึ่ง ห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนออกจากหุ้นส่วนนั้น ย่อมมีจํากัดเพียงสองปีนับแต่เมื่อออกจากหุ้นส่วน”
มาตรา 1080 วรรคแรก “บทบัญญัติว่าด้วยห้างหุ้นส่วนสามัญข้อใด ๆ หากมิได้ยกเว้นหรือ แก้ไขเปลี่ยนแปลงไปโดยบทบัญญัติแห่งหมวด 3 นี้ ท่านให้นํามาใช้บังคับแก่ห้างหุ้นส่วนจํากัดด้วย”
มาตรา 1082 วรรคแรก “ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดคนใดยินยอมโดยแสดงออกชัด หรือโดยปริยายให้ใช้ชื่อของตนระคนเป็นชื่อห้างไซร้ ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอก เสมือนดังว่าเป็นหุ้นส่วนจําพวกไม่จํากัดความรับผิดฉะนั้น”
วินิจฉัย
ตามอุทาหรณ์ การที่นางโสมซึ่งเป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดได้ยินยอมให้ใช้ชื่อของ ตนเองระคนเป็นชื่อห้างหุ้นส่วนจํากัดแสงโสมก่อสร้าง นางโสมจึงต้องรับผิดในหนี้สินของห้างฯ เสมือนว่าตนเป็นหุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดตามมาตรา 1082 วรรคแรก
และแม้ว่านางโสมได้โอนหุ้นทั้งหมดของตนให้บุตรสาวไปแล้วและได้จดทะเบียนออกจากห้างฯ ไปแล้วก็ตาม นางโสมก็จะต้องรับผิดในหนี้ของห้างฯ ที่เกิดขึ้นก่อนที่นางโสมจะได้ออกจากการเป็นหุ้นส่วนไปด้วย ตามมาตรา 1051 ประกอบกับมาตรา 1080 วรรคแรก อีกทั้งตามข้อเท็จจริงก็ปรากฏว่า นางโสมได้ออกจากห้างหุ้นส่วน ไปยังไม่เกินกําหนด 2 ปี ดังนั้นนางโสมจึงยังคงต้องรับผิดในหนี้จํานวน 2 ล้านบาทนั้นตามมาตรา 1068 ประกอบมาตรา 1080 วรรคแรก
สรุป ข้าพเจ้าจะแนะนําเจ้าหนี้รายนี้ว่า สามารถเรียกร้องให้นางโสมรับผิดชอบในหนี้ดังกล่าวได้
ข้อ 3. บริษัท แสงเพชร จํากัด มีทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท มีนายแสงถือหุ้นจํานวน 1,000 หุ้น นางสมถือ 400 หุ้น นางสาวสายสมรถือ 300 หุ้น นายสมชายถือ 100 หุ้น และนางสมพรถือไว้ 200 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 1,000 บาท นายแสงประธานกรรมการได้นัดประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อเพิ่มทุนของบริษัท โดยได้มีการส่งคําบอกกล่าวนัดประชุมถูกต้องตามหลักกฎหมายทุกประการ ปรากฏว่า เมื่อถึง วันนัดประชุมมีนายแสง และนางสาวสมพร สองคนเท่านั้นมาประชุม ส่วนผู้ถือหุ้นรายอื่นไม่ได้ มาประชุมและมิได้มอบฉันทะให้บุคคลอื่นเข้าประชุมแทนด้วย ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า การประชุมครั้งนี้ครบองค์ประชุมหรือไม่ และการลงมติจะต้องลงมติอย่างไร จึงจะเพิ่มทุนได้
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1178 “ในการประชุมใหญ่ ถ้าไม่มีผู้ถือหุ้นมาเข้าประชุมรวมกันแทนหุ้นได้ถึงจํานวน หนึ่งในสี่แห่งทุนของบริษัทเป็นอย่างน้อยแล้ว ท่านว่าที่ประชุมอันนั้นจะปรึกษากิจการอันใดหาได้ไม่”
มาตรา 1194 “การใดที่กฎหมายกําหนดให้ต้องทําโดยมติพิเศษ ที่ประชุมใหญ่ต้องลงมติใน เรื่องนั้นโดยคะแนนเสียงข้างมากไม่ต่ำกว่าสามในสี่ของจํานวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิ ออกเสียงลงคะแนน
มาตรา 1220 “บริษัทจํากัดอาจเพิ่มทุนของบริษัทขึ้นได้ด้วยออกหุ้นใหม่โดยมติพิเศษของประชุมผู้ถือหุ้น”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยออกเป็น 2 กรณี คือ
กรณีแรก การประชุมของผู้ถือหุ้นครั้งนี้ครบองค์ประชุมหรือไม่
ตามมาตรา 1178 ได้กําหนดไว้ว่า ในการประชุมใหญ่ของบริษัทนั้น จะต้องมีผู้ถือหุ้นเข้าประชุม รวมกันแทนหุ้นได้ถึงจํานวนหนึ่งในสี่แห่งทุนของบริษัทเป็นอย่างน้อยจึงจะถือว่าครบองค์ประชุม
ตามอุทาหรณ์ เมื่อหุ้นทั้งหมดของบริษัท แสงเพชร จํากัด มีจํานวน 2,000 หุ้น ดังนั้น 1 ใน 4 ของทุนของบริษัท คือ 1 ใน 4 ของจํานวนหุ้นทั้งหมดซึ่งก็คือจํานวนหุ้น 500 หุ้น เมื่อผู้ถือหุ้นที่เข้าประชุม คือ นายแสง ซึ่งถือหุ้นจํานวน 1,000 หุ้น และนางสาวสมพรซึ่งถือหุ้นจํานวน 200 หุ้น รวมกันแล้วได้ 1,200 หุ้น ซึ่งมากกว่า 1 ใน 4 ของจํานวนหุ้นทั้งหมด คือ 500 หุ้น จึงถือว่ามีผู้ถือหุ้นเข้าประชุมครบองค์ประชุมและสามารถประชุมกันได้
กรณีที่สอง การลงมติเพื่อการเพิ่มทุนของบริษัทต้องลงมติอย่างไร
ตามมาตรา 1220 ประกอบมาตรา 1194 ได้กําหนดว่า บริษัทจะเพิ่มทุนของบริษัทได้ก็ต้องมี มติพิเศษของที่ประชุมผู้ถือหุ้น และมติพิเศษนั้นต้องเป็นมติโดยคะแนนเสียงข้างมากไม่ต่ำกว่า 3 ใน 4 ของ จํานวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน
ดังนั้นในการลงมติเพื่อให้มีการเพิ่มทุนของบริษัทจะต้องได้คะแนนเสียงไม่ต่ำกว่า 3 ใน 4 ของ จํานวนหุ้นทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่เข้าประชุมคือต้องไม่ต่ำกว่า 900 หุ้น (1,200 x 4) จึงจะเพิ่มทุนได้
สรุป การประชุมของบริษัทครั้งนี้ครบองค์ประชุม และการลงมติจะต้องลงมติด้วยคะแนนเสียง ไม่ต่ำกว่า 900 หุ้น จึงจะเพิ่มทุนได้