การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน บริษัทฯ

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นางแจ่วและนายจิ๋วได้เข้าหุ้นส่วนกันโดยเปิดร้านขายอาหารโต้รุ่ง มีนางแจ่วเป็นกุ๊กลงหุ้นด้วยแรงงานส่วนนายจิ๋วลงหุ้นด้วยเงินสด 200,000 บาท และยังนําอาคารตึกของตนเองมาลงหุ้นโดยใช้เป็น ร้านอาหาร ทั้งสองคนจะแบ่งกําไรกันคนละครึ่ง ส่วนขาดทุนมิได้ตกลงกันไว้เลย กิจการของร้านอาหาร ในระยะสามปีแรกขายมีกําไรดีทุกปี ต่อมาเมื่อเดือนมิถุนายน 2557 กิจการเริ่มไม่ดีเศรษฐกิจย่ำแย่ ร้านอาหารขาดเงินสดหมุนเวียน นางแจ๋วจึงได้กู้ยืมเงินนางสาวหม่อมมาใช้ในกิจการของห้างฯ จํานวน 300,000 บาท และทั้งสองคนยังได้ชักชวนนายคํารณมาเข้าหุ้นด้วยอีกคนหนึ่ง โดยบอกว่า กิจการของร้านขายอาหาร ซึ่งเป็นหุ้นส่วนกันนี้มีกําไรดีมาก นายคํารณจึงตกลงนําเงินมาลงหุ้นด้วย 100,000 บาท หลังจากที่นายคํารณลงหุ้นแล้วหนึ่งเดือนก็พบว่า ห้างหุ้นส่วนมีแต่หนี้สิน และยังขาดทุนทุกวัน จึงได้ทะเลาะกับนางแจ๋วและนายจิ๋ว และนายคํารณขอถอนเงินลงหุ้นคืน แต่นางแจ๋ว และนายจิ๋วไม่มีเงินคืนให้นายคํารณ แต่ยอมให้นายคํารณลาออกจากการเป็นหุ้นส่วน ต่อมา นางสาวหม่อมได้ทวงถามให้นางแจ่วและนายจิ๋วชําระหนี้กู้ยืมเงินที่นางแจ๋วกู้ไปใช้ในกิจการของ ห้างหุ้นส่วน แต่บุคคลทั้งสองไม่มีเงินชําระหนี้ นางสาวหม่อมจึงได้ทวงถามให้นายคํารณร่วมรับผิดด้วย แต่นายคํารณได้ต่อสู้ว่าตนมิได้เป็นหุ้นส่วนกับนางแจ๋วและนายจิ๋วแล้ว และการเข้าหุ้นของตนเมื่อก่อน หน้านี้ก็ได้เข้าหุ้นไปเพราะถูกหลอกลวงจึงถือว่ามิได้มีการเข้าหุ้น จึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ดังกล่าว นางสาวหม่อมจึงได้มาปรึกษาท่าน ซึ่งเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยรามคําแหงว่า นางสาวหม่อมจะเรียกร้องให้นายคํารณรับผิดในหนี้เงินกู้ดังกล่าวข้างต้นได้หรือไม่ ให้ท่านแนะนํา นางสาวหม่อมด้วย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1012 “อันว่าสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลตั้งแต่สองคน ขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทํากิจการร่วมกัน ด้วยประสงค์จะแบ่งปันกําไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทํานั้น”

มาตรา 1025 “อันว่าห้างหุ้นส่วนสามัญนั้น คือห้างหุ้นส่วนประเภทซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคน ต้องรับผิดร่วมกันเพื่อหนี้ทั้งปวงของหุ้นส่วนโดยไม่มีจํากัด”

มาตรา 1026 “ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนต้องมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดมาลงหุ้นด้วยในห้างหุ้นส่วน สิ่งที่นํามาลงหุ้นด้วยนั้น จะเป็นเงินหรือทรัพย์สินสิ่งอื่นหรือลงแรงงานก็ได้”

มาตรา 1050 “การใด ๆ อันผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งได้จัดทําไปในทางที่เป็นธรรมดา การค้าขายของห้างหุ้นส่วนนั้น ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนย่อมมีความผูกพันในการนั้น ๆ ด้วย และจะต้องรับผิด ร่วมกันโดยไม่จํากัดจํานวนในการชําระหนี้ อันได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะจัดการไปเช่นนั้น”

มาตรา 1051 “ผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งออกจากหุ้นส่วนไปแล้วยังคงต้องรับผิดในหนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วน ได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนได้ออกจากหุ้นส่วนไป”

มาตรา 1052 “บุคคลผู้เข้าเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนย่อมต้องรับผิดในหนี้ใด ๆ ซึ่งห้างหุ้นส่วน ได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนเข้ามาเป็นหุ้นส่วนด้วย”

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ การที่นางแจ่วและนายจิ๋วได้เข้าหุ้นส่วนกันโดยเปิดร้านขายอาหารโต้รุ่ง มีนางแจ่ว เป็นกุ๊กลงหุ้นด้วยแรงงาน ส่วนนายจิ๋วลงหุ้นด้วยเงินสด 200,000 บาท และยังนําอาคารตึกของตนเองมาลงหุ้น โดยใช้เป็นร้านอาหาร และทั้งสองตกลงกันว่าจะแบ่งกําไรกันคนละครึ่ง แต่ส่วนขาดทุนมิได้ตกลงกันไว้นั้น ถือว่า นางแจ่วและนายจิ๋วได้ทําสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญขึ้นมาแล้ว โดยนางแจ๋วลงหุ้นด้วยแรงงาน และนายจิ๋ว ลงหุ้นด้วยเงินและทรัพย์สินตามมาตรา 1012, 1025 และมาตรา 1026 แม้ทั้งสองจะมิได้ตกลงกันในส่วนขาดทุน ก็ตาม ก็มิใช่สาระสําคัญของสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนตามมาตรา 1012 แต่อย่างใด

และตามบทบัญญัติมาตรา 1050 ได้บัญญัติไว้ว่า ในกรณีของห้างหุ้นส่วนสามัญนั้น ผู้เป็นหุ้นส่วน ทุกคนจะต้องร่วมกันรับผิดในบรรดาหนี้สินที่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งได้ก่อให้เกิดขึ้นเนื่องจากการที่ได้จัดทําไป ในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จํากัดจํานวน และนอกจากนั้นผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งได้ออกจาก หุ้นส่วนไปแล้วก็ยังคงต้องรับผิดในหนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนได้ออกจากหุ้นส่วนไปด้วยตาม มาตรา 1051 และบุคคลผู้เข้ามาเป็นหุ้นส่วนใหม่ในห้างหุ้นส่วนย่อมต้องรับผิดในหนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้น ก่อนที่ตนเข้ามาเป็นหุ้นส่วนด้วยตามมาตรา 1052

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นางแจ๋วได้กู้ยืมเงินนางสาวหม่อมมาใช้ในกิจการของห้างฯ จํานวน 300,000 บาท ถือว่าหนี้ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นหนี้ที่เกิดจากการจัดทําไปในทางธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วน ดังนั้น ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน คือ นางแจ๋วและนายจิ๋วต้องร่วมกันรับผิดในหนี้รายนี้ตามมาตรา 1050

และต่อมาภายหลังที่ห้างหุ้นส่วนดังกล่าวได้เกิดหนี้ขึ้นมาแล้ว นางแจ่วและนายจิ๋วได้ชักชวน นายคํารณเข้ามาเป็นหุ้นส่วน และนายคํารณก็ตกลงเข้ามาเป็นหุ้นส่วนโดยได้นําเงินมาลงหุ้นด้วย 100,000 บาทนั้น ย่อมมีผลตามมาตรา 1052 กล่าวคือ นายคํารณต้องรับผิดในหนี้เงินกู้ที่เกิดขึ้นก่อนที่ตนจะได้เข้ามาเป็นหุ้นส่วนด้วย และแม้ต่อมานายคํารณจะได้ลาออกจากการเป็นหุ้นส่วนไป นายคํารณก็ยังคงต้องรับผิดในหนี้เงินกู้ดังกล่าวด้วย เพราะถือว่าเป็นหนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนจะได้ออกจากการเป็นหุ้นส่วนไปตามมาตรา 1051 ดังนั้น การที่นายคํารณต่อสู้ว่าตนมิได้เป็นหุ้นส่วนกับนางแจ๋วและนายจิ๋วแล้วจึงไม่ต้องรับผิดนั้นจึงฟังไม่ขึ้น และการที่ นายคํารณได้ต่อสู้ว่า การเข้าเป็นหุ้นส่วนของตนเมื่อก่อนหน้านี้เป็นการเข้าไปเป็นหุ้นส่วนเพราะถูกหลอกลวง ก็ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน เพราะข้อต่อสู้ดังกล่าวนั้นไม่สามารถนํามาใช้ต่อสู้กับเจ้าหนี้ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้

ดังนั้น เมื่อนางสาวหม่อมได้ทวงถามให้นางแจ้วและนายจิ๋วชําระหนี้เงินกู้ยืมดังกล่าว แต่ทั้ง สองไม่มีเงินชําระหนี้ นางสาวหม่อมจึงสามารถทวงถามให้นายคํารณร่วมรับผิดได้ โดยนายคํารณจะยกข้อต่อสู้ ดังกล่าวขึ้นต่อสู้กับนางสาวหม่อมเพื่อปฏิเสธไม่รับผิดในหนี้นั้นไม่ได้

สรุป

ข้าพเจ้าจะแนะนําแก่นางสาวหม่อมว่า นางสาวหม่อมสามารถเรียกร้องให้นายคํารณรับผิด ในหนี้เงินกู้ดังกล่าวได้

 

ข้อ 2. ห้างหุ้นส่วนจํากัดสามสหาย มีนายหนึ่ง นายสอง และนายสามเข้าหุ้นส่วนกัน มีวัตถุประสงค์รับเหมาก่อสร้างและซ่อมแซมอาคารโดยนายหนึ่งและนายสองเป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิด ส่วนนายสามเป็นหุ้นส่วนจําพวกไม่จํากัดความรับผิด ทั้งหมดได้ตกลงให้นายสามเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ แต่ก่อนจดทะเบียนจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจํากัด นายสามได้สั่งซื้อวัสดุก่อสร้างมากักตุนไว้เป็นเงิน หนึ่งล้านบาท และยังมิได้ชําระหนี้ ต่อมาได้มีการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจํากัดเรียบร้อยแล้ว และได้ดําเนินกิจการมาได้สองปีเศษ แต่ก็ประสบภาวะขาดทุนมาตลอดเนื่องจากไม่มีผู้ใดมาว่าจ้าง ไปทําการก่อสร้าง ส่วนค่าวัสดุก่อสร้างก็ยังมิได้ชําระ และห้างหุ้นส่วนจํากัดก็ได้ขอผัดผ่อนต่อเจ้าหนี้ มาเป็นเวลาสองปีเศษแล้ว ต่อมานายหนึ่งได้ลาออกจากการเป็นหุ้นส่วน โดยนายสองและนายสาม ไม่ขัดข้อง เมื่อนายหนึ่งได้จดทะเบียนออกจากห้างฯ ไปได้สองปีเศษแล้วเจ้าหนี้ค่าวัสดุก่อสร้างจึงได้ มีหนังสือเรียกให้ห้างหุ้นส่วนจํากัดชําระหนี้ แต่ห้างหุ้นส่วนจํากัดไม่มีเงินชําระหนี้ เจ้าหนี้จึงได้เรียก ให้นายหนึ่ง นายสอง และนายสามร่วมกันรับผิด แต่นายหนึ่งได้อ้างว่าตนได้ออกจากห้างหุ้นส่วนจํากัด มาเป็นเวลาสองปีเศษแล้วจึงไม่ต้องรับผิด แต่เจ้าหนี้ค่าวัสดุก่อสร้างก็อ้างว่าหนี้สินดังกล่าวเกิดขึ้น ก่อนจดทะเบียนจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจํากัด ซึ่งต้องถือว่าในขณะนั้นเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญที่ ไม่จดทะเบียน ผู้เป็นหุ้นส่วนที่ออกจากห้างฯ ไปยังคงต้องรับผิดในหนี้นั้นจนกว่าจะหมดอายุความ ของหนี้นั้น และขณะนี้หนี้ดังกล่าวยังไม่ขาดอายุความ นายหนึ่งจึงต้องรับผิดด้วย ดังนี้ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า ข้ออ้างของฝ่ายใดจะชอบด้วยกฎหมาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1051 “ผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งออกจากหุ้นส่วนไปแล้วยังคงต้องรับผิดในหนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วน ได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนได้ออกจากหุ้นส่วนไป”

มาตรา 1068 “ความรับผิดของผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน อันเกี่ยวแก่หนี้ซึ่ง ห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนออกจากหุ้นส่วนนั้น ย่อมมีจํากัดเพียงสองปีนับแต่เมื่อออกจากหุ้นส่วน”

มาตรา 1079 “อันห้างหุ้นส่วนจํากัดนั้น ถ้ายังมิได้จดทะเบียนอยู่ตราบใด ท่านให้ถือว่า เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดย่อมต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่มีจํากัดจํานวน จนกว่าจะได้จดทะเบียน”

มาตรา 1080 วรรคหนึ่ง “บทบัญญัติว่าด้วยห้างหุ้นส่วนสามัญข้อใด ๆ หากมิได้ยกเว้น หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปโดยบทบัญญัติแห่งหมวด 3 นี้ ท่านให้นํามาใช้บังคับแก่ห้างหุ้นส่วนจํากัดด้วย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสามได้สั่งซื้อวัสดุก่อสร้างเป็นเงินหนึ่งล้านบาทก่อนที่จะมีการ จดทะเบียนจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจํากัดนั้น ต้องถือว่าหนี้ที่เกิดขึ้นดังกล่าวเป็นหนี้ของห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนย่อมต้องร่วมกันรับผิดและโดยไม่จํากัดจํานวนตามมาตรา 1079

การที่นายหนึ่งได้ลาออกจากการเป็นหุ้นส่วนนั้น นายหนึ่งยังคงต้องรับผิดในหนี้ดังกล่าว เพราะเป็นหนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนจะได้ออกไปตามมาตรา 1051 ประกอบมาตรา 1080 วรรคหนึ่ง และ เมื่อหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ของห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ดังนั้นแม้นายหนึ่งจะได้ลาออกจากการเป็นหุ้นส่วน จําพวกจํากัดความรับผิดไปเกินสองปีแล้วก็ตาม นายหนึ่งก็จะต้องรับผิดในหนี้ดังกล่าวจนกว่าหนี้นั้นจะหมดอายุความ จะนํามาตรา 1068 มาใช้บังคับกับกรณีนี้มิได้ และเมื่อปรากฏว่าหนี้ค่าซื้อสินค้าดังกล่าวได้มีการผ่อนผันกับเจ้าหนี้ มาตลอด จึงถือว่าหนี้รายนี้ยังไม่ขาดอายุความ ดังนั้น นายหนึ่งจึงยังคงต้องรับผิดในหนี้ดังกล่าว ข้ออ้างของเจ้าหนี้ จึงชอบด้วยกฎหมาย

สรุป ข้ออ้างของฝ่ายเจ้าหนี้ เป็นข้ออ้างที่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 3. บริษัท นพคุณ จํากัด มีนายหนึ่ง นายสอง และนายสาม เป็นกรรมการ ซึ่งได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น โดยมีวาระการดํารงตําแหน่งคราวละ 4 ปี เมื่อหมดวาระลงให้เลือกตั้งใหม่ตามข้อบังคับ ของบริษัท ปรากฏว่า นายหนึ่งเป็นกรรมการมาได้ 2 ปี ก็ถึงแก่กรรม นายสองและนายสามเห็นว่า หากให้ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเลือกตั้งกรรมการขึ้นแทนนายหนึ่งจะเสียเวลามาก ทั้งสองคนปรึกษา หารือกันแล้วก็ตั้งนายสี่ซึ่งมิได้เป็นผู้ถือหุ้นขึ้นเป็นกรรมการแทนนายหนึ่ง แต่นายแดงผู้ถือหุ้นคนหนึ่ง ในบริษัทเห็นว่าการกระทําของนายสองและนายสามน่าจะไม่ถูกต้อง เพราะเห็นว่าการเลือกตั้งกรรมการ ควรให้ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเป็นผู้คัดเลือกจากผู้ถือหุ้นในบริษัทด้วยกัน นายสองและนายสาม จึงมาปรึกษาท่านว่า ในกรณีดังกล่าวนายสองและนายสามจะมีสิทธิตั้งนายสี่เป็นกรรมการบริษัท หรือไม่ ให้ท่านแนะนําบุคคลทั้งสอง

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1155 “ถ้าตําแหน่งว่างลงในสภากรรมการเพราะเหตุอื่นนอกจากถึงคราวออกตาม เวรไซร้ ท่านว่ากรรมการจะเลือกผู้อื่นตั้งขึ้นใหม่ให้เต็มที่ว่างก็ได้ แต่บุคคลที่ได้เป็นกรรมการใหม่เช่นนั้น ให้มีเวลาอยู่ในตําแหน่งได้เพียงเท่ากําหนดเวลาที่กรรมการผู้ออกไปนั้นชอบที่จะอยู่ได้”

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา 1155 ในกรณีที่ตําแหน่งกรรมการในสภากรรมการว่างลงเพราะเหตุอื่น นอกจากถึงคราวออกตามวาระ เช่น กรรมการคนใดตาย ล้มละลาย หรือตกเป็นคนไร้ความสามารถ กฎหมายให้สิทธิ แก่กรรมการที่ยังเหลืออยู่อาจจะตั้งผู้อื่นขึ้นมาเป็นกรรมการแทนตําแหน่งที่ว่างก็ได้ โดยกรรมการที่ได้เป็นใหม่นี้ กฎหมายไม่ได้บังคับว่าจะต้องเป็นผู้ถือหุ้นแต่อย่างใด เพียงแต่กําหนดให้กรรมการใหม่นี้อยู่ในตําแหน่งได้เฉพาะ เท่ากับเวลาที่กรรมการผู้ออกไปนั้นชอบที่จะอยู่ได้เท่านั้น

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหนึ่งได้ถึงแก่กรรมนั้น ถือว่าตําแหน่งกรรมการของนายหนึ่งว่างลง เพราะเหตุอื่นนอกจากถึงคราวออกตามวาระ ดังนั้นกรรมการที่เหลืออยู่คือนายสองและนายสามจึงมีอํานาจตั้ง บุคคลอื่นซึ่งมิใช่ผู้ถือหุ้นในบริษัทขึ้นเป็นกรรมการแทนตําแหน่งที่ว่างได้ การที่นายสองและนายสามได้ตั้งให้นายสี่ ซึ่งมิใช่ผู้ถือหุ้นเป็นกรรมการแทนตําแหน่งที่ว่างนั้น การกระทําของนายสองและนายสามจึงถูกต้อง เพราะนายสอง และนายสามมีสิทธิตั้งให้นายสี่เป็นกรรมการได้ตามมาตรา 1155

สรุป ข้าพเจ้าจะให้คําแนะนําแก่นายสองและนายสามตามที่ได้อธิบายไว้ดังกล่าวข้างต้น

Advertisement