การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน บริษัทฯ

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายแสงเข้าหุ้นกับนายสีและนายเสียง โดยตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน มีวัตถุประสงค์ขายและให้เช่าเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ลําโพง และอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด ดําเนินกิจการมาได้หลายปี ก็ขาดเงินสดหมุนเวียน เนื่องจากมีการปฏิวัติขายสินค้าไม่ค่อยได้และไม่มีผู้ใดมาเช่าอุปกรณ์ดังกล่าว ไปจัดมหรสพ ทั้งสามคนจึงไปกู้ยืมเงินจากนางสาวพิมพ์สนิทมาใช้จ่ายในห้างฯ จํานวน 3 แสนบาท ต่อมาทั้งสามคนได้ดําเนินการจดทะเบียนจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลโดยมีวัตถุประสงค์ เช่นเดิมทุกประการ แต่กิจการของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนก็ยังไม่ดีขึ้น นายแสงจึงได้ลาออกจากการเป็น หุ้นส่วน ซึ่งนายสีและนายเสียงก็ไม่ขัดข้อง เมื่อนายแสงได้ออกจากห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียนได้ 3 ปีแล้ว นางสาวพิมพ์สนิทจึงได้ทวงถามให้ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลชําระหนี้ 3 แสนบาท พร้อมทั้ง ดอกเบี้ยร้อยละ 15 บาทต่อปี แต่ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลก็ไม่มีเงินชําระหนี้ นางสาวพิมพ์สนิท จึงฟ้องนายแสง นายสี และนายเสียงให้ชําระหนี้ดังกล่าวแทนห้างฯ แต่นายแสงต่อสู้ว่าตน ได้ออกจากการเป็นหุ้นส่วนเกิน 2 ปีแล้วไม่ขอรับผิดชอบในหนี้ทั้งหมด

ดังนี้ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า ข้อต่อสู้ของนายแสงรับฟังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1051 “ผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งออกจากหุ้นส่วนไปแล้วยังคงต้องรับผิดในหนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วน ได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนได้ออกจากหุ้นส่วนไป”

มาตรา 1068 “ความรับผิดของผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน อันเกี่ยวแก่หนี้ซึ่ง ห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนออกจากหุ้นส่วนนั้น ย่อมมีจํากัดเพียงสองปีนับแต่เมื่อออกจากหุ้นส่วน”

วินิจฉัย

ห้างหุ้นส่วนสามัญนั้นไม่ว่าจะเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญที่จดทะเบียนหรือไม่จดทะเบียน กฎหมาย ได้กําหนดให้ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนจะต้องร่วมกันรับผิดในบรรดาหนี้สินของห้างหุ้นส่วนที่เกิดขึ้นเนื่องจากการ จัดทํากิจการในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จํากัดจํานวน และแม้ว่าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใด จะได้ออกจากการเป็นหุ้นส่วนไปแล้ว ก็ยังคงต้องรับผิดในหนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนจะได้ออกจาก หุ้นส่วนไป (มาตรา 1051) เพียงแต่ถ้าเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญที่จดทะเบียน ความรับผิดดังกล่าวย่อมมีจํากัดเพียง สองปีนับแต่เมื่อออกจากหุ้นส่วนไป (มาตรา 1068)

ตามอุทาหรณ์ การที่นายแสง นายสี และนายเสียง ได้ไปกู้ยืมเงินจากนางสาวพิมพ์สนิทมาใช้จ่าย ในห้างฯ เป็นเงินจํานวน 3 แสนบาท ในขณะที่ห้างฯ ยังมิได้จดทะเบียนนั้น หนี้เงินกู้ดังกล่าวจึงต้องถือว่าเป็นหนี้ ของห้างหุ้นส่วนสามัญที่ยังไม่จดทะเบียน ที่ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งสามคนจะต้องร่วมกันรับผิด เพราะเป็นหนี้ที่เกิด จากการกู้มาใช้จ่ายในกิจการของห้างฯ และแม้ต่อมาห้างหุ้นส่วนสามัญจะได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ก็มิได้ทําให้ ความรับผิดในหนี้ดังกล่าวของผู้เป็นหุ้นส่วนเปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ แม้นายแสงจะได้ออกจากหุ้นส่วนไปแล้ว ก็ยังคงรับผิดในหนี้ดังกล่าว และต้องรับผิดตลอดไปจนกว่าจะได้มีการชําระหนี้หรือหนี้จะขาดอายุความ มิใช่ รับผิดจํากัดเพียงสองปีนับแต่เมื่อได้ออกจากหุ้นส่วนไปตามมาตรา 1068 แต่อย่างใด

ดังนั้น เมื่อนางสาวพิมพ์สนิทได้ฟ้องให้นายแสง นายสี และนายเสียงชําระหนี้เงินกู้ดังกล่าว นายแสงจะต่อสู้ว่าตนได้ออกจากการเป็นหุ้นส่วนเกิน 2 ปีแล้ว และไม่ขอรับผิดชอบในหนี้ทั้งหมดไม่ได้

สรุป ข้อต่อสู้ของนายแสงดังกล่าวรับฟังไม่ได้ ตามเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 2. ห้างหุ้นส่วนจํากัดสามสหายพาณิชย์ มีสมหมาย สมชาย และสมถวิล เป็นหุ้นส่วนกันโดยจดทะเบียนให้สมหมายและสมชายเป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดและรับลงคนละ 1 ล้านบาท ส่วนสมถวิล เป็นหุ้นส่วนจําพวกไม่จํากัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจํากัดนี้ได้จดทะเบียน จัดตั้งเรียบร้อยแล้ว และได้ดําเนินธุรกิจมาเป็นเวลาได้ 5 ปีเศษ ก็ขาดเงินสดหมุนเวียน สมถวิล จึงได้กู้ยืมเงินในนามของห้างหุ้นส่วนจํากัดจากธนาคาร กรุงธน จํากัด (มหาชน) มาใช้จ่ายในห้างฯ เป็นเงิน 2 ล้านบาท โดยนําที่ดินที่เป็นที่ตั้งอาคารของห้างฯ มาจดทะเบียนจํานองประกันหนี้เงินกู้ รายนี้ด้วย เมื่อสมหมายและสมชายทราบเรื่องก็ไม่พอใจสมถวิล เพราะเกรงว่าหากไม่มีเงินใช้หนี้ ธนาคารก็เกรงว่าธนาคารจะบังคับจํานองเอาที่ดินที่เป็นที่ตั้งของห้างหุ้นส่วนจํากัดไปขายทอดตลาดได้ สมหมายและสมชายจึงมาปรึกษานักศึกษาว่าทั้งสองคนจะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อขอให้ศาลเพิกถอน การกู้ยืมเงินและเพิกถอนการจํานองได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1087 “อันห้างหุ้นส่วนจํากัดนั้น ท่านว่าต้องให้แต่เฉพาะผู้เป็นหุ้นส่วนจําพวกไม่จํากัด ความรับผิดเท่านั้นเป็นผู้จัดการ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ข้าพเจ้าจะให้คําปรึกษาแก่สมหมายและสมชายดังนี้คือ ตามมาตรา 1087 ได้บัญญัติเอาไว้ว่า หากเป็นห้างหุ้นส่วนจํากัด จะต้องให้แต่เฉพาะผู้เป็นหุ้นส่วนจําพวกไม่จํากัดความรับผิดเท่านั้น เป็นผู้จัดการ หุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดหามีอํานาจจัดการไม่ ซึ่งคําว่า การจัดการนั้น ก็คือ การดูแลรักษา หาผลประโยชน์ให้แก่ห้างหุ้นส่วนจํากัด และการระมัดระวังไม่ให้ห้างหุ้นส่วนจํากัดได้รับความเสียหาย ตลอดจน การทําให้บรรลุวัตถุประสงค์ของห้างหุ้นส่วนจํากัดตามที่ได้จดทะเบียนไว้

สําหรับ การฟ้องคดีแทนห้างหุ้นส่วนจํากัดนั้น ถือเป็นการจัดการงานของห้างหุ้นส่วนจํากัด อย่างหนึ่ง ซึ่งหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิดไม่มีสิทธิจัดการแทนห้างหุ้นส่วนจํากัด ดังนั้นเมื่อปรากฏว่า สมหมาย และสมชายเป็นหุ้นส่วนจําพวกจํากัดความรับผิด จึงไม่สามารถฟ้องคดีต่อศาลเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนการกู้ยืมเงิน และเพิกถอนการจํานองได้

สรุป ข้าพเจ้าจะให้คําแนะนําสมหมายและสมชายว่า ทั้งสองจะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อขอให้ศาล เพิกถอนการกู้ยืมเงินและเพิกถอนการจํานองไม่ได้ ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 3. นายแดงมีหุ้นระบุชื่อจํานวน 1 แสนหุ้น มูลค่าหุ้นละ 10 บาท ของบริษัท ทรงสมัย จํากัด นายแดงมีความประสงค์จะโอนหุ้น 1 แสนหุ้นของตนให้แก่นายเหลืองเพื่อใช้หนี้จํานวน 1 ล้านบาทที่ตน เป็นหนี้นายเหลืองอยู่ จึงได้ทําหนังสือโอนหุ้นของตนทั้งหมดให้นายเหลือง แล้วลงลายมือชื่อของ นายแดงผู้โอน และนายเหลืองผู้รับโอนไว้ข้างท้ายหนังสือโอนหุ้น และนายแดงได้มอบใบหุ้นให้ นายเหลืองไปพร้อมได้โทรศัพท์ไปบอกกรรมการบริษัทให้ช่วยแก้ไขในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นให้เป็น ชื่อนายเหลืองด้วย ซึ่งกรรมการก็ได้ดําเนินการให้ตามวัตถุประสงค์ของนายแดง และยังได้ออกใบหุ้น ระบุชื่อให้นายเหลืองจํานวน 1 แสนหุ้นด้วย ข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายแดงยังจ่ายเงินค่าหุ้นยังไม่ครบ โดยจ่ายมาเพียงครึ่งเดียว ยังคงค้างเงินค่าหุ้นอยู่อีก 500,000 บาท บริษัทจึงขอให้นายเหลือง จ่ายเงินค่าหุ้นให้ครบตามที่บริษัทเรียกเก็บ แต่นายเหลืองไม่ยอมจ่าย ดังนี้ถามว่า

1 การโอนหุ้นครั้งนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

2 บริษัทจะต้องเรียกให้ผู้ใดรับผิดในเงินค่าหุ้นที่ยังจ่ายไม่ครบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1129 “อันว่าหุ้นนั้นยอมโอนกันได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมของบริษัท เว้นแต่ เมื่อเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นซึ่งมีข้อบังคับของบริษัทกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น

การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นนั้น ถ้ามิได้ทําเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของผู้โอนกับ ผู้รับโอน มีพยานคนหนึ่งเป็นอย่างน้อยลงชื่อรับรองลายมือนั้น ๆ ด้วยแล้ว ท่านว่าเป็นโมฆะ อนึ่งตราสารอันนั้น ต้องแถลงเลขหมายของหุ้นซึ่งโอนกันนั้นด้วย

การโอนเช่นนี้จะนํามาใช้แก่บริษัทหรือบุคคลภายนอกไม่ได้ จนกว่าจะได้จดแจ้งการโอนทั้งชื่อ และสํานักของผู้รับโอนนั้นลงในทะเบียนผู้ถือหุ้น”

วินิจฉัย

ในการโอนหุ้นชนิดระบุชื่อนั้น การโอนจะสมบูรณ์ไม่ตกเป็นโมฆะ จะต้องปฏิบัติตามมาตรา 1129 วรรคสอง คือ การโอนจะต้องทําเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอน มีพยานอย่างน้อยหนึ่งคน ลงลายมือชื่อรับรอง และต้องแถลงเลขหมายของหุ้นซึ่งโอนกันนั้นด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์ เป็นเรื่องการโอนหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้น เมื่อนายแดงเพียงแต่ทํา หนังสือโอนหุ้นของตนทั้งหมดให้นายเหลือง แล้วลงลายมือชื่อของนายแดงผู้โอน และนายเหลืองผู้รับโอนไว้ข้างท้าย หนังสือโอนหุ้น แต่เมื่อไม่ปรากฏว่ามีบุคคลใดลงลายมือชื่อเป็นพยานรับรองลายมือชื่อของผู้โอนและผู้รับโอน การโอนหุ้นดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1129 วรรคสอง ดังนั้นหุ้นจึงยังเป็น ของผู้โอนคือนายแดงอยู่ และให้ถือว่านายแดงยังเป็นเจ้าของหุ้นนั้น แม้ว่าจะได้มีการแก้ไขชื่อในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น เป็นชื่อนายเหลืองแล้วก็ตาม เมื่อปรากฏว่า นายแดงยังค้างเงินค่าหุ้นอยู่อีก 500,000 บาท บริษัทจึงมีสิทธิเรียก ให้นายแดงรับผิดชําระเงินค่าหุ้นที่ค้างชําระได้

สรุป

1 การโอนหุ้นครั้งนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

2 บริษัทจะต้องเรียกให้นายแดงรับผิดในเงินค่าหุ้นที่ยังจ่ายไม่ครบ

Advertisement