การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3001 กฎหมายอาญา 3

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1 เอเข้าไปซื้อของในร้านสะดวกซื้อ เห็นปลอดคน มี น.ส.บีพนักงานขายอยู่คนเดียวเกิดความโลภอยากได้เงินจึงเดินเข้าไปใกล้ น.ส.บี แกล้งทําลวนลาม เพื่อให้ น.ส.บีเดินหนีไปจากเคาน์เตอร์เก็บเงิน ตนจะได้ฉวยโอกาสลักเงิน โดยเอดึงตัว น.ส.บีมากอดและหอมแก้ม น.ส.บีซึ่งเป็นโรคหัวใจอยู่ก่อน ตกใจจนหัวใจวายถึงแก่ความตาย ดังนี้ เอจะมีความผิดต่อชีวิตฐานใดหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 290 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดมิได้มีเจตนาฆ่า แต่ทําร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษ”

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไม่เจตนาตามมาตรา 290 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย

1 ทําร้ายผู้อื่น

2 เป็นเหตุให้ผู้ถูกทําร้ายถึงแก่ความตาย

3 โดยเจตนา

กรณีตามอุทาหรณ์

การที่เอดึงตัว น.ส.บีเข้ามากอดและหอมแก้ม น.ส.บีนั้น แม้เอต้องการให้ น.ส.ปี เกิดความกลัวและเดินหนีไปจากเคาน์เตอร์เก็บเงินเพื่อจะได้สะดวกในการลักทรัพย์ก็ตาม แต่การกระทําดังกล่าวของเอ ถือว่าเป็นการใช้กําลังประทุษร้ายต่อ น.ส.ปีแล้ว และเมื่อการกระทําของเอเป็นผลให้ น.ส.บีซึ่งเป็นโรคหัวใจอยู่ก่อน ตกใจจนหัวใจวายถึงแก่ความตาย ความตายของ น.ส.บีถือว่าเป็นผลโดยตรงและเป็นผลที่ใกล้ชิดกับการทําร้ายของเอ ดังนั้น เอจึงมีความผิดฐานมิได้มีเจตนาฆ่า แต่ทําร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามมาตรา 290

สรุป

เอมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนาตามมาตรา 290

 

ข้อ 2 นายเก่งขายรถจักรยานยนต์ให้แก่นายเล็กในราคา 2 หมื่น โดยตกลงซื้อขายด้วยวาจาแล้วส่งมอบรถให้นายเล็ก ส่วนเงินค่ารถนายเล็กรับปากว่าจะชําระให้ภายใน 30 วันนับแต่ที่ตกลงซื้อขาย ต่อมาถึงกําหนดนายเก่งไปขอรับเงินค่ารถแต่นายเล็กไม่ยอมจ่ายและบอกให้นายเก่งไปฟ้องร้องเอา เพราะเห็นว่าการซื้อขายไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ วันเกิดเหตุนายเก่งพบนายเล็กกําลังจอดรถ อยู่หน้าตลาด นายเก่งจึงจับตัวนายเล็กขึ้นรถแล้วนําตัวไปขังไว้ที่ห้องเช่าแห่งหนึ่งแล้วโทรศัพท์ถึงนายเอกบิดาของนายเล็กให้นําเงินไปจ่ายตามราคารถที่นายเล็กค้างชําระ โดยขู่เข็ญว่าถ้านายเอก ไม่ยอมก็จะทําร้ายนายเล็ก ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าการกระทําของนายเก่งเป็นความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ ฐานเรียกค่าไถ่หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 313 “ผู้ใดเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่

(1) เอาตัวเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไป

(2) เอาตัวบุคคลอายุกว่าสิบห้าปีไปโดยใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กําลังประทุษร้าย ใช้อํานาจครอบงําผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด หรือ

(3) หน่วงเหนี่ยว หรือกักขังบุคคลใด ต้องระวางโทษ”

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานเอาตัวบุคคลไปหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ตาม มาตรา 313 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบด้วย

1 หน่วงเหนียวหรือกักขังผู้ใด

2 โดยเจตนา

3 เพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่

“ค่าไถ่” หมายความว่า ทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่เรียกเอาหรือให้เพื่อแลกเปลี่ยนเสรีภาพ ของผู้ถูกเอาตัวไป ผู้ถูกหน่วงเหนียวหรือผู้ถูกกักขัง (ป.อาญา มาตรา 1 (13)

กรณีตามอุทาหรณ์

การที่นายเก่งจับตัวนายเล็กขึ้นรถแล้วนําตัวไปขังไว้ที่ห้องเช่าแห่งหนึ่ง แล้วโทรศัพท์ถึงนายเอกบิดาของนายเล็กให้นําเงินไปจ่ายตามราคารถที่นายเล็กค้างชําระนั้น ถือเป็นการเจตนา เอาตัวบุคคลไปเพื่อหน่วงเหนี่ยวกักขัง แต่อย่างไรก็ตาม การกระทําของนายเก่งก็มิได้มีเจตนาเพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ เพราะเงินที่นายเก่งเรียกเอานั้นเป็นเงินที่นายเก่งมีสิทธิที่จะได้เงินดังกล่าว จึงไม่ถือว่าเป็นค่าไถ่ตามกฎหมาย ดังนั้น การกระทําของนายเก่งจึงไม่เป็นความผิดฐานเรียกค่าไถ่ตามมาตรา 313

สรุป

นายเก่งไม่มีความผิดฐานเรียกค่าไถ่ตามมาตรา 313

 

ข้อ 3 เขียวเดินไปกับม่วงเพื่อจะไปพบดําโดยเขียวได้สวมสร้อยคอทองคําหนัก 2 บาทซึ่งเขียวยืมมาจากดําและเขียวต้องการจะนําสร้อยเส้นนี้ไปคืนให้ดําเจ้าของสร้อยคอ ขณะนั้นเองมืดเดินมาข้างหลังเขียว และอยากได้สร้อยคอที่เขียวสวมอยู่ มืดจึงเดินมาอย่างเร็วแล้วไปชนม่วงล้มลง ขณะที่เขียวก้มลงจะดึงม่วงขึ้นมาจากพื้นดิน มืดได้กระชากสร้อยคอทองคําที่เขียวสวมอยู่ทางด้านหลัง แต่การกระชากสร้อยที่คอของเขียวนั้นเร็วเกินไปทําให้สร้อยเส้นนั้นหล่นลงพื้นดิน เขียวและม่วงจึงเข้าจับกุมมืดทันที มืดจึงมิได้สร้อยคอเส้นนั้นไป จงวินิจฉัยว่ามืดมีความผิดอาญาเกี่ยวกับทรัพย์ฐานใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 80 “ผู้ใดลงมือกระทําความผิดแต่กระทําไปไม่ตลอด หรือกระทําไปตลอดแล้วแต่ การกระทํานั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายามกระทําความผิด

ผู้ใดพยายามกระทําความผิด ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกําหนดไว้ สําหรับความผิดนั้น”

มาตรา 339 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดลักทรัพย์โดยใช้กําลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้ กําลังประทุษร้าย เพื่อ

(1) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือการพาทรัพย์นั้นไป

(2) ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น

(3) ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้

(4) ปกปิดการกระทําความผิดนั้น หรือ

(5) ให้พ้นจากการจับกุม

ผู้นั้นกระทําความผิดฐานชิงทรัพย์”

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานชิงทรัพย์ตามมาตรา 339 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย

1 ลักทรัพย์

2 โดยใช้กําลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กําลังประทุษร้าย

3 โดยเจตนา

4 เจตนาพิเศษ เพื่อ

(1) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือพาทรัพย์นั้นไป

(2) ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น

(3) ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้

(4) ปกปิดการกระทําความผิดนั้น หรือ

(5) ให้พ้นจากการจับกุม

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่เขียวเดินไปกับม่วงและมืดซึ่งเดินตามมาข้างหลังเขียวและอยากได้ สร้อยคอที่เขียวสวมอยู่ได้เดินไปชนม่วงล้มลง ขณะที่เขียวก้มลงจะดึงม่วงขึ้นมาจากพื้นดิน มืดได้กระชากสร้อยคอ ทองคําที่เขียวสวมอยู่ทางด้านหลังของเขียวนั้น การกระทําของมืดที่กระชากสร้อยคอทองคําที่เขียวสวมอยู่นั้น แม้จะเป็นสร้อยคอของดําที่เขียวได้ยืมมาจากดํา ก็ถือว่ามืดได้มีเจตนาเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริตอันเป็น ความผิดฐานลักทรัพย์แล้ว และเมื่อการที่มืดกระชากสร้อยคอของเขียวนั้นเร็วเกินไปทําให้สร้อยคอทองคําเส้นนั้น หล่นลงพื้นดิน เขียวและม่วงจึงเข้าไปจับกุมมืดทันที่ทําให้มืดมิได้สร้อยคอเส้นนั้นไป ถือว่ามืดได้ลงมือกระทํา ความผิดไปตลอดแล้วแต่การกระทํานั้นไม่บรรลุผล มืดจึงมีความผิดฐานพยายามลักทรัพย์

และก่อนที่มืดจะกระชากสร้อยคอที่เขียวสวมอยู่นั้นมืดได้เดินไปชนให้ม่วงล้มลง แม้ว่ามืดจะไม่ได้กระทําต่อเขียวโดยตรง แต่การกระทําของมืดที่ใช้กําลังประทุษร้ายต่อม่วงนั้นได้กระทําโดยมีเจตนาพิเศษ เพื่อให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือการพาทรัพย์นั้นไป จึงถือว่ามืดได้ลักทรัพย์โดยกําลังประทุษร้ายอันเป็น ความผิดฐานชิงทรัพย์ แต่เมื่อการลักทรัพย์ยังอยู่ในขั้นพยายาม ดังนั้น มืดจึงมีความผิดฐานพยายามชิงทรัพย์ ตามมาตรา 339 ประกอบมาตรา 80

สรุป มืดมีความผิดฐานพยายามชิงทรัพย์

 

ข้อ 4 นายจันทร์พูดกับนายอังคารว่า นายพุธเป็นนายทุนเงินกู้ ถ้านายอังคารประสงค์จะกู้เงินให้ทําสัญญากู้มาเพื่อที่นายจันทร์จะนําไปให้นายพุธ ปรากฏว่านายอังคารหลงเชื่อจึงได้ทําสัญญากู้ขึ้นมา ข้อความว่า “นายอังคารกู้เงินจากนายพุธจํานวน 100,000 บาท จากนั้นได้ลงชื่อนายอังคารผู้กู้” ต่อมานายจันทร์กับนายพุธสมคบกันนําสัญญากู้มาฟ้องเรียกเงินจากนายอังคาร ข้อเท็จจริงได้ความว่า นายอังคารไม่ได้รับเงินกู้จากนายพุธแต่ประการใด ดังนี้ นายจันทร์มีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 341 “ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิด ข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทําให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามทํา ถอน หรือทําลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทําความผิดฐานฉ้อโกง ต้อง ระวางโทษ ”

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341 ประกอบด้วย

1 หลอกลวงผู้อื่นด้วยการ

(ก) แสดงข้อความเป็นเท็จ หรือ

(ข) ปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง

2 โดยการหลอกลวงนั้น

(ก) ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือ

(ข) ทําให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามทํา ถอน หรือทําลายเอกสารสิทธิ

3 โดยเจตนา

4 โดยทุจริต

กรณีตามอุทาหรณ์

การที่นายจันทร์พูดกับนายอังคารว่านายพุธเป็นนายทุนเงินกู้ ถ้านายอังคาร ประสงค์จะกู้เงินให้ทําสัญญากู้มาเพื่อที่นายจันทร์จะนําไปให้นายพุธ ปรากฏว่านายอังคารหลงเชื่อจึงได้ทําสัญญากู้ ขึ้นมาข้อความว่า “นายอังคารกู้เงินจากนายพุธจํานวน 100,000 บาท จากนั้นได้ลงชื่อนายอังคารผู้กู้” ต่อมา นายจันทร์กับนายพุธสมคบกันนำสัญญากู้มาฟ้องเรียกเงินจากนายอังคาร โดยที่นายอังคารไม่ได้รับเงินกู้จากนายพุธ แต่ประการใดนั้น การกระทําของนายจันทร์ถือเป็นการหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ และโดยการหลอกลวงดังกล่าวทําให้นายอังคารผู้ถูกหลอกลวงทําเอกสารสิทธิ และนายจันทร์มีเจตนาทุจริตเพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น การกระทําของนายจันทร์จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341

สรุป นายจันทร์มีความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341

 

 

Advertisement