การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3001 กฎหมายอาญา 3

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1 เอและบีขับรถแข่งกันบนถนนสาธารณะต่างชิงขับปาดหน้ากันไปมา ขณะที่เอขับปาดหน้ารถของบีโดยกะทันหันทําให้บีเกิดความโกรธ จึงเร่งเครื่องรถยนต์ชนท้ายรถของเออย่างแรง ทําให้รถของเอ เสียหลักพุ่งไปชนรถจักรยานยนต์ที่แดงขับล้มลงเป็นเหตุให้แดงถึงแก่ความตาย ส่วนเอศีรษะแตก เลือดไหล ดังนี้ จะต้องรับผิดในความตายของแดงอย่างไรหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 59 วรรคสอง “กระทําโดยเจตนา ได้แก่ กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทําและในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น”

มาตรา 60 “ผู้ใดเจตนาที่จะกระทําต่อบุคคลหนึ่ง แต่ผลของการกระทําเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่ง โดยพลาดไป ให้ถือว่าผู้นั้นกระทําโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทํานั้น”

มาตรา 290 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดมิได้มีเจตนาฆ่า แต่ทําร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษ”

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไม่เจตนาตามมาตรา 290 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย

1 ทําร้ายผู้อื่น

2 เป็นเหตุให้ผู้ถูกทําร้ายถึงแก่ความตาย

3 โดยเจตนา

กรณีตามอุทาหรณ์

การที่บีเร่งเครื่องยนต์ชนท้ายรถของเออย่างแรงในขณะที่เอกําลังขับรถด้วยความเร็วนั้น บีย่อมเล็งเห็นได้ว่าจะทําให้เอได้รับอันตราย จึงถือว่าบีได้กระทําโดยมีเจตนาทําร้ายเอตาม มาตรา 59 วรรคสอง และจากการกระทําของบีทําให้รถของเอเสียหลักพุ่งไปชนรถจักรยานยนต์ที่แดงขับล้มลงนั้น ย่อมถือว่ามีเจตนาทําร้ายแดงโดยพลาดไปตามมาตรา 60 และเมื่อถือว่ามีเจตนาทําร้ายแดงและผลของการทําร้ายดังกล่าวนั้นทําให้แดงถึงแก่ความตาย ความตายของแดงจึงเป็นผลโดยตรงและเป็นผลที่ใกล้ชิดกับการทําร้ายของปี ดังนั้นบีจึงมีความผิดฐานมิได้มีเจตนาฆ่า แต่ทําร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม มาตรา 290 วรรคหนึ่ง

สรุป

บีมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนาตามมาตรา 290 ประกอบมาตรา 60

 

ข้อ 2 นายอาทิตย์ อายุ 21 ปี กับ น.ส.กวาง อายุ 17 ปีเศษ คบหาเป็นคนรักกันมากว่า 2 ปี วันหนึ่งเวลา 21.00 น. น.ส.กวาง หนีออกจากบ้านมาขอพักอยู่ที่บ้านเช่าของนายอาทิตย์โดยบอกว่าทะเลาะกับที่บ้าน นายอาทิตย์ยอมให้ น.ส.กวางพักอยู่ด้วยและตั้งใจจะร่วมประเวณีกันเพราะเป็นคนรักกัน อยู่แล้ว เวลา 21.30 น. มารดาของ น.ส.กวางก็ตามมาพาตัว น.ส.กวางกลับบ้านโดยนายอาทิตย์ ยังไม่ได้ร่วมประเวณีกับ น.ส.กวาง แต่อย่างใด จากข้อเท็จจริงดังกล่าวให้วินิจฉัยว่านายอาทิตย์มีความผิดฐานพรากผู้เยาว์หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 319 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจาก บิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อหากําไร หรือเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย ต้องระวางโทษ…”

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานพรากผู้เยาว์โดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วยตามมาตรา 319 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย

1 พรากผู้เยาว์อายุกว่า 15 ปีแต่ยังไม่เกิน 18 ปี

2 ไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล

3 โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย

4 โดยเจตนา

5 เพื่อหากําไร หรือเพื่อการอนาจาร

องค์ประกอบของความผิดที่สําคัญประการหนึ่งของความผิดฐานพรากผู้เยาว์ตามมาตรา 319 วรรคหนึ่ง คือต้องมีการพราก ซึ่งหมายถึงการเอาไปหรือพาไปหรือแยกผู้เยาว์ออกไปจากความปกครองของบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ทําให้ความปกครองดูแลของบุคคลดังกล่าวนั้นถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือน อันเป็นการส่วงอํานาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลผู้เยาว์นั้น

กรณีตามอุทาหรณ์

การที่ น.ส.กวางอายุ 17 ปีเศษได้หนีออกจากบ้านมาหานายอาทิตย์เองโดยที่ นายอาทิตย์ไม่ได้พาหรือชักชวน แต่เป็นกรณีที่ น.ส.กวางสมัครใจไปจากบิดามารดานั้น จึงไม่อยู่ในความหมายของ คําว่าพราก อันเป็นองค์ประกอบของความผิด ดังนั้นเมื่อนายอาทิตย์ไม่ได้กระทําการอันใดอันเป็นการพราก ผู้เยาว์อายุกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปีไปเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วยตามมาตรา 319 วรรคหนึ่ง นายอาทิตย์จึงไม่มีความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารตามมาตรา 319 วรรคหนึ่ง (ฎีกาที่ 949/2536)

สรุป

นายอาทิตย์ไม่มีความผิดฐานพรากผู้เยาว์ตามมาตรา 319 วรรคหนึ่ง

 

ข้อ 3 แดงได้จ้างแท็กซี่ของดําไปส่งที่สนามบินดอนเมืองเพื่อเดินทางไปเชียงใหม่ เมื่อถึงสนามบินแดงลืมโทรศัพท์มือถือของแดงไว้บนแท็กซีของดํา เมื่อไปถึงจังหวัดเชียงใหม่แดงได้โทรศัพท์เข้ามือถือที่ตน ลืมไว้บนแท็กซี่ แต่ดําปิดโทรศัพท์มือถือของแดงไม่ยอมรับสาย หลังจากนั้น 3 วันแดงเดินทางกลับ จากเชียงใหม่ ดําได้โทรศัพท์ไปหาแดงและจะคืนโทรศัพท์มือถือของแดงซึ่งมีราคาถึงสามหมื่นบาท ให้แดง แต่แดงจะต้องจ่ายค่าไถ่โทรศัพท์ให้ดําก่อนเป็นเงิน 5,000 บาท มิฉะนั้นดําจะไม่ยอมคืนโทรศัพท์มือถือเครื่องนี้ให้กับแดง ดํามีความผิดอาญาเกี่ยวกับทรัพย์ฐานใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 334 “ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้น กระทําความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษ…”

วินิจฉัย

องค์ประกอบของความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 ประกอบด้วย

1 เอาไป

2 ทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย

3 โดยเจตนา

4 โดยทุจริต

กรณีที่จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 นั้น จะต้องเป็นกรณีการเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปจากการครอบครองของผู้อื่นโดยทุจริต หรือเป็นการแย่งการครอบครองนั่นเอง ในกรณีที่เป็นการเอาทรัพย์สินของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริตในขณะที่ผู้เอาทรัพย์สินนั้น ไปได้ครอบครองทรัพย์สินนั้นอยู่ โดยอาจจะเป็นการครอบครองเพราะเจ้าของส่งมอบการครอบครองให้โดยชอบ หรือเพราะเจ้าของส่งมอบให้โดยสําคัญผิด หรือเป็นทรัพย์สินหายซึ่งผู้เอาไปนั้นเก็บได้ ย่อมไม่เป็นความผิดฐาน ลักทรัพย์ แต่อาจเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์สินหายแล้วแต่กรณีตามมาตรา 352

กรณีตามอุทาหรณ์

การที่แดงได้ลืมโทรศัพท์มือถือของแดงไว้บนรถแท็กซี่ของดํานั้นไม่ถือว่า แดงได้ส่งมอบโทรศัพท์มือถือให้ดําครอบครองแต่อย่างใด และไม่ถือว่าเป็นทรัพย์สินหายที่ดําเก็บได้ เพราะการที่แดงได้ลืมทรัพย์สินดังกล่าวไว้บนรถแท็กซี่นั้น ยังไม่ถือว่าทรัพย์สินนั้นขาดจากการยึดถือหรือขาดจากการ ครอบครองของแดง แต่ยังถือว่าแดงยังคงครอบครองทรัพย์สินนั้นอยู่ ดังนั้นเมื่อดําได้เอาทรัพย์สินคือโทรศัพท์มือถือของแดงไป จึงถือว่าเป็นการแย่งการครอบครองเอาทรัพย์สินไปจากผู้อื่นในลักษณะที่เป็นการตัด กรรมสิทธิ์ตลอดไป และเมื่อดําได้โทรศัพท์ไปหาแดงและจะคืนโทรศัพท์มือถือให้แดงโดยแดงจะต้องจ่ายค่า โทรศัพท์ให้ดําก่อนนั้น การกระทําของคําถือว่าเป็นการกระทําโดยทุจริตเพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดย ชอบด้วยกฎหมาย การกระทําของดําจึงครบองค์ประกอบของความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 ดังนั้น ดํา จึงมีความผิดอาญาฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334

สรุป

ดํามีความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334

 

ข้อ 4 หนึ่งทําสัญญาให้สองเป็นนายหน้าขายที่ดินให้ตนในราคาสิบล้านบาท โดยตกลงให้ค่านายหน้าแก่สองร้อยละสามเป็นเงินค่านายหน้าสามแสนบาท สองติดต่อขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้สมยศและขอให้ สมยศหักเงินค่านายหน้าจํานวนสามแสนบาทจากเงินที่ต้องชําระค่าที่ดินให้หนึ่งเก็บไว้ให้ด้วย แต่ในวันที่ทําสัญญาซื้อขายและโอนที่ดินกัน สมยศจ่ายค่าที่ดินให้หนึ่งสิบล้านบาทเต็มจํานวนโดยมิได้ หักค่านายหน้าไว้ ต่อมาสองได้ไปขอรับค่านายหน้าจากหนึ่งแต่หนึ่งหลอกสองว่ายังไม่ได้โอนขาย เมื่อถูกทวงถามหลายครั้งในที่สุดหนึ่งปฏิเสธว่าไม่เคยตกลงให้สองเป็นนายหน้า ดังนี้ หนึ่งจะมีความผิด เกี่ยวกับทรัพย์ฐานใดหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 341 “ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทําให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามทํา ถอน หรือทําลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทําความผิดฐานฉ้อโกง ต้อง ระวางโทษ”

มาตรา 352 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของ รวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทําความผิดฐานยักยอก ต้อง ระวางโทษ

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341 ประกอบด้วย

1 หลอกลวงผู้อื่นด้วยการ

(ก) แสดงข้อความเป็นเท็จ หรือ

(ข) ปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง

2 โดยการหลอกลวงนั้น

(ก) ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือ

(ข) ทําให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามทํา ถอน หรือทําลายเอกสารสิทธิ

3 โดยเจตนา

4 โดยทุจริต

องค์ประกอบความผิดฐานยักยอกตามมาตรา 352 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย

1 ครอบครอง

2 ทรัพย์ของผู้อื่นหรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย

3 เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สาม

4 โดยเจตนา

5 โดยทุจริต

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่หนึ่งทําสัญญาให้สองเป็นนายหน้าขายที่ดินให้ตน โดยตกลงให้ค่านายหน้าแก่สอง ต่อมาสองได้ติดต่อขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้สมยศโดยมีการทําสัญญาซื้อขายและโอนที่ดินกันแล้ว และสมยศได้จ่ายค่าที่ดินให้หนึ่งเต็มจํานวนแล้ว แต่เมื่อสองได้ไปขอรับค่านายหน้าจากหนึ่งแต่หนึ่งหลอกสองว่า ยังไม่ได้โอนขายที่ดิน และเมื่อถูกทวงถามหลายครั้งในที่สุดหนึ่งปฏิเสธว่าไม่เคยตกลงให้สองเป็นนายหน้านั้น การปฏิเสธไม่จ่ายค่านายหน้าให้แก่สองดังกล่าว หนึ่งย่อมไม่มีความผิดอาญาเกี่ยวกับทรัพย์แต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็น ความผิดฐานฉ้อโกงหรือความผิดฐานยักยอก ทั้งนี้เพราะ

1 การที่หนึ่งหลอกสองว่ายังไม่ได้โอนขายที่ดินโดยมีเจตนาจะไม่จ่ายค่านายหน้าให้แก่ สองนั้น แม้จะเป็นการหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จโดยเจตนาก็ตาม แต่การหลอกลวง ดังกล่าวก็ไม่ทําให้หนึ่งได้ทรัพย์สินจากสองผู้ถูกหลอกลวงแต่อย่างใด เป็นเพียงการที่หนึ่งมีเจตนาจะไม่จ่าย ค่านายหน้าเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากล่าวกันในทางแพ่งต่อไป ดังนั้น การกระทําของหนึ่งจึงไม่เป็นความผิด ฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341

2 การที่สมยศจ่ายค่าที่ดินให้หนึ่งเต็มจํานวนโดยมิได้หักค่านายหน้าไว้ และหนึ่งปฏิเสธ ไม่จ่ายค่านายหน้าจํานวน 300,000 บาทให้แก่สองนั้น การกระทําของหนึ่งย่อมไม่เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ตามมาตรา 352 วรรคหนึ่ง เพราะเงินที่หนึ่งได้รับจากการขายที่ดินทั้งหมดเป็นกรรมสิทธิ์ของหนึ่งผู้ขายจึงไม่ ถือว่าหนึ่งได้ครอบครองทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย แล้วได้เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็น ของตนแต่อย่างใด

สรุป

หนึ่งไม่มีความผิดฐานฉ้อโกงหรือความผิดฐานยักยอกทรัพย์แต่อย่างใด

 

 

Advertisement