การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3001 กฎหมายอาญา 3

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ

ข้อ  1  น.ส.แจ๋วต้องการลักทรัพย์ของนายจ้าง  จึงแอบเอายานอนหลับผสมในเครื่องดื่มให้นายจ้างดื่มจะได้ลักทรัพย์ได้สะดวก  ปรากฏว่านายจ้างแพ้ยาทำให้หัวใจวายถึงแก่ความตาย  ดังนี้  น.ส.แจ๋ว  จะมีความผิดต่อชีวิตฐานใด  หรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  290  วรรคแรก  ผู้ใดมิได้มีเจตนาฆ่า  แต่ทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย  ต้องระวางโทษ…

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิด  ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไม่เจตนา  ตามมาตรา  290  วรรคแรก  ประกอบด้วย

1  ทำร้ายผู้อื่น

2  เป็นเหตุให้ผู้ถูกทำร้ายถึงแก่ความตาย

3  โดยเจตนา

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่  น.ส.แจ๋วต้องการลักทรัพย์นายจ้างจึงได้แอบเอายานอนหลับผสมเครื่องดื่มให้นายจ้างดื่ม  จะได้ลักทรัพย์ได้สะดวก  การกระทำของ  น.ส.แจ๋วเช่นนี้  ไม่มีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา  เพราะเหตุว่า  น.ส.แจ๋วไม่มีเจตนาประสงค์ต่อผลในชีวิตของนายจ้าง  หรือการที่นำยานอนหลับผสมในเครื่องดื่มให้นายจ้างดื่มนั้น  ก็ไม่อาจเล็งเห็นได้ว่าจะทำให้นายจ้างถึงแก่ความตายแต่อย่างใด

แต่อย่างไรก็ตาม  การที่  น.ส.แจ๋วเอายานอนหลับให้นายจ้างกิน  ถือได้ว่า  น.ส.แจ๋วมีเจตนาทำร้ายนายจ้าง  เมื่อนายจ้างถึงแก่ความตาย น.ส.แจ๋วจึงมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา  ตามมาตรา  290  วรรคแรก

สรุป  น.ส.แจ๋วมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา  ตามมาตรา  290  วรรคแรก

 

ข้อ  2  หนึ่งบอกขายที่ดินให้กับสองในราคา  15  ล้านบาท  สองเห็นว่าราคาไม่แพงและกำลังต้องการที่ดินเพื่อสร้างบ้าน  แต่เนื่องจากโฉนดที่ดินของหนึ่งถูกนายแดงยึดไว้เป็นประกันเงินที่หนึ่งกู้ไป  3  ล้านบาท  หนึ่งจึงขอให้สองเอาเงินสดมาชำระหนี้นายแดงแทนตนก่อน  จะได้รีบนำโฉนดไปโอนขายกันในวันนั้นเลย  สองตกลงนำเงินสดมาตามที่นัดหมายกัน  โดยให้หนึ่งขับรถพาไปบ้านนายแดง  ระหว่างทางหนึ่งเกิดความโลภจึงขับรถไปจอดหน้าร้านขายยา  และหลอกให้สองช่วยลงไปซื้อยาแก้ไข้แก้ปวด  โดยอ้างว่าตนลงไปไม่ได้เพราะเป็นที่ห้ามจอด  พอสองลงจากรถเดินเข้าไปในร้านขายยา  หนึ่งรีบขับรถพากระเป๋าใส่เงิน  3  ล้านบาทของสองหนีไป  ดังนี้หนึ่งจะมีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ฐานใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  334  ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น  หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์  ตามมาตรา  334  ประกอบด้วย

1       เอาไป

2       ทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย

3       โดยเจตนา

4       โดยทุจริต

ทั้งความผิดฐานลักทรัพย์และความผิดฐานฉ้อโกง  ต่างทำให้ผู้กระทำความผิดได้ทรัพย์ไปจากผู้ครอบครองเช่นเดียวกัน  แต่ลักษณะการได้มาจะแตกต่างกัน  กล่าวคือ  ในความผิดฐานลักทรัพย์ผู้กระทำความผิดเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยพลการ  เจ้าของหรือผู้ครอบครองไม่ยินยอม  และการครอบครองยังอยู่ที่เจ้าของทรัพย์หรือผู้ครอบครอง  ส่วนความผิดฐานฉ้อโกง  ผู้กระทำความผิดได้ทรัพย์ไปโดยความยินยอมจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์  แต่ความยินยอมดังกล่าวเกิดจากการหลอกลวง

กรณีตามอุทาหรณ์  การกระทำของหนึ่งมีความผิดฐานลักทรัพย์  เพราะการที่สองลงไปซื้อยาแก้ปวด  การครอบครองเงินยังอยู่ที่สอง  นายสองมิได้มีเจตนาที่จะสละการครอบครอง  เมื่อหนึ่งขับรถพากระเป๋าใส่เงินของสองหนีไป  จึงถือเป็นการแย่งการครอบครองโดยพาเอาทรัพย์นั้นไปในลักษณะตัดกรรมสิทธิ์  โดยมีเจตนาทุจริต  เพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย  การกระทำของหนึ่งจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์  ตามมาตรา  334

ส่วนการที่หนึ่งหลอกให้สองไปซื้อยาให้นั้น  ก็ไม่ถือว่าเป็นความผิดฐานฉ้อโกง  เพราะเป็นการหลอกลวงเพื่อความสะดวกที่จะลักทรัพย์ ซึ่งการหลอกลวงนั้นไม่ทำให้หนึ่งได้ทรัพย์และไม่ได้การครอบครองแต่อย่างใด  หนึ่งยังคงต้องกระทำการเอาทรัพย์ไปจากสองโดยทุจริตจึงเป็นการลักทรัพย์

สรุป  หนึ่งมีความผิดฐานลักทรัพย์

 

ข้อ  3  น.ส.หน่อย  อายุ  16  ปี  เป็นนักเรียนระดับมัธยมปลาย  และเป็นเพื่อนกับ  น.ส.พลอย  บุตรสาวของนายสิงหา  น.ส.หน่อยไปที่บ้านของนายสิงหาเป็นประจำเพื่อติดรถของนายสิงหาไปโรงเรียนพร้อมกับน.ส.พลอย  ในวันหยุดก็ไปทำการบ้านและนั่งเล่นกับ  น.ส.พลอยที่บ้านของนายสิงหาบ่อยครั้ง  วันเกิดเหตุ  น.ส.หน่อยไปที่บ้านของนายสิงหา  แต่  น.ส.พลอยไม่อยู่บ้าน  นายสิงหาจึงถือโอกาสชวน น.ส.หน่อยเข้าไปในห้องนอนโดยมีเจตนาจะกระทำชำเรา  ขณะนั้น  น.ส.พลอยกลับเข้ามาในบ้านนายสิงหาจึงไม่ได้กระทำชำเรากับ  น.ส.หน่อยแต่อย่างใด  ดังนี้ให้วินิจฉัยว่าการกระทำของนายสิงหาจะเป็นความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพฐานใดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  319  วรรคแรก  ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี  แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา  ผู้ปกครอง  หรือผู้ดูแล  เพื่อหากำไร  หรือเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย  ต้องระวางโทษ…

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิด ตามมาตรา  319  วรรคแรก  ประกอบด้วย

1       พรากผู้เยาว์อายุกว่า  15  ปี  แต่ยังไม่เกิน  18  ปี

2       ไปเสียจากบิดามารดา  ผู้ปกครอง  หรือผู้ดูแล

3       โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย

4       โดยเจตนา

5       เพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจาร

การพราก  หมายถึง  การพาไปหรือแยกผู้เยาว์ออกไปจากความปกครองดูแลของบิดามารดา  ผู้ปกครอง  หรือผู้ดูแล  ทำให้ความปกครองดูแลของบุคคลดังกล่าว  ถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือน  อันเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของบุคคลดังกล่าว

กรณีตามอุทาหรณ์  น.ส.หน่อย  อายุ  16  ปี  ก่อนเกิดเหตุ  น.ส.หน่อยโดยสารรถของนายสิงหาไปโรงเรียนเป็นประจำ  เมื่อกลับจากโรงเรียนแล้วมีบ่อยครั้งที่  น.ส.หน่อยนั่งเล่นและทำการบ้านอยู่กับ  น.ส.พลอย  ซึ่งเป็นบุตรสาวของนายสิงหาที่บ้านของนายสิงหา  พฤติการณ์เช่นนี้แม้ขณะที่  น.ส.หน่อยเล่นอยู่ที่บ้านนายสิงหา  ก็ถือว่า  น.ส.หน่อยยังอยู่ในความปกครองดูแลของบิดามารดา  ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลก็ตาม

แต่การที่  น.ส.หน่อยได้มาหา  น.ส.พลอยบุตรสาวของนายสิงหาที่บ้าน  โดยที่นายสิงหาไม่ได้ชักชวนให้มาแต่อย่างใด  จึงเป็นกรณีที่ผู้เยาว์ไปบ้านของนายสิงหาเองโดยสมัครใจ  มิได้เกิดจากนายสิงหาหรือบุคคลอื่นใดชักพาไป  การที่  น.ส.หน่อยมาที่บ้านของนายสิงหา จึงไม่ถือว่าเป็น  “การพราก”  ตามนัยของมาตรา  319  วรรคแรก

เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการพรากแล้ว  แม้นายสิงหาจะชวน  น.ส.หน่อยเข้าไปในห้องนอนโดยมีเจตนากระทำชำเรา  แต่ยังไม่มีการร่วมประเวณีกัน  ก็ไม่เป็นการพรากไปเพื่ออนาจาร  เพราะเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นในบริเวณบ้านของนายสิงหาเอง  นายสิงหาไม่ได้ชักชวนหรือพา  น.ส.หน่อยไปยังสถานที่อื่น  กรณีจึงถือไม่ได้ว่านายสิงหาพราก  น.ส.หน่อยไปเสียจากความปกครองดูแลของบิดามารดาหรือผู้ปกครอง  ดังนั้นการกระทำของนายสิงหาจึงไม่เป็นความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ  ฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่ออนาจาร  ตามมาตรา  319  วรรคแรก  แต่อย่างใด  (ฎ. 1102/2541)

สรุป  นายสิงหาไม่มีความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ  ฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่ออนาจาร  ตามมาตรา  319  วรรคแรก

 

ข้อ  4  ดำซึ่งเป็นนายจ้างได้ไปกับขาวลูกจ้าง  เพื่อไปซื้อหมูในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง  ดำเกิดมีปากเสียงกับมืดพ่อค้าขายหมูจึงมีการท้าชกต่อยกัน  ดำจึงให้ขาวลูกจ้างนำกระเป๋าซึ่งมีเงิน  15,000  บาท  ออกไปจากที่เกิดเหตุที่จะมีการชกต่อยกัน  และดำบอกให้ขาวไปรอที่หน้าปากซอยซึ่งห่างจากที่เกิดเหตุพอประมาณ  เมื่อขาวนำกระเป๋าออกไปรอดำอยู่นั้น  ขาวเปิดกระเป๋าพบเงินจำนวนมาก  ขาวจึงได้เอากระเป๋าที่มีเงินนั้นหนีไปเลย  ขาวมีความผิดอาญาเกี่ยวกับทรัพย์ฐานใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  352  วรรคแรก  ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น  หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย  เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอกต้องระวางโทษ…

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานยักยอกทรัพย์  ตามมาตรา  352  วรรคแรก  ประกอบด้วย

1       ครอบครอง

2       ทรัพย์ของผู้อื่นหรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย

3       เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สาม

4       โดยเจตนา

5       โดยทุจริต

ความผิดฐานลักทรัพย์กับความผิดฐานยักยอกทรัพย์  มีข้อแตกต่างหรือจุดแยกที่สำคัญก็คือ  จะต้องพิจารณาว่าทรัพย์อยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิดหรือไม่  เพราะความผิดฐานลักทรัพย์  เป็นเรื่องของการแย่งการครอบครอง  แต่ถ้าความครอบครองอยู่ที่ผู้กระทำความผิดแล้วเบียดบังโดยทุจริตก็เป็นเรื่องของการยักยอกทรัพย์

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่ดำให้ขาวลูกจ้างนำกระเป๋าซึ่งมีเงิน  15,000  บาท  ออกไปจากที่เกิดเหตุเพื่อความปลอดภัยแห่งทรัพย์  กรณีถือเป็นการส่งมอบการครอบครองกระเป๋าซึ่งมีเงินให้แก่ขาวลูกจ้างโดยชอบด้วยกฎหมาย  ขาวจึงเป็นผู้ครอบครองทรัพย์ของผู้อื่น  มิได้ยึดถือไว้แทนดำในฐานะลูกจ้างแต่อย่างใด  เมื่อขาวได้เอากระเป๋าที่มีเงินนั้นหนีไป  จึงเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์ของผู้อื่นนั้นไปโดยทุจริต  เพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้  โดยชอบด้วยกฎหมาย  ขาวจึงมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์  ตามมาตรา  352  วรรคแรก  หาใช่กระทำความผิดฐานลักทรัพย์ไม่  (ฎ. 460/2512 (ประชุมใหญ่))

สรุป  ขาวมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์

Advertisement