การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3001 กฎหมายอาญา 3

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ

ข้อ  1  ร.ต.ท.สมปองเข้าไปรับประทานอาหารในร้านอาหารแห่งหนึ่ง  ก่อนที่จะนั่งได้ดึงเอาอาวุธปืนที่เหน็บไว้ที่เอวออกมาเพื่อที่จะตรวจ  ล็อคเซฟกระสุนปืน  แต่ด้วยความรีบร้อนทำปืนหล่นลงพื้น  กระสุนปืนลั่นเสียงดัง  ทำให้เอ๋ที่นั่งอยู่โต๊ะข้างๆตกใจ  โรคหัวใจกำเริบจนช็อคและถึงแก่ความตาย  ดังนี้  ร.ต.ท.สมปองจะมีความผิดต่อชีวิตฐานใดหรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  59  วรรคสี่  กระทำโดยประมาท  ได้แก่  กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา  แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง  ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้น  จักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้  แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่

มาตรา  291  ผู้ใดกระทำประมาท  และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย  ตามมาตรา  291  ประกอบด้วย

1       กระทำด้วยประการใดๆ

2       การกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

3       โดยประมาท

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่  ร.ต.ท.สมปองได้ทำปืนหล่นลงพื้น  กระสุนปืนลั่นเสียงดัง  ถือว่าเป็นการกระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  และ  ร.ต.ท.สมปองผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้  แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่  อันถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทตามมาตรา  59  วรรคสี่

อย่างไรก็ดี  การที่เอ๋ซึ่งนั่งอยู่โต๊ะข้างๆ  เกิดตกใจเสียงปืนจนช็อคตายนั้น  ถือว่าเป็นผลที่ห่างไกลเกินเหตุ  ซึ่งตามปกติแล้วการที่มีเสียงดังไม่น่าจะทำให้คนตกใจจนถึงแก่ความตายได้  จึงเป็นการบังเอิญที่เอ๋ซึ่งเป็นโรคหัวใจมานั่งใกล้กับที่ทำปืนหล่น  และตกใจเสียงปืนที่บังเอิญเกิดลั่นขณะหล่นลงพื้น  ผลคือความตายจึงไม่มีความสัมพันธ์กับการกระทำของ  รต.ท.สมปอง  ดังนั้น  ร.ต.ท.สมปอง  จึงไม่ต้องรับผิดในผลที่เกิดขึ้นนั้น  ดังนั้น  ร.ต.ท.สมปองจึงไม่มีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย  ตามมาตรา  291

สรุป  ร.ต.ท.สมปองไม่มีความผิดต่อชีวิตฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

 

ข้อ  2  นางน้อยภริยาของนายใหญ่แอบมีชู้กับนายเล็ก  โดยนัดหมายให้นายเล็กมาหาที่บ้านและร่วมประเวณีกัน  ขณะที่นายใหญ่เดินทางไปทำงานในต่างจังหวัด  นางเดือนซึ่งเป็นเพื่อนบ้านเคยเห็นการกระทำของนางน้อยหลายครั้ง  วันหนึ่งนางเดือนได้เล่าเรื่องที่ตนเห็นให้นางสมศรีฟัง  นางสมศรีได้บอกให้นายใหญ่รู้ถึงพฤติกรรมของนางน้อยโดยบอกด้วยว่าเรื่องทั้งหมดนางเดือนเล่าให้ฟัง  ต่อมานางน้อยจึงดำเนินคดีกับนางเดือนว่ากระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท  ในชั้นศาลนางเดือนให้การรับสารภาพว่าได้พูดจริง  แต่ขอพิสูจน์ความจริงเพราะมีเพื่อนบ้านอีกหลายคนจะเป็นพยานให้  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่า  นางเดือนจะขอพิสูจน์ความจริงได้หรือไม่  และจะมีความผิดตามที่นางน้อยฟ้องหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  326  ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม  โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่น  หรือถูกเกลียดชัง  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท  ต้องระวางโทษ…

มาตรา  330  วรรคสอง  แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์  ถ้าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้น  เป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว  และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาท  ตามมาตรา  326  ประกอบด้วย

1       ใส่ความผู้อื่น

2       ต่อบุคคลที่สาม

3       โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง  ถูกดูหมิ่น  หรือถูกเกลียดชัง

4       โดยเจตนา

คำว่า  “ใส่ความ”  ตามนัยมาตรา  326  หมายความว่า  พูดหาเหตุร้าย  หรือกล่าวหาเรื่องร้ายให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย  โดยเป็นการยืนยันข้อเท็จจริง  ซึ่งกระทำต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง  ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง  ดังนั้นข้อความที่เป็นถ้อยคำเปรียบเทียบที่ไม่สุภาพหรือเหยียดหยามให้อับอาย  ยังไม่ถือว่าเป็นการกล่าวหาเรื่องร้ายอันเป็นการใส่ความ

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นางเดือนเล่าถึงการกระทำของนางน้อยให้นางสมศรีฟัง  กรณีถือเป็นการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม  โดยประการที่น่าจะทำให้นางน้อยเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่น  หรือถูกเกลียดชัง  นางเดือนจึงมีความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามมาตรา  326

ส่วนการที่นางเดือนจะขอพิสูจน์ความจริงนั้น  เห็นว่า  กรณีเข้าข้อห้ามพิสูจน์ตามมาตรา  330  วรรคสอง  เพราะเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัวและการพิสูจน์นั้นไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน นางเดือนจึงขอพิสูจน์ความจริงไม่ได้

ดังนั้น  นางเดือนจึงมีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา  326  และจะขอพิสูจน์ความจริงนั้นไม่ได้  ตามมาตรา  330  วรรคสอง

สรุป  นางเดือนมีความผิดฐานหมิ่นประมาท  และขอพิสูจน์ความจริงนั้นไม่ได้

 

ข้อ  3  จำเลยเป็นอาจารย์ทางไสยศาสตร์  มีประชาชนนับถือมาก  วันเกิดเหตุ  นาย  ก  ได้เชิญจำเลยมาทำพิธีขึ้นบ้านใหม่  จำเลยบอกนาย  ก  ว่า  เพื่อความเป็นสิริมงคลในการขึ้นบ้านใหม่  ให้นาย  ก  นำเงินและทองมาใส่ถุงย่ามที่จำเลยสะพายอยู่  นาย  ก  หลงเชื่อจึงนำเงิน  2,000  บาท  และสร้อยคอทองคำหนักหนึ่งบาทใส่ไปในถุงย่าม  จากนั้นจำเลยและนาย  ก  เดินทางไปที่บ้านของนาย  ก  เพื่อทำพิธี ระหว่างทางจำเลยได้ล้วงเอาเงินและสร้อยคอไป  เมื่อไปถึงบ้านหลังใหม่จึงไม่ได้ทำพิธีโดยจำเลยบอกนาย  ก  ว่า  ไม่มีเงินและทองมาทำพิธี  ส่วนนาย  ก  โต้เถียงว่าได้มอบให้ไปแล้ว  ดังนี้  จำเลยมีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  334  ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น  หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์  ตามมาตรา  334  ประกอบด้วย

1       เอาไป

2       ทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย

3       โดยเจตนา

4       โดยทุจริต

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นาย  ก  นำเงิน  2,000  บาท  และสร้อยคอทองคำหนัก  1  บาท  ใส่ไปในถุงย่ามเป็นเพียงให้จำเลยยึดถือไว้ชั่วคราว  โดยที่นาย  ก  ยังมิได้สละการครอบครองให้จำเลย  การครอบครองทรัพย์ยังคงอยู่กับนาย  ก  เมื่อจำเลยเอาเงินและสร้อยคอทองคำไป  โดยที่นาย  ก  เจ้าของทรัพย์ไม่ทราบเรื่อง  การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเอาไปซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นโดยทุจริต  อันเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา  334

สรุป  จำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์

 

ข้อ  4  นายหนึ่งพูดกับนายสองว่า  ถ้านายสองไม่ให้เงินแก่นายหนึ่งอีก  7  วัน  จะมาฆ่านายสองให้ตาย  ซึ่งการพูดของนายหนึ่งเป็นการล้อเล่น  และนายหนึ่งคิดว่านายสองจะรู้ว่าเป็นการล้อเล่น  แต่นายสองคิดว่าเป็นจริงจึงส่งเงินให้แก่นายหนึ่ง  5,000  บาท  ปรากฏว่านายหนึ่งก็รับเงินนั้นไว้  ต่อมานำเงินนั้นไปใช้  ดังนี้นายหนึ่งมีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  337  วรรคแรก  ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้  หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน  โดยใช้กำลังประทุษร้าย  หรือโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต  ร่างกาย  เสรีภาพ  ชื่อเสียง  หรือทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญ  หรือของบุคคลที่สามจนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกรรโชกต้องระวางโทษ..

มาตรา  352  วรรคแรก  ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น  หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย  เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอกต้องระวางโทษ…

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานกรรโชก  ตามมาตรา  337  วรรคแรก  ประกอบด้วย

1       ข่มขืนใจผู้อื่น

2       โดยใช้กำลังประทุษร้าย  หรือโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต  ร่างกาย  เสรีภาพ  ชื่อเสียง  หรือทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญ  หรือของบุคคลที่สาม

3       ให้  ยอมให้  หรือยอมจะให้  ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน

4       จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น 

5       โดยเจตนา

องค์ประกอบความผิดฐานยักยอกทรัพย์  ตามมาตรา  352  วรรคแรก  ประกอบด้วย

1       ครอบครอง

2       ทรัพย์ของผู้อื่นหรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย

3       เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สาม

4       โดยเจตนา

5       โดยทุจริต

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายหนึ่งพูดกับนายสองว่า  “ถ้านายสองไม่ให้เงินแก่นายหนึ่งอีก  7  วัน  จะฆ่านายสองให้ตาย”  ซึ่งการพูดของนายหนึ่งเป็นการล้อเล่น  และนายหนึ่งคิดว่านายสองจะรู้ว่าเป็นการล้อเล่น  การกระทำของนายหนึ่งดังกล่าวจึงไม่ผิดฐานกรรโชกทรัพย์ตามมาตรา  337  เพราะนายหนึ่งไม่มีเจตนา  เป็นเพียงการพูดล้อเล่นเท่านั้น

แต่อย่างไรก็ดี  การที่นายสองส่งเงินให้นายหนึ่งดังกล่าว  ถือว่านายสองได้ส่งมอบการครอบครองเงินให้แก่นายหนึ่ง  นายหนึ่งจึงเป็นผู้ครอบครองทรัพย์ของผู้อื่น  เมื่อนายหนึ่งนำเงินดังกล่าวไปใช้  การกระทำของนายหนึ่งจึงเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์ของผู้อื่นนั้นไปโดยทุจริต  นายหนึ่งจึงมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์  ตามมาตรา  352

สรุป  นายหนึ่งมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์

Advertisement