การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2554
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3001 กฎหมายอาญา 3
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 83 ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
มาตรา 295 ผู้ใดทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย หรือจิตใจของผู้นั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษ
มาตรา 297 ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษ
อันตรายสาหัสนั้น คือ
(8) ทุพพลภาพ หรือเจ็บป่วยด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวัน หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน
วินิจฉัย
ความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ตามมาตรา 297 เป็นเหตุที่ทำให้ผู้กระทำผิดฐานทำร้ายร่างกาย ตามมาตรา 295 ต้องรับโทษหนักขึ้น เพราะผลที่เกิดจากการกระทำ ดังนั้น ในเบื้องต้นจึงต้องพิจารณาก่อนว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามมาตรา 295 หรือไม่
องค์ประกอบความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ตามมาตรา 295 ประกอบด้วย
1 ทำร้าย
2 ผู้อื่น
3 จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่น
4 โดยเจตนา
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่แจ็คชักมีดคัตเตอร์ออกมาจากกระเป๋าปาดถูกข้อมือสองเป็นบาดแผลฉกรรจ์เส้นเอ็นขาดโดยเจตนานั้น การกระทำดังกล่าวของแจ็คถือว่าเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ตามมาตรา 295 แล้ว เมื่อผลที่เกิดจากการกระทำผิดดังกล่าวทำให้มือข้างนั้นของสองใช้การไม่ได้ตามปกตินานกว่า 1 เดือน แจ็คจึงมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสตามมาตรา 297(8)
และเมื่อข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ จะปรากฏว่าแจ็คแต่ผู้เดียวที่เป็นผู้ใช้มีดคัตเตอร์ทำร้ายสอง และหนึ่งมีเจตนาแค่ทำร้ายสองโดย ไม่มีเจตนาที่จะทำร้ายสองให้สาหัส แต่เมื่อผลที่เกิดขึ้นกับสองนั้น เป็นอันตรายสาหัส ซึ่งถือเป็นผลธรรมดาที่เกิดขึ้นได้จากการทำร้ายร่างกายโดยใช้อาวุธและเป็นผลที่ผู้กระทำมิต้องมีเจตนา เมื่อหนึ่งและแจ็คมีเจตนาร่วมกันที่จะทำร้ายและมีการกระทำร่วมกัน จึงเป็นตัวการร่วม ดังนั้น หนึ่งจึงต้องรับผิดในผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำของแจ็คด้วย หนึ่งจึงมีความผิดฐานเป็นตัวการร่วมในความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสตามมาตรา 297(8) ประกอบมาตรา 83
สรุป หนึ่งมีความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ตาม ป.อ. มาตรา 297(8) ประกอบมาตรา 83
ข้อ 2 นายหนึ่งกับนายสองทะเลาะกันเรื่องกิ่งไม้บ้านของนายหนึ่งรุกล้ำที่ดินของนายสอง นายสองบอกให้ตัดแต่นายหนึ่งไม่ยอมตัด นายสองจึงตัดกิ่งไม้และนายหนึ่งไม่พอใจ ขณะกำลังยืนทะเลาะกันอยู่ที่หน้าบ้าน นางเดือนภริยาของนายสองกลับมาจากตลาดเห็นบุคคลทั้งสองทะเลาะกัน นางเดือนจึงพูดด้วยเสียงอันดังว่า “พี่สองอย่าเสียเวลาทะเลาะเดี๋ยวสุนัขจะกัดเอา” ขณะที่นางเดือนพูดเพื่อนบ้านคนอื่นซึ่งยืนดูอยู่แถวนั้นก็ได้ยินหลายคน ต่อมานายหนึ่งจึงไปแจ้งความให้ดำเนินคดีกับนางเดือนในข้อหาหมิ่นประมาท ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า การกระทำของนางเดือนจะเป็นความผิดตามข้อกล่าวหาหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษ…
วินิจฉัย
องค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามมาตรา 326 ประกอบด้วย
1 ใส่ความผู้อื่น
2 ต่อบุคคลที่สาม
3 โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง
4 โดยเจตนา
คำว่า “ใส่ความ” ตามนัยมาตรา 326 หมายความว่า พูดหาเหตุร้าย หรือกล่าวหาเรื่องร้ายให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย โดยเป็นการยืนยันข้อเท็จจริง ซึ่งกระทำต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ดังนั้นข้อความที่เป็นถ้อยคำเปรียบเทียบที่ไม่สุภาพหรือเหยียดหยามให้อับอาย หรือข้อความที่ไม่ทำให้บุคคลซึ่งได้ยินเชื่อว่าจะเป็นไปได้ ยังไม่ถือว่าเป็นการกล่าวหาเรื่องร้ายอันเป็นการใส่ความตามมาตรานี้
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางเดือนพูดว่า “พี่สองอย่าเสียเวลาทะเลาะเดี๋ยวสุนัขจะกัดเอา” นั้น ถึงแม้คำพูดดังกล่าวของนางเดือนจะเป็นการเปรียบนายหนึ่งว่าเป็นสุนัข และเพื่อนบ้านคนอื่นซึ่งยืนดูอยู่แถวนั้นก็ได้ยินหลายคน อีกทั้งนางเดือนก็ได้พูดโดยเจตนาก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าคำพูดของนางเดือนดังกล่าวไม่อาจทำให้บุคคลซึ่งได้ยินจะเชื่อว่าเป็นไปได้ (คนไม่สามารถกลายเป็นสุนัขได้) ดังนั้น คำพูดดังกล่าวจึงไม่น่าจะทำให้นายหนึ่งเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังอันถือเป็นการใส่ความตามมาตรา 326 แต่อย่างใด นางเดือนจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326 ตามที่นายหนึ่งกล่าวหา
สรุป นางเดือนไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326
ข้อ 3 จำเลยกับนาย ก นำโคไปเลี้ยงกลางทุ่งนา ปรากฏว่าฝูงโคของนาย ก เดินปะปนไปกับฝูงโคของจำเลยจนแยกไม่ออก นาย ก ไม่สามารถแยกฝูงโคของนาย ก ออกมาได้ นาย ก จึงบอกแก่จำเลยให้ดูไว้ให้ด้วยเดี๋ยวจะมาเอา จำเลยรับปากว่าจะดูให้ ต่อมาจำเลยพาฝูงโคของจำเลยและของนาย ก ไปที่บ้านของจำเลย จากนั้นนำโคของนาย ก ไปขาย ดังนี้ จำเลยมีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 334 ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษ…
วินิจฉัย
องค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ ตามมาตรา 334 ประกอบด้วย
1 เอาไป
2 ทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย
3 โดยเจตนา
4 โดยทุจริต
กรณีที่จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ตามมาตรา 334 นั้น จะต้องเป็นกรณีการเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปจากการครอบครองของผู้อื่นโดยทุจริต หรือเป็นการแย่งการครอบครองนั่นเอง ในกรณีที่เป็นการเอาทรัพย์สินของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริตในขณะที่ผู้เอาทรัพย์สินนั้นไป ได้ครอบครองทรัพย์สินนั้นอยู่ย่อมไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ แต่อาจเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ (ตามมาตรา 352 วรรคแรก)
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นาย ก บอกให้จำเลยดูฝูงโคของนาย ก ไว้ให้ด้วยเดี๋ยวจะมาเอานั้น ถือเป็นการบอกให้จำเลยช่วยดูแลทรัพย์เป็นการชั่วคราว ยังไม่ถึงกับเป็นการฝากทรัพย์ จึงยังไม่เป็นการส่งมอบการครอบครอง ดังนั้น การครอบครองฝูงโคดังกล่าวจึงยังคงอยู่ที่นาย ก การที่จำเลยนำโคของนาย ก ไปขาย จึงเป็นการแย่งการครอบครองจากผู้อื่น และเมื่อเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยเจตนาและโดยทุจริต จำเลยจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์ ตามมาตรา 334 (ฎ. 535/2500)
สรุป จำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ ตามมาตรา 334
ข้อ 4 นายเอกมีบุตรชอบด้วยกฎหมายคนหนึ่งคือนายโท วันเกิดเหตุนายตรีเขียนจดหมายส่งไปถึงนายเอกในจดหมายมีข้อความว่า “ให้นายเอกส่งเงินจำนวน 100,000 บาท ไปให้แก่นายตรีมิฉะนั้นอีก 7 วัน นายตรีจะฆ่านายโทให้ตาย” ปรากฏว่านายเอกกลัวและไม่ตกลงด้วย ข้อเท็จจริงได้ความว่านายโทเป็นคนบอกให้นายตรีเขียนจดหมายไปขู่เข็ญนายเอก ดังนี้ นายตรีมีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 80 ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด
มาตรา 337 วรรคแรก ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้ หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญ หรือของบุคคลที่สามจนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกรรโชกต้องระวางโทษ..
วินิจฉัย
องค์ประกอบความผิดฐานกรรโชก ตามมาตรา 337 วรรคแรก ประกอบด้วย
1 ข่มขืนใจผู้อื่น
2 โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญ หรือของบุคคลที่สาม
3 ให้ ยอมให้ หรือยอมจะให้ ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน
4 จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น
5 โดยเจตนา
ความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ตามมาตรานี้ จะเป็นความผิดสำเร็จต่อเมื่อผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น หรือยอมตามที่ถูกบังคับ กล่าวคือ ยอมให้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินในเวลาที่ถูกบังคับ หรือยอมจะให้ประโยชน์ดังกล่าวในภายหน้านั่นเอง
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายตรีเขียนจดหมายส่งไปถึงนายเอก โดยในจดหมายมีข้อความว่า “ให้นายเอกส่งเงินจำนวน 100,000 บาท ไปให้นายตรี มิฉะนั้นอีก 7 วัน นายตรีจะฆ่านายโทให้ตาย” นั้น การกระทำของนายตรีถือเป็นการข่มขืนใจผู้อื่นโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิตของบุคคลที่สาม เพื่อให้ผู้อื่นนั้นให้ ยอมให้ หรือยอมจะให้ตนได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินและได้กระทำไปโดยเจตนาแล้ว
แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายเอกไม่กลัวและไม่ตกลงด้วย จึงเป็นกรณีที่นายตรีได้ลงมือกระทำไปตลอดแล้ว แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล นายตรีจึงมีความผิดฐานพยายามกรรโชกทรัพย์ตามมาตรา 337 วรรคแรก ประกอบมาตรา 80
สรุป นายตรีมีความผิดฐานพยายามกรรโชกทรัพย์ ตามมาตรา 337 วรรคแรก ประกอบมาตรา 80