การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2553
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3001 กฎหมายอาญา 3
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 80 ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด
ผู้ใดพยายามกระทำความผิด ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
มาตรา 84 ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้างวานหรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด
ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้นต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ ถ้าความผิดมิได้กระทำลงไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ ยังไม่ได้กระทำหรือเหตุอื่นใด ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้ สำหรับความผิดนั้นมาตรา 288 ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษ…
วินิจฉัย
องค์ประกอบความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตายโดยเจตนา ตามมาตรา 288 ประกอบด้วย
1 ฆ่า
2 ผู้อื่น
3 โดยเจตนา
ตามอุทาหรณ์ การที่เบิ้มไปดักคอยเพื่อลอบฆ่าโทนั้น ถือว่าเบิ้มมีเจตนาที่จะฆ่าโทโดยประสงค์ต่อผลตามมาตรา 59 วรรคสองแล้ว แต่เมื่อเบิ้มเพียงแต่ชักปืนออกมาถือไว้ โดยที่ยังไม่ได้ยกขึ้นเล็ง การกระทำของเบิ้มจึงยังไม่ถึงขั้นลงมือกระทำ เบิ้มจึงไม่มีความผิดฐานพยายามฆ่าคนตายโดยเจตนาตามมาตรา 288 ประกอบมาตรา 80
ส่วนกรณีของเอกนั้น การที่เอกว่าจ้างเบิ้มให้ไปฆ่าโท ถือเป็นการก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิด เอกจึงมีความผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาตามมาตรา 288 ประกอบมาตรา 84 แต่เมื่อความผิดดังกล่าวยังมิได้กระทำลงเพราะเบิ้มยังไม่ได้ลงมือฆ่าโท เอกจึงรับโทษเพียงหนึ่งในสามของความผิด
สรุป เอกมีความผิดเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาตามมาตรา 288 ประกอบมาตรา 84 ส่วนเบิ้มไม่มีความผิดฐานพยายามฆ่าคนตายโดยเจตนาตามมาตรา 288 ประกอบมาตรา 80
ข้อ 2 วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 16.00 น. นายสิงห์ได้จับตัว ด.ญ.นกจากหน้าโรงเรียนแห่งหนึ่งไปเพื่อเรียกค่าไถ่ โดยนำตัว ด.ญ.นกไปขังไว้ที่บ้านร้างชานเมือง หลังจากนั้นนายสิงห์ได้ย้อนกลับเข้ามาในตัวเมืองเพื่อหาซื้ออาหารและหาตู้โทรศัพท์สาธารณะเพื่อติดต่อเรียกค่าไถ่จากผู้ปกครองของ ด.ญ.นก นายสิงห์ถูกเจ้าพนักงานจับตัวได้โดยที่ยังไม่ได้โทรศัพท์เรียกค่าไถ่ นายสิงห์รับสารภาพว่าได้จับตัว ด.ญ.นกไป และพาตำรวจไปปล่อยตัว ด.ญ.นกออกมาโดยไม่ได้รับอันตรายแต่อย่างใด ดังนี้ ถ้าถูกดำเนินคดีในชั้นศาล อยากทราบว่านายสิงห์จะมีความผิดเกี่ยวกับฐานเรียกค่าไถ่หรือไม่ และต้องรับโทษอย่างไร
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 313 ผู้ใดเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่
(1) เอาตัวเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไป
(2) เอาตัวบุคคลอายุกว่าสิบห้าปีไปโดยใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด หรือ
(3) หน่วงเหนี่ยว หรือกักขังบุคคลใด
ต้องระวางโทษ…
มาตรา 316 ถ้าผู้กระทำความผิดตามมาตรา 313 มาตรา 314 หรือมาตรา 315 จัดให้ผู้ถูกเอาตัวไป ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวหรือผู้ถูกกักขังได้รับเสรีภาพก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา โดยผู้นั้นมิได้รับอันตรายสาหัสหรือตกอยู่ในภาวะอันใกล้จะเป็นอันตรายต่อชีวิต ให้ลงโทษน้อยกว่ากฎหมายกำหนดไว้ แต่ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง
วินิจฉัย
องค์ประกอบความผิดฐานเอาตัวเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปีไปเรียกค่าไถ่ ตามมาตรา 313 วรรคแรก (1) ประกอบด้วย
1 เอาตัวเด็กอายุไม่เกิน 15 ปีไป
2 โดยเจตนา
3 เพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่
ตามอุทาหรณ์ การที่นายสิงห์จับตัว ด.ญ.นก ไปเพื่อเรียกค่าไถ่และได้กระทำโดยเจตนานั้น ถึงแม้จะยังไม่ได้เรียกค่าไถ่เนื่องจากถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมตัวได้ก่อน แต่เมื่อการกระทำของนายสิงห์ครบองค์ประกอบความผิดดังกล่าวข้างต้นแล้ว ย่อมเป็นความผิดสำเร็จตามมาตรา 313 วรรคแรก (1)
ส่วนการที่นายสิงห์ได้พาตำรวจไปปล่อยตัว ด.ญ.นก ออกมาโดยไม่ได้รับอันตรายแต่อย่างใดนั้น ถือเป็นกรณีที่นายสิงห์ได้จัดให้ผู้ถูกเอาตัวไปได้รับเสรีภาพก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา โดยผู้นั้นมิได้รับอันตรายสาหัสหรือตกอยู่ในภาวะอันใกล้จะเป็นอันตรายต่อชีวิต จึงเป็นเหตุให้ศาลลดโทษ คือลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ได้ แต่ต้องลงโทษไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งสำหรับความผิดนั้นตามมาตรา 316
สรุป นายสิงห์มีความผิดเกี่ยวกับฐานเรียกค่าไถ่ตามมาตรา 313 แต่ลดโทษให้ตามมาตรา 316
ข้อ 3 แดงเป็นเจ้าของอพาร์ตเม้นต์แห่งหนึ่ง ขาวได้ไปเช่าอพาร์ตเม้นต์จากแดงไว้อยู่อาศัยหนึ่งห้อง โดยต้องจ่ายค่าเช่าเดือนละ 6,000 บาท ข้อเท็จจริงปรากฏว่าขาวไม่ได้ชำระค่าเช่าให้กับแดงมาเป็นเวลา 3 เดือน แดงทวงค่าเช่าจากขาว แต่ขาวก็ไม่ยอมชำระให้ ขณะที่ขาวออกไปธุระนอกอพาร์ตเม้นต์ แดงได้เข้าไปในห้องที่ขาวเช่าอยู่ แดงพบโทรศัพท์มือถือของขาวซึ่งซื้อมาใหม่ราคาประมาณ 20,000 บาท แดงจึงเอาโทรศัพท์ของขาวไว้ และแดงได้เขียนข้อความในกระดาษไว้บนโต๊ะในห้องของขาวว่า ถ้าหากอยากได้โทรศัพท์คืน ขาวต้องนำเงินค่าเช่า 18,000 บาท ที่ขาวเป็นหนี้แดงมาชำระให้กับแดง แล้วแดงจึงจะคืนโทรศัพท์มือถือให้ขาว ดังนี้ แดงมีความผิดอาญาเกี่ยวกับทรัพย์ฐานใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 334 ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษ…
วินิจฉัย
องค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ ตามมาตรา 334 ประกอบด้วย
1 เอาไป
2 ทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย
3 โดยเจตนา
4 โดยทุจริต
ตามอุทาหรณ์ การที่แดงเอาโทรศัพท์มือถือของขาวไปนั้น ถือเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยเจตนา แต่อย่างไรก็ตามแดงก็ไม่ได้เอาไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เพราะแดงเอาโทรศัพท์มือถือของขาวไปเพื่อต้องการให้ขาวชำระหนี้ค่าเช่า ซึ่งแดงมีสิทธิจะได้รับจากขาวเท่านั้น จึงไม่ถือว่าแดงเอาไปโดยทุจริต ดังนั้นเมื่อไม่ครบองค์ประกอบความผิดดังกล่าวข้างต้น การกระทำของแดงจึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334
สรุป แดงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334
ข้อ 4 นาย ก ถูกจับกุมตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาคดีหนึ่ง นาย ก มอบฉันทะให้จำเลยไปถอนเงินของนาย ก จำนวน 2 ล้านบาท จากธนาคารเพื่อนำมาประกันตัวนาย ก เนื่องจากพนักงานสอบสวนไม่อนุญาตให้นาย ก ออกไปถอนเงินด้วยตนเอง จำเลยถอนเงินแล้วนำฝากเข้าบัญชีเงินฝากประจำของจำเลย แล้วนำสมุดเงินฝากไปประกันตัวนาย ก เมื่อเสร็จสิ้นการประกันตัวแล้วไม่ยอมคืนเงินให้แก่นาย ก กลับนำไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตน ดังนี้ จำเลยมีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 352 วรรคแรก ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอกต้องระวางโทษ…
วินิจฉัย
องค์ประกอบความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ตามมาตรา 352 วรรคแรก ประกอบด้วย
1 ครอบครอง
2 ทรัพย์ของผู้อื่นหรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย
3 เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สาม
4 โดยเจตนา
5 โดยทุจริต
ตามอุทาหรณ์ การที่นาย ก มอบฉันทะให้จำเลยไปถอนเงินของนาย ก จำนวน 2 ล้านบาทจากธนาคาร เพื่อนำมาประกันตัวนาย ก นั้น ถือได้ว่านาย ก ได้มอบการครอบครองเงินดังกล่าวให้กับจำเลยแล้ว ดังนั้นเมื่อเสร็จสิ้นการประกันตัวการที่จำเลยไม่ยอมคืนเงินให้แก่นาย ก แต่กลับนำไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตน จึงเป็นการเจตนาเบียดบังเอาทรัพย์ของผู้อื่นที่อยู่ในความครอบครองของตนเป็นของตนโดยทุจริต การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดดังกล่าวข้างต้น ดังนั้นจำเลยจึงมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตามมาตรา 352 วรรคแรก (ฎ. 2884/2551)
สรุป จำเลยมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตามมาตรา 352 วรรคแรก