การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2552
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3001 กฎหมายอาญา 3
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1 เข้มแอบซุ่มอยู่ข้างทางเพื่อดักชิงทรัพย์ เข้มเห็นเขียวขับขี่รถจักรยานยนต์ผ่านมาจึงใช้ปืนเอ็ม 16 ยิงไปที่ยางรถจักรยานยนต์ของเขียวหลายนัด เพื่อให้รถล้มลงจะได้เข้าไปปลดทรัพย์สิน ปรากฏว่ากระสุนปืนถูกยางรถและถูกขาของเขียวจนได้รับอันตรายสาหัส ดังนี้ เข้มจะมีความผิดต่อชีวิตและร่างกายฐานใดหรือไม่
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 80 ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด
ผู้ใดพยายามกระทำความผิด ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
มาตรา 288 ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษ
วินิจฉัย
องค์ประกอบความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตายโดยเจตนา ตามมาตรา 288 ประกอบด้วย
1 ฆ่า
2 ผู้อื่น
3 โดยเจตนา
การพิจารณาว่าผู้กระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตามมาตรา 288 ดังกล่าวข้างต้นหรือไม่นั้น ในเบื้องต้นจะต้องพิจารณาให้ได้ความก่อนว่าผู้กระทำมีเจตนาฆ่าผู้ตายหรือผู้เสียหายโดยประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลตามมาตรา 59 วรรคสองหรือไม่ ถ้าผู้กระทำไม่มีเจตนาฆ่าดังกล่าว แม้ผู้ถูกกระทำจะถึงแก่ความตายก็ไม่อาจถือได้ว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดตามมาตรานี้
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่เข้มใช้อาวุธปืนเอ็ม 16 ยิงไปที่ยางรถจักรยานยนต์ของเขียวหลายนัด โดยมีเจตนาเพียงเพื่อให้รถจักรยานยนต์ของเขียวล้ม ในขณะที่อาจยิงเขียวให้ถึงแก่ความตายได้โดยตรงนั้น ไม่ถือว่า เข้มมีเจตนาฆ่าเขียวโดยประสงค์ต่อผลให้เขียวตาย แต่โดยที่ลักษณะของการกระทำเช่นนั้น เข้มย่อมเล็งเห็นผลได้ว่า การใช้อาวุธปืนซึ่งเป็นอาวุธร้ายแรงดังกล่าวยิงไป กระสุนปืนอาจถูกที่บริเวณอวัยวะสำคัญของเขียว ทำให้เขียวได้รับบาดเจ็บสาหัสหรือถึงแก่ความตายได้ กรณีเช่นนี้จึงถือว่าเข้มมีเจตนาเล็งเห็นผลตามมาตรา 59 วรรคสอง
เมื่อปรากฏว่า เข้มได้ลงมือกระทำความผิดไปตลอดแล้ว แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล คือกระสุนปืนถูกขาของเขียวได้รับอันตรายสาหัสเท่านั้น ไม่ถึงแก่ความตาย เข้มจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าตามมาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 (ฎ. 2991/2536)
สรุป เข้มมีความผิดฐานพยายามฆ่าตามมาตรา 288 ประกอบมาตรา 80
ข้อ 2 เด็กหญิงน้ำหวานทะเลาะกับมารดาแล้วหนีออกจากบ้านไปพักอยู่กับเพื่อนที่หอพัก มารดาเคยไปตามที่หอพักแต่ไม่พบเพราะนายสิงห์ได้ขับขี่รถจักรยานยนต์มารับเด็กหญิงน้ำหวานไปที่ห้องเช่าของตน ในขณะอยู่ในห้องเช่านายสิงห์ได้กอดจูบเด็กหญิงน้ำหวาน โดยเด็กหญิงน้ำหวานก็สมัครใจ ต่อมามารดาตามมาพบจึงได้พาตัวเด็กหญิงน้ำหวานกลับบ้านและดำเนินคดีกับนายสิงห์ในข้อหาพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปเพื่อการอนาจาร นายสิงห์ต่อสู้ว่าตนไม่มีความผิดเพราะขณะพาเด็กหญิงน้ำหวานไปนั้น เด็กหญิงน้ำหวานได้หนีออกจากบ้านก่อนแล้ว ไม่เป็นการพรากเด็กไปเสียจากบิดามารดาแต่อย่างใด และตอนที่กอดจูบเด็กหญิงน้ำหวานก็สมัครใจไม่มีการใช้อุบายหลอกลวงหรือบังคับขืนใจ
ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า การกระทำของนายสิงห์จะเป็นความผิดตามข้อกล่าวหาหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 317 วรรคแรกและวรรคสาม ผู้ใดโดยปราศจากเหตุอันสมควร พรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ต้องระวางโทษ
ถ้าความผิดตามมาตรานี้ได้กระทำเพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร ผู้กระทำต้องระวางโทษ…
วินิจฉัย
องค์ประกอบความผิดฐานพรากเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจาร ตามมาตรา 317 วรรคสาม ประกอบด้วย
1 โดยปราศจากเหตุอันสมควร
2 พรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี
3 ไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล
4 เพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจาร
5 โดยเจตนา
การพราก หมายถึง การพาไปหรือแยกผู้เยาว์ออกไปจากความปกครองดูแลของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ทำให้ความปกครองดูแลบุคคลดังกล่าว ถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือน อันเป็นการล่วงอำนาจปกครองของบุคคลดังกล่าว
เพื่อการอนาจาร หมายความว่า เพื่อความใคร่หรือการอื่นใดในทางประเวณีหรือชู้สาวถึงขั้นร่วมประเวณีหรือไม่ก็ได้ เพื่อผู้กระทำผิดกระทำอนาจารกับเด็ก ให้ผู้อื่นกระทำอนาจารกับเด็ก หรือให้เด็กกระทำอนาจารก็ได้
กรณีตามอุทาหรณ์ แม้ก่อนเกิดเหตุเด็กหญิงน้ำหวานจะทะเลาะกับมารดาและหนีออกจากบ้านไปพักอาศัยอยู่กับเพื่อนที่หอพัก แต่เมื่ออาศัยอยู่กับเพื่อนที่หอพักดังกล่าวนั้น มารดาก็ยังเอาใจใส่ติดตามตัวอยู่ พฤติการณ์บ่งชี้แสดงให้เห็นว่าเด็กหญิงน้ำหวานยังคงอยู่ในอำนาจปกครองดูแลของมารดา ดังนั้น การที่นายสิงห์ขับรถจักรยานยนต์มารับเด็กหญิงน้ำหวานที่หอพักแล้วพาไปที่ห้องเช่าของตน และขณะอยู่ที่ห้องพักนายสิงห์ได้กอดจูบเด็กหญิงน้ำหวาน กรณีจึงเป็นการพาเด็กหญิงน้ำหวานออกจากหอพักไปโดยมีเจตนามุ่งที่จะล่วงเกินทางเพศหรือกระทำอนาจารแก่เด็กหญิงน้ำหวานโดยไม่ได้รับความยินยอมจากมารดาของเด็กหญิงน้ำหวาน ซึ่งผลของการกระทำของนายสิงห์เช่นนี้ ย่อมทำให้อำนาจปกครองดูแลบุตรผู้เยาว์ของบิดามารดาที่มีต่อเด็กหญิงน้ำหวานได้ถูกพรากไปโดยปริยาย การกระทำของนายสิงห์จึงเป็นการพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดามารดาโดยปราศจากเหตุผลสมควรเพื่อการอนาจาร อันเป็นความผิดตามมาตรา 317 วรรคสาม
สำหรับประเด็นที่นายสิงห์ต่อสู้ว่า ขณะที่พาเด็กหญิงน้ำหวานไปนั้น เด็กหญิงน้ำหวานได้หนีออกจากบ้านก่อนแล้วไม่เป็นการพรากเด็กไปเสียจากบิดามารดา และตอนที่กอดจูบกันเด็กหญิงน้ำหวานสมัครใจ ไม่มีการใช้อุบายหลอกลวงหรือบังคับขืนใจนั้น เห็นว่า ความผิดฐานพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลตามมาตรา 317 กฎหมายมีเจตนารมณ์ที่จะปกป้องคุ้มครองอำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลมิให้ผู้ใดมาก่อการรบกวนหรือกระทำการใดๆ อันเป็นการกระทบกระทั่งต่ออำนาจปกครอง เมื่อการกระทำของนายสิงห์ดังกล่าวมีผลทำให้อำนาจปกครองของบิดามารดาถูกพรากไปเสียโดยปริยาย แม้การกระทำของนายสิงห์นั้น เด็กเต็มใจหรือสมัครใจไปกับนายสิงห์ด้วย ก็หามีผลทำให้การกระทำของนายสิงห์ไม่เป็นความผิดไม่ (ฎ. 8052/2549)
สรุป นายสิงห์มีความผิดฐานพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร ตามมาตรา 317วรรคสาม
ข้อ 3 ขณะที่แดงกำลังนั่งรอเพื่อนอยู่ ณ สถานที่แห่งหนึ่ง มืดค่อยๆย่องไปด้านหลังของแดง และดึงเอาสร้อยคอทองคำมีพระเลี่ยมทองที่แดงสวมใส่อยู่ที่คอแดง สร้อยคอหลุดลงบนพื้นบริเวณนั้น มืดจึงรีบคว้าสร้อยคอเส้นนั้นใส่กระเป๋าและวิ่งหนีไป แดงเห็นดังนั้นรีบวิ่งตามไปทันทีประมาณ 10 วินาที มืดวิ่งไปแอบที่ตึกแถว ขณะเดียวกันมืดรีบเอาท่อนไม้ที่พบบริเวณนั้นขึ้นมาขวางทำให้แดงวิ่งตามมาชนท่อนไม้สะดุดหกล้มทันที มืดจึงวิ่งหนีไปได้ มีข้อเท็จจริงปรากฏว่าขณะที่มืดทำการขัดขวางการติดตามของแดง มืดได้ทำสร้อยคอและพระเลี่ยมทองหล่นหายไปเสียแล้ว เมื่อแดงพบสร้อยคอดังกล่าวจึงได้สร้อยกลับคืนมา ให้ท่านวินิจฉัยว่า มืดมีความผิดอาญาเกี่ยวกับทรัพย์ฐานใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 339 ผู้ใดลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ
(1) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์ หรือการพาทรัพย์นั้นไป
(2) ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น
(3) ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้
(4) ปกปิดการกระทำความผิดนั้น หรือ
(5) ให้พ้นจากการจับกุม
ผู้นั้นกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ ต้องระวางโทษ…
วินิจฉัย
องค์ประกอบความผิดฐานชิงทรัพย์ ตามมาตรา 339 ประกอบด้วย
1 ลักทรัพย์
2 โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย
3 โดยเจตนา
4 เจตนาพิเศษ เพื่อ
(1) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์ หรือพาทรัพย์นั้นไป
(2) ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น
(3) ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้
(4) ปกปิดการกระทำความผิดนั้น หรือ
(5) ให้พ้นจากการจับกุม
การใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายที่เกิดขึ้นภายหลังลักทรัพย์สำเร็จแล้ว จะต้องกระทำต่อเนื่องกับการลักทรัพย์ จึงจะเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ ถ้าการลักทรัพย์ได้ขาดตอนไปแล้ว จึงได้มีการใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย ก็ไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์แต่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์กระทงหนึ่งและฐานทำร้ายร่างกายอีกกระทงหนึ่ง
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่มืดค่อยๆย่องไปด้านหลังของแดง และดึงเอาสร้อยคอทองคำที่แดงสวมใส่อยู่ที่คอ สร้อยคอหลุดลงบนพื้น มืดจึงรีบคว้าสร้อยคอแล้วใส่กระเป๋าวิ่งหนีไป การกระทำของมืดดังกล่าวถือว่าเป็นการเอาไปจากการครอบครองซึ่งทรัพย์ของผู้อื่น โดยทำให้ทรัพย์นั้นเคลื่อนที่ไปจากที่เดิมในลักษณะที่จะพาเอาได้ ในลักษณะเป็นการตัดสิทธิของเจ้าทรัพย์อย่างถาวร โดยมีเจตนาทุจริตเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้ โดยมิชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง การกระทำของมืดเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ตามมาตรา 334 ทั้งนี้ แม้มืดจะไม่ได้ขู่เข็ญว่าทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือได้ใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหาย แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อภายหลังจากที่มืดหนีไป มืดได้ใช้ท่อนไม้ขวางเพื่อให้แดงตามมาชนท่อนไม้ กรณีจึงถือว่าเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อที่มืดจะยึดทรัพย์นั้นไว้ แม้จะมีการลักทรัพย์ไปสำเร็จแล้ว แต่ก็ยังไม่ขาดตอน และแม้มืดจะทำสร้อยคอตกหายไปก็ตาม ในระหว่างนั้นก็ถือว่าเป็นการชิงทรัพย์สำเร็จแล้วตามมาตรา 339 มิใช่พยายามชิงทรัพย์
สรุป มืดมีความผิดฐานชิงทรัพย์ตามมาตรา 339
ข้อ 4 ดำมีเงินในบัญชีธนาคารแห่งหนึ่งตามสมุดเงินฝาก 2,000 บาท ปรากฏว่าดำนำเงินไปฝากธนาคารเพียง 1,000 บาท แต่ธนาคารพิมพ์ในสมุดบัญชีเงินฝากของดำเป็นเงิน 30,000 บาท ผิดไปจากความจริง ต่อมาอีก 3 วัน ดำได้ไปถอนเงินและปิดบัญชีของตนโดยถอนเงินจากธนาคารไปทั้งหมด 30,000 บาท และเอาเงินที่เกินไป 27,000 บาท ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า ดำมีความผิดอาญาเกี่ยวกับทรัพย์ฐานใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 352 ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอกต้องระวางโทษ…
ถ้าทรัพย์นั้นตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิดเพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไปด้วยประการใด หรือเป็นทรัพย์สินหายซึ่งผู้กระทำความผิดเก็บได้ ผู้กระทำต้องระวางโทษแต่เพียงกึ่งหนึ่ง
วินิจฉัย
บทบัญญัติมาตรา 352 วรรคสอง เป็นเหตุลดโทษให้แก่ผู้กระทำความผิดฐานยักยอกตามมาตรา 352 วรรคแรก ถ้าทรัพย์ที่ผู้กระทำความผิดยักยอกนั้นตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิดเพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไปด้วยประการใด หรือเป็นทรัพย์สินหาย ซึ่งผู้กระทำความผิดเก็บได้แล้วยักยอกไว้ ผู้กระทำความผิดต้องรับโทษเพียงกึ่งหนึ่งของโทษตามมาตรา 352 วรรคแรก
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ดำนำเงินไปฝากเพียง 1,000 บาท แต่ธนาคารพิมพ์ในสมุดบัญชีเงินฝากของดำเป็นเงิน 30,000 บาท และดำได้ไปถอนเงินและปิดบัญชีของตนโดยถอนเงินจากธนาคารไปทั้งหมด 30,000 บาท ดังนี้ ดำย่อมทราบดีว่ามีการนำเงินเข้าบัญชีของตนโดยเป็นความผิดพลาดของธนาคาร เพราะในขณะที่ดำฝากเงิน ดำฝากไปเพียง 1,000 บาท รวมกับเงินที่ดำมีอยู่ก่อนในบัญชี 2,000 บาท คงรวมกันได้เพียง 3,000 บาท หาใช่ 30,000 บาทไม่ จึงเป็นกรณีที่ทรัพย์มาอยู่ในความครอบครองของดำโดยเป็นการที่ธนาคารสำคัญผิดส่งมอบให้ ดังนั้น การที่ดำถอนเงินและปิดบัญชีของตนและเอาเงินที่เกิน 27,000 บาทไป จึงเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์ดังกล่าวโดยทุจริตเพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ที่ผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิด ดำต้องรับโทษเพียงกึ่งหนึ่งตามมาตรา 352 วรรคสอง (ฎ. 442/2540)
สรุป ดำมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ที่ผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิด ดำต้องรับโทษเพียงกึ่งหนึ่งตามมาตรา 352 วรรคสอง