การสอบซ่อมภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2547

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3001 กฎหมายอาญา 3

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ

ข้อ  1  นายท้อแท้รู้สึกผิดหวังในชีวิตอย่างมากต้องการฆ่าตัวตายจึงไปนอนขวางถนนเพื่อให้รถทับ  นายบุญส่งขับรถบรรทุกมาตามถนนเห็นนายท้อแท้นอนอยู่บนถนนในระยะไกล  แต่นึกไม่ถึงว่าจะเป็นคนมานอนคิดว่าเป็นเศษกองผ้าจึงมิได้ลดความเร็วของรถ  กว่าจะเห็นชัดว่าเป็นคนก็ไม่สามารถหยุดรถได้ทัน  รถจึงทับนายท้อแท้ถึงแก่ความตาย  ดังนี้  นายบุญส่งจะมีความผิดต่อชีวิตฐานใด  หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  291  ผู้ใดกระทำประมาท  และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย  ต้องระวางโทษ…

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย  ตามมาตรา  291  ประกอบด้วย

1       กระทำด้วยประการใดๆ

2       การกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

3       โดยประมาท

นายท้อแท้ต้องการฆ่าตัวตายจึงไปนอนขวางถนนเพื่อให้รถทับ  ปรากฏว่านายบุญส่งขับรถบรรทุกมาตามถนนเห็นนายท้อแท้นอนอยู่บนถนนจากระยะไกล  กลับมิได้ลดความเร็วของรถ  เป็นเหตุให้รถทับนายท้อแท้ถึงแก่ความตาย  นายบุญส่งมีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามมาตรา  291  แม้นายท้อแท้จะมีเจตนาฆ่าตนเอง  แต่การที่นายบุญส่งเห็นแต่ไกลว่ามีสิ่งของกองอยู่ที่ถนนน่าจะลดความเร็วของรถลง  อันเป็นการใช้ความระมัดระวังของคนขับรถทั่วไปที่จักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  แต่นายบุญส่งกลับขับรถไปทับนายท้อแท้ตาย  นายบุญส่งจึงต้องรับผิด

สรุป  นายบุญส่งมีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย  ตามมาตรา  291 

 

ข้อ  2  นายเสน่ห์กับ  น.ส.อ้อยอายุ  17  ปี  มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกันมาหลายปี  วันเกิดเหตุนายเสน่ห์ได้รับตัว  น.ส.อ้อยจากสถานศึกษาแห่งหนึ่งไปที่บ้านพักซึ่งนายเสน่ห์เช่าอยู่ด้วยเจตนาจะร่วมประเวณีกัน  เมื่อไปถึงบ้านพักโดยยังไม่ได้ร่วมประเวณี  บิดาของ  น.ส.อ้อยก็ตามไปพบและพาตัว  น.ส.อ้อยกลับบ้าน  และหลังจากนั้นบิดาของ  น.ส.อ้อยก็เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับนายเสน่ห์  ให้วินิจฉัยว่าการกระทำของนายเสน่ห์จะเป็นความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพฐานใดหรือไม่ 

ธงคำตอบ

มาตรา  319  วรรคแรก  ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี  แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา  ผู้ปกครอง  หรือผู้ดูแล  เพื่อหากำไร  หรือเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย  ต้องระวางโทษ…

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานพรากผู้เยาว์โดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วย  ตามมาตรา  319  วรรคแรก  ประกอบด้วย

1       พรากผู้เยาว์อายุกว่า  15  ปี  แต่ยังไม่เกิน  18  ปี

2       ไปเสียจากบิดามารดา  ผู้ปกครอง  หรือผู้ดูแล

3       โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย

4       โดยเจตนา

5       เพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจาร

การพรากเด็กหรือผู้เยาว์ไปเสียจากบิดามารดา  ผู้ปกครอง  หรือผู้ดูแล  หมายถึง  การพาไปหรือแยกผู้เยาว์ออกไปจากความปกครองดูแลของบิดามารดา  ผู้ปกครอง  หรือผู้ดูแล  ทำให้ความปกครองดูแลของบุคคลดังกล่าว  ถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือน  อันเป็นการล่วงอำนาจปกครองของบุคคลดังกล่าว

เมื่อผู้กระทำความผิดมีเจตนาพรากผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร  ถือได้ว่าความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารสำเร็จนับแต่ผู้กระทำความผิดเริ่มพรากผู้เยาว์แล้ว  แม้จำเลยจะยังไม่ได้กระทำการข่มขืนกระทำชำเราก็ตาม  การที่จำเลยข่มขืนกระทำชำเราหลังจากนั้น  จึงเป็นความผิดอีกกรรมหนึ่ง

การที่นายเสน่ห์รับตัว  น.ส.อ้อยอายุ  17  ปี  ไปที่บ้านเช่าด้วยเจตนาจะร่วมประเวณี  เป็นการพรากผู้เยาว์  อายุกว่า  15  ปี  แต่ไม่เกิน  18  ปี  ไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร  โดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วย  ตามมาตรา  319  วรรคแรก  ถึงแม้นายเสน่ห์จะยังไม่ได้ร่วมประเวณีกับ  น.ส.อ้อย  แต่ก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว

สรุป  การกระทำของนายเสน่ห์เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์  ตามมาตรา  319  วรรคแรก

 

ข้อ  3  สร้อยเพื่อนบ้านของแหวนเห็นแหวนเห่อรถจักรยานยนต์ใหม่ที่เพิ่งซื้อมามาก   สร้อยจึงวางแผนแกล้งแหวนเพื่อหยอกล้อแหวนเล่น  โดยนำตะปูเรือใบ  5  ตัวไปโรยปากซอยเข้าออกบ้านของแหวน  ปรากฏว่ากำไลเพื่อนหญิงของแหวนขี่รถจักรยานยนต์มาหาแหวน  เมื่อเลี้ยวเข้าซอยบ้านแหวนรถจักรยานยนต์ของกำไลจึงเหยียบตะปูที่สร้อยวางไว้  ขณะนั้นสร้อยซึ่งแอบดูอยู่เกิดความโลภอยากได้รถจักรยานยนต์ของกำไล  จึงทำทีเข้าไปช่วยเหลือ  และยินดีจะนำรถจักรยานยนต์ของกำไลไปปะยางที่ร้านซ่อมรถจักรยานยนต์ให้กำไลรู้ว่าสร้อยเป็นเพื่อนบ้านของแหวน  จึงให้รถจักรยานยนต์ของตนกับสร้อย  เพื่อให้สร้อยนำไปปะยางตามที่สร้อยเสนอ  เมื่อทางร้านฯ ปะยางรถจักรยานยนต์ของกำไลเสร็จแล้ว  สร้อยกลับขี่รถจักรยานยนต์ดังกล่าวไปไว้ที่บ้านของญาติซึ่งอยู่ห่างจากบ้านของตนประมาณ  10 กิโลเมตร  โดยบอกกับญาติว่าเป็นของตนแล้วพรุ่งนี้ จะมารับคืน  ดังนี้  ท่านคิดว่าสร้อยกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ฐานใดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  80  ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด  หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล  ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด

ผู้ใดพยายามกระทำความผิด  ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  334  ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น  หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์  ต้องระวางโทษ

มาตรา  339  วรรคแรก  ผู้ใดลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย  เพื่อ

(1) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์  หรือการพาทรัพย์นั้นไป

ผู้นั้นกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์  ต้องระวางโทษ…

วินิจฉัย

การที่สร้อยนำตะปูเรือใบโรยไว้ที่ปากซอยเพื่อเจตนาแกล้งแหวนนั้น  มิได้มีเจตนาที่จะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อสะดวกแก่การลักทรัพย์  แม้การกระทำของสร้อยจะเล็งเห็นผลได้ว่าจะทำให้จักรยานยนต์ของผู้อื่นเสียหายก็ตาม  แต่ก็เป็นเจตนาเล็งเห็นผลที่ไม่ใช่เป็นการใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อสะดวกแก่การลักทรัพย์  จึงไม่ใช่ความผิดฐานพยายามชิงทรัพย์  ตามมาตรา  339  วรรคแรก  ประกอบมาตรา  80  แต่การกระทำของสร้อยเป็นความผิดฐานลักทรัพย์สำเร็จแล้ว  ตามมาตรา  334  เพราะสร้อยเกิดเจตนาทุจริตแสวงหาประโยชน์ในทรัพย์ของผู้อื่น โดยทำทีเข้าไปช่วยเหลือและจะนำรถไปปะยางที่ร้านซ่อม  แม้กำไลจะส่งมอบการครอบครองรถจักรยานยนต์ของตนเพื่อให้สร้อยนำไปซ่อมก็ตาม  ก็มิได้เกิดขึ้นจากความสมัครใจแต่เป็นการหลอกให้ส่งมอบการครอบครองเพื่อจะได้เอาทรัพย์นั้นไป  จึงเป็นการแย่งการครอบครองทรัพย์ของผู้อื่นโดยทุจริตนั่นเอง

สรุป  สร้อยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์  ตามมาตรา  334

 

ข้อ  4  แสงทำสัญญาจะซื้อขายข้าวสารกับสว่าง  5  เกวียน  ราคาเกวียนละ  5,000  บาท  เป็นจำนวนเงิน  25,000  บาท  โดยแสงได้วางเงินมัดจำให้แก่สว่างไว้แล้วเป็นจำนวนเงิน  10,000  บาท  โดยขณะนั้นสว่างมีข้าวเปลือกที่ตากอยู่ที่ลานนวดข้าวอยู่ประมาณ  10  เกวียน  ซึ่งพร้อมที่จะสีเป็นข้าวสาร  โดยสว่างจะจัดส่งข้าวสารไปให้แสงที่บ้าน  หลังจากนั้นมืดได้มาติดต่อซื้อข้าวเปลือกจากสว่าง  10  เกวียน  โดยให้ราคาสูงกว่าท้องตลาดมาก  เมื่อคำนวณแล้วสว่างจะได้ราคาจากมืดเป็นจำนวนเงินประมาณ  100,000  บาท  สว่างจึงขายข้าวเปลือก  ทั้งหมดของตนให้กับมืดไป  สว่างจึงไม่มีข้าวเปลือกที่จะสีเพื่อจัดส่งให้กับแสง  สว่างจึงโทรศัพท์ไปบอกกับแสงว่าไม่สามารถจัดส่งข้าวสารให้ได้  และไม่ยอมคืนเงินมัดจำให้แก่แสง    ดังนี้  ท่านคิดว่าสว่างกระทำ

ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ฐานใดหรือไม่  เพราะเหตุใด 

ธงคำตอบ

มาตรา  341  ผู้ใดโดยทุจริต  หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ  หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง  และโดยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามหรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามทำ  ถอน  หรือทำลาย  เอกสารสิทธิ  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง  ต้องระวางโทษ…

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา  341  ประกอบด้วย

1       หลอกลวงผู้อื่นด้วยการ

(ก)  แสดงข้อความเป็นเท็จ  หรือ

(ข)  ปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง

2       โดยการหลอกลวงนั้น

(ก)  ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม

(ข)  ทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม  ถอน  หรือทำลายเอกสารสิทธิ

3       โดยเจตนา

4       โดยทุจริต

การแสดงข้อความอันเป็นเท็จอันจะเป็นความผิดฐานฉ้อโกงนั้น  จะต้องเป็นการแสดงข้อความเกี่ยวกับข้อเท็จจริงในปัจจุบัน  ซึ่งทำให้เห็นว่าผู้กระทำผิดมีเจตนาทุจริตมาแต่แรก  ถ้าเป็นข้อตกลงตามสัญญาหรือคำรับรองว่าจะกระทำการใดในอนาคตแล้วไม่กระทำตามสัญญาหรือคำรับรอง  ไม่ถือเป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ  ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง  คงเป็นการผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้น

การที่สว่างทำสัญญาจะซื้อขายข้าวสารให้กับแสงนั้น  ขณะนั้นข้าวเปลือกที่ตากอยู่ที่ลานนวดข้าวอยู่จริง  ซึ่งสามารถส่งให้แสงได้ตามสัญญา  แต่ปรากฏว่าภายหลังได้ขายข้าวเปลือกให้กับมืดไป  และไม่สามารถจัดส่งได้ตามสัญญา  ทั้งไม่ยอมคืนเงินมัดจำให้กับแสง  กรณีเป็นเรื่องของการผิดสัญญาซื้อขายเท่านั้น  เพราะการที่จะฟังว่าสว่างฉ้อโกงแสงหรือไม่นั้น  ข้อเท็จจริงจะต้องได้ความว่าสว่างมีเจตาทุจริตมาตั้งแต่แรก  เมื่อไม่ปรากฏว่าขณะที่แสงทำสัญญาและวางมัดจำนั้น  สว่างได้ขายข้าวเปลือกไปให้คนอื่นแล้วอันจะทำให้เห็นว่าสว่างมีเจตนาทุจริตหลอกลวงแสงมาตั้งแต่แรก  จึงเป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง  ไม่มีมูลเป็นความผิดทางอาญา

สรุป  การกระทำของสว่างไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง

Advertisement