การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2547

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3001 กฎหมายอาญา 3

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ

ข้อ  1  นายหนึ่งกำลังขับรถด้วยความเร็ว  80  กิโลเมตรต่อชั่วโมง  นายสองซึ่งขับรถตามหลังมาได้ให้สัญญาณขอแซง  นายหนึ่งเร่งเครื่องยนต์ขับรถเร็วขึ้นไม่ยอมให้แซง  จนถึงที่เกิดเหตุขณะที่นายสามขับรถสวนทางมา  นายหนึ่งจึงห้ามล้อกะทันหัน  นายสองจึงขับรถหลบไปทางด้านขวาเพื่อไม่ให้รถชนท้ายรถของนายหนึ่ง  รถของนายสองได้ชนเข้ากับรถของนายสามเป็นเหตุให้นายสองถึงแก่ความตาย  ส่วนนายสามได้รับอันตรายสาหัส  จากข้อเท็จจริงดังกล่าว  ให้วินิจฉัยว่าการกระทำของนายหนึ่งจะเป็นความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายฐานใดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  80  ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด  หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล  ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด

ผู้ใดพยายามกระทำความผิด  ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  288  ผู้ใดฆ่าผู้อื่น  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตายโดยเจตนา  ตามมาตรา  288  ประกอบด้วย

1       ฆ่า

2       ผู้อื่น

3       โดยเจตนา

นายหนึ่งขับรถด้วยความเร็ว  80  กิโลเมตรต่อชั่วโมง  นายสองซึ่งขับรถตามหลังมาได้ให้สัญญาณขอแซง  แต่นายหนึ่งกลับห้ามล้อกะทันหันในขณะที่นายสามขับรถสวนทางมา  นายหนึ่งย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำดังกล่าวได้ว่า  นายสองซึ่งขับรถตามหลังมาจะต้องขับรถหลบไปทางด้านขวาเพื่อไม่ให้รถชนท้ายรถของนายหนึ่งและชนกับรถของนายสามซึ่งขับสวนมา  จนเป็นเหตุให้มีคนตาย  จึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาฆ่า  เมื่อนายสองถึงแก่ความตาย  นายหนึ่งจึงมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาตามมาตรา  288  ส่วนกรณีนายสามที่ได้รับอันตรายสาหัสนั้น  นายหนึ่งย่อมมีความผิดฐานพยายามฆ่านายสามด้วย  ตามมาตรา  288  ประกอบมาตรา  80

สรุป  กรณีนายสอง  นายหนึ่งมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา  ตามมาตรา  288  ส่วนกรณีนายสาม  นายหนึ่งมีความผิดฐานพยายามฆ่า  ตามมาตรา  288  ประกอบมาตรา  80

 

ข้อ  2  นายเสน่ห์มีภรรยาอยู่ก่อนแล้วแต่แยกกันอยู่เป็นเวลาหลายปี  นายเสน่ห์ได้มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวอยู่กับ  น.ส.สลักจิตซึ่งมีอายุ  16  ปีเศษ  น.ส.สลักจิตเคยขอร้องให้นายเสน่ห์ไปสู่ขอกับบิดามารดาแต่นายเสน่ห์อ้างว่ายังไม่พร้อมเพราะต้องแก้ไขปัญหาทุกอย่างให้เรียบร้อยก่อน  วันหนึ่ง  น.ส.สลักจิตได้หนีออกจากบ้านไปหานายเสน่ห์และอยู่กินเป็นสามีภรรยากันที่บ้านของนายเสน่ห์  หลังจากนั้นประมาณ  1  เดือน  เมื่อบิดาของ  น.ส.สลักจิตทราบที่อยู่จึงได้ติดตามตัวและพาตัว  น.ส.สลักจิตกลับบ้านพร้อมกับไปแจ้งความดำเนินคดีกับนายเสน่ห์  ให้วินิจฉัยว่า  นายเสน่ห์จะมีความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพฐานใดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  319  วรรคแรก  ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี  แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา  ผู้ปกครอง  หรือผู้ดูแล  เพื่อหากำไร  หรือเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย  ต้องระวางโทษ…

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานพรากผู้เยาว์โดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วย  ตามมาตรา  319  วรรคแรก  ประกอบด้วย

1       พรากผู้เยาว์อายุกว่า  15  ปี  แต่ยังไม่เกิน  18  ปี

2       ไปเสียจากบิดามารดา  ผู้ปกครอง  หรือผู้ดูแล

3       โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย

4       โดยเจตนา

5       เพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจาร

ในกรณีที่ผู้กระทำผิดมีภริยาเพียงแต่แยกกันอยู่  ยังถือว่าภริยานั้นยังคงเป็นคู่สมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย  การที่ผู้กระทำผิดมีภริยาอยู่แล้ว  ย่อมแสดงให้เห็นว่าผู้กระทำผิดไม่มีเจตนาจะเลี้ยงดูผู้เยาว์เป็นภริยาการพาหรือชักชวนผู้เยาว์ไป  อาจเป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารได้

อย่างไรก็ตาม  องค์ประกอบความผิดที่สำคัญประการหนึ่งของความผิดฐานพรากผู้เยาว์  คือต้องมีการพราก  ซึ่งหมายถึงการเอาไปหรือแยกเด็กออกมาจากบิดามารดา  ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลโดยไม่จำกัดวิธีการ

น.ส.สลักจิตได้หนีออกจากบ้านไปหานายเสน่ห์เอง  โดยนายเสน่ห์ไม่ได้พาหรือชักชวน  เป็นเรื่องที่  น.ส.สลักจิตผู้เยาว์ต้องการเป็นภริยานายเสน่ห์  และสมัครใจไปจากบิดามารดา  การกระทำดังกล่าวจึงไม่อยู่ในความหมายของคำว่าพรากอันเป็นองค์ประกอบความผิด  เมื่อนายเสน่ห์ไม่ได้พราก  น.ส.สลักจิตไปจากบิดามารดา  ผู้ปกครอง  หรือผู้ดูแลเพื่อหากำไร  หรือเพื่อการอนาจารแต่อย่างใด  นายเสน่ห์จึงไม่มีความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร  ตามมาตรา  319  วรรคแรก

สรุป  การกระทำของนายเสน่ห์ไม่เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์  ตามมาตรา  319  วรรคแรก

 

ข้อ  3  วันหนึ่งแดงมีเรื่องทะเลาะวิวาทกับขาวทั้งสองคนจึงเข้าต่อสู้กัน  ในการต่อสู้กันนี้มีม่วงและมืดเพื่อนของแดงยืนคุมเชิงเพื่อมิให้ผู้ใดเข้าไปช่วยขาว  เมื่อการต่อสู้ยุติลงโดยที่แดงได้ต่อยขาวจนขาวล้มลงอยู่กับพื้น  บังเอิญแดงเหลือบไปเห็นสร้อยคอทองคำที่ขาวสวมอยู่ แดงจึงรีบกระชากเอาสร้อยคอเส้นนั้นไปจากคอของขาว  การเอาสร้อยคอของขาวไปนี้ม่วงและมืดไม่เห็นการกระทำนี้เลย  หลังจากนั้นคนทั้งสามก็พากันหลบหนีไป  ดังนี้  แดง  ม่วง  และมืดมีความผิดอาญาเกี่ยวกับทรัพย์ฐานใดหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  336  ผู้ใดลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์  ต้องระวางโทษ…

มาตรา  339  วรรคแรก  ผู้ใดลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย  เพื่อ

(1) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์  หรือการพาทรัพย์นั้นไป

(2) ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น

(3) ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้

(4) ปกปิดการกระทำความผิดนั้น  หรือ

(5) ให้พ้นจากการจับกุม

ผู้นั้นกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์  ต้องระวางโทษ…

มาตรา  340  ผู้ใดชิงทรัพย์โดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์  ต้องระวางโทษ…

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์  ตามมาตรา  336  ประกอบด้วย

1       ลักทรัพย์

2       โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า

3       โดยเจตนา

การที่แดงทะเลาะวิวาทกับขาว  ซึ่งแดงได้ต่อยขาวจนล้มลงกับพื้น  และยังได้รีบกระชากสร้อยคอไปจากคอของขาวด้วยนั้น  เป็นกิริยาอาการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยเร็ว  และขณะที่ถูกฉกฉวยขาวรู้สึกตัวหรือเห็นการฉกฉวยเอาทรัพย์นั้นไปด้วย  ทั้งนี้โดยมีเจตนาทุจริตเพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง  ถือได้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการลักทรัพย์ของผู้อื่นโดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า  ดังนั้นแดงมีความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์  ตามมาตรา  336  แต่แดงไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์  เพราะแดงได้ทะเลาะวิวาท  ชกต่อยกับขาวในตอนแรกนั้นมิได้มีเจตนาจะเอาทรัพย์ไปจากขาว  เจตนาทุจริตเกิดขึ้นภายหลังจึงไม่ใช่การกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์  ตามมาตรา  339  ส่วนม่วงและมืดก็มิใช่ตัวการในการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์  ที่จะทำให้เป็นการร่วมกระทำความผิดอันเป็นลักษณะของความผิดฐานปล้นทรัพย์  ตามมาตรา  340  แต่อย่างใด

อนึ่ง  การที่แดงรีบกระชากสร้อยคอไปจากขาว  หลังจากที่ขาวล้มลงนั้น  ม่วงและมืดไม่เห็นการกระทำนั้นเลย  ม่วงและมืดจึงมิใช่ตัวการในการกระทำความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ด้วยเช่นกัน

สรุป  แดงมีความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์  ตามมาตรา  336  ส่วนม่วงและมืดมิได้ร่วมกระทำความผิดด้วยจึงไม่มีความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์

 

ข้อ  4  เขียวไปซื้อนาฬิกาเรือนหนึ่งจากร้านของดำและได้ชำระเงินค่านาฬิกาให้ดำในราคา  3,000  บาท  ดำส่งนาฬิกาที่ห่อใส่กล่องให้เขียวและด้วยความเผอเรอของดำ  ดำลืมเก็บเงิน  3,000  บาท  ที่ได้รับมาจากเขียวแต่ดำได้ใส่เงินไว้ในกล่องนาฬิกาแล้วส่งมอบนาฬิกาและเงินในกล่องให้เขียวไป  เขียวกลับไปถึงบ้านจึงพบว่ามีเงินอยู่ในกล่องนาฬิกาที่ซื้อมา  เขียวจึงนำเงิน  3,000  บาท  ไปฝากธนาคารในชื่อบัญชีฝากของเขียวโดยคิดจะเก็บไว้ให้ลูกของเขียว  ดังนี้  ท่านเห็นว่า  เขียวมีความผิดอาญาเกี่ยวกับทรัพย์ฐานใดหรือไม่ 

ธงคำตอบ

มาตรา  352  วรรคแรก  ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น  หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย  เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอกต้องระวางโทษ…

ถ้าทรัพย์นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบของผู้กระทำความผิด  เพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไปด้วยประการใด  หรือเป็นทรัพย์สินหายซึ่งผู้กระทำความผิดเก็บได้  ผู้กระทำต้องระวางโทษแต่เพียงกึ่งหนึ่ง

วินิจฉัย

บทบัญญัติมาตรา  352  วรรคสอง  เป็นเหตุลดโทษให้แก่ผู้กระทำความผิดฐานยักยอก  ตามมาตรา  352  วรรคแรก  ถ้าทรัพย์ที่ผู้กระทำความผิดยักยอกนั้นตกมาอยู่ในครอบครองของผู้กระทำความผิดเพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไปด้วยประการใด  หรือเป็นทรัพย์สินหาย  ซึ่งผู้กระทำความผิดเก็บได้แล้วยักยอกไว้  ผู้กระทำความผิดต้องรับโทษเพียงกึ่งหนึ่งของโทษตามมาตรา  352  วรรคแรก

เขียวซื้อนาฬิกาจากร้านของดำโดยชำระเงิน  3,000  บาท  เงินดังกล่าวจึงตกเป็นของดำ  แต่ดำลืมเก็บเงิน  3,000  บาท  และยังได้ใส่เงินไว้ในกล่องนาฬิกาที่ได้มอบแก่เขียวไป  เขียวได้พบว่ามีเงินอยู่ในกล่อง  แล้วนำไปฝากธนาคารในชื่อบัญชีฝากของเขียว  ถือว่าเขียวได้ครอบครองเงิน  3,000  บาท  ที่ดำส่งมอบให้โดยสำคัญผิด  และได้เบียดบังโดยนำเงิน  3,000  บาท  ไปฝากไว้ในธนาคารในชื่อบัญชีเงินฝากของเขียวเอง  แม้จะเก็บไว้ให้ลูกของตน  ก็เป็นการกระทำโดยทุจริต  เพราะเป็นการแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย  เขียวมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์สินซึ่งผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิดตามมาตรา  352  วรรคสอง

สรุป  เขียวมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์  ตามมาตรา  352  วรรคสอง

Advertisement