การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2548
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3001 กฎหมายอาญา 3
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1 บู๊มีเรื่องโกรธเคืองบอยจึงมาดักรอบทำร้าย บู๊เห็นบอยเดินผ่านมาพอได้ระยะบู๊ใช้ท่อนไม้ฟาดไปที่ขาของบอยอย่างแรง แต่ปรากฏว่าขาข้างที่ถูกฟาดเป็นขาเทียม ทำให้ขาเทียมหักไม่สามารถเดินได้ตามปกติ ต้องรอใส่ขาเทียมอันใหม่นานกว่า 1 เดือน ดังนี้ บู๊จะมีความผิดต่อร่างกายฐานใด
ธงคำตอบ
มาตรา 80 ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด
ผู้ใดพยายามกระทำความผิด ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
มาตรา 295 ผู้ใดทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย หรือจิตใจของผู้นั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษ
มาตรา 297 ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษ
อันตรายสาหัสนั้น คือ
(3) เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้ว หรืออวัยวะอื่นใด
(8) ทุพพลภาพ หรือเจ็บป่วยด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวัน หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน
องค์ประกอบความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ตามมาตรา 295 ประกอบด้วย
1 ทำร้าย
2 ผู้อื่น
3 จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่น
4 โดยเจตนา
บู๊ใช้ท่อนไม้ฟาดไปที่ขาของบอยอย่างแรง แต่ขาข้างที่ถูกฟาดเป็นขาเทียม บู๊จึงมีความผิดฐานพยายามทำร้ายร่างกายตามมาตรา 295 ประกอบมาตรา 80 เพราะเป็นการทำร้ายไม่สำเร็จการกระทำของบู๊ไม่บรรลุผล ไม่เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของบอย และขาเทียมก็ไม่ใช่อวัยวะที่เป็นร่างกายแม้จะทำให้ไม่สามารถเดินได้ตามปกตินานเกินกว่า 1 เดือน ก็ไม่ใช่อันตรายสาหัส ตามมาตรา 297 (3) หรือ (8) เพราะไม่ถือเป็นอันตรายแก่ร่างกายของบอยตั้งแต่ต้นแล้ว
สรุป บู๊มีความผิดฐานพยายามทำร้ายร่างกายตามมาตรา 295 ประกอบมาตรา 80
ข้อ 2 นายเสรีมีเจตนาจะเอาตัว ด.ช.เอ บุตรของนางเดือนไปเพื่อเรียกค่าไถ่ เพราะรู้ว่านางเดือนเป็นผู้มีฐานะดี นายเสรีได้สอบถามแม่ค้าคนหนึ่งซึ่งขายขนมข้างสนามเด็กเล่นของหมู่บ้านว่าเด็กคนใดเป็น ด.ช.เอ แม่ค้าชี้ไปที่ ด.ช.บี นายเสรีจึงเข้าไปหลอก ด.ช.บี พาขึ้นรถไปด้วยกันแล้วนำตัวไปกักขังไว้ที่บ้านร้างแห่งหนึ่งแถวชานเมือง ต่อมาประมาณ 2 ชั่วโมง พอนายเสรีรู้ว่าเด็กที่เอาตัวไปไม่ใช่บุตรของนางเดือนจึงนำตัว ด.ช.บี กลับไปส่งที่สนามเด็กเล่นตามเดิม โดยไม่ได้เรียกค่าไถ่แต่อย่างใด ให้วินิจฉัยว่าการกระทำของนายเสรีเป็นความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพในฐานเอาเด็กไปเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 61 ผู้ใดเจตนาจะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง แต่ได้กระทำต่ออีกบุคคลหนึ่งโดยสำคัญผิด ผู้นั้นจะยกเอาความสำคัญผิดเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทำโดยเจตนาหาได้ไม่
มาตรา 313 ผู้ใดเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่
(1) เอาตัวเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไป
(2) เอาตัวบุคคลอายุกว่าสิบห้าปีไปโดยใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด หรือ
(3) หน่วงเหนี่ยว หรือกักขังบุคคลใด
ต้องระวางโทษ…
วินิจฉัย
องค์ประกอบความผิดฐานเอาตัวเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปีไปเรียกค่าไถ่ ตามมาตรา 313 วรรคแรก (1) ประกอบด้วย
1 เอาตัวเด็กอายุไม่เกิน 15 ปีไป
2 โดยเจตนา
3 เพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่
นายเสรีมีเจตนาจะเอาตัว ด.ช.เอ บุตรของนางเดือนไปเพื่อเรียกค่าไถ่ แต่สำคัญผิดหลอกเอาตัว ด.ช.บี ขึ้นรถไปด้วยกันแล้วนำตัวไปกักขังไว้ที่บ้านร้างแห่งหนึ่งแถวชานเมือง ดังนี้นายเสรีจะยกเอาความสำคัญผิดมาเป็นข้อแก้ตัวว่าไม่มีเจตนาจะลักพาตัว ด.ช.บี ไปเรียกค่าไถ่มิได้ ตามมาตรา 61
เมื่อนายเสรีได้ลงมือเอาเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ ก็เป็นความผิดสำเร็จตามมาตรา 313 วรรคแรก (1) แล้ว และแม้นายเสรีจะนำตัว ด.ช.บี กลับไปส่งที่สนามเด็กเล่นตามเดิม และแม้จะยังไม่ได้เรียกค่าไถ่ก็ตาม ทั้งนี้เพราะมาตรา 313 บัญญัติไว้แต่เพียงว่า “เพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่” หาจำต้องได้ค่าไถ่มาแล้วจึงจะมีความผิด ดังนี้การจับคนไปเพื่อเรียกค่าไถ่เป็นความผิดสำเร็จ เมื่อนำตัวคนไปโดยเจตนาพิเศษเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่แม้ยังไม่ได้ติดต่อเรียกค่าไถ่ก็ตาม
สรุป การกระทำของนายเสรีเป็นความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพในฐานเอาตัวเด็กไปเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ตามมาตรา 313 วรรคแรก(1)
ข้อ 3 ป่านกับฝ้ายเป็นเพื่อนสนิทกัน ป่านมีนิสัยชอบเล่นการพนัน วันหนึ่งป่านขอยืมเงินฝ้าย แต่ฝ้ายไม่ยอมให้เพราะรู้ว่าป่านจะต้องนำเงินไปเล่นการพนัน ทั้งสองจึงทะเลาะกัน พอตกดึกป่านไปแอบอยู่ท้ายซอยซึ่งไม่มีดวงไฟส่องทาง และไม่สามารถทราบได้เลยว่าใครเป็นใคร โดยป่านตั้งใจว่าจะไปลักทรัพย์คนที่เดินผ่านมา พอดีฝ้ายออกมาตามหาป่านเพื่อขอคืนดีด้วย ฝ้ายได้เดินมาถึงท้ายซอยป่านจึงเข้าไปใช้มือซ้ายกระชากคอเสื้อ แล้วใช้มือขวากระตุกสร้อยคอที่ฝ้ายสวมอยู่ขาดออกแล้วเอาสร้อยไป แรงกระชากคอเสื้อ ทำให้คอของฝ้ายเป็นรอยบวมแดง ไม่ถึงกับเป็นบาดแผลมีเลือดออกปรากฏว่าฝ้ายได้ร้องตะโกนให้คนช่วยเหลือ ป่านซึ่งจำเสียงของฝ้ายได้จึงบอกว่าไม่ต้องตะโกนแล้วโยนสร้อยไปทางฝ้ายและวิ่งหลบหนีไป ดังนี้ ป่านกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ฐานใดหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 336 ผู้ใดลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า ผู้นั้นกระทำความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ ต้องระวางโทษ…
วินิจฉัย
องค์ประกอบความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ ตามมาตรา 336 ประกอบด้วย
1 ลักทรัพย์
2 โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า
3 โดยเจตนา
ป่านมีเจตนาลักทรัพย์โดยทุจริต โดยใช้มือซ้ายกระชากคอเสื้อ แล้ใช้มือขวากระตุกสายสร้อยคอที่ฝ้ายสวมอยู่ขาดออกจากกัน เป็นการกระทำต่อเนื่องกันในทันที เพื่อประสงค์เอาสร้อยคอของฝ้ายเป็นสำคัญ และเป็นเพียงวิธีเอาทรัพย์ของฝ้ายเท่านั้น แม้ว่าการกระชากคอเสื้อจะทำให้คอของฝ้ายเป็นรอยบวมแดงก็ตาม ก็เจตนาเพื่อประสงค์ต่อทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า มิใช่มีเจตนาใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อเอาทรัพย์อันจะเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ได้ การกระทำของป่านเป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์สำเร็จ แม้ว่าจะเปลี่ยนใจคืนทรัพย์ให้กับฝ้ายก็ตาม ก็ไม่ทำให้กลับกลายเป็นพยายามวิ่งราวทรัพย์หรือวิ่งราวทรัพย์ไม่สำเร็จ
สรุป ป่านกระทำความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336
ข้อ 4 ในวันที่ 1 กันยายน 2548 แดงได้ทำเช็คปลอมขึ้นฉบับหนึ่ง และแดงได้เข้าไปซื้อรถยนต์คันหนึ่งจากเต็นท์ขายรถยนต์ของขาว ขาวได้ทำสัญญาซื้อขายรถยนต์ให้แดงในราคา 400,000 บาท โดยแดงได้ตกลงตามสัญญาซื้อขายกับขาวว่า ขาวจะนำรถยนต์ไปจดทะเบียนให้เสร็จสิ้นใน 7 วันนับแต่วันทำสัญญาซื้อขาย โดยแดงตกลงชำระเงินด้วยเช็คของธนาคารแห่งหนึ่ง ซึ่งจะรับเงินตามเช็คฉบับนี้ในวันที่ 1 กันยายน 2548 ส่วนขาวจะมอบรถยนต์ให้แดงเมื่อจดทะเบียนรถยนต์เรียบร้อยแล้ว เมื่อแดงได้มอบเช็คฉบับที่แดงปลอมขึ้นเองให้ขาวไปแล้ว แดงพูดกับขาวว่าแดงขอทดลองขับรถดูว่ามีสภาพดีหรือไม่ ขาวจึงมอบรถยนต์ให้แดงลองไปขับดู เมื่อแดงได้รับมอบรถยนต์จากขาวแล้ว แดงจึงรีบขับรถยนต์คันนี้ไปขายให้เหลืองทันทีในราคา 100,000 บาท ตามที่ได้วางแผนกันไว้ ขณะเดียวกันนี้เองขาวได้โทรไปถามธนาคารตามเช็คที่แดงมอบให้ ขาวจึงทราบว่าเป็นเช็คปลอม ให้ท่านวินิจฉัยว่าแดงมีความผิดอาญาเกี่ยวกับทรัพย์ฐานใดหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 341 ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามหรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามทำ ถอน หรือทำลาย เอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษ…
วินิจฉัย
องค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341 ประกอบด้วย
1 หลอกลวงผู้อื่นด้วยการ
(ก) แสดงข้อความเป็นเท็จ หรือ
(ข) ปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง
2 โดยการหลอกลวงนั้น
(ก) ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม
(ข) ทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ
3 โดยเจตนา
4 โดยทุจริต
การที่แดงทำเช็คปลอมขึ้นเพื่อไปทำสัญญาซื้อขายรถยนต์จากขาว จนได้รับมอบรถยนต์จากขาวไป ถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์การหลอกลวงโดยมีการวางแผนเป็นขั้นๆ เพื่อให้ผู้เสียหายหลงเชื่อแล้วส่งมอบทรัพย์ให้ แสดงให้เห็นว่าแดงมีเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติตามสัญญาตั้งแต่ต้นแล้ว เป็นการหลอกลวงขาวตั้งแต่ทำสัญญาอันเป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จในปัจจุบัน แม้ขาวจะตกลงทำสัญญาซื้อขายรถให้แดงนั้นกรรมสิทธ์ในรถยนต์จะตกเป็นของแดงตั้งแต่ทำสัญญาซื้อขายกันก็ตาม
เมื่อแดงได้รับมอบรถยนต์จากขาวแล้ว แม้จะอ้างว่าเอารถไปลองขับดูก็ตาม ก็เป็นการได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากขาว เมื่อเจตนาพิเศษของแดงเป็นการกระทำโดยทุจริต เพราะต้องการเอารถไปขายให้เหลือง ดังนั้นแดงจึงมีความผิดฐานฉ้อโกง ตามมาตรา 341
สรุป แดงมีความผิดฐานฉ้อโกง ตามมาตรา 341