การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2546
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3001 กฎหมายอาญา 3
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 4 ข้อ
ข้อ 1 โจ๋กับเพื่อนไปดูการแสดงคอนเสิร์ตประเทืองปัญญา เห็นจ๋องนักเรียนอาชีวะต่างสถาบันที่เป็นคู่อริเดินมาดูคอนเสิร์ตด้วย จึงถือไม้วิ่งไล่ตีแต่จ๋องวิ่งหนีไม่ยอมสู้ด้วย ขณะเดียวกัน เอกซึ่งเป็นคู่อริกับโรงเรียนของจ๋องเห็นจ๋องถูกไล่ตีจึงวิ่งตามไปเพื่อทำร้ายจ๋องด้วย เมื่อโจ๋ไล่ตามทันตีจ๋องล้มลงได้รับบาดเจ็บ เอกจึงตรงเข้าไปใช้มีดคัตเตอร์กรีดข้อมือจ๋องจนได้รับอันตรายสาหัส ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า โจ๋จะมีความผิดต่อร่างกายฐานใด
ธงคำตอบ
มาตรา 295 ผู้ใดทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย หรือจิตใจของผู้นั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษ
มาตรา 297 ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษ…
มาตรา 299 วรรคแรก ผู้ใดเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลแต่สามคนขึ้นไป และบุคคลหนึ่งบุคคลใดไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เข้าร่วมในการนั้นหรือไม่รับอันตรายสาหัส โดยการกระทำในการชุลมุนต่อสู้นั้นต้องระวางโทษ
วินิจฉัย
องค์ประกอบความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ตามมาตรา 295 ประกอบด้วย
1 ทำร้าย
2 ผู้อื่น
3 จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่น
4 โดยเจตนา
องค์ประกอบความผิดฐานเข้าร่วมชุลมุนต่อสู้เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ตามมาตรา 299 วรรคแรก ประกอบด้วย
1 เข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้
2 ระหว่างบุคคลตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป
3 บุคคลหนึ่งบุคคลใดไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เข้าร่วมในการนั้นหรือไม่ รับอันตรายสาหัสโดยการกระทำในการชุลมุนต่อสู้นั้น
4 โดยเจตนา
โจ๋ถือไม้วิ่งไล่ตีจ๋อง แต่จ๋องไม่ยอมสู้ด้วย และขณะจ๋องวิ่งหนีโจ๋ไล่ตามทันตีจ๋องล้มลงได้รับบาดเจ็บ เป็นกรณีที่โจ๋ทำร้ายจ๋องเพียงฝ่ายเดียว ถือมิได้ว่าเป็นการสมัครใจวิวาทต่อสู้กัน โจ๋จึงต้องรับผิดฐานทำร้ายร่างกาย ตามมาตรา 295
ส่วนการที่เอกใช้มีดคัตเตอร์กรีดข้อมือจ๋องได้รับอันตรายสาหัส โจ๋ก็มิต้องรับผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ตามมาตรา 297 ด้วย เพราะมิใช่เป็นตัวการร่วมในการกระทำผิด ทั้งนี้ลักษณะของการเป็นตัวการร่วมกันกระทำผิด ต้องมีการกระทำร่วมกันและต้องมีเจตนาร่วมกันด้วย ในส่วนของการกระทำอาจมีการแบ่งหน้าที่กันกระทำ ส่วนการมีเจตนาร่วมกันนั้น ต้องมีการตกลงหรือคบคิดกันว่าจะร่วมกันกระทำผิด ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทันทีทันใด เป็นเหตุให้มีคนหลายคนต่างเข้ามาทำร้ายผู้ใดถึงแก่ความตาย โดยผู้ที่เข้ามาทำร้ายไม่ได้สมคบกันมาก่อน จึงไม่มีเจตนาร่วมกันกระทำผิด คงมีแต่การกระทำร่วมกันเท่านั้น ไม่มีลักษณะร่วมกันกระทำผิด แต่เป็นเรื่องต่างคนต่างทำร้าย แต่ละคนจึงมีความผิดเฉพาะผลที่เกิดจากการกระทำของตนเท่านั้น
นอกจากนี้โจ๋ยังไม่มีความผิดฐานเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้ตามมาตรา 299 วรรคแรก เพราะการที่โจ๋และเอกเข้าร่วมทำร้ายจ๋องฝ่ายเดียว โดยจ๋องมิได้สมัครใจเข้าร่วมชุลมุนต่อสู้ด้วย จึงมิใช่การชุลมุนต่อสู้ตามนัยมาตรา 299 วรรคแรก โจ๋จึงไม่ต้องรับผิด
สรุป โจ๋มีความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ตามมาตรา 295
ข้อ 2 นายศุกร์หลอกลวงเด็กชายอาทิตย์บุตรของนายพุธให้ขึ้นรถไปด้วยกัน หลังจากนั้น 2 วัน นายศุกร์ได้โทรศัพท์เรียกเอาเงินค่าไถ่จากนายพุธ โดยขู่เข็ญว่าถ้านายพุธไปแจ้งความต่อตำรวจจะตัดมือทั้ง 2 ข้างของเด็กชายอาทิตย์ นายพุธกลัวว่าบุตรจะได้รับอันตรายจึงยอมมอบเงินค่าไถ่ตามที่นายศุกร์เรียกเอา หลังจากได้ค่าไถ่แล้วนายศุกร์ได้นำตัวเด็กชายอาทิตย์มาปล่อยไว้ที่หน้าบ้านของนายพุธ และเด็กชายอาทิตย์ก็กลับเข้าบ้านโดยไม่ได้รับอันตรายแต่อย่างใด จากข้อเท็จจริงดังกล่าว ถ้าต่อมานายศุกร์ถูกจับกุมและถูกฟ้องต่อศาลว่ากระทำความผิดฐานเอาตัวเด็กไปเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ ให้วินิจฉัยว่าการกระทำของนายศุกร์จะเป็นความผิดตามคำฟ้องและต้องรับโทษอย่างไรหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 313 ผู้ใดเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่
(1) เอาตัวเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไป
ต้องระวางโทษ…
มาตรา 316 ถ้าผู้กระทำความผิดตามมาตรา 313 มาตรา 314 หรือมาตรา 315 จัดให้ผู้ถูกเอาตัวไป ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวหรือผู้ถูกกักขังได้รับเสรีภาพก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา โดยผู้นั้นมิได้รับอันตรายสาหัสหรือตกอยู่ในภาวะอันใกล้จะเป็นอันตรายต่อชีวิต ให้ลงโทษน้อยกว่ากฎหมายกำหนดไว้ แต่ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง
วินิจฉัย
องค์ประกอบความผิดฐานเอาตัวเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปีไปเรียกค่าไถ่ ตามมาตรา 313 วรรคแรก (1) ประกอบด้วย
1 เอาตัวเด็กอายุไม่เกิน 15 ปีไป
2 โดยเจตนา
3 เพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่
นายศุกร์หลอกลวงเด็กชายอาทิตย์บุตรของนายพุธให้ขึ้นรถไปด้วยกัน และได้โทรศัพท์เรียกค่าไถ่จากนายพุธ นายศุกร์มีความผิดฐานเอาตัวเด็กไปเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ตามมาตรา 313 วรรคแรก (1) แต่หลังจากได้ค่าไถ่แล้ว นายศุกร์ได้นำตัวเด็กชายอาทิตย์มาปล่อยไว้ที่หน้าบ้านของนายพุธ เป็นกรณีที่นายศุกร์ได้จัดให้เด็กชายอาทิตย์ได้รับเสรีภาพก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา และเด็กชายอาทิตย์ก็ไม่ได้รับอันตรายแต่อย่างใด จึงลดโทษให้โดยศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งตามมาตรา 316
สรุป นายศุกร์มีความผิดฐานเอาตัวเด็กไปเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ตามมาตรา 313 วรรคแรก (1) แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งตามมาตรา 316
ข้อ 3 โชคเป็นสามีของชุลีพร ร่วมกันกับชัยคบคิดกันจะเอาเงินจากชุลีพรซึ่งเป็นภริยาของโชค ชัยจึงไปพบชุลีพรที่บ้านตามแผนการของโชค ชัยอ้างว่าโชคเป็นหนี้ตนเองอยู่ 50,000 บาท และพูดขู่ชุลีพรให้ชำระหนี้แก่ตน “มิฉะนั้นจะแจ้งตำรวจมาจับโชคไปนอนในตารางให้เข็ด” ชุลีพรกลัวว่าโชคผู้เป็นสามีจะถูกจับกุมตามคำขู่ จึงยอมตามคำขู่ของชัย แต่เนื่องจากมีเงินไม่พอจึงขอเขียนเช็คเป็นจำนวน 50,000 บาทมอบแก่ชัยไป โดยเช็คกำหนดให้ไปรับเงินอีก 15 วัน นับแต่วันที่ได้มอบให้ แต่ปรากฏว่าชัยถูกตำรวจจับก่อนที่ไปรับเงิน ดังนี้โชคกับชัยกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ฐานใดหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 86 ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆอันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำผิดก่อน หรือขณะกระทำความผิด แม้ผู้กระทำความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดนั้น ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น
มาตรา 337 วรรคแรก ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้ หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญ หรือของบุคคลที่สามจนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกรรโชกต้องระวางโทษ..
วินิจฉัย
องค์ประกอบความผิดฐานกรรโชก ตามมาตรา 337 วรรคแรก ประกอบด้วย
1 ข่มขืนใจ
2 ผู้อื่น
3 โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญ หรือของบุคคลที่สาม
4 ให้ยอมให้ หรือยอมจะให้ตน หรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน
5 จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น
6 โดยเจตนา
ชัยได้ไปขู่จะแจ้งจับโชคซึ่งเป็นสามีของชุลีพรตามแผนการของโชคให้ชุลีพรยอมมอบเงินให้ทั้งที่รู้ว่าตนเองไม่มีสิทธิ จึงเป็นการข่มขืนใจชุลีพรว่าจะทำอันตรายต่อเสรีภาพของโชคบุคคลที่สามถึงแม้ว่าโชคซึ่งเป็นบุคคลที่สามจะรู้ก็ตาม แต่เมื่อชุลีพรกลัวตามคำขู่และยอมจะให้เงิน 50,000 บาท ถือว่าครบองค์ประกอบความผิดฐานกรรโชกทรัพย์แล้ว แม้ชัยจะยังไม่ได้รับเงินตามที่ขู่เนื่องจากโดนตำรวจจับก็ตาม เพราะความผิดดังกล่าวเมื่อผู้ถูกข่มขืนใจยอมให้ หรือยอมจะให้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินตามที่ถูกข่มขืนใจแล้วย่อมเป็นความผิดสำเร็จทันที ชัยจึงมีความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ ตามมาตรา 337 วรรคแรก
ส่วนโชค ซึ่งเป็นผู้วางแผน ถือได้ว่ามีเจตนาร่วมในการกระทำความผิด แต่ไม่ได้เข้าร่วมในการกระทำความผิดด้วย ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโชคอยู่ใกล้กับที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นวิสัยที่อาจจะช่วยเหลือชัยได้ทันท่วงที จึงไม่ใช่การแบ่งหน้าที่กันทำ ไม่เป็นตัวการ แต่เป็นการส่งเสริมช่วยเหลือให้ความสะดวกแก่ชัยก่อนกระทำผิด โชคจึงเป็นเพียงผู้สนับสนุนก่อนการกระทำผิดฐานกรรโชกทรัพย์ ตามมาตรา 337 วรรคแรก ประกอบมาตรา 86
สรุป ชัยมีความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ ส่วนโชคเป็นเพียงผู้สนับสนุน
ข้อ 4 ส้มฝากข้าวสารไว้กับชมพู่เป็นจำนวน 20 ถัง ชมพู่นำข้าวสารดังกล่าวไปเก็บไว้ แต่ต่อมาชมพู่ได้เอาข้าวสารที่ส้มฝากไว้ไปขายให้แก่เงาะทั้งหมดในราคา 5,000 บาท ภายหลังส้มมาทวงข้าวสารคืนชมพู่จึงบอกว่าได้ขายให้แก่เงาะไปแล้วเป็นเงิน 5,000 บาท เดี๋ยวจะจ่ายเป็นเงินให้แก่ส้มแทน ส้มเห็นว่าได้ราคาดีจึงยอมรับเป็นเงินแทน ชมพู่ให้เงินแก่ส้มไป 500 บาท โดยบอกว่าตอนนี้ไม่มีเงินจึงขอผัดชำระเงิน และให้ส้มมารับเงินสิ้นเดือน ปรากฏว่าส้มมาขอรับชำระเงินตามวันนัด ชมพู่อ้างว่าไม่รู้เรื่องดังกล่าวและปฏิเสธชำระเงิน ส้มจึงฟ้องร้องเป็นคดีว่าชมพู่ยักยอกเงินค่าข้าวสารของตนเองไป ดังนี้ การกระทำของชมพู่เป็นความผิดตามข้อกล่าวหาของส้มหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 352 วรรคแรก ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอกต้องระวางโทษ…
วินิจฉัย
องค์ประกอบความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ตามมาตรา 352 วรรคแรก ประกอบด้วย
1 ครอบครอง
2 ทรัพย์ของผู้อื่นหรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย
3 เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สาม
4 โดยเจตนา
5 โดยทุจริต
ส้มฝากข้าวสารไว้กับชมพู่จำนวน 20 ถัง การที่ชมพู่ได้นำข้าวสารของส้มที่รับฝากไว้ไปขายได้เป็นเงิน 5,000 บาท แล้วภายหลังส้มยอมรับจำนวนเงินดังกล่าวแทนข้าวสารที่ฝากไว้ แต่ชมพู่ชำระเพียงบางส่วนและขอผัดชำระเงินส่วนที่เหลือ แล้วภายหลังไม่ชำระเงินตามนัด ดังนี้เป็นเรื่องการเบียดบังเอาทรัพย์ที่รับฝากเป็นของตนโดยทุจริต อันเป็นความผิดฐานยักยอกข้าวสาร ตามมาตรา 352 วรรคแรก
แต่ข้อเท็จจริงส้มฟ้องร้องเป็นคดีว่าชมพู่ยักยอกเงินค่าข้าวสาร หาใช่เป็นการฟ้องหาว่ายักยอกข้าวสารไม่ แม้จะถือว่าข้าวสารเป็นของส้ม ซึ่งหากจะมีกรณีจะต้องคืนข้าวสารและชมพู่คืนไม่ได้ ชมพู่อาจจะต้องใช้เงินแก่ส้ม แต่ก็เป็นการบังคับตัวชมพู่เอาเงินมาใช้แทนทรัพย์
ส่วนตัวเงินที่ชมพู่ยักยอกเอาข้าวสารไปขายมาได้ ตกเป็นของชมพู่ ไม่ใช่เป็นของส้มหรือที่ส้มจะบังคับเอากับเงินนั้นได้โดยตรง เพราะชมพู่ไม่ใช่ตัวแทนขายข้าวสารในนามของส้ม แม้ชมพู่จะชำระให้บางส่วนแล้วปฏิเสธการชำระเงิน เอาเงินจำนวนนี้ไปไม่เอามาให้ส้ม ส้มจะว่าชมพู่ยักยอกเงินค่าข้าวสารนี้ไม่ได้ ฟ้องของส้มไม่มีมูลคดีอาญา เมื่อชมพู่ไม่คืนเงินจึงเป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง ไม่เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ตามมาตรา 352 วรรคแรก
เมื่อส้มฟ้องกล่าวหาว่าชมพู่ยักยอกเงินค่าข้าวสารไม่ได้ฟ้องว่าชมพู่ยักยอกข้าวสาร ข้อกล่าวหาของส้มจึงไม่ถูกต้อง เพราะเงินที่ขายข้าวสารได้เป็นของชมพู่
สรุป การกระทำของชมพู่ไม่เป็นความผิดตามข้อกล่าวหาของส้มแต่ประการใด