การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3001 กฎหมายอาญา 3

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ

 ข้อ  1  หนึ่งใช้ท่อนเหล็กตีศีรษะสองอย่างแรงหลายครั้งโดยมีเจตนาฆ่า  สองยังไม่ตายทันที  ถูกสามน้องชายของสองนำตัวส่งโรงพยาบาล  แพทย์แจ้งกับสามว่าผู้ป่วยได้รับความกระทบกระเทือนมากจนกะโหลกศีรษะร้าว  และก้านสมองถูกทำลาย  จะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน  5  วัน  ต้องถึงแก่ความตายแน่นอน  สามสงสารพี่ชายไม่อยากให้ต้องทนทุกข์ทรมานก่อนตาย  จึงตัดสินใจแอบใช้ผ้าปิดปากและจมูกของสองจนขาดอากาศหายใจถึงแก่ความตายทันที  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่า  หนึ่งจะมีความผิดต่อชีวิตฐานใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  80  ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด  หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล  ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด

ผู้ใดพยายามกระทำความผิด  ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  288  ผู้ใดฆ่าผู้อื่น  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัยองค์ประกอบความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตายโดยเจตนา  ตามมาตรา  288  ประกอบด้วย

1       ฆ่า

2       ผู้อื่น

3       โดยเจตนา

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่หนึ่งใช้ท่อนเหล็กตีศีรษะสองอย่างแรงหลายครั้งโดยมีเจตนาฆ่านั้น  หากสองตายเนื่องจากการกระทำของหนึ่ง หนึ่งจะมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตายโดยเจตนาตามมาตรา  288

แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  สองตายเนื่องจากการกระทำของสาม  กล่าวคือ  ถึงแม้แพทย์จะระบุว่าสองจะต้องตายจากการที่หนึ่งตีศีรษะสองก็ตาม  แต่การที่สามใช้ผ้าปิดปากและจมูกของสองจนเป็นเหตุให้สองตายทันทีนั้น  ถือเป็นเหตุแทรกแซงที่เข้ามาตัดความสัมพันธ์ระหว่างการฆ่าของหนึ่งและความตายของสอง  ดังนั้น  หนึ่งจึงมีความผิดเพียงฐานพยายามฆ่าคนตายโดยเจตนาตามมาตรา  288  ประกอบมาตรา  80  เท่านั้น

สรุป  หนึ่งมีความผิดฐานพยายามฆ่าตามมาตรา  288  ประกอบมาตรา  80

 

ข้อ  2  นายหนึ่งสั่งจ่ายเช็คชำระหนี้ให้แก่นายสอง  นายสองสลักหลังโอนเช็คฉบับนั้นชำระราคาสินค้าให้แก่นายสาม  เมื่อถึงกำหนดวันที่ลงในเช็ค  นายสามได้นำเช็คไปขึ้นเงินแต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน  เพราะเงินในบัญชีของนายหนึ่งไม่พอจ่าย  นายสามนำเช็คมาคืนให้แก่นายสองและนายสองได้จ่ายเงินตามเช็คให้แก่นายสาม  หลังจากนั้นนายสองได้ไปเรียกเงินตามเช็คจากนายหนึ่ง  แต่นายหนึ่งก็บ่ายเบี่ยงเรื่อยมา  วันหนึ่งนายสองพบนายหนึ่งที่หน้าตลาด  นายสองจึงจับตัวนายหนึ่งขึ้นรถไปด้วยกัน  เมื่อถึงที่เปลี่ยวนายสองจอดรถแล้วขู่บังคับให้นายหนึ่งเขียนจดหมายถึงภริยาของนายหนึ่งให้จ่ายเงินแก่ผู้ถือจดหมายตามจำนวนเงินที่ระบุในเช็ค  ขณะที่นายหนึ่งกำลังเขียนจดหมายตามที่ถูกบังคับอยู่นั้น  เจ้าพนักงานตำรวจได้มาจับกุมตัวนายสองและดำเนินคดีกับนายสองในข้อหาเอาตัวบุคคลไปเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่านายสองจะมีความผิดตามข้อกล่าวหาหรือไม่  เพราะเหตุใดธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  313  ผู้ใดเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่

(1) เอาตัวเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไป

(2) เอาตัวบุคคลอายุกว่าสิบห้าปีไปโดยใช้อุบายหลอกลวง  ขู่เข็ญ  ใช้กำลังประทุษร้าย  ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม  หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด  หรือ

(3) หน่วงเหนี่ยว  หรือกักขังบุคคลใด

ต้องระวางโทษ…

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานเอาตัวเด็กอายุยังไม่เกิน  15  ปีไปเรียกค่าไถ่  ตามมาตรา  313  วรรคแรก (1)  ประกอบด้วย

1       เอาตัวเด็กอายุไม่เกิน  15  ปีไป

2       โดยเจตนา

3       เพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่

“ค่าไถ่”  หมายความว่า  ทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่เรียกเอา  หรือให้เพื่อแลกเปลี่ยนเสรีภาพของผู้ถูกเอาตัวไป  ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวหรือผู้ถูกกักขัง  (ป.อ. มาตรา  1(13))

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่สองจับตัวหนึ่งขึ้นรถไปนั้น  ถือเป็นการเจตนาเอาตัวบุคคลไปเพื่อหน่วงเหนี่ยวหรือกักขัง  แต่อย่างไรก็ตาม การกระทำของสองก็มิได้มีเจตนาเพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งค่าไถ่  เพียงแต่ต้องการเรียกเอาเงินตามเช็ค  ซึ่งสองมีสิทธิจะได้เงินดังกล่าวโดยชอบเท่านั้น  เงินดังกล่าวจึงไม่ถือว่าเป็นค่าไถ่ตามกฎหมาย  ดังนั้น  การกระทำของสองจึงไม่เป็นความผิดฐานเรียกค่าไถ่ตามมาตรา  313 สองจึงไม่มีความผิดตามข้อกล่าวหา

สรุป  สองไม่มีความผิดตามข้อกล่าวหา

 

ข้อ  3  นายสิงห์ลอบเข้าไปในบ้านของนายสา  นายสิงห์เห็นกรงนกที่มีนกอยู่ในกรงหนึ่งตัว  ซึ่งถ้าซื้อขายในท้องตลาดจะมีราคา  100,000  บาท  นายสิงห์ได้ยกกรงนกพาเคลื่อนที่ไปได้  2  เมตร  ปรากฏว่า  นางสาวสมศรีซึ่งเป็นคนรับใช้ในบ้านของนายสามาพบเข้าจึงแย่งกรงนก  แต่สู้กำลังของนายสิงห์ไม่ได้  นายสิงห์จึงแย่งเอากรงนกไปได้  เป็นเวลาเดียวกัน  นายสาเจ้าของนกมาพบเข้าจึงออกติดตามในทันที  และติดตามไปในระยะกระชั้นชิด  นายสิงห์จึงวางกรงนกลงแล้ววิ่งหนีไป  ดังนี้  นายสิงห์มีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  334  ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น  หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์  ต้องระวางโทษ

มาตรา  339  ผู้ใดลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย  เพื่อ

(1) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์  หรือการพาทรัพย์นั้นไป

(2) ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น

(3) ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้

(4) ปกปิดการกระทำความผิดนั้น  หรือ

(5) ให้พ้นจากการจับกุม

ผู้นั้นกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์  ต้องระวางโทษ…

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์  ตามมาตรา  334  ประกอบด้วย

1       เอาไป

2       ทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย

3       โดยเจตนา

4       โดยทุจริต

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายสิงห์ได้ยกกรงนกพาเคลื่อนที่ไปได้  2  เมตร  และนางสาวสมศรีมาพบจึงแย่งกรงนก  แต่สู้กำลังของนายสิงห์ไม่ได้  นายสิงห์จึงแย่งเอากรงนกไปได้นั้น  พฤติการณ์ที่นายสิงห์แย่งกรงนกไป  ไม่ถือว่าเป็นการใช้กำลังประทุษร้าย  ดังนั้นการกระทำของนายสิงห์จึงไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์  ตามมาตรา  339

แต่อย่างไรก็ตาม  พฤติการณ์ที่นายสิงห์ยกกรงนกพาเคลื่อนที่ไปนั้น  ถือเป็นการทำให้ทรัพย์เคลื่อนที่ไปจากที่เดิมในลักษณะที่จะพาเอาไปได้  ซึ่งถือได้ว่านายสิงห์แย่งการครอบครองไปจากนายสาโดยทุจริต  และเป็นการแย่งการครอบครองได้สำเร็จแล้ว  ดังนั้น  นายสิงห์จึงมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา  334  แม้ต่อมานายสิงห์จะวางกรงนกลงแล้ววิ่งหนีไปก็ตาม  (ฎ.  2103/2521)

สรุป  นายสิงห์มีความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา  334

 

ข้อ  4  นายแดงเป็นเจ้าของร้านขายของชำ  วันเกิดเหตุ  นาย  ก  เข้าไปซื้อสบู่ในร้านของนายแดง  1  ก้อน  ราคา  3  บาท  นาย  ก  ส่งธนบัตรใบละ  100  บาทให้  นายแดงส่งสบู่ให้พร้อมเงินทอน  97  บาท  นาย  ก  รับสบู่พร้อมเงินทอนแล้วจึงเดินออกจากร้านไป  ต่อมาประมาณ  15  นาที  นาย  ก  กลับมาที่ร้านของนายแดง  และบอกนายแดงว่าซื้อผิดไปขอคืน  นายแดงยอมให้คืนโดยดี  นาย  ก  ส่งสบู่คืนให้นายแดงพร้อมเงินทอน  57  บาท  โดยยักเอาไว้เสีย  40  บาท  นายแดงรับเงินทอนไป  โดยไม่ทันได้นับดู  แล้วคืนธนบัตรใบละ  100  บาท  ให้นาย  ก  ไป  ดังนี้  นาย  ก  มีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  341  ผู้ใดโดยทุจริต  หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ  หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง  และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามหรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามทำ  ถอน  หรือทำลายเอกสารสิทธิ  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง  ต้องระวางโทษ…

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา  341  ประกอบด้วย

1       หลอกลวงผู้อื่นด้วยการ

(ก)  แสดงข้อความเป็นเท็จ  หรือ

(ข)  ปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง

2       โดยการหลอกลวงนั้น

(ก)  ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม

(ข)  ทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม  ถอน  หรือทำลายเอกสารสิทธิ

3       โดยเจตนา

4       โดยทุจริต

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นาย  ก  ส่งสบู่คืนให้นายแดงพร้อมเงินทอน  57  บาท  โดยยักเอาไว้เสีย  40  บาทนั้นถือเป็นการหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ  ในจำนวนเงินที่ส่งคืนให้นายแดงว่าครบ  97  บาท  ทั้งๆที่ความจริงเป็นเงินเพียง  57  บาท  และโดยการหลอกลวงดังกล่าวทำให้นาย  ก  ได้ไปซึ่งธนบัตรใบละ  100  บาท  จากนายแดง  โดยนาย  ก  มีเจตนาทุจริตเพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิชอบด้วยกฎหมายในเงินกำไร  40 บาท  จากการหลอกลวงดังกล่าว  ดังนั้น  การกระทำของนาย  ก  จึงมีความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา  341

สรุป  นาย  ก  มีความผิดฐานฉ้อโกง  ตามมาตรา  341

Advertisement