การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2554 ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3001 กฎหมายอาญา 3

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

Advertisement

ข้อ 1 นางสาวส้มเป็นพวกมิจฉาชีพ มักแฝงตัวเป็นผู้โดยสารนั่งรถโดยสารไปต่างจังหวัดไกล ๆ หาจังหวะลักทรัพย์ผู้โดยสารในรถ วันเกิดเหตุ นางสาวส้มนั่งรถโดยสารจากกรุงเทพฯ ไปจังหวัดสงขลา ระหว่างทางนางสาวส้มสังเกตเห็นนายโอผู้โดยสารที่นั่งคู่มากับตนท่าทางมีฐานะ แต่งตัวดี สวมสร้อยคอทองคําและใส่นาฬิการาคาแพง จึงทําทีตีสนิทชวนพูดคุย เมื่อได้โอกาสก็เอาเครื่องดื่มที่ผสมยานอนหลับอย่างแรง มีฤทธิ์กดประสาทจะทําให้นอนหลับไม่รู้ตัวหลายชั่วโมง ให้นายโอดื่มเพื่อจะได้ปลดทรัพย์นายโอได้ง่าย แต่ปรากฏว่ายานอนหลับเสื่อมจึงไม่ทําให้นายโอหลับอย่างที่นางสาวสมต้องการ ดังนี้

นางสาวส้มจะมีความผิดต่อชีวิตร่างกายฐานใด หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 81 วรรคแรก “ผู้ใดกระทําการโดยมุ่งต่อผลซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด แต่การกระทํานั้นไม่สามารถจะบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ เพราะเหตุปัจจัยซึ่งใช้ในการกระทําหรือเหตุแห่งวัตถุที่มุ่งหมายกระทําต่อ ให้ถือว่าผู้นั้นพยายามกระทําความผิด แต่ให้ลงโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับ ความผิดนั้น”

มาตรา 295 “ผู้ใดทําร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย หรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้น กระทําความผิดฐานทําร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษ”

วินิจฉัย องค์ประกอบของความผิดฐานทําร้ายร่างกายตามมาตรา 295 ประกอบด้วย

1 ทําร้าย

2 ผู้อื่น

3 จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น

4 โดยเจตนา

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ น.ส.ส้มได้เอาเครื่องดื่มที่ผสมยานอนหลับอย่างแรงให้นายโอดื่ม โดยมีเจตนาให้นายโอหมดสติเป็นเวลาหลายชั่วโมงนั้น ย่อมถือว่า น.ส.ส้มได้ลงมือทําร้ายนายโอโดยเจตนาแล้ว แต่เมื่อปรากฏว่ายานอนหลับเสื่อมทําให้นายโอไม่ได้รับอันตราย จึงถือเป็นการกระทําที่ไม่สามารถบรรลุผลได้ อย่างแน่แท้เพราะเหตุปัจจัยที่ใช้ในการกระทํา คือ ยานอนหลับที่เสื่อม ดังนั้น น.ส.ส้มจึงต้องรับผิดฐาน พยายามทําร้ายร่างกายที่ไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ตามมาตรา 295 ประกอบมาตรา 81

สรุป น.ส.ส้มมีความผิดฐานพยายามทําร้ายร่างกายตามมาตรา 295 ประกอบมาตรา 81

 

ข้อ 2. นายอาทิตย์เสียพนันฟุตบอล 3 หมื่นบาท แล้วไม่มีเงินจ่ายจึงได้วางแผนกับนายศุกร์หลอกเอาเงินจากนางเดือนมารดาของนายอาทิตย์ โดยให้นายศุกร์ล่ามโซ่ที่ขาของนายอาทิตย์ไว้กับเสาบ้านแล้วถ่ายรูปไว้ หลังจากนั้น นายศุกร์ก็ส่งรูปถ่ายมาให้นางเดือนดูพร้อมกับขู่เข็ญเอาเงินจากนางเดือน 3 หมื่นบาท โดยอ้างว่าได้จับตัวนายอาทิตย์ไว้ ถ้านางเดือนไม่ยอมให้เงินก็จะฆ่านายอาทิตย์ นางเดือนกลัวว่า นายอาทิตย์จะได้รับอันตรายจึงยอมมอบเงินให้แก่นายศุกร์ตามที่ถูกขู่เข็ญ ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า การกระทําของนายศุกร์จะเป็นความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพในฐานเรียกค่าไถ่หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 313 วรรคแรก “ผู้ใดเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่

(1) เอาตัวเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไป

(2) เอาตัวบุคคลอายุกว่าสิบห้าปีไปโดยใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กําลังประทุษร้าย ใช้อํานาจครอบงําผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด หรือ

(3) หน่วงเหนี่ยว หรือกักขังบุคคลใด ต้องระวางโทษ”

วินิจฉัย องค์ประกอบความผิดฐานเรียกค่าไถ่ตามมาตรา 313 วรรคแรก ประกอบด้วย

1 เอาตัวเด็กอายุไม่เกิน 15 ปีไป หรือ

2 เอาตัวบุคคลอายุกว่า 15 ปีไปโดยใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กําลังประทุษร้าย ใช้อํานาจครอบงําผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด หรือ

3 หน่วงเหนี่ยว หรือกักขังบุคคลใด

4 โดยเจตนา

5 เพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่

กรณีตามอุทาหรณ์

การที่นายอาทิตย์วางแผนกับนายศุกร์เพื่อหลอกเอาเงินจากนางเดือน มารดาของนายอาทิตย์ โดยให้นายศุกร์ล่ามโซ่ที่ขาของนายอาทิตย์ไว้กับเสาบ้านแล้วถ่ายรูปไว้ แล้วส่งไปให้ นางเดือนดูเพื่อขู่เข็ญเอาเงินจากนางเดือนนั้น เมื่อปรากฏว่าเป็นการสมคบกันระหว่างนายอาทิตย์กับนายศุกร์ และนายศุกร์ไม่ได้มีการกระทําตามมาตรา 313(1)-(3) แต่อย่างใด ดังนั้น การกระทําของนายศุกร์จึงไม่เป็นความผิด เกี่ยวกับเสรีภาพในฐานเรียกค่าไถ่ตามมาตรา 313

สรุป การกระทําของนายศุกร์ไม่เป็นความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพในฐานเรียกค่าไถ่ตามมาตรา 313

 

ข้อ 3 จําเลยกับนาย ก. นั่งรถโดยสารประจําทางคันเดียวกัน โดยที่นั่งของจําเลยและของนาย ก. อยู่ติดกัน ขณะเกิดเหตุ นาย ก. เกิดปวดห้องน้ำจึงลุกจากที่นั่งแล้ววางกระเป๋าสตางค์ไว้ตรงที่นั่ง จากนั้น นาย ก. ได้บอกกับจําเลยว่า “ดูกระเป๋าให้ด้วยเดียวจะมารับคืน” ขณะที่นาย ก. อยู่ในห้องน้ำ ปรากฏว่าจําเลยเปิดกระเป๋าของนาย ก. แล้วหยิบเอาเงินไป 2,000 บาท ดังนี้ จําเลยมีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 334 “ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้น กระทําความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษ”

วินิจฉัย

องค์ประกอบของความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 ประกอบด้วย

1 เอาไป

2 ทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย

3 โดยเจตนา

4 โดยทุจริต

กรณีที่จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 นั้น จะต้องเป็นกรณีการเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปจากการครอบครองของผู้อื่นโดยทุจริต หรือเป็นการแย่งการครอบครองนั่นเอง ในกรณีที่เป็นการเอาทรัพย์สินของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริตในขณะที่ผู้เอาทรัพย์สินนั้นไป ได้ครอบครองทรัพย์สินนั้นอยู่ย่อมไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ แต่อาจเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ (ตามมาตรา 352 วรรคแรก)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นาย ก. บอกจําเลยว่า “ดูกระเป๋าให้ด้วย เดี๋ยวจะมารับคืน” นั้น กรณีดังกล่าวถือเป็นการมอบหมายให้จําเลยช่วยดูแลทรัพย์เป็นการชั่วคราว ยังไม่ถึงกับเป็นการฝากทรัพย์ จึงยังไม่เป็นการส่งมอบการครอบครอง การครอบครองกระเป๋าสตางค์จึงยังคงอยู่ที่นาย ก. ดังนั้น การที่จําเลย เปิดกระเป๋าของนาย ก. แล้วหยิบเอาเงินไป 2,000 บาท จึงเป็นการแย่งการครอบครองจากผู้อื่น และเมื่อเป็นการ เอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยเจตนาและโดยทุจริต จําเลยจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 (เทียบฎีกาที่ 179/2507)

สรุป จําเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334

 

ข้อ 4 จําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 สมคบกันที่จะไปลักทรัพย์ที่บ้านของนาย ก. วันเกิดเหตุ จําเลยที่ 1, จําเลยที่ 2 พากันไปที่บ้านของนาย ก. จําเลยที่ 1 ยกโทรทัศน์ของนาย ก. เดินเคลื่อนที่ไปได้ 2 เมตร ปรากฏว่าคนเฝ้าบ้านของนาย ก. มาพบเข้าพอดี จําเลยที่ 2 จึงเดินเข้าไปจูงมือคนเฝ้าบ้านของ นาย ก. พาเข้าไปในห้องครัว จากนั้นจําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 ช่วยกันยกโทรทัศน์เดินออกจาก บ้านของนาย ก. แล้วหลบหนีไป ดังนี้ จําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 มีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์หรือไม่เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 83 “ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทําของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทําความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้น”

มาตรา 334 “ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้น กระทําความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษ”

มาตรา 339 “ผู้ใดลักทรัพย์โดยใช้กําลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กําลังประทุษร้าย

(1) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์ หรือการพาทรัพย์นั้นไป

(2) ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น

(3) ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้

(4) ปกปิดการกระทําความผิดนั้น หรือ

(5) ให้พ้นจากการจับกุม ผู้นั้นกระทําความผิดฐานชิงทรัพย์ ต้องระวางโทษ”

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานชิงทรัพย์ตามมาตรา 339 ประกอบด้วย

1 ลักทรัพย์

2 โดยใช้กําลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กําลังประทุษร้าย

3 โดยเจตนา

4 เจตนาพิเศษ เพื่อ

(1) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์ หรือพาทรัพย์นั้นไป

(2) ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น

(3) ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้

(4) ปกปิดการกระทําความผิดนั้น หรือ

(5) ให้พ้นจากการจับกุม

กรณีตามอุทาหรณ์

การที่จําเลยที่ 1 ยกโทรทัศน์ของนาย ก. เคลื่อนที่ไปได้ 2 เมตรนั้น ถือเป็นการทําให้ทรัพย์เคลื่อนที่ไปจากที่เดิมในลักษณะที่จะพาเอาไปได้ จึงถือได้ว่าจําเลยที่ 1 แย่งการครอบครอง ไปจากนาย ก. โดยทุจริต และเป็นการแย่งการครอบครองสําเร็จ อันถือเป็นการลักทรัพย์ตามมาตรา 334 แล้ว

ส่วนการที่จําเลยที่ 2 เดินเข้าไปจูงมือคนเฝ้าบ้านของนาย ก. พาเข้าไปในห้องครัวนั้น ถือเป็นการกระทําใด ๆ ซึ่งเป็นเหตุให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ อันถือได้ว่าเป็น การใช้กําลังประทุษร้ายแล้ว เมื่อปรากฏว่าจําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 มีเจตนาร่วมกันและมีการกระทําร่วมกัน ซึ่งถือเป็นตัวการร่วมอันต้องรับผิดในผลที่เกิดขึ้นจากการกระทําของกันและกัน ดังนั้น การกระทําของจําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 จึงถือเป็นการร่วมกันลักทรัพย์โดยใช้กําลังประทุษร้าย โดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความสะดวกแก่ การลักทรัพย์หรือการพาทรัพย์นั้นไป อันเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตามมาตรา 339 ดังนั้น จําเลยที่ 1 และ จําเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ตามมาตรา 339 ประกอบมาตรา 83 (เทียบฎีกาที่ 1609/2516)

สรุป จําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ตามมาตรา 339 ประกอบ มาตรา 83

 

Advertisement