การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3001 กฎหมายอาญา 3

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน) ข้อ

1 เอเข้าไปซื้อของในร้านสะดวกซื้อ เห็นปลอดคนมี น.ส.บี พนักงานขายอยู่คนเดียวเกิดความโลภอยากได้เงิน จึงเดินเข้าไปใกล้ น.ส.บี แกล้งทําลวนลาม เพื่อให้ น.ส.บีเดินหนีไปจากเคาน์เตอร์เก็บเงิน ตนจะได้ฉวยโอกาสสลักเงินโดยเอดึงตัว น.ส.บี มากอดและหอมแก้ม น.ส.บี ซึ่งเป็นโรคหัวใจอยู่ก่อนตกใจกลัวจนหัวใจวายถึงแก่ความตาย ดังนี้ เอจะมีความผิดต่อชีวิตฐานใดหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 290 วรรคแรก “ผู้ใดมิได้มีเจตนาฆ่า แต่ทําร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษ”

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไม่เจตนาตามมาตรา 290 วรรคแรก ประกอบด้วย

1 ทําร้ายผู้อื่น

2 เป็นเหตุให้ผู้ถูกทําร้ายถึงแก่ความตาย

3 โดยเจตนา

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่เอดึงตัว น.ส.ปีเข้ามากอดและหอมแก้มนั้น แม้เอจะเพียงต้องการ ให้ น.ส.บี เกิดความกลัวจะได้เดินหนีไปจากเคาน์เตอร์เก็บเงิน และเพื่อตนจะได้ฉวยโอกาสลักเงินก็ตาม แต่การกระทําดังกล่าวของเอถือว่าเป็นการใช้กําลังประทุษร้ายต่อ น.ส.บีแล้ว และเมื่อการกระทําของเอเป็นผลให้ น.ส.บี ตกใจกลัวจนหัวใจวายถึงแก่ความตาย ความตายของ น.ส.บีจึงเป็นผลโดยตรง และเป็นผลใกล้ชิดกับการทําร้ายของเอ ดังนั้น เอจึงมีความผิดฐานมิได้มีเจตนาฆ่า แต่ทําร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามมาตรา 290 วรรคแรก

สรุป

เอมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนาตามมาตรา 290 วรรคแรก

 

ข้อ 2 นางทับทิมกู้ยืมเงินจากนายเพชร 30,000 บาท โดยมีหลักฐานการกู้ยืมตามกฎหมาย เมื่อหนี้ถึงกําหนดนางทับทิมผิดนัดชําระหนี้ นายเพชรได้ทวงถามหลายครั้งนางทับทิมก็พูดท้าทายให้นายเพชร ไปฟ้องร้องเอา วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 14.00 น. นายเพชรได้เข้าไปในบ้านของนางทับทิมและพูดจาขู่เข็ญให้นางทับทิมชําระหนี้ โดยขู่ว่าถ้ายังไม่ยอมชําระจะใช้มีดกรีดใบหน้าให้หน้าเสียโฉม นางทับทิมเกิดความกลัวจึงบอกให้นายเพชรรอยู่ที่บ้านตนเองจะไปเบิกเงินธนาคารมาให้ ขณะ ออกจากบ้านพบกับเจ้าพนักงานตํารวจสายตรวจที่ขับขี่รถจักรยานยนต์เข้ามาในหมู่บ้าน นางทับทิม จึงแจ้งให้ตํารวจจับกุมตัวนายเพชร ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า การกระทําของนายเพชรเป็นความผิดเกี่ยวกับ เสรีภาพฐานใดหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 80 “ผู้ใดลงมือกระทําความผิดแต่กระทําไปไม่ตลอด หรือกระทําไปตลอดแล้วแต่ การกระทํานั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายามกระทําความผิด

ผู้ใดพยายามกระทําความผิด ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกําหนดไว้ สําหรับความผิดนั้น”

มาตรา 309 วรรคแรก “ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทําการใดไม่กระทําการใด หรือจํายอมต่อสิ่งใด โดยทําให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของ ผู้อื่น หรือโดยใช้กําลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทําการนั้น ไม่กระทําการนั้นหรือจํายอมต่อสิ่งนั้นต้อง ระวางโทษ”

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานทําให้เสื่อมเสียเสรีภาพตามมาตรา 309 ประกอบด้วย

1 ข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทําการใด ไม่กระทําการใด หรือจํายอมต่อสิ่งใด

2 โดยทําให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเอง หรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กําลังประทุษร้าย

3 จนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทําการนั้น ไม่กระทําการนั้น หรือจํายอมต่อสิ่งนั้น

4 โดยเจตนา

กรณีตามอุทาหรณ์

การที่นายเพชรเป็นเจ้าหนี้นางทับทิมจากการกู้ยืมเงินและมีสิทธิที่จะเรียก ให้นางทับทิมลูกหนี้ชําระหนี้ได้ แต่การใช้สิทธิดังกล่าวนายเพชรจะต้องดําเนินการตามกฎหมาย การที่นายเพชร ได้เข้าไปในบ้านของนางทับทิมและพูดจาขู่เข็ญให้นางทับทิมชําระหนี้ โดยขู่ว่าถ้ายังไม่ยอมชําระหนี้จะใช้มีดกรีดใบหน้าให้หน้าเสียโฉมนั้น ถือว่าเป็นการข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทําการใดหรือจํายอมต่อสิ่งใด โดยทําให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อร่างกาย ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพตามมาตรา 309 วรรคแรก

แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นางทับทิมยังไม่ได้กระทําการชําระหนี้ตามที่ถูกข่มขืนใจเนื่องจากได้แจ้งให้ตํารวจจับกุมตัวนายเพชรเสียก่อน จึงเป็นกรณีที่นายเพชรได้ลงมือกระทําไปตลอดแล้ว แต่การกระทํานั้น ไม่บรรลุผล การกระทําของนายเพชรจึงเป็นความผิดฐานพยายามข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทําการใด ๆ ตามมาตรา 309 วรรคแรก ประกอบมาตรา 80

สรุป

นายเพชรมีความผิดฐานพยายามข่มขืนใจให้ผู้อื่นกระทําการใด ๆ ตามมาตรา 309 วรรคแรก ประกอบมาตรา 80

 

ข้อ 3 จําเลยกับนาย ก. โดยสารรถประจําทางคันเดียวกัน โดยที่นั่งของจําเลยกับที่นั่งของนาย ก. นั่งติดกัน ขณะเกิดเหตุนาย ก. เกิดปวดห้องน้ำ นาย ก. สุกจากที่นั่งและวางกระเป๋าสตางค์ไว้ตรงที่นั่ง จากนั้น นาย ก. พูดกับจําเลยว่า “ช่วยดูกระเป๋าสตางค์ให้ด้วย เดี๋ยวจะมารับคืน” หลังจากพูดเสร็จ นาย ก. เดินเข้าห้องน้ำในรถคันนั้นระหว่างที่นาย ก. กําลังทําธุระในห้องน้ำ จําเลยถือโอกาสเปิดกระเป๋าสตางค์ ของนาย ก. แล้วหยิบเงินไปเป็นจํานวน 2,000 บาท ดังนี้ จําเลยมีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์หรือไม่เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 334 “ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทําความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษ”

วินิจฉัย

องค์ประกอบของความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 ประกอบด้วย

1 เอาไป

2 ทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย

3 โดยเจตนา

4 โดยทุจริต

กรณีที่จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 นั้น จะต้องเป็นกรณีการเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปจากการครอบครองของผู้อื่นโดยทุจริต หรือเป็นการแย่งการครอบครองนั่นเอง ในกรณีที่เป็นการเอาทรัพย์สินของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริตในขณะที่ผู้เอาทรัพย์สินนั้น ไปได้ครอบครองทรัพย์สินนั้นอยู่ย่อมไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ แต่อาจเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ (ตาม มาตรา 352 วรรคแรก)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นาย ก. บอกจําเลยว่า “ช่วยดูกระเป๋าสตางค์ให้ด้วย เดี๋ยวจะมารับคืน” นั้น กรณีดังกล่าวถือเป็นการมอบหมายให้จําเลยช่วยดูแลทรัพย์เป็นการชั่วคราว ยังไม่ถึงกับเป็นการฝากทรัพย์ จึงยังไม่เป็นการส่งมอบการครอบครอง การครอบครองกระเป๋าสตางค์จึงยังคงอยู่ที่นาย ก. ดังนั้น การที่จําเลย เปิดกระเป๋าสตางค์ของนาย ก. แล้วหยิบเอาเงินไป 2,000 บาท จึงเป็นการแย่งการครอบครองจากผู้อื่น และเมื่อเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยเจตนาและโดยทุจริต จําเลยจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 (เทียบฎีกาที่ 179/2507)

สรุป จําเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334

 

ข้อ 4 จําเลยลอบเข้าไปในบ้านของนาย ก. เวลากลางคืน จําเลยมองเห็นกรงนกของนาย ก. แขวนอยู่ที่ระเบียงบ้าน จําเลยถือโอกาสยกกรงนกพาเดินเคลื่อนที่ไปได้ 2 เมตร บังเอิญนางสาว ข. คนรับใช้ ในบ้านมาพบเข้าพอดี นางสาว ข. จึงเข้าแย่งกรงนกจากจําเลย แต่สู้กําลังของจําเลยไม่ได้ ท้ายที่สุดจําเลยจึงแย่งเอากรงนกไปได้ ดังนี้ จําเลยมีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์หรือไม่ เพราะเหตุใด ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 334 “ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้น กระทําความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษ”

มาตรา 339 “ผู้ใดลักทรัพย์โดยใช้กําลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กําลัง ประทุษร้าย เพื่อ

(1) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์ หรือการพาทรัพย์นั้นไป

(2) ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น

(3) ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้

(4) ปกปิดการกระทําความผิดนั้น หรือ

(5) ให้พ้นจากการจับกุม ผู้นั้นกระทําความผิดฐานชิงทรัพย์ ต้องระวางโทษ…”

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 ประกอบด้วย

1 เอาไป

2 ทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย

3 โดยเจตนา

4 โดยทุจริต

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จําเลยยกกรงนกพาเดินเคลื่อนที่ไปได้ 2 เมตรนั้น ถือว่าเป็นการทําให้ ทรัพย์เคลื่อนที่ไปจากเดิมในลักษณะที่จะพาเอาทรัพย์นั้นไปได้แล้ว จึงถือว่าจําเลยได้แย่งการครอบครองทรัพย์ ไปจากนาย ก. โดยทุจริต และเป็นการแย่งการครอบครองได้สําเร็จแล้ว ดังนั้นจําเลยจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์

ส่วนการที่นางสาว ข. คนรับใช้ในบ้านมาพบและได้เข้าแย่งกรงนกจากจําเลยแต่สู้กําลังของจําเลยไม่ได้ จําเลยจึงแย่งเอากรงนกไปได้นั้น พฤติการณ์ที่จําเลยแย่งกรงนกไป ไม่ถือว่าเป็นการใช้กําลังประทุษร้าย ดังนั้น การกระทําของจําเลยจึงไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์ตามมาตรา 339 (เทียบฎีกาที่ 2103/2521)

สรุป

จําเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 แต่ไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์ตาม มาตรา 339

Advertisement