การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2556
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3001 กฎหมายอาญา 3
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 หนึ่งมีเรื่องโกรธเคืองสอง วันเกิดเหตุหนึ่งเห็นสองนั่งอยู่บนแคร่หน้าบ้าน หนึ่งเดินเข้าไปตบสองตกจากแคร่ เมื่อสองลุกขึ้นหนึ่งเข้าไปจิกผมและผลักจนสองล้มลงก้นกระแทกพื้น ทําให้สองแท้งลูกที่เพิ่งตั้งครรภ์ได้สามเดือน โดยที่หนึ่งก็ไม่รู้ว่าสองกําลังตั้งครรภ์อยู่ ดังนี้ หนึ่งจะมีความผิดต่อร่างกาย ฐานใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 295 “ผู้ใดทําร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้น กระทําความผิดฐานทําร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษ”
มาตรา 297 “ผู้ใดกระทําความผิดฐานทําร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทําร้ายรับ อันตรายสาหัส ต้องระวางโทษ
อันตรายสาหัสนั้น คือ
(5) แท้งลูก”
วินิจฉัย
ความผิดฐานทําร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสตามมาตรา 297 เป็นเหตุ ที่ทําให้ผู้กระทําผิดฐานทําร้ายร่างกายตามมาตรา 295 ต้องรับโทษหนักขึ้น เพราะผลที่เกิดจากการกระทํา โดยที่ ผู้กระทําผิดไม่จําต้องประสงค์ต่อผลหรือยอมเล็งเห็นผลถึงอันตรายสาหัสนั้น แต่อย่างไรก็ตามในเบื้องต้นจะต้องพิจารณาก่อนว่าการกระทํานั้นเป็นความผิดฐานทําร้ายร่างกายตามมาตรา 295 หรือไม่
สําหรับความผิดฐานทําร้ายร่างกายตามมาตรา 295 มีองค์ประกอบความผิด ดังนี้คือ
1 ทําร้าย
2 ผู้อื่น
3 จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น
4 โดยเจตนา
กรณีตามอุทาหรณ์
การที่หนึ่งมีเจตนาทําร้ายสอง โดยหนึ่งเดินเข้าไปตบสองตกจากแคร่ เมื่อสองลุกขึ้น หนึ่งก็ได้เข้าไปจิกผมและผลักจนสองล้มลงก้นกระแทกพื้น การกระทําดังกล่าวถือว่าเป็นความผิดฐานทําร้าย ร่างกายตามมาตรา 295 แล้ว เมื่อผลที่เกิดจากการกระทําผิดดังกล่าวทําให้สองแท้งลูก ซึ่งเป็นอันตรายสาหัสตาม มาตรา 297(5) และถือเป็นผลที่ทําให้หนึ่งต้องรับโทษหนักขึ้นโดยที่หนึ่งไม่จําต้องประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลถึงอันตรายสาหัสนั้น และเมื่อเป็นผลที่ธรรมดาย่อมเกิดขึ้นได้จากการที่หนึ่งทําร้ายสองโดยมีเจตนาทําร้าย ดังนั้น หนึ่งจึงมีความผิดฐานทําร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสตามมาตรา 297(5)
สรุป
หนึ่งมีความผิดฐานทําร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสตามมาตรา 297(5)
ข้อ 2 นายเสือฆ่าคนตายแล้วหลบหนีในระหว่างทางพบนายเอกจอดรถจักรยานยนต์อยู่ที่พักริมทาง นายเสือได้ใช้อาวุธปืนขู่เข็ญเอารถจากนายเอกแล้วขับรถเป็นพาหนะหลบหนี หลังจากขับขี่รถไปได้ประมาณ 10 กิโลเมตร นายเสือก็จอดรถทิ้งไว้ข้างทางโดยมิได้ซุกซ่อน ส่วนตัวนายเสือก็หลบหนีต่อไป
จากข้อเท็จจริงดังกล่าวให้วินิจฉัยว่า นายเสือจะมีความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพฐานใดหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 309 วรรคแรก “ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทําการใด ไม่กระทําการใด หรือจํายอมต่อสิ่งใด โดยทําให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเอง หรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กําลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทําการนั้น ไม่กระทําการนั้นหรือจํายอมต่อสิ่งนั้น ต้องระวางโทษ”
องค์ประกอบความผิดฐานทําให้เสื่อมเสียเสรีภาพตามมาตรา 309 วรรคแรก ประกอบด้วย
1 ข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทําการใด ไม่กระทําการใด หรือจํายอมต่อสิ่งใด
2 โดยทําให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเอง หรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กําลังประทุษร้าย
3 จนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทําการนั้น ไม่กระทําการนั้นหรือจํายอมต่อสิ่งนั้น
4 โดยเจตนา
กรณีตามอุทาหรณ์
การที่นายเสือใช้อาวุธปืนขู่เข็ญเอารถจักรยานยนต์จากนายเอก จนทําให้นายเอกกลัวและยอมให้นายเสือขับรถไปนั้น การกระทําของนายเสือถือว่าเป็นการข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทําการใด ๆ หรือจํายอมต่อสิ่งใด โดยทําให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต และนายเอกก็ได้จํายอมตามที่ถูกนายเสือข่มขืนใจ หรือขู่เข็ญแล้ว อีกทั้งการกระทําของนายเสือก็เป็นการกระทําโดยเจตนา ดังนั้น นายเสือจึงมีความผิดฐานข่มขืนใจ ผู้อื่นตามมาตรา 309 วรรคแรก
สรุป
นายเสือจะมีความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพฐานข่มขืนใจผู้อื่นตามมาตรา 309 วรรคแรก
ข้อ 3 นาย ก. กู้เงินจากนายแดง จํานวน 28,000 บาท เมื่อถึงกําหนดชําระ นาย ก. ไม่ยอมชําระ นายแดงไปที่บ้านของนาย ก. เพื่อทวงหนี้ นาย ก. บอกนายแดงว่ายังไม่มีเงินชําระ นายแดงจึงบอกนาย ก. ไปว่า ถ้าไม่มีเงินชําระจะยึดทรัพย์ของนาย ก. นาย ก. ไม่ยอมให้ยึดและขอเวลาผ่อนชําระ นายแดงไม่ยอมผ่อนผัน นายแดงถือโอกาสยกเครื่องซักผ้า ราคา 11,880 บาท โทรทัศน์ราคา 10,000 บาท เครื่องเล่น CD ราคา 3,500 บาท ยกใส่ท้ายรถกระบะของนายแดง จากนั้น นายแดงพูดว่า “หากอยากได้ทรัพย์สินคืนให้นาย ก. นําเงินไปชําระ ข้อเท็จจริงได้ความว่า ในสัญญากู้เงินกําหนดว่า “หาก นาย ก. ไม่ยอมชําระเงินให้ยึดทรัพย์สินของนาย ก. ได้”
ดังนี้ นายแดงมีความผิดเกี่ยวกับ ทรัพย์หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 334 “ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทําความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษ…”
วินิจฉัย
องค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 ประกอบด้วย
1 เอาไป
2 ทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย
3 โดยเจตนา
4 โดยทุจริต
กรณีตามอุทาหรณ์
การที่นายแดงถือโอกาสยกเครื่องซักผ้าราคา 11,880 บาท โทรทัศน์ราคา 10,000 บาท เครื่องเล่น CD ราคา 3,500 บาท ใส่ท้ายรถกระบะของนายแดง และพูดกับนาย ก. ว่า “หากอยากได้ ทรัพย์สินคืนให้นาย ก. นําเงินไปชําระ” นั้น แม้จะเป็นการเอาทรัพย์สินของนาย ก. ไปเพียงเพื่อจะให้นาย ก. นําเงินกู้ไปชําระก็ตาม แต่การกระทําของนายแดงเป็นการบังคับให้นาย ก. ชําระหนี้โดยพลการ ซึ่งไม่มีอํานาจจะกระทําได้ตามกฎหมาย การกระทําของนายแดงจึงถือว่าเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริต คือ เพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย นายแดงจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 (เทียบฎีกาที่ 11225/2555)
สรุป นายแดงมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334
ข้อ 4 นายหนึ่งเป็นเจ้าของร้านขายของชํา วันเกิดเหตุนายสองเข้าไปซื้อสบู่ในร้านของนายหนึ่ง 1 ก้อน ราคา 3 บาท นายสองส่งธนบัตรใบละ 100 บาทให้ นายหนึ่งส่งสบู่ให้พร้อมเงินทอน 97 บาท นายสองรับสบู่พร้อมเงินทอนแล้วจึงเดินออกจากร้านไป ต่อมาประมาณ 15 นาที นายสองกลับมาที่ร้านของ นายหนึ่งและบอกนายหนึ่งว่า ซื้อผิดไปขอคืน นายหนึ่งยอมให้คืนโดยดี นายสองส่งสบู่คืนให้นายหนึ่ง พร้อมเงินทอน 57 บาท โดยยักเอาไว้เสีย 40 บาท นายหนึ่งรับเงินทอนไปโดยไม่ทันได้นับดู แล้วคืนธนบัตรใบละ 100 บาท ให้นายสองไป
ดังนี้ นายสองมีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 341 “ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิด ข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทําให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามทํา ถอน หรือทําลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทําความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษ”
วินิจฉัย
องค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341 ประกอบด้วย
1 หลอกลวงผู้อื่นด้วยการ
(ก) แสดงข้อความเป็นเท็จ หรือ
(ข) ปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง
2 โดยการหลอกลวงนั้น
(ก) ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือ
(ข) ทําให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามทํา ถอน หรือทําลายเอกสารสิทธิ
3 โดยเจตนา
4 โดยทุจริต
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสองส่งสบู่คืนให้นายหนึ่งพร้อมเงินทอน 57 บาท โดยยักเอาไว้เสีย 40 บาทนั้น ถือเป็นการหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ในจํานวนเงินที่ส่งคืนให้นายหนึ่งว่าครบ 97 บาท ทั้ง ๆ ที่ความจริงเป็นเงินเพียง 57 บาท และโดยการหลอกลวงดังกล่าวทําให้นายสองได้ไปซึ่งธนบัตรใบละ 100 บาทจากนายหนึ่ง โดยนายสองมีเจตนาทุจริตเพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิชอบด้วยกฎหมายในเงินกําไร 40 บาท จากการหลอกลวงดังกล่าว ดังนั้น การกระทําของนายสองจึงมีความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341
สรุป
นายสองมีความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341