การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2562

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2013 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 นายหนึ่งออกตั๋วแลกเงินฉบับหนึ่งสั่งให้นายสองจ่ายเงินให้แก่นายสามแบบระบุชื่อให้ใช้เงินแก่ นายสามหรือผู้ถือ ต่อมานายสามสลักหลังเฉพาะระบุชื่อนายสี่แล้วส่งมอบตั๋วแลกเงินเพื่อชําระหนี้
ให้แก่นายสี่ จากนั้นนายสี่ได้นําตั๋วแลกเงินฉบับนี้ไปสลักหลังลอยและส่งมอบให้แก่นายห้า ซึ่งต่อมานายห้าก็ได้ทําการส่งมอบตั๋วแลกเงินฉบับนี้เพื่อชําระหนี้ให้แก่นายหก

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น นายหกจะมีฐานะเป็นผู้ทรงตั๋วแลกเงินฉบับดังกล่าวโดยชอบด้วย กฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 904 “อันผู้ทรงนั้น หมายความว่า บุคคลผู้มีตั๋วเงินไว้ในครอบครองโดยฐานเป็นผู้รับเงิน หรือเป็นผู้รับสลักหลัง ถ้าและเป็นตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือ ๆ ก็นับว่าเป็นผู้ทรงเหมือนกัน”

มาตรา 918 “ตั๋วแลกเงินอันสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น ท่านว่าย่อมโอนไปเพียงด้วยส่งมอบให้กัน”

มาตรา 921 “การสลักหลังตั๋วแลกเงินซึ่งสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้นย่อมเป็นเพียงประกัน (อาวัล) สําหรับผู้สั่งจ่าย”
วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหนึ่งออกตั๋วแลกเงินสั่งให้นายสองจ่ายเงินโดยระบุชื่อให้ใช้เงินแก่นายสามหรือผู้ถือนั้น ถือว่าเป็นตั๋วแลกเงินชนิดสั่งจ่ายแก่ผู้ถือ ดังนั้นในการโอนตั๋วแลกเงินฉบับนี้ต่อไป การโอนย่อมสมบูรณ์โดยการส่งมอบตั๋วให้แก่กันโดยไม่ต้องสลักหลังใด ๆ ทั้งสิ้น ถ้าการโอนตัวนี้ต่อไปได้มีการสลักหลังใน ตัวนี้ด้วย กฎหมายให้ถือว่าการสลักหลังนั้นเป็นเพียงการรับอาวัลผู้สั่งจ่ายเท่านั้น (ตามมาตรา 918 และมาตรา 921)

ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ เมื่อมีการโอนตั๋วแลกเงินฉบับนี้ต่อไปนั้น นายสามสลักหลังระบุชื่อและส่งมอบให้แก่นายสี่ นายสี่สลักหลังลอยและส่งมอบแก่นายห้า และนายห้าส่งมอบตัวต่อไปให้แก่นายหก จะเห็นได้ว่า การโอนตั๋วทุกครั้งมีการส่งมอบตัวนั้นให้แก่กัน ดังนั้นการโอนตั๋วแลกเงินดังกล่าวจึงถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อ นายหกเป็นบุคคลผู้มีตั๋วเงินอยู่ในความครอบครอง และได้รับการโอนตั๋วมาโดยชอบด้วยกฎหมาย นายหกจึงเป็น ผู้ทรงตั๋วแลกเงินดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 904 ส่วนการที่นายสามและนายสี่ได้ลงลายมือชื่อ สลักหลังตั๋วเงินไว้นั้นให้ถือว่าเป็นเพียงผู้รับอาวัลผู้สั่งจ่าย (ตามมาตรา 921)

สรุป นายหกมีฐานะเป็นผู้ทรงตัวแลกเงินฉบับดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมาย

ข้อ 2 (ก) ตั๋วเงินชนิดผู้ถือ หากมีการสลักหลังโอน จะมีผลอย่างไรต่อผู้สลักหลังนั้น จงอธิบายพร้อมหลักกฎหมายประกอบ

(ข) พลูด่างสั่งจ่ายเช็คชนิดผู้ถือ 300,000 บาท ชําระหนี้ให้แก่กิ่งไผ่ เมื่อกิ่งไผ่ได้รับเช็คฉบับดังกล่าว ก็ได้นําเช็คไปชําระหนี้ค่าแหวนเพชรให้แก่ใบพลู หากแต่ใบพลูไม่เชื่อถือกิ่งไผ่เพราะเคย ผิดนัดชําระหนี้ตนมาก่อน ใบพลูจึงได้บอกขอให้กิ่งไผ่หาบุคคลมาค้ำประกันเช็คฉบับนี้ 2 คน มิเช่นนั้นตนจะไม่ยอมขายแหวนเพชรวงนี้ให้ในราคาดังกล่าว กิ่งไผ่จึงนําเช็คไปหาลูกสน ลูกสนทราบเรื่องดังกล่าวก็ได้เขียนข้อความว่า “อาวัลกิ่งไผ่ จํานวน 150,000 บาท” พร้อม ลงลายมือชื่อลูกสนไว้ด้านหน้าเช็คและกิ่งไผ่ก็ได้ลงลายมือชื่อของตนโดยไม่ได้เขียนข้อความ ใดเลยไว้ด้านหน้าเช็ค และนําไปชําระหนี้ค่าแหวนเพชรให้แก่ใบพลู เมื่อถึงวันที่ลงในเช็ค หากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ให้นักศึกษาจงวินิจฉัยว่า บุคคลใดบ้างต้องรับผิดและรับผิด อย่างไรต่อใบพลูผู้ทรงเช็ค

ธงคําตอบ

(ก) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 918 “ตั๋วแลกเงินอันสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น ท่านว่าย่อมโอนไปเพียงด้วยส่งมอบให้กัน”

มาตรา 921 “การสลักหลังตั๋วแลกเงินซึ่งสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้นย่อมเป็นเพียงประกัน (อาวัล) สําหรับผู้สั่งจ่าย”
มาตรา 940 วรรคหนึ่ง “ผู้รับอาวัลย่อมต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับบุคคลซึ่งตนประกัน”

ตามมาตรา 918 ได้กําหนดไว้ว่า ตั๋วเงินชนิดผู้ถือนั้นย่อมสามารถโอนให้แก่กันได้โดยการส่งมอบ ตั๋วเงินนั้นให้แก่กันโดยไม่ต้องสลักหลังใด ๆ ทั้งสิ้น ดังนั้น หากมีการโอนตั๋วเงินชนิดผู้ถือให้แก่กันโดยมีการสลักหลัง ตั๋วเงินนั้นด้วย กฎหมายให้ถือว่าการสลักหลังตั๋วเงินดังกล่าวนั้นเป็นเพียงการประกันหรือการอาวัลผู้สั่งจ่ายและ จะต้องผูกพันรับผิดเป็นอย่างเดียวกันกับผู้สั่งจ่ายตามมาตรา 921 ประกอบมาตรา 940 วรรคหนึ่ง

(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 900 วรรคหนึ่ง “บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น”

มาตรา 914 “บุคคลผู้สั่งจ่ายหรือสลักหลังตั๋วแลกเงินย่อมเป็นอันสัญญาว่า เมื่อตั๋วนั้นได้นํายื่น โดยชอบแล้วจะมีผู้รับรองและใช้เงินตามเนื้อความแห่งตัว ถ้าและตั๋วแลกเงินนั้นเขาไม่เชื่อถือโดยไม่ยอมรับรองก็ดี หรือไม่ยอมจ่ายเงินก็ดี ผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังก็จะใช้เงินแก่ผู้ทรง หรือแก่ผู้สลักหลังคนหลังซึ่งต้องถูกบังคับให้ใช้เงิน ตามตัวนั้น ถ้าหากว่าได้ทําถูกต้องตามวิธีการในข้อไม่รับรองหรือไม่จ่ายเงินนั้นแล้ว”

มาตรา 938 “ตั๋วแลกเงินจะมีผู้ค้ําประกันรับประกันการใช้เงินทั้งจํานวนหรือแต่บางส่วนก็ได้ ซึ่งท่านเรียกว่า “อาวัล”

อันอาวัลนั้นบุคคลภายนอกคนใดคนหนึ่งจะเป็นผู้รับ หรือแม้คู่สัญญาแห่งตั๋วเงินนั้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเป็นผู้รับก็ได้”

มาตรา 939 “อันการรับอาวัลย่อมทําให้กันด้วยเขียนลงในตั๋วเงินนั้นเอง หรือที่ใบประจําต่อ
ในการนี้จึงใช้ถ้อยคําสํานวนว่า “ใช้ได้เป็นอาวัล” หรือสํานวนอื่นใดทํานองเดียวกันนั้นและลงลายมือชื่อผู้รับอาวัล

อนึ่งเพียงแต่ลงลายมือชื่อของผู้รับอาวัลในด้านหน้าแห่งตั๋วเงิน ท่านก็จัดว่าเป็นคํารับอาวัลแล้ว

เว้นแต่ในกรณีที่เป็นลายมือชื่อของผู้จ่ายหรือผู้สั่งจ่าย

ในคํารับอาวัลต้องระบุว่ารับประกันผู้ใด หากมิได้ระบุ ท่านให้ถือว่ารับประกันผู้สั่งจ่าย”

มาตรา 940 วรรคหนึ่ง “ผู้รับอาวัลย่อมต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับบุคคลซึ่งตนประกัน”

มาตรา 989 วรรคหนึ่ง “บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด 2 อันว่าด้วยตั๋วแลกเงินดังจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านให้ยกมาบังคับในเรื่องเช็คเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้ คือบทมาตรา 910… 914 ถึง 923,
938 ถึง 940”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่พลูด่างสั่งจ่ายเช็คผู้ถือ 300,000 บาท ชําระหนี้ให้แก่กิ่งไผ่ และเมื่อกิ่งไผ่ ได้นําเช็คไปชําระหนี้ค่าแหวนเพชรให้แก่ใบพลูนั้น ลูกสนได้ลงลายมือชื่อของตนไว้ด้านหน้าเช็คและเขียนข้อความว่า “อาวัลกิ่งไผ่ จํานวน 150,000 บาท” และกิ่งไผ่ได้ลงลายมือชื่อของตนไว้ด้านหน้าเช็คโดยไม่ได้เขียนข้อความใด ๆ ไว้เลยนั้น เมื่อถึงวันที่ลงในเช็คหากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน บุคคลที่จะต้องรับผิดต่อใบพลูผู้ทรงเช็คจึงได้แก่ พลูด่าง กิ่งไผ่ และลูกสน เพราะทั้งสามได้ลงลายมือชื่อของตนไว้ในตั๋วเงิน (เช็ค) จึงต้องรับผิดตามตั๋วเงิน (เช็ค) นั้น ตามมาตรา 900 วรรคหนึ่ง โดยจะต้องรับผิดในฐานะและจํานวนเงินดังนี้

1 พลูด่าง จะต้องรับผิดเพราะได้ลงลายมือชื่อไว้ในเช็คในฐานะผู้สั่งจ่ายตามมาตรา 914 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง โดยจะต้องรับผิดตามจํานวนเงินที่ระบุไว้ในเช็คนั้น

2 กิ่งไผ่ การที่กิ่งไผ่ได้แสดงเจตนาเข้ามารับอาวัลเช็คในฐานะผู้เป็นคู่สัญญาในเช็ค โดยการ ลงลายมือชื่อไว้ที่ด้านหน้าเช็คโดยไม่ได้เขียนข้อความใด ๆ ไว้เลยและไม่ได้ระบุไว้ว่ารับอาวัลผู้ใดนั้น กฎหมายให้ ถือว่าเป็นการรับอาวัลผู้สั่งจ่ายตามมาตรา 938 วรรคสอง และมาตรา 939 วรรคสามและวรรคสี่ ประกอบ มาตรา 989 วรรคหนึ่ง ดังนั้น กิ่งไผ่จึงต้องรับผิดตามเช็คในฐานะผู้รับอาวัลผู้สั่งจ่ายคือพลูด่าง และต้องรับผิด เป็นอย่างเดียวกันกับพลูด่างตามมาตรา 940 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง

3 ลูกสน การที่ลูกสนซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้แสดงเจตนาเข้ามารับอาวัลกิ่งไผ่ โดยการ ลงลายมือชื่อไว้ที่ด้านหน้าเช็ค และระบุว่ารับอาวัลกิ่งไผ่แต่เพียงบางส่วนคือจํานวน 150,000 บาทนั้น ลูกสน ย่อมสามารถทําได้ตามมาตรา 938 และมาตรา 939 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ลูกสนจึงต้องรับผิดตามเช็คในฐานะผู้รับอาวัลกิ่งไผ่ตามมาตรา 940 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง เพียงแต่จะต้องรับผิดในจํานวน 150,000 บาท เท่าที่ตนได้อาวัลไว้เท่านั้น

สรุป บุคคลที่จะต้องรับผิดต่อใบพลูผู้ทรงเช็คคือ พลูด่างในฐานะผู้สั่งจ่ายเช็ค กิ่งไผ่ในฐานะผู้รับ อาวัลพลูด่างผู้สั่งจ่าย และลูกสนในฐานะผู้รับอาวัลกิ่งไผ่โดยลูกสนจะต้องรับผิดเพียง 150,000 บาท ตามที่ตนได้
อาวัลไว้

ข้อ 3 (ก) การมีลายมือชื่อปลอมปรากฏอยู่ในตั๋วเงินมีผลในทางกฎหมายต่อตั๋วเงินนั้นอย่างไร จงอธิบาย

(ข) นายปลาบุตรชายของนายนกได้แอบนําเอาสมุดเช็คของนายนกมา แล้วนายปลาได้นําเช็ค ฉบับหนึ่งจากสมุดเช็คนั้นมาทําการปลอมลายมือชื่อของนายนกเป็นผู้สั่งจ่ายเช็ค และระบุคําว่า “จ่ายสด” ในช่องที่ให้ระบุชื่อผู้รับเงินโดยไม่ขีดฆ่าคําว่า “หรือผู้ถือ” ในเช็คออก แล้วนําเอาเช็คฉบับดังกล่าวนั้นไปทําการส่งมอบให้นายปูเพื่อชําระหนี้ค่าสินค้าที่นายปลามีอยู่กับนายปู นายปูซึ่งมีความรู้จักคุ้นเคยกับนายนกเกิดความสงสัยว่าเช็คฉบับนี้นายนกได้เป็นผู้สั่งจ่ายมาจริงหรือไม่ จึงสอบถามไปยังนายนก นายนกได้ทําการตรวจสอบและพบว่านายปลาบุตรชาย เป็นผู้ปลอมลายมือชื่อของตนเพื่อสั่งจ่ายเช็คไป แต่เกรงว่านายปลาจะมีความผิด นายนกจึงแจ้ง กับนายปูไปว่าตนเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คฉบับนั้นจริง ต่อมาเช็คฉบับนี้ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน นายปูจึงนําเอาเช็คฉบับนี้มาเรียกให้นายนกชดใช้เงินตามเช็คให้ แต่นายนกปฏิเสธโดยอ้างว่า ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คเป็นลายมือชื่อปลอม ตนจึงไม่ต้องรับผิดชอบใช้เงินตามเช็คให้แก่นายปูแต่อย่างใด

ดังนี้ ข้ออ้างของนายนกฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

(ก) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1008 “ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติทั้งหลายในประมวลกฎหมายนี้ เมื่อใดลายมือชื่อในตัวเงิน เป็นลายมือปลอมก็ดี เป็นลายมือชื่อลงไว้โดยที่บุคคลซึ่งอ้างเอาเป็นเจ้าของลายมือชื่อนั้นมิได้มอบอํานาจให้ลงก็ดี

ท่านว่าลายมือชื่อปลอมหรือลงปราศจากอํานาจเช่นนั้นเป็นอันใช้ไม่ได้เลย ใครจะอ้างอิงอาศัยแสวงสิทธิอย่างหนึ่ง อย่างใดเพื่อยึดหน่วงตั๋วเงินไว้ก็ดี เพื่อทําให้ตัวนั้นหลุดพ้นก็ดี หรือเพื่อบังคับการใช้เงินเอาแก่คู่สัญญาแห่งตัวนั้น คนใดคนหนึ่งก็ดี ท่านว่าไม่อาจจะทําได้เป็นอันขาด เว้นแต่คู่สัญญาฝ่ายซึ่งจะพึงถูกยึดหน่วงหรือถูกบังคับใช้เงินนั้น จะอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอม หรือข้อลงลายมือชื่อปราศจากอํานาจนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้ แต่ข้อความใด ๆ อันกล่าวมาในมาตรานี้ ท่านมิให้กระทบกระทั่งถึงการให้สัตยาบันแก่ลายมือชื่อ ซึ่งลงโดยปราศจากอํานาจแต่หากไม่ถึงแก่เป็นลายมือปลอม”

จากหลักกฎหมายดังกล่าว กรณีที่มีลายมือชื่อปลอม หรือลายมือชื่อที่ลงโดยปราศจากอํานาจ
ปรากฏอยู่ในตั๋วเงินนั้น จะมีผลทางกฎหมายดังนี้ คือ

1 ผลต่อเจ้าของลายมือชื่อ ลายมือชื่อปลอมหรือลายมือชื่อที่ลงโดยปราศจากอํานาจนั้นย่อม ไม่มีผลผูกพันต่อเจ้าของลายมือชื่อ กล่าวคือ เจ้าของลายมือชื่อไม่ต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น ทั้งนี้เพราะ เจ้าของลายมือชื่อที่ถูกปลอมมิได้เป็นผู้เขียนลายมือชื่อนั้นลงไว้ในตั๋วเงิน หรือมิได้มอบอํานาจให้บุคคลใดลงลายมือชื่อ ในตั๋วเงินในกรณีที่มีการลงลายมือชื่อโดยปราศจากอํานาจ เว้นแต่กรณีที่เป็นตั๋วเงินที่มีลายมือชื่อที่ลงไว้โดยปราศจาก อํานาจนั้นอาจมีผลผูกพันเจ้าของลายมือชื่อได้ หากเจ้าของลายมือชื่อได้ให้สัตยาบันตามมาตรา 1008 วรรคท้าย

2 ผลต่อคู่สัญญาคนอื่น ๆ ในตั๋วเงิน ในกรณีที่ตั๋วเงินนั้นมีลายมือชื่อปลอม ย่อมไม่มีผลกระทบ ถึงความรับผิดของคู่สัญญาคนอื่น ๆ ที่ลงไว้ในตั๋วเงินโดยถูกต้อง ทั้งนี้เป็นเพราะความรับผิดของลูกหนี้แต่ละคนที่ได้ ลงลายมือชื่อไว้ในตั๋วเงิน และต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินตามมาตรา 900 วรรคหนึ่งนั้น เป็นเรื่องเฉพาะตัว ของลูกหนี้แต่ละคนนั่นเอง ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1006 ที่บัญญัติไว้ว่า

“การที่ลายมือชื่ออันหนึ่งในตัวเงินเป็นลายมือปลอมย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงความสมบูรณ์
แห่งลายมือชื่ออื่น ๆ ในตั๋วเงินนั้น”

3 ผลต่อผู้ที่ได้ตั๋วเงินไว้ในความครอบครองและบุคคลอื่น ๆ ในกรณีที่ตั๋วเงินนั้นมีการลง ลายมือชื่อปลอม หรือมีการลงลายมือโดยปราศจากอํานาจจะมีผลตามมาตรา 1008 วรรคหนึ่ง คือ ให้ถือว่าลายมือชื่อ ปลอมหรือลงโดยปราศจากอํานาจนั้นเป็นอันใช้ไม่ได้เลย และผู้ใดจะอ้างอิงอาศัยแสวงสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อ

(1) จะยึดหน่วงตั๋วเงินนั้นไว้มิได้ เว้นแต่ ผู้ที่จะพึ่งถูกยึดหน่วง อยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบท มิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมหรือข้อลงลายมือชื่อปราศจากอํานาจนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้

(2) จะทําให้ตั๋วเงินนั้นหลุดพ้นจากความรับผิดด้วยการใช้เงินมิได้ เว้นแต่ ได้ใช้เงินไปในกรณีที่ตั๋วเงินนั้นมีลายมือชื่อผู้สลักหลังเป็นลายมือชื่อปลอม (ตามมาตรา 1009)

(3) จะบังคับการใช้เงินเอาแก่คู่สัญญาแห่งตั๋วเงินนั้นคนใดคนหนึ่งมิได้ เว้นแต่ คู่สัญญา ผู้ที่จะพึงถูกบังคับให้ใช้เงินนั้นจะอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบท มิให้ยกลายมือชื่อปลอมหรือข้อลงลายมือชื่อปราศจากอำนาจนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้

(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1008 วรรคหนึ่ง “ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติทั้งหลายในประมวลกฎหมายนี้ เมื่อใด ลายมือชื่อในตั๋วเงินเป็นลายมือปลอมก็ดี เป็นลายมือชื่อลงไว้โดยที่บุคคลซึ่งอ้างเอาเป็นเจ้าของลายมือชื่อนั้นมิได้มอบอํานาจให้ลงก็ดี ท่านว่าลายมือชื่อปลอมหรือลงปราศจากอํานาจเช่นนั้นเป็นอันใช้ไม่ได้เลย ใครจะอ้างอิงอาศัย แสวงสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อยึดหน่วงตั๋วเงินไว้ก็ดี เพื่อทําให้ตัวนั้นหลุดพ้นก็ดี หรือเพื่อบังคับการใช้เงินเอาแก่ คู่สัญญาแห่งตัวนั้นคนใดคนหนึ่งก็ดี ท่านว่าไม่อาจจะทําได้เป็นอันขาด เว้นแต่คู่สัญญาฝ่ายซึ่งจะพึงถูกยึดหน่วง หรือถูกบังคับใช้เงินนั้นจะอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอม หรือข้อลงลายมือชื่อปราศจากอ้านาจนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายปลาบุตรชายของนายนกได้แอบนําเอาสมุดเช็คของนายนกมา แล้วนายปลาได้นําเช็คฉบับหนึ่งจากสมุดเช็คนั้นมาทําการปลอมลายมือชื่อของนายนกเป็นผู้สั่งจ่าย แล้วนําเช็คฉบับ ดังกล่าวไปทําการส่งมอบให้นายปูเพื่อชําระหนี้ค่าสินค้าที่นายปลามีอยู่กับนายปูนั้น โดยหลักแล้ว ลายมือชื่อ ปลอมของนายนกนั้นเป็นอันใช้ไม่ได้เลย กล่าวคือนายนกไม่ต้องรับผิดต่อนายปูเพราะนายนกมิได้ลงลายมือชื่อของ ตนในเช็คฉบับนั้นแต่อย่างใดตามมาตรา 1008 วรรคหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ตามเมื่อปรากฏว่า เมื่อนายปูได้รับเช็คมาเกิดความสงสัยว่าเช็คฉบับนี้นายนกได้เป็นผู้สั่งจ่ายมาจริงหรือไม่ จึงได้สอบถามไปยังนายนก และเมื่อนายนกได้ทําการตรวจสอบและพบว่านายปลาบุตรชาย เป็นผู้ปลอมลายมือชื่อของตนเพื่อสั่งจ่ายเช็คไป แต่เกรงว่านายปลาจะมีความผิดจึงแจ้งกับนายปูไปว่าตนเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คฉบับนั้นจริง ดังนี้ย่อมถือได้ว่านายนกเป็นผู้ที่อยู่ในฐานะเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมนั้น ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ดังนั้น เมื่อเช็คฉบับนี้ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน และนายปูได้นําเช็คฉบับนี้มาเรียกให้นายน ชดใช้เงินตามเช็ค นายนกจะปฏิเสธโดยอ้างว่าลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คเป็นลายมือปลอมไม่ได้ นายนกจะต้อง รับผิดชอบโดยการใช้เงินตามเช็คให้แก่นายปูตามมาตรา 1008 วรรคหนึ่งตอนท้าย

สรุป ข้ออ้างของนายนกที่ว่าลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คเป็นลายมือชื่อปลอม ตนจึงไม่ต้องรับผิดชอบ ใช้เงินตามเช็คให้แก่นายปูนั้นฟังไม่ขึ้น

Advertisement