การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2563

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2013 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 มีนาสั่งเมษาจ่ายตั๋วแลกเงินให้พฤษภา และขีดฆ่าหรือผู้ถือออก หลังจากนั้นต่อมาพฤษภาได้ ลงลายมือชื่อด้านหลังตั๋วแลกเงินโดยไม่ได้ระบุข้อความใด ๆ และส่งมอบชําระหนี้ให้แก่มิถุนาใน มูลหนี้กู้ยืม ก่อนถึงวันกําหนดใช้เงินตามตั๋วแลกเงิน มิถุนานําตั๋วแลกเงินฉบับนี้ส่งมอบชําระหนี้ ให้แก่กรกฎา โดยไม่ได้ลงลายมือชื่อและไม่ได้เขียนข้อความใด ๆ เลย

ดังนี้ ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่ามิถุนาโอนตั๋วแลกเงินฉบับนี้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และวิธีการตาม กฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 917 วรรคหนึ่ง “อันตั๋วแลกเงินทุกฉบับ ถึงแม้ว่าจะมิใช่สั่งจ่ายให้แก่บุคคลเพื่อเขาสั่งก็ตาม ท่านว่าย่อมโอนให้กันได้ด้วยสลักหลังและส่งมอบ”

มาตรา 919 วรรคสอง “การสลักหลังย่อมสมบูรณ์แม้ทั้งมิได้ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ไว้ด้วย หรือแม้ผู้สลักหลังจะมิได้กระทําอะไรยิ่งไปกว่าลงลายมือชื่อของตนที่ด้านหลังตั๋วแลกเงินหรือที่ใบประจําต่อ ก็ย่อมฟัง เป็นสมบูรณ์ดุจกัน การสลักหลังเช่นนี้ท่านเรียกว่า “สลักหลังลอย”

มาตรา 920 วรรคสอง “ถ้าสลักหลังลอย ผู้ทรงจะปฏิบัติดังกล่าวต่อไปนี้ประการหนึ่งประการใดก็ได้ คือ

(1) กรอกความลงในที่ว่างด้วยเขียนชื่อของตนเอง หรือชื่อบุคคลอื่นผู้ใดผู้หนึ่ง

(2) สลักหลังตั๋วเงินต่อไปอีกเป็นสลักหลังลอย หรือสลักหลังให้แก่บุคคลอื่นผู้ใดผู้หนึ่ง

(3) โอนตั๋วเงินนั้นไปให้แก่บุคคลภายนอกโดยไม่กรอกความลงในที่ว่าง และไม่สลักหลังอย่างหนึ่งอย่างใด”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่มีนาสั่งเมษาจ่ายตั๋วแลกเงินให้พฤษภา และขีดฆ่าหรือผู้ถือออกนั้นถือว่า ตั๋วแลกเงินฉบับนี้เป็นตั๋วแลกเงินชนิดระบุชื่อ ต่อมาการที่พฤษภาได้ลงลายมือชื่อไว้ที่ด้านหลังตั๋วแลกเงินโดย ไม่ได้ระบุข้อความใด ๆ และส่งมอบชําระหนี้ให้แก่มิถุนาในมูลหนี้กู้ยืมนั้น ถือว่าเป็นกรณีที่พฤษภาได้สลักหลังลอย และส่งมอบตั๋วแลกเงินให้แก่มิถุนา การโอนตั๋วแลกเงินระหว่างพฤษภาและมิถุนาจึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ตามมาตรา 917 วรรคหนึ่ง และมาตรา 919 วรรคสอง และให้ถือว่ามิถุนาเป็นผู้ทรงที่ได้รับตั๋วแลกเงินฉบับนี้ มาจากการสลักหลังลอยของพฤษภา และสามารถที่จะโอนตั๋วแลกเงินฉบับนี้ต่อไปโดยการสลักหลังและส่งมอบ หรือจะโอนตั๋วแลกเงินต่อไปโดยการส่งมอบแต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่กรอกข้อความใด ๆ และไม่สลักหลังใด ๆ ก็ได้ตามมาตรา 920 วรรคสอง

ดังนั้น การที่มิถุนาได้นําตั๋วแลกเงินฉบับนี้ส่งมอบชําระหนี้ให้แก่กรกฎาโดยไม่ได้ลงลายมือชื่อและ ไม่ได้เขียนข้อความใด ๆ เลยนั้น มิถุนาย่อมสามารถกระทําได้ตามมาตรา 920 วรรคสอง (3) การโอนตั๋วแลกเงิน ฉบับนี้ของมิถุนาจึงถูกต้องตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามที่กฎหมายได้กําหนดไว้

สรุป การโอนตั๋วแลกเงินฉบับนี้ของมิถุนาถูกต้องตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามกฎหมาย

ข้อ 2 นายเก่งลงลายมือชื่อสั่งจ่ายตั๋วแลกเงินสั่งให้นายอ่อนใช้เงินให้กับนายฟ้า 50,000 บาท และมิได้ขีดฆ่าคําว่าหรือผู้ถือออก และได้ส่งมอบให้กับนายฟ้าเพื่อชําระหนี้ต่อมานายฟ้าสลักหลัง ระบุชื่อนายตรีเป็นผู้รับประโยชน์และส่งมอบตัวชําระหนี้ให้กับนายตรี ต่อมานายตรีสลักหลังลอยและส่งมอบตัวชําระหนี้ให้แก่นายจัตวา หลังจากนั้นนายจัตวาส่งมอบตัวชําระหนี้ให้กับนางสี เมื่อถึงกําหนดเวลาใช้เงิน นางสีนําตัวไปยื่นให้นายอ่อนจ่ายเงินให้กับตนเอง แต่นายอ่อนปฏิเสธ ไม่ยอมจ่ายเงิน

ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายฟ้า นายตรี นายจัตวาจะต้องรับผิดอย่างไรหรือไม่ต่อนางสีเจ้าหนี้ตาม ตั๋วแลกเงิน

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 900 วรรคหนึ่ง “บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น”

มาตรา 918 “ตั๋วแลกเงินอันสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น ท่านว่าย่อมโอนไปเพียงด้วยส่งมอบให้กัน”

มาตรา 921 “การสลักหลังตั๋วแลกเงินซึ่งสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้นย่อมเป็นเพียงประกัน (อาวัล) สําหรับผู้สั่งจ่าย”
มาตรา 940 วรรคหนึ่ง “ผู้รับอาวัลย่อมต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับบุคคลซึ่งตนประกัน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเก่งลงลายมือชื่อสั่งจ่ายตั๋วแลกเงินสั่งให้นายอ่อนใช้เงินให้กับนายฟ้า 50,000 บาท และมิได้ขีดฆ่าคําว่าหรือผู้ถือออกนั้น ถือเป็นตั๋วแลกเงินชนิดสั่งจ่ายแก่ผู้ถือ ดังนั้น ถ้าจะมีการโอน ตั๋วแลกเงินฉบับนี้ต่อไป การโอนย่อมสมบูรณ์โดยการส่งมอบตั๋วให้แก่กันโดยไม่ต้องมีการสลักหลัง (มาตรา 918)

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จากที่มีการโอนตั๋วฉบับนี้ให้แก่นายตรี นายจัตวา และนางสีตามลําดับนั้น นายฟ้าและนายตรีได้ทําการสลักหลังตั๋วเงินฉบับนี้ด้วย (ไม่ว่าจะเป็นการสลักหลังระบุชื่อหรือสลักหลังลอย)
ตามกฎหมายให้ถือว่าการลงลายมือชื่อสลักหลังของนายฟ้าและนายตรีนั้นเป็นเพียงการรับอาวัลนายเก่ง
ผู้สั่งจ่ายเท่านั้น (มาตรา 921) นายฟ้าและนายตรีจึงต้องรับผิดเป็นอย่างเดียวกันกับนายเก่งผู้สั่งจ่าย (มาตรา 900 วรรคหนึ่ง และมาตรา 940 วรรคหนึ่ง)

ดังนั้น เมื่อถึงกําหนดเวลาใช้เงิน นางสีนําตั๋วแลกเงินฉบับนี้ไปยื่นให้นายอ่อนจ่ายเงินให้กับตนเอง แต่นายอ่อนปฏิเสธไม่ยอมจ่ายเงิน ดังนี้ นายฟ้าและนายตรีจึงต้องรับผิดตามตั๋วเงินนั้นให้แก่นางสีในฐานะเป็น ผู้รับอาวัลผู้สั่งจ่ายตามมาตรา 900 วรรคหนึ่ง และมาตรา 921 ส่วนนายจัตวาเมื่อไม่ได้ลงลายมือชื่อของตน ในตั๋วแลกเงินนั้น จึงไม่ต้องรับผิดต่อนางสี (มาตรา 900 วรรคหนึ่ง)

สรุป นายฟ้าและนายตรีต้องรับผิดต่อนางสีในฐานะผู้รับอาวัลผู้สั่งจ่าย
ส่วนนายจัตวาไม่ต้องรับผิดต่อนางสี

ข้อ 3 ลัคนาสั่งจ่ายเช็คชําระหนี้ 800000 (แปดแสนบาท) ให้ทักษาผู้ทรงเช็ค ก่อนถึงวันที่ลงในเช็ค ทักษาผู้ทรงเช็คได้ทําการแก้ไขจํานวนเงินจากน้อยไปมากได้อย่างแนบเนียน โดยการเติมเลข 0 (ศูนย์) ต่อท้ายกลายเป็น 8000000 (แปดล้านบาท) และนําเช็คไปเรียกเก็บเงินกับธนาคารผู้จ่าย

ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยโดยอ้างอิงหลักกฎหมายว่าด้วยตั๋วเงินว่าธนาคารจะหักบัญชีเงินฝากกระแส รายวันของลัคนาผู้สั่งจ่ายได้เพียงใดหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1007 “ถ้าข้อความในตั๋วเงินใด หรือในคํารับรองตั๋วเงินรายใด มีผู้แก้ไขเปลี่ยนแปลงใน ข้อสําคัญโดยที่คู่สัญญาทั้งปวงผู้ต้องรับผิดตามตั๋วเงินมิได้ยินยอมด้วยหมดทุกคนไซร้ ท่านว่าตั๋วเงินนั้นก็เป็นอันเสีย เว้นแต่ยังคงใช้ได้ต่อคู่สัญญาซึ่งเป็นผู้ทําการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น หรือได้ยินยอมด้วยกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้นกับทั้งผู้สลักหลังในภายหลัง

แต่หากตั๋วเงินใดได้มีผู้แก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสําคัญ แต่ความเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ประจักษ์ และ ตั๋วเงินนั้นตกอยู่ในมือผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายไซร้ ท่านว่าผู้ทรงคนนั้นจะเอาประโยชน์จากตั๋วเงินนั้นก็ได้ เสมือนดังว่ามิได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเลย และจะบังคับการใช้เงินตามเนื้อความแห่งตั๋วนั้นก็ได้

กล่าวโดยเฉพาะ การแก้ไขเปลี่ยนแปลงเช่นจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านถือว่าเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลง ในข้อสําคัญ คือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างใด ๆ แก่วันที่ลง จํานวนเงินอันจะพึงใช้ เวลาใช้เงิน สถานที่ใช้เงิน กับทั้งเมื่อตั๋วเงินเขารับรองไว้ทั่วไปไม่เจาะจงสถานที่ใช้เงิน ไปเติมความระบุสถานที่ใช้เงินเข้าโดยที่ผู้รับรอง
มิได้ยินยอมด้วย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ลัคนาสั่งจ่ายเช็คชําระหนี้ 800,000 บาท ให้ทักษาผู้ทรงเช็ค ก่อนถึงวันที่ ลงในเช็ค ทักษาผู้ทรงเช็คได้ทําการแก้ไขจํานวนเงินจากน้อยไปมากได้อย่างแนบเนียน โดยการเติมเลข 0 (ศูนย์) ต่อท้ายกลายเป็น 8,000,000 บาท และได้นําเช็คไปเรียกเก็บเงินกับธนาคารผู้จ่ายนั้น โดยหลักแล้วเมื่อการแก้ไข จํานวนเงินดังกล่าวนั้น เป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเห็นไม่ประจักษ์เช็คนั้นย่อมไม่เสียไป และถ้าเช็คนั้นได้ตกไปอยู่ในมือผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย ย่อมเป็นผลให้ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายสามารถจะถือเอาประโยชน์จากเช็คนั้น เสมือนว่าเช็คนั้นไม่ได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเลยก็ได้ และจะบังคับการใช้เงินตามเนื้อความเดิมแห่งเช็คนั้นก็ได้(มาตรา 1007 วรรคสองและวรรคสาม)

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเช็คพิพาทที่มีการแก้ไขจํานวนเงินดังกล่าวนั้น ผู้ที่ทําการแก้ไขคือทักษา ซึ่งเป็นผู้ทรงเช็คดังกล่าว ดังนั้นแม้การแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้นจะเห็นไม่ประจักษ์ก็ตามก็ถือว่าเป็นการกระทําที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทําให้ทักษาเป็นผู้ทรงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย ทักษาจึงไม่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องจํานวนเงินในเช็คนั้นได้ไม่ว่าจะเป็นจํานวนที่แก้ไขใหม่หรือจํานวนเงินเดิมก่อนการแก้ไขตามมาตรา 1007 วรรคสอง ดังนั้น ธนาคารจึงหักบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของลัคนาผู้สั่งจ่ายไม่ได้แม้ตามเนื้อความเดิมก็ไม่ได้เช่นกัน
เนื่องจากทักษาเป็นผู้ทรงเช็คที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั่นเอง

สรุป ธนาคารจะหักบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของลัคนาผู้สั่งจ่ายไม่ได้

 

Advertisement