การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2562
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2013 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 (ก) การอาวัลตั๋วแลกเงินคืออะไร เกิดขึ้นได้กรณีใดบ้าง
(ข) เอกลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คธนาคารอ่างทองชําระหนี้โท โดยระบุชื่อโทเป็นผู้รับเงินและ
มิได้ขีดฆ่าคําว่าหรือผู้ถือออก โทสลักหลังชําระหนี้ตรีระบุชื่อตรีเป็นผู้รับโอนและส่งมอบเช็คให้กับตรี ต่อมาตรีสลักหลังลอยและส่งมอบเช็คดังกล่าวชําระหนี้ให้แก่จัตวา จัตวาส่งมอบเช็ค ชําระหนี้บัวขาว เมื่อถึงวันที่ลงในเช็คบัวขาวนําเช็คไปเบิกเงินจากธนาคารแต่ธนาคารไม่ยอม จ่ายเงิน โดยอ้างว่าเงินในบัญชีของเอกมีไม่พอจ่าย ดังนี้บัวขาวจะไล่เบี้ยโท ตรี จัตวา ให้รับผิด ได้หรือไม่ อย่างไร
ธงคําตอบ
(ก) “การอาวัลหรือการรับอาวัลตั๋วแลกเงิน” คือการที่บุคคลภายนอกหรือผู้ที่เป็นคู่สัญญาอยู่แล้ว ในตั๋วแลกเงินนั้น ได้เข้ามารับประกันการใช้เงินทั้งหมดหรือบางส่วนของลูกหนี้ตามตั๋วแลกเงินต่อผู้เป็นเจ้าหนี้ซึ่ง ตั๋วแลกเงินใบหนึ่งนั้นอาจมีผู้รับอาวัลได้หลายคน และผู้รับอาวัลนั้นต้องระบุไว้ด้วยว่ารับประกันผู้ใด ถ้าไม่ระบุไว้ ให้ถือว่าเป็นการรับประกันผู้สั่งจ่าย (ป.พ.พ. มาตรา 938 และมาตรา 939 วรรคสี่)
การอาวัลตั๋วแลกเงินนั้น เกิดขึ้นได้ 2 กรณี ได้แก่ การอาวัลตามแบบหรือโดยการแสดงเจตนาและ
อาวัลโดยผลของกฎหมาย
1. การอาวัลตามแบบหรือโดยการแสดงเจตนา ทําได้โดย
1.1 ผู้รับอาวัลเขียนข้อความลงบนตั๋วแลกเงินหรือใบประจําต่อว่า “ใช้ได้เป็นอาวัล” หรือ สํานวนอื่นใดที่มีความหมายทํานองเดียวกันนั้น เช่น “เป็นอาวัลประกันผู้สั่งจ่าย” และลงลายมือชื่อของผู้รับอาวัล ซึ่งการอาวัลในกรณีนี้จะทําที่ด้านหน้าหรือด้านหลังตั๋วแลกเงินก็ได้ (ป.พ.พ. มาตรา 939 วรรคหนึ่ง วรรคสอง
และวรรคสี่)
1.2 ผู้รับอาวัลลงแต่ลายมือชื่อไว้ที่ด้านหน้าตั๋วแลกเงินนั้น โดยไม่ต้องเขียนข้อความใด ๆ ไว้ ก็ให้ถือว่าเป็นการอาวัลแล้ว แต่ทั้งนี้ต้องไม่ใช่ลายมือชื่อของผู้จ่ายหรือผู้สั่งจ่าย (มาตรา 939 วรรคสาม)
2. การอาวัลโดยผลของกฎหมาย เกิดขึ้นได้ในกรณีที่มีการสลักหลังโอนตั๋วแลกเงินชนิดสั่งจ่าย แก่ผู้ถือ ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 921 ได้บัญญัติให้บุคคลที่เข้ามาสลักหลังนั้นเป็นการอาวัลผู้สั่งจ่ายและต้องรับผิด เช่นเดียวกันกับผู้สั่งจ่าย
(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 900 วรรคหนึ่ง “บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น”
มาตรา 918 “ตั๋วแลกเงินอันสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น ท่านว่าย่อมโอนไปเพียงด้วยส่งมอบให้กัน”
มาตรา 921 “การสลักหลังตั๋วแลกเงินซึ่งสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้นย่อมเป็นเพียงประกัน (อาวัล) สําหรับผู้สั่งจ่าย”
มาตรา 940 วรรคหนึ่ง “ผู้รับอาวัลย่อมต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับบุคคลซึ่งตนประกัน
มาตรา 989 วรรคหนึ่ง “บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด 2 อันว่าด้วยตั๋วแลกเงินดังจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านให้ยกมาบังคับในเรื่องเช็คเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้ คือบทมาตรา 910…, 914 ถึง 923,
938 ถึง 940”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่เอกสั่งจ่ายเช็คโดยระบุชื่อโทเป็นผู้รับเงินและมิได้ขีดฆ่าคําว่า “หรือผู้ถือ ออกนั้น เช็คนั้นย่อมถือว่าเป็นเช็คชนิดสั่งจ่ายแก่ผู้ถือ ดังนั้น ถ้าจะมีการโอนเช็คฉบับนี้ต่อไป การโอนย่อมสมบูรณ์ โดยการส่งมอบเช็คให้แก่กันโดยไม่ต้องสลักหลัง (มาตรา 918 ประกอบกับมาตรา 989 วรรคหนึ่ง)
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จากการโอนเช็คฉบับนี้ให้แก่ตรี จัตวา และบัวขาวตามลําดับนั้น โทและตรี ได้ทําการสลักหลังเช็คฉบับนี้ด้วย ดังนี้ตามกฎหมายให้ถือว่าการสลักหลังของโทและตรีนั้นเป็นเพียงการรับอาวัล เอกผู้สั่งจ่ายเท่านั้น (มาตรา 921 ประกอบกับมาตรา 989 วรรคหนึ่ง) ซึ่งโทและตรีก็จะต้องรับผิดเป็นอย่างเดียวกัน กับเอกผู้สั่งจ่าย (มาตรา 900 วรรคหนึ่งและมาตรา 940 วรรคหนึ่ง ประกอบกับมาตรา 989 วรรคหนึ่ง) ดังนั้น เมื่อถึงวันที่ลงในเช็ค บัวขาวนําเช็คไปเบิกเงินจากธนาคารแต่ธนาคารไม่ยอมจ่ายเงิน โดย อ้างว่าเงินในบัญชีของเอกมีไม่พอจ่าย บัวขาวย่อมสามารถไล่เบี้ยโทและตรีให้รับผิดตามเช็คได้ในฐานะผู้รับอาวัลเอก แต่จะไล่เบี้ยจัตวาซึ่งไม่ได้ลงลายมือชื่อในเช็คไม่ได้
สรุป บัวขาวไล่เบี้ยโทและตรีได้ แต่จะไล่เบี้ยจัตวาไม่ได้
ข้อ 2 นายบุญชูสั่งจ่ายเช็คลงวันที่ล่วงหน้าระบุให้จ่ายเงินแก่ผู้ถือเป็นเงินจํานวน 500,000 บาท ชําระหนี้ ค่าอุปกรณ์ก่อสร้างให้แก่นายมารวย ต่อมาก่อนที่เช็คฉบับดังกล่าวจะถึงกําหนดชําระ มีข่าวลือว่า ธุรกิจต่าง ๆ ของนายบุญชูกําลังประสบภาวะขาดทุนอย่างหนักทําให้นายมารวยเกรงว่าตนจะ ไม่สามารถเรียกเก็บเงินตามเช็คฉบับดังกล่าวได้ เพราะไม่สามารถติดต่อนายบุญชูได้เลย จึงมาปรึกษานายกระทิงซึ่งเป็นพี่ชายของนายบุญชู นายกระทิงจึงทําการเขียนคําว่า “กระทิงทอง” ซึ่งเป็น ชื่อร้านอาหารที่นายกระทิงเป็นเจ้าของอยู่นั้นลงในด้านหลังเช็คฉบับดังกล่าวให้กับนายมารวยไป
ต่อมาเช็คฉบับดังกล่าวถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน นายมารวยจึงมาเรียกให้นายกระทิงชําระเงิน
ตามเช็คให้ตน กรณีนี้นายกระทิงมีหน้าที่ที่จะต้องชําระเงินตามเช็คฉบับดังกล่าวให้แก่นายมารวย หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 900 วรรคหนึ่ง “บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น”
มาตรา 921 “การสลักหลังตั๋วแลกเงินซึ่งสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้นย่อมเป็นเพียงประกัน (อาวัล) สําหรับผู้สั่งจ่าย”
มาตรา 940 วรรคหนึ่ง “ผู้รับอาวัลย่อมต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับบุคคลซึ่งตนประกัน”
มาตรา 967 วรรคหนึ่ง “ในเรื่องตั๋วแลกเงินนั้น บรรดาผู้สั่งจ่ายก็ดี รับรองก็ดี สลักหลังก็ดี หรือ รับประกันด้วยอาวัลก็ดี ย่อมต้องร่วมกันรับผิดต่อผู้ทรง”
มาตรา 989 วรรคหนึ่ง “บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด 2 อันว่าด้วยตั๋วแลกเงินดังจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านให้ยกมาบังคับในเรื่องเช็คเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้ คือบทมาตรา 910…, 914 ถึง 923,
938 ถึง 940…, 967, 971”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายบุญชูสั่งจ่ายเช็คลงวันที่ล่วงหน้าระบุให้จ่ายเงินแก่ผู้ถือเป็นเงิน 500,000 บาท ชําระหนี้ให้แก่นายมารวย และต่อมาก่อนเช็คฉบับดังกล่าวจะถึงกําหนดชําระ นายกระทิงซึ่งเป็นพี่ชายของนายบุญชูได้ทําการเขียนคําว่า “กระทิงทอง” ซึ่งเป็นชื่อร้านอาหารที่นายกระทิงเป็นเจ้าของอยู่นั้นลงใน ด้านหลังเช็คฉบับดังกล่าวให้กับนายมารวยนั้น ถือว่านายกระทิงเป็นผู้ลงลายมือชื่อของตนในเช็คฉบับดังกล่าวแล้ว ในฐานะของการสลักหลังเช็คผู้ถือ ซึ่งตามกฎหมายให้ถือว่าการสลักหลังของนายกระทิงเป็นเพียงการประกัน (อาวัล) นายบุญชูผู้สั่งจ่ายตามมาตรา 900 วรรคหนึ่ง มาตรา 921 ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง ดังนั้น นายกระทิงจึงอยู่ในฐานะผู้รับอาวัลซึ่งต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับนายบุญชูบุคคลซึ่งตนประกัน และต้อง ร่วมกันรับผิดกับนายบุญชูในการใช้เงินตามเช็คให้กับนายมารวยตามมาตรา 940 วรรคหนึ่ง มาตรา 967 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 989 วรรคหนึ่ง
ดังนั้น เมื่อเช็คฉบับดังกล่าวถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน นายกระทิงจึงมีหน้าที่ที่จะต้องชําระเงิน ตามเช็คฉบับดังกล่าวให้แก่นายมารวย
สรุป นายกระทิงมีหน้าที่ที่จะต้องชําระเงินตามเช็คฉบับดังกล่าวให้แก่นายมารวย
ข้อ 3 ตุลาได้รับเช็คผู้ถือธรรมดาสั่งจ่ายล่วงหน้าซึ่งกันยาคือผู้ทรงคนเดิมได้ขีดคร่อมทั่วไปและลงข้อความ “A/C Payee only” ไว้แล้วแต่ได้ทําเช็คใบนี้ตกหายไปโดยไม่รู้ตัว พฤศจิกาเก็บเช็คใบดังกล่าวได้ จึงนําไปส่งมอบชําระหนี้ตุลาซึ่งรับโอนเช็คไว้โดยสุจริตและมิได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง แต่อย่างใด เมื่อถึงวันที่ลงในเช็คตุลานําเช็คไปเรียกเบิกเงินแต่ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า พฤศจิกาและตุลามีสิทธิในเช็คฉบับนี้เพียงใดตามกฎหมายว่าด้วยตั๋วเงิน
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 904 “อันผู้ทรงนั้น หมายความว่า บุคคลผู้มีตั๋วเงินไว้ในครอบครองโดยฐานเป็นผู้รับเงิน หรือเป็นผู้รับสลักหลัง ถ้าและเป็นตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือ ๆ ก็นับว่าเป็นผู้ทรงเหมือนกัน”
มาตรา 905 “ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 1008 บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครอง ถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักลอยก็ตาม ให้ถือว่า เป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลังไปอีก ท่านให้ถือว่าบุคคล ผู้มีลงลายมือชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้น เป็นผู้ได้ไปซึ่งตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย อนึ่งคําสลักหลังเมื่อขีดฆ่าเสีย และห้ามให้ถือเสมือนว่ามิได้มีเลย
ถ้าบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดต้องปราศจากตั๋วเงินไปจากครอบครอง ท่านว่าผู้ทรงซึ่งแสดงให้ปรากฏสิทธิ ของตนในตัวตามวิธีการดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น หาจําต้องสละตั๋วเงินไม่ เว้นแต่จะได้มาโดยทุจริตหรือได้มา ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
อนึ่งข้อความในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับตลอดถึงผู้ทรงตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือด้วย”
มาตรา 995 (1) “เช็คไม่มีขีดคร่อม ผู้สั่งจ่ายหรือผู้ทรงคนใดคนหนึ่งจะขีดคร่อมเสียก็ได้และจะทําเป็นขีดคร่อมทั่วไปหรือขีดคร่อมเฉพาะก็ได้
(3) เช็คขีดคร่อมทั่วไปก็ดี ขีดคร่อมเฉพาะก็ดี ผู้ทรงจะเติมคําลงว่า “ห้ามเปลี่ยนมือ” ก็ได้”
มาตรา 999 “บุคคลใดได้เช็คขีดคร่อมของเขามาซึ่งมีคําว่า “ห้ามเปลี่ยนมือ” ท่านว่าบุคคลนั้น ไม่มีสิทธิในเช็คนั้นยิ่งไปกว่าและไม่สามารถให้สิทธิในเช็คนั้นต่อไปได้ดีกว่าสิทธิของบุคคลอันตนได้เช็คของเขามา”
วินิจฉัย
โดยหลักแล้วบุคคลผู้มีตั๋วเงินไว้ในความครอบครอง ถ้าเป็นตั๋วเงินชนิดสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือ และบุคคลนั้น ได้ตั๋วเงินมาโดยสุจริตและมิได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง บุคคลนั้นย่อมเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายตาม มาตรา 904 ประกอบมาตรา 905 เว้นแต่ในกรณีที่เป็นเช็คขีดคร่อมและมีข้อความว่า “ห้ามเปลี่ยนมือ” หรือ ข้อความอย่างอื่น เช่น “AC Payee only” อยู่ในระหว่างรอยขีดคร่อม บุคคลผู้ได้เช็คนั้นมาย่อมไม่มีสิทธิในเช็คนั้น ยิ่งไปกว่าและไม่สามารถให้สิทธิในเช็คนั้นต่อไปได้ดีกว่าสิทธิของบุคคลอันตนได้เช็คของเขามา (มาตรา 999) กล่าวคือ ถ้าผู้โอนเช็คนั้นไม่ใช่ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้รับโอนก็จะไม่ใช่ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ตุลาได้รับเช็คผู้ถือธรรมดาสั่งจ่ายล่วงหน้าซึ่งกันยาผู้ทรงคนเดิม ได้ขีดคร่อมทั่วไปและลงข้อความ “A/C Payee only” ไว้แล้ว ซึ่งกันยาในฐานะผู้ทรงมีสิทธิที่จะกระทําได้ ตามมาตรา 995 (1) และ (3) แต่ตุลาได้ทําเช็คใบนี้ตกหายไปและพฤศจิกาเก็บได้นั้น พฤศจิกาย่อมไม่ใช่ผู้ทรง โดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 904 และ 905 เพราะพฤศจิกาได้เช็คนั้นมาอยู่ในความครอบครองโดยไม่ชอบ ด้วยกฎหมายและไม่มีสิทธิโอนเช็คนั้นต่อไป ดังนั้น เมื่อพฤศจิกานําเช็คนั้นไปส่งมอบชําระหนี้ให้แก่ตุลา แม้ว่าตุลา จะได้รับโอนเช็คนั้นไว้โดยสุจริตและมิได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ตุลาก็ไม่เป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะตุลาซึ่งได้รับโอนเช็คนั้นมาจากพฤศจิกาย่อมไม่มีสิทธิในเช็คนั้นยิ่งไปกว่าพฤศจิกา (มาตรา 999) และเมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตุลาก็จะไล่เบี้ยผู้สั่งจ่ายไม่ได้
สรุป ทั้งพฤศจิกาและตุลาไม่มีสิทธิใด ๆ ในเช็คฉบับนี้ เพราะทั้งสองคนไม่ใช่ผู้ทรงโดยชอบด้วย กฎหมาย และตุลาจะไล่เบี้ยผู้สั่งจ่ายเช็คฉบับนี้ไม่ได้