การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2563
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2112 (LAW 2012) ป.พ.พ. ว่าด้วยประกันภัย
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 นายพอยื่นคําขอทําสัญญาประกันชีวิตแบบอาศัยความมรณะกับบริษัทมั่นคงประกันชีวิต จํากัด (มหาชน) จํานวนเงินเอาประกัน 1 ล้านบาท ความคุ้มครองตามสัญญาเป็นแบบตลอดชีพ ระบุ นางสวยภริยาของตนเป็นผู้รับประโยชน์ ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2564 ในขณะที่ทําสัญญา แพทย์ ผู้ตรวจสุขภาพของนายพอแจ้งว่านายพอมีอาการหัวใจเต้นเร็วแต่ยังไม่พบว่าเป็นโรคร้ายแรงเกี่ยวกับหัวใจ ให้ทําการตรวจวินิจฉัยต่อ นายพอจึงระบุในคําขอเอาประกันชีวิตว่าตนไม่มีโรค ร้ายแรง ในวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 นายพอเข้าตรวจสุขภาพทรวงอกอีกครั้ง ต่อมาในวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 แพทย์ผู้ตรวจทําการติดต่อนายพอแจ้งว่านายพอเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ (เป็นโรคร้ายแรงที่บริษัทมั่นคงประกันชีวิต จํากัด (มหาชน) ไม่รับทํากระกันชีวิต) แต่นายพอไม่ได้ แจ้งไปยังบริษัทฯ ต่อมาในวันที่ 1 สิงหาคม 2564 บริษัทฯ ได้ตอบรับคําขอเอาประกันชีวิตของ นายพอและออกกรมธรรม์ประกันชีวิตให้นายพอ 1 ฉบับ ปรากฏว่าในวันที่ 1 ธันวาคม 2564 นายพอและนางสวยเสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโควิด 19 นางสาวส้มทายาทเพียงคนเดียวของ นายพอจึงทําหนังสือแจ้งไปยังบริษัทฯ เพื่อขอรับเงินตามสัญญาประกันชีวิตของนายพอ
ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า นางสาวส้มชอบที่จะได้รับเงินตามสัญญาประกันชีวิตของนายพอจาก บริษัทมั่นคงประกันชีวิต จํากัด (มหาชน) หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 862 “ตามข้อความในลักษณะนี้
คําว่า “ผู้รับประกันภัย” ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือ
ใช้เงินจํานวนหนึ่งให้
คําว่า “ผู้เอาประกันภัย” ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะส่งเบี้ยประกันภัย
คําว่า “ผู้รับประโยชน์” ท่านหมายความว่า บุคคลผู้จะพึงได้รับค่าสินไหมทดแทนหรือรับจํานวนเงินใช้ให้
อนึ่งผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์นั้น จะเป็นบุคคลคนหนึ่งคนเดียวกันก็ได้”
มาตรา 863 “อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัย ไว้นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด”
มาตรา 865 “ถ้าในเวลาทําสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยก็ดีหรือในกรณีประกันชีวิต บุคคล อันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทําสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้ว แถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้ ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆuยะ
ถ้ามิได้ใช้สิทธิบอกล้างภายในกําหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้างได้
ก็ดี หรือมิได้ใช้สิทธินั้นภายในกําหนดห้าปีนับแต่วันทําสัญญาก็ดี ท่านว่าสิทธินั้นเป็นอันระงับสิ้นไป”
วินิจฉัย
ตามกฎหมายนั้น ในขณะทําสัญญาประกันภัย นอกจากผู้เอาประกันภัยจะต้องมีส่วนได้เสียในเหตุ ที่เอาประกันภัย (มาตรา 863) แล้ว ผู้เอาประกันภัยยังมีหน้าที่ที่จะต้องแถลงข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับ ประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นหรือบอกปัดไม่ยอมทําสัญญา ถ้าในขณะทําสัญญาผู้เอาประกันปกปิด ข้อความจริงหรือแถลงข้อความอันเป็นเท็จ สัญญาประกันภัยย่อมตกเป็นโมฆียะ (มาตรา 865) ซึ่งหน้าที่ในการ แถลงข้อความจริงนั้นมิได้สิ้นสุดลงในชั้นยื่นคําขอเอาประกันภัยเท่านั้น แต่มีอยู่เรื่อยไปจนกว่าผู้รับประกันภัยจะรับทําสัญญาประกันภัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายพอยื่นคําขอทําสัญญาประกันชีวิตแบบอาศัยความมรณะกับบริษัท มั่นคงประกันชีวิต จํากัด (มหาชน) ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2564 ระบุนางสวยภริยาของตนเป็นผู้รับประโยชน์นั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในขณะทําสัญญานายพอได้ระบุในคําขอเอาประกันชีวิตว่าตนไม่มีโรคร้ายแรง เนื่องจากแพทย์ผู้ตรวจสุขภาพของนายพอแจ้งว่านายพอมีอาการหัวใจเต้นเร็วแต่ยังไม่พบว่าเป็นโรคร้ายแรงเกี่ยวกับหัวใจ
แต่ในระหว่างที่รอการสนองรับทําสัญญาประกันชีวิตของบริษัทฯ นายพอได้รับแจ้งจากแพทย์ผู้ตรวจว่านายพอ เป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะซึ่งเป็นโรคร้ายแรงที่บริษัทฯ ไม่รับทําประกันชีวิต แต่นายพอไม่ได้แจ้งไปยังบริษัทฯ จนทําให้ต่อมาบริษัทฯ ได้ตอบรับคําขอเอาประกันชีวิตของนายพอนั้น ถือว่านายพอผู้เอาประกันรู้อยู่แล้วละเว้นเสีย ไม่เปิดเผยข้อความจริง ซึ่งอาจทําให้ผู้รับประกันบอกปัดไม่ยอมทําสัญญา สัญญาประกันชีวิตดังกล่าวจึงตกเป็น โมฆียะตามมาตรา 865 ซึ่งบริษัทฯ สามารถบอกล้างให้ตกเป็นโมฆะได้ ดังนั้น ต่อมาเมื่อนายพอและนางสวย ได้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโควิด 19 นางสาวส้มทายาทเพียงคนเดียวของนายพอจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินตาม สัญญาประกันชีวิตของนายพอ
สรุป นางสาวส้มไม่มีสิทธิได้รับเงินตามสัญญาประกันชีวิตของนายพอจากบริษัทมั่นคงประกันชีวิต จํากัด (มหาชน)
ข้อ 2 นายหมื่นเป็นเจ้าของรถยนต์คันหนึ่งได้นํารถยนต์คันดังกล่าวไปทําสัญญาประกันภัยในความ เสียหายที่จะเกิดขึ้นกับรถยนต์ กับบริษัท ยั่งยืนประกันวินาศภัย จํากัด จํานวนเงินซึ่งเอาประกันภัย ห้าแสนบาท มีกําหนดเวลา 1 ปี หลังจากทําสัญญาประกันภัยได้ 5 เดือน นายเรืองมาติดต่อนายหมื่น เพื่อขอซื้อรถยนต์จากนายหมื่น และนัดทําสัญญาซื้อขายกันในวันที่ 16 สิงหาคม 2564 ซึ่งอยู่ในระหว่างอายุสัญญาประกันภัย ปรากฏว่าในวันที่ 10 สิงหาคม 2564 นายหมื่นขับรถยนต์คันนั้น ไปทําธุระ แต่ด้วยความประมาทเลินเล่อ ทําให้เกิดเหตุขับไปเฉี่ยวชนกับเสาไฟฟ้าข้างทางเป็นเหตุให้รถยนต์คันนั้นได้รับความเสียหายตีราคาความเสียหายเป็นจํานวนห้าหมื่นบาท โดยนายหมื่นยังไม่ได้เรียกค่าสินไหมทดแทนกับบริษัท ยั่งยืนประกันวินาศภัย จํากัด ซึ่งนายหมื่นได้มีการบอกกล่าว การโอนขายรถยนต์คันนั้นเป็นหนังสือไปยังบริษัทฯ แล้ว
ดังนั้น เมื่อครบกําหนดวันนัดทําสัญญาซื้อขาย นายเรืองได้มาทําสัญญาตามนัดไว้ และแม้นายเรือง
จะเห็นว่ารถยนต์คันดังกล่าวได้รับความเสียหายแต่ก็ต้องการที่จะซื้อเพราะเห็นว่ารถยนต์คันนี้ มีประกัน นายเรืองก็สามารถเรียกให้บริษัท ยั่งยืนประกันวินาศภัย จํากัด นั้นชดใช้ค่าสินไหม ทดแทนได้ ในฐานะผู้รับโอนสิทธิมาโดยสัญญาซื้อขาย
จงวินิจฉัยว่า นายเรืองมีสิทธิเรียกให้บริษัท ยั่งยืนประกันวินาศภัย จํากัด ใช้ค่าสินไหมทดแทน ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ที่นายเรืองได้ซื้อมาจากนายหมื่นได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 306 วรรคหนึ่ง “การโอนหนี้อันจะพึงต้องชําระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงนั้น ถ้าไม่ทําเป็นหนังสือ ท่านว่าไม่สมบูรณ์ อนึ่งการโอนหนี้นั้นท่านว่าจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้ แต่เมื่อได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้หรือลูกหนี้จะได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้น คําบอกกล่าวหรือความยินยอมเช่นว่านี้ ท่านว่าต้องทําเป็นหนังสือ”
มาตรา 875 “ถ้าวัตถุอันได้เอาประกันภัยไว้นั้น เปลี่ยนมือไปจากผู้เอาประกันภัยโดยพินัยกรรมก็ดี หรือโดยบทบัญญัติกฎหมายก็ดี ท่านว่าสิทธิอันมีอยู่ในสัญญาประกันภัยก็ย่อมโอนตามไปด้วย
ถ้าในสัญญามิได้กําหนดไว้เป็นอย่างอื่น เมื่อผู้เอาประกันภัยโอนวัตถุที่เอาประกันภัยและบอกกล่าว การโอนไปยังผู้รับประกันภัยไซร้ ท่านว่าสิทธิอันมีอยู่ในสัญญาประกันภัยนั้นย่อมโอนตามไปด้วย อนึ่ง ถ้าในการโอน เช่นนี้ช่องแห่งภัยเปลี่ยนแปลงไปหรือเพิ่มขึ้นหนักไซร้ ท่านว่าสัญญาประกันภัยนั้นกลายเป็นโมฆะ”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหมื่นซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์ได้นํารถยนต์ไปทําสัญญาประกันภัย ในความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับรถยนต์กับบริษัท ยั่งยืนประกันวินาศภัย จํากัด มีกําหนดเวลา 1 ปี และหลังจากทํา สัญญาประกันภัยได้ 5 เดือน นายหมื่นได้ตกลงขายรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่นายเรือง และนัดทําสัญญาซื้อขายกัน ในวันที่ 16 สิงหาคม 2564 ซึ่งอยู่ในระหว่างอายุสัญญาประกันภัยนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในวันที่ 10 สิงหาคม 2564 นายหมื่นได้ขับรถยนต์คันดังกล่าวไปเฉี่ยวชนกับเสาไฟฟ้าข้างทางเป็นเหตุให้รถยนต์คันนั้นได้รับความเสียหาย ตีราคาความเสียหายเป็นจํานวนเงินห้าหมื่นบาท โดยนายหมื่นยังไม่ได้เรียกค่าสินไหมทดแทนกับบริษัท ยั่งยืน ประกันวินาศภัย จํากัด ซึ่งนายหมื่นได้มีการบอกกล่าวการโอนขายรถยนต์นั้นเป็นหนังสือไปยังบริษัทฯ แล้ว
และเมื่อครบกําหนดวันนัดทําสัญญาซื้อขาย นายเรืองได้มาทําสัญญาตามที่นัดไว้นั้น ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยคือ นายเรือง จะมีสิทธิเรียกให้บริษัทฯ ใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ที่นายเรืองได้ซื้อมาจากนายหมื่นได้หรือไม่
กรณีดังกล่าว นายเรืองย่อมไม่มีสิทธิเรียกให้บริษัท ยั่งยืนประกันวินาศภัย จํากัด ใช้ค่าสินไหม ทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ที่นายเรืองได้ซื้อมาจากนายหมื่นได้ เพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์การโอน วัตถุที่เอาประกันภัยตามมาตรา 875 วรรคสอง เนื่องจากนายเรืองได้รับโอนรถยนต์ที่เอาประกันภัยมาภายหลัง ที่เกิดวินาศภัยแล้ว สิทธิอันมีอยู่ในสัญญาประกันภัยจึงไม่โอนตามไปด้วย ซึ่งตามมาตรา 875 วรรคสองนั้น การโอนวัตถุที่เอาประกันภัยและสิทธิอันมีอยู่ในสัญญาประกันภัยย่อมโอนตามไปด้วยนั้นจะต้องเป็นการโอน
ก่อนเกิดวินาศภัยเท่านั้น ดังนั้น หากเกิดวินาศภัยขึ้นแล้วและภายหลังมีการโอนเกิดขึ้นก็จะต้องทําตามมาตรา 306 วรรคหนึ่ง กล่าวคือ จะต้องทําเป็นหนังสือระหว่างผู้โอนกับผู้รับโอนและมีการบอกกล่าวการโอนเป็นหนังสือ ไปยังลูกหนี้ (ผู้รับประกันภัย) ก่อน สิทธิที่มีอยู่จึงจะโอนตามไปด้วย
สรุป นายเรืองไม่มีสิทธิเรียกให้บริษัท ยั่งยืนประกันวินาศภัย จํากัด ใช้ค่าสินไหมทดแทน ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ที่นายเรืองได้ ได้ซื้อมาจากนายหมื่น
ข้อ 3 นายปรีชาและนางบุญมีเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย นายปรีชาได้ทําสัญญากู้เงินจากนายเจริญ มาจํานวน 200,000 บาท เพื่อใช้จ่ายในกิจการค้าของตน ต่อมาวันที่ 25 สิงหาคม 2563 นายปรีชา ได้ทําสัญญาเอาประกันชีวิตนางบุญมีต่อบริษัท เมืองดีประกันชีวิต จํากัด จํานวนเงินเอาประกัน 500,000 บาท โดยทําสัญญาแบบอาศัยเหตุมรณะ ระบุให้นายปรีชาเป็นผู้รับประโยชน์โดยได้ชําระ เบี้ยประกันไปจํานวน 50,000 บาท วันที่ 25 สิงหาคม 2564 นางบุญมีประสบอุบัติเหตุระหว่าง เดินทางไปเที่ยวกับเพื่อน ทําให้นางบุญมีถึงแก่ความตาย นายปรีชาจึงแจ้งไปยังบริษัท เมืองดี ประกันชีวิต จํากัด เพื่อขอรับเงินประกันตามสัญญา และนอกจากนั้นนายเจริญเจ้าหนี้ของนายปรีชา ก็ได้ยื่นหนังสือเพื่อขอให้บริษัท เมืองดีประกันชีวิต จํากัด ใช้เงินให้แก่นายเจริญก่อนในฐานะเจ้าหนี้ ของผู้เอาประกันภัย
ดังนี้ จงวินิจฉัยว่า บริษัท เมืองดีประกันชีวิต จํากัด จะต้องใช้เงินตามสัญญาให้กับนายปรีชาและ นายเจริญหรือไม่ อย่างไร เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 863 “อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้ นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด”
มาตรา 889 “ในสัญญาประกันชีวิตนั้น การใช้จํานวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพ หรือมรณะของบุคคลคนหนึ่ง”
มาตรา 897 วรรคสอง “ถ้าได้เอาประกันภัยไว้โดยกําหนดว่าให้ใช้เงินแก่บุคคลคนใดคนหนึ่ง โดยเฉพาะเจาะจง ท่านว่าเฉพาะแต่จํานวนเงินเบี้ยประกันภัยซึ่งผู้เอาประกันภัยได้ส่งไปแล้วเท่านั้นจักเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันภัยอันเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายปรีชาและนางบุญมีเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย และนายปรีชา ได้ทําสัญญาเอาประกันชีวิตนางบุญมีต่อบริษัท เมืองดีประกันชีวิต จํากัด จํานวนเงินเอาประกัน 500,000 บาท โดยทําสัญญาแบบอาศัยเหตุมรณะ และระบุให้นายปรีชาเป็นผู้รับประโยชน์นั้น ถือว่าเป็นการประกันชีวิตของผู้อื่น และเมื่อนายปรีชามีความสัมพันธ์กับนางบุญมีในฐานะคู่สมรส จึงถือว่านายปรีชามีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้ ตามมาตรา 863 และมาตรา 889 สัญญาดังกล่าวจึงมีผลผูกพันคู่สัญญา ดังนั้น เมื่อนางบุญมีถึงแก่ความตาย บริษัท เมืองดีประกันชีวิต จํากัด จึงต้องใช้เงินตามสัญญาให้แก่นายปรีชาผู้รับประโยชน์ จํานวน 500,000 บาท
ส่วนกรณีของนายเจริญซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของนายปรีชานั้น บริษัท เมืองดีประกันชีวิต จํากัด ไม่ต้อง ใช้เงินให้กับนายเจริญเนื่องจากกรณีตามมาตรา 897 วรรคสองนั้น จะใช้กับกรณีที่ผู้เอาประกันภัยได้ทําสัญญา ประกันชีวิตตนเอง และเมื่อผู้เอาประกันถึงแก่ความตาย เฉพาะจํานวนเบี้ยประกันภัยที่ผู้เอาประกันภัยได้ ส่งไปแล้วจึงจะตกเข้ากองมรดกของผู้เอาประกันภัยซึ่งเจ้าหนี้สามารถเอาไปใช้หนี้ได้ แต่ถ้าหากเป็นเรื่องเอาประกันชีวิตผู้อื่น ย่อมไม่มีโอกาสที่เงินประกันภัยหรือเบี้ยประกันภัยจะตกเข้ากองมรดกของผู้เอาประกันชีวิตได้
เพราะผู้เอาประกันชีวิตยังมีชีวิตอยู่ในขณะที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นตามสัญญานั้น
สรุป
บริษัท เมืองดีประกันชีวิต จํากัด จะต้องใช้เงินตามสัญญาให้กับนายปรีชาแต่ไม่ต้องใช้ให้แก่นายเจริญ