การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2564

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2112 (LAW2012) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 นายคิวทําสัญญาประกันชีวิตนายบาร์มเพื่อนสนิทด้วยเหตุมรณะกับ บมจ. ชื่นชมประกันชีวิต กําหนดนายโต๊ะเพื่อนนายบาร์มเป็นผู้รับผลประโยชน์ (นายคิวส่งมอบกรมธรรม์ให้นายโก๊ะ และนายโก๊ะมีหนังสือแสดงความจํานงถือเอาประโยชน์ตามสัญญาแล้ว) ระยะเวลาทําประกัน 5 ปี ทําสัญญาประกันได้ 7 เดือน นายบาร์มถูกนายคังคู่อริยิงเสียชีวิต นายโก๊ะจึงเรียกร้องเงินประกัน ตามสัญญา แต่บริษัทผู้รับประกันภัยปฏิเสธการจ่ายเงินให้แก่นายโต๊ะด้วยข้ออ้าง 2 ข้อ คือ

(1) นายคิวและนายบาร์มไม่มีส่วนได้เสีย บริษัทฯ ไม่ต้องจ่ายเงิน

(2) นายบาร์มถูกคู่อริคือนายคังยิงเสียชีวิต หากจะจ่ายเงิน บริษัทฯ จะจ่ายให้แก่ทายาท นายโก๊ะ ไม่มีสิทธิรับเงินตามสัญญา

ให้นักศึกษาอธิบายข้ออ้างทั้ง 2 ข้อ ของ บมจ. ชื่นชมประกันชีวิต ว่าถูกต้องหรือไม่ และให้ตอบว่า นายโก๊ะจะได้รับเงินตามสัญญาประกันชีวิตหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 862 “ตามข้อความในลักษณะนี้
คําว่า “ผู้รับประกันภัย” ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือ ใช้เงินจํานวนหนึ่งให้

คําว่า “ผู้เอาประกันภัย” ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะส่งเบี้ยประกันภัย คําว่า “ผู้รับประโยชน์” ท่านหมายความว่า บุคคลผู้จะพึงได้รับค่าสินไหมทดแทนหรือรับจํานวนเงินใช้ให้

อนึ่งผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์นั้น จะเป็นบุคคลคนหนึ่งคนเดียวกันก็ได้”

มาตรา 863 “อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัย ไว้นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด”

มาตรา 891 วรรคหนึ่ง “แม้ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เป็นผู้รับประโยชน์เองก็ดี ผู้เอาประกันภัย ย่อมมีสิทธิที่จะโอนประโยชน์แห่งสัญญานั้นให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งได้ เว้นแต่จะได้ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่
ผู้รับประโยชน์ไปแล้ว และผู้รับประโยชน์ได้บอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังผู้รับประกันภัยแล้วว่าตนจํานงจะถือเอา ประโยชน์แห่งสัญญานั้น”
มาตรา 896 “ถ้ามรณภัยเกิดขึ้นเพราะความผิดของบุคคลภายนอก ผู้รับประกันภัยหาอาจจะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากบุคคลภายนอกนั้นได้ไม่ แต่สิทธิของฝ่ายทายาทแห่งผู้มรณะในอันจะได้ค่าสินไหม ทดแทนจากบุคคลภายนอกนั้นหาสูญสิ้นไปด้วยไม่ แม้ทั้งจํานวนเงินอันจะพึงใช้ตามสัญญาประกันชีวิตนั้นจะ
หวนกลับมาได้แก่ตนด้วย”

วินิจฉัย

(1) ในการทําสัญญาประกันชีวิตโดยอาศัยเหตุมรณะของบุคคลใดบุคคลหนึ่งซึ่งมิใช่ตัวของผู้เอาประกันภัยนั้น การพิจารณาส่วนได้เสียของผู้เอาประกันภัยกับเหตุที่ประกันภัยไว้ตามมาตรา 863 นั้น จะต้อง
เป็นกรณีที่ผู้เอาประกันภัยเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยนั้นด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายคิวทําสัญญาประกันชีวิตนายบาร์มเพื่อนสนิทด้วยเหตุมรณะกับ บมจ. ชื่นชมประกันชีวิต โดยกําหนดให้นายโก๊ะเพื่อนของนายบาร์มเป็นผู้รับประโยชน์ และนายคิวได้ส่งมอบกรมธรรม์ให้นายโก๊ะ และนายโก๊ะมีหนังสือแสดงจํานงถือเอาประโยชน์ตามสัญญาแล้วนั้น เมื่อนายคิวเป็นเพียง
ผู้เอาประกันภัยแต่มิได้เป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิต จึงไม่เข้ากรณีที่จะต้องพิจารณาว่าผู้เอาประกันภัย มีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัยไว้ตามมาตรา 863 หรือไม่ ดังนั้น เมื่อนายบาร์มถูกนายคังคู่อริยิงเสียชีวิต ภายในอายุความคุ้มครองตามสัญญาประกันชีวิต บริษัทฯ จึงต้องจ่ายเงินให้แก่นายโต๊ะผู้รับประโยชน์ตามที่ ระบุไว้ในสัญญาตามมาตรา 862 ประกอบมาตรา 891 บริษัทฯ จะปฏิเสธการจ่ายเงินให้แก่นายโต๊ะโดยกล่าวอ้าง การไม่มีส่วนได้เสียระหว่างนายคิวและนายบาร์มไม่ได้

(2) การที่บริษัทฯ กล่าวอ้างว่านายบาร์มถูกคู่อริคือนายคงยิ่งเสียชีวิต หากจะจ่ายเงิน บริษัทฯ จะจ่าย ให้แก่ทายาทนั้น ข้อกล่าวอ้างดังกล่าวของบริษัทฯ ไม่ถูกต้อง เพราะเมื่อนายคิวผู้เอาประกันได้กําหนดตัวผู้รับประโยชน์คือนายโต๊ะไว้แล้ว สิทธิในการได้รับเงินตามสัญญาประกันชีวิตด้วยเหตุมรณะของนายบาร์มจึงเป็น สิทธิของนายโก๊ะ ส่วนทายาทของนายบาร์มย่อมได้สิทธิในส่วนของค่าสินไหมทดแทนจากนายคงตามมาตรา 896

สรุป ข้ออ้างทั้ง 2 ข้อของ บมจ. ชื่นชมประกันชีวิตไม่ถูกต้อง และนายโต๊ะมีสิทธิได้รับเงินตาม
สัญญาประกันชีวิต

 

ข้อ 2 นายกบเจ้าของรถยนต์ ได้นํารถยนต์ไปทําสัญญาประกันวินาศภัยในความเสียหายอันอาจจะเกิดขึ้น กับรถยนต์นั้นกับบริษัท รวยดี ประกันวินาศภัย จํากัด จํานวนเงินเอาประกันภัย 5 แสนบาท และนายกบได้ทําสัญญาประกันภัยในความเสียหายอันอาจเกิดขึ้นกับบุคคลภายนอกไว้ด้วยจํานวนเงินเอาประกันภัย 3 แสนบาท โดยในกรมธรรม์ประกันวินาศภัยในความเสียหายกับรถยนต์นั้นมีเงื่อนไขกําหนดไว้ว่าห้ามไม่ให้ผู้เอาประกันภัยนํารถยนต์นั้นไปรับจ้างหรือให้เช่า ปรากฏว่านายกบได้นํารถยนต์คันดังกล่าวไปรับจ้างส่งของให้กับนายเขียด วันเกิดเหตุด้วยความประมาทเลินเล่อของนายกบได้ขับรถยนต์คันดังกล่าวนั้น ช่วงเวลาที่ไปส่งของให้กับนายเขียดเฉี่ยวชนนายอ๊อดได้รับบาดเจ็บ มีค่ารักษาพยาบาลจํานวน 50,000 บาท นายอ๊อดจึงมาเรียกให้บริษัท รวยดีประกันวินาศภัย จํากัด ใช้ค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากนายกบได้ทําประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอกไว้ แต่ถูกบริษัท รวยดีประกันวินาศภัย จํากัด ปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างว่าไม่อยู่ในส่วนที่ผู้รับประกันภัย จะต้องรับผิดเนื่องจากนายกบผิดเงื่อนไขที่ตกลงไว้ในกรมธรรม์

ดังนี้ จงวินิจฉัยว่า ข้อปฏิเสธของ บริษัท รวยดีประกันวินาศภัย จํากัด ฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 887 วรรคหนึ่ง “อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้น คือสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่า จะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และซึ่งผู้เอา
ประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายกบได้นํารถยนต์ไปทําประกันวินาศภัยไว้กับบริษัท รวยดีประกัน วินาศภัย จํากัด ในความเสียหายที่เกิดกับตัวรถยนต์ที่เอาประกันรวมทั้งประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลที่สาม ซึ่งเป็นประกันภัยค้ำจุนด้วยนั้น บุคคลที่ถือว่าเป็นคู่สัญญาคือนายกบ (ผู้เอาประกันภัย) และบริษัท รวยดีประกัน วินาศภัย จํากัด (ผู้รับประกันภัย) ซึ่งตามมาตรา 887 วรรคหนึ่งนั้น สัญญาประกันภัยค้ำจุน เป็นสัญญาซึ่งผู้รับ ประกันภัยได้ตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลหนึ่ง
และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ

จากข้อเท็จจริง การที่นายกบได้ทําประกันภัยค้ำจุนในความเสียหายอันอาจเกิดขึ้นกับบุคคลภายนอก ไว้ด้วยนั้น โดยไม่ได้มีเงื่อนไขความรับผิดแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อนายกบได้ขับรถยนต์คันดังกล่าวไปเฉี่ยวชนนายอ๊อด ได้รับบาดเจ็บมีค่ารักษาพยาบาลจํานวน 50,000 บาท นายอ๊อดจึงมีสิทธิเรียกให้บริษัทฯ ใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ เนื่องจากเงื่อนไขที่กําหนดห้ามไม่ให้ผู้เอาประกันภัยนํารถยนต์ไปรับจ้างหรือให้เช่านั้น เป็นเงื่อนไขในส่วนประกัน ความเสียหายอันเกิดขึ้นกับตัวรถยนต์ ดังนั้น บริษัทฯ จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายอ๊อด จะปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างว่าไม่อยู่ในส่วนที่ผู้รับประกันภัยจะต้องรับผิดเนื่องจากนายกบผิดเงื่อนไขที่ตกลงไว้ในกรมธรรม์ไม่ได้

สรุป ข้อปฏิเสธของบริษัท รวยดีประกันวินาศภัย จํากัด ฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ 3 นายวอกกับนางนวลเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตรชายหนึ่งคนคือนายเทพ โดยนายเทพ เอาประกันชีวิตแบบอาศัยความมรณะให้แก่นางนวลมารดาของตนไว้กับ บมจ. ยั่งยืนประกันชีวิต เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2564 จํานวนเงินเอาประกัน 5 ล้านบาท คุ้มครองตลอดชีพ ไม่ได้ระบุตัว ผู้รับประโยชน์ ต่อมาวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 นายเทพได้เอาประกันชีวิตแบบอาศัยความมรณะ ให้แก่นายวอกบิดาของตนอีกฉบับหนึ่งไว้กับ บมจ. ยั่งยืนประกันชีวิตเช่นกัน จํานวนเงินเอาประกัน 2 ล้านบาท คุ้มครองตลอดชีพ ไม่ได้ระบุตัวผู้รับประโยชน์ ปรากฏต่อมาว่า วันที่ 31 ธันวาคม 2564 นายวอกกับนางนวลทะเลาะกันอย่างรุนแรง เพราะเหตุชู้สาวของนายวอก นางนวลเผลอใช้อาวุธปืน ยิงนายวอกถึงแก่ความตาย และด้วยความเสียใจนางนวลจึงยิงตัวตายตามไปด้วย หลังจากนั้น นายเทพจึงทําหนังสือถึง บมจ. ยั่งยืนประกันชีวิต ให้ใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิตทั้งสองฉบับแก่ตน ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า บมจ. ยั่งยืนประกันชีวิตจะต้องชดใช้เงินหรือปฏิเสธไม่ใช้เงินแก่นายเทพ เนื่องจากเหตุการณ์ตายของนายวอกกับนางนวลได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 889 “ในสัญญาประกันชีวิตนั้น การใช้จํานวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพ หรือมรณะของ บุคคลคนหนึ่ง”

มาตรา 895 “เมื่อใดจะต้องใช้จํานวนเงินในเหตุมรณะของบุคคลคนหนึ่งคนใด ท่านว่าผู้รับประกันภัย จําต้องใช้เงินนั้นในเมื่อมรณภัยอันนั้นเกิดขึ้น เว้นแต่

(1) บุคคลผู้นั้นได้กระทําอัตวินิบาตด้วยใจสมัครภายในปีหนึ่งนับแต่วันทําสัญญา หรือ

(2) บุคคลผู้นั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา

ในกรณีที่ 2 นี้ ท่านว่าผู้รับประกันภัยจําต้องใช้เงินค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ให้แก่ผู้เอาประกันภัย หรือ ให้แก่ทายาทของผู้นั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเทพบุตรชายของนายวอกและนางนวล เอาประกันชีวิตแบบอาศัย ความมรณะให้แก่นางนวลมารดาของตนไว้กับ บมจ. ยั่งยืนประกันชีวิต เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2564 จํานวนเงิน เอาประกัน 5 ล้านบาท และเอาประกันชีวิตแบบอาศัยความมรณะให้แก่นายวอกบิดาของตนอีกฉบับหนึ่งไว้กับ บมจ. ยั่งยืนประกันชีวิตเช่นกัน เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 จํานวนเงินเอาประกัน 2 ล้านบาท สัญญาทั้งสองฉบับ จึงเป็นสัญญาประกันชีวิตแบบอาศัยความมรณะตามมาตรา 889 เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ถูกเอาประกันชีวิต คือนายวอกและนางนวลทะเลาะกันอย่างรุนแรงเพราะเหตุชู้สาวของนายวอก นายนวลเผลอใช้อาวุธปืนยิงนายวอก ถึงแก่ความตาย และด้วยความเสียใจนางนวลจึงยิงตัวตายตามไปด้วย โดยเหตุเกิดในวันที่ 31 ธันวาคม 2564 และต่อมานายเทพได้ทําหนังสือถึง บมจ. ยั่งยืนประกันชีวิต ให้ใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิตทั้งสองฉบับแก่ตน ดังนี้ บริษัทฯ จะต้องชดใช้เงินหรือปฏิเสธไม่ใช้เงินแก่นายเทพได้หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้ คือ

กรณีของนายวอก การที่นายวอกถึงแก่ความตายภายในอายุความคุ้มครองของสัญญาประกันชีวิต จากการกระทําโดยประมาทเลินเล่อของนางนวลนั้น ไม่ถือว่านายวอกได้กระทําอัตตวินิบาตด้วยใจสมัครหรือถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนาตามมาตรา 895 ดังนั้น นายเทพชอบที่จะเรียกร้องให้ บมจ. ยั่งยืนประกันชีวิต รับผิดใช้เงินตามสัญญาจํานวน 2 ล้านบาทแก่ตนได้ บมจ. ยั่งยืนประกันชีวิต จึงต้องใช้เงินให้แก่นายเทพในกรณีนี้

กรณีของนางนวล การที่นางนวลได้ยิงตัวตายในวันที่ 31 ธันวาคม 2564 นั้น ถือว่านางนวล ผู้ถูกเอาประกันชีวิตได้กระทําอัตตวินิบาตด้วยใจสมัครภายใน 1 ปีนับแต่วันทําสัญญาประกันชีวิต ดังนั้น จึงเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 895 (1) บมจ. ยั่งยืนประกันชีวิต จึงสามารถอ้างเหตุแห่งการปฏิเสธความรับผิดใช้เงิน ตามสัญญาจํานวน 5 ล้านบาทแก่นายเทพได้ บมจ. ยั่งยืนประกันชีวิต จึงไม่ต้องใช้เงินให้แก่นายเทพในกรณีนี้

สรุป บมจ. ยั่งยืนประกันชีวิต จะต้องจ่ายเงินตามสัญญาประกันชีวิตเฉพาะตามสัญญาประกันชีวิต กรณีของนายวอกแก่นายเทพจํานวน 2 ล้านบาท เพียงสัญญาเดียว

Advertisement