การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2562
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2011 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1. นายชัยนํานาฬิกาข้อมือเก่าซึ่งอยู่ในสภาพไม่พร้อมใช้งานไปทําการซ่อมแซมให้เหมือนว่าเป็น นาฬิกาใหม่ และตั้งนายเรืองเป็นตัวแทนโดยบอกกล่าวด้วยวาจาให้นํานาฬิกาเรือนดังกล่าวไปขายที่ร้านของนายรุ่งในราคา 1 แสนบาท แต่นายชัยกลัวว่านายรุ่งจะไม่รับซื้อนาฬิกาของตน เพราะตนเคยนํานาฬิกาปลอมไปหลอกขายมาครั้งหนึ่งแล้ว จึงบอกกับนายเรื่องว่าให้นํานาฬิกาเรือนดังกล่าวไปขายในนามของนายเรืองเองเลยโดยไม่ต้องเปิดเผยถึงตน นายเรืองกระทําการดังกล่าวด้วยความสุจริตเข้าใจว่านาฬิกานั้นเป็นของใหม่ และนําไปขายที่ร้านของนายรุ่ง หลังจาก รับซื้อนาฬิกาเรือนดังกล่าวได้สองวัน นายรุ่งตรวจสอบพบว่านาฬิกาเป็นของเก่าไม่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน และสืบทราบว่านาฬิกาเรือนดังกล่าวเป็นของนายชัย นายรุ่งจึงใช้สิทธิเรียกร้องต่อนายชัยในการบอกล้างกลฉ้อฉลที่นายชัยนํานาฬิกาข้อมือเก่าซึ่งอยู่ในสภาพไม่พร้อมใช้งาน มาหลอกขายแก่ตน แต่นายชัยปฏิเสธโดยอ้างว่าการซื้อขายนาฬิกาดังกล่าวเกิดจากสัญญาซื้อขา ระหว่างนายรุ่งกับนายเรือง ประกอบกับไม่มีหลักฐานว่าตนเป็นตัวการของนายเรื่อง ตนไม่ต้องรับผิดแต่ประการใด
ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยตามกฎหมายตัวแทนว่า ข้ออ้างของนายชัยฟังขึ้นหรือไม่ และนายรุ่งจะเรียก ให้ใครรับผิดต่อตนได้ ระหว่างนายชัยกับนายเรือง เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 798 “กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทําเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อ กิจการอันนั้นก็ต้องทําเป็นหนังสือด้วย
กิจการอันใดท่านบังคับไว้ว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย”
มาตรา 800 “ถ้าตัวแทนได้รับมอบอํานาจแต่เฉพาะการ ท่านว่าจะทําการแทนตัวการได้แต่เพียง
ในสิ่งที่จําเป็น เพื่อให้กิจอันเขาได้มอบหมายแก่ตนนั้นสําเร็จลุล่วงไป”
มาตรา 806 “ตัวการซึ่งมิได้เปิดเผยชื่อจะกลับแสดงตนให้ปรากฏและเข้ารับเอาสัญญาใด ๆ ซึ่งตัวแทนได้ทําไว้แทนตนก็ได้ แต่ถ้าตัวการผู้ใดได้ยอมให้ตัวแทนของตนทําการออกหน้าเป็นตัวการไซร้ ท่านว่า ตัวการผู้นั้นหาอาจจะทําให้เสื่อมเสียถึงสิทธิของบุคคลภายนอกอันเขามีต่อตัวแทน และเขาขวนขวายได้มาแต่ก่อนที่
รู้ว่าเป็นตัวแทนนั้นได้ไม่”
มาตรา 820 “ตัวการย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันตัวแทนหรือ ตัวแทนช่วงได้ทําไปภายในขอบอํานาจแห่งฐานตัวแทน”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายชัยได้ตั้งนายเรืองเป็นตัวแทนให้นํานาฬิกาข้อมือของตนไปขาย ที่ร้านของนายรุ่งในราคา 1 แสนบาท โดยกําหนดเงื่อนไขให้นายเรืองนํานาฬิกาเรือนดังกล่าวไปขายในนามของ
นายเรืองเองเลยโดยไม่ต้องเปิดเผยถึงตนนั้น ถือว่านายชัยได้มอบอํานาจให้นายเรืองเป็นตัวแทนรับมอบอํานาจ แต่เฉพาะการตามมาตรา 800 และการที่นายชัยมีเจตนาปกปิดตนเองจึงถือว่าเป็นเรื่องของตัวการไม่เปิดเผยชื่อ ตามมาตรา 806 จึงส่งผลให้นายเรื่องตัวแทนจะต้องเข้าผูกพันรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยลําพังตนเองเสมือนหนึ่งว่า ตนเป็นตัวการเสียเอง ดังนั้น แม้กิจการที่นายเรืองไปกระทําคือนํานาฬิกาซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์ไปขายในราคา 1 แสนบาทนั้น ตามกฎหมายบังคับว่าจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ซึ่งการตั้งตัวแทนเพื่อกิจการดังกล่าวก็ต้องมี หลักฐานเป็นหนังสือด้วยก็ตาม แต่ในเรื่องตัวการไม่เปิดเผยชื่อตามมาตรา 806 นั้น ถือเป็นข้อยกเว้นของ มาตรา 798 ดังนั้น การที่นายชัยตั้งให้นายเรืองเป็นตัวแทนไปกระทําการดังกล่าวจึงมีผลสมบูรณ์ และเมื่อ นายเรืองได้ทําการขายนาฬิกาเรือนดังกล่าวที่ร้านของนายรุ่งด้วยความสุจริตเข้าใจว่านาฬิกานั้นเป็นของใหม่สัญญา ซื้อขายจึงมีผลสมบูรณ์
ต่อมาเมื่อนายรุ่งได้ตรวจสอบแล้วพบว่านาฬิกาเป็นของเก่าไม่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานและสืบทราบ ว่านาฬิกาเรือนดังกล่าวเป็นของนายชัย จึงถือว่าชื่อของตัวการได้ถูกเปิดเผยแล้ว ความเป็นตัวการไม่เปิดเผยชื่อ ของนายชัยจึงสิ้นสุดลง และเมื่อนายเรืองตัวแทนได้ทําการด้วยความสุจริตและภายในขอบอํานาจของตัวแทน
สัญญาซื้อขายนาฬิกาดังกล่าวจึงผูกพันนายชัยตัวการและนายรุ่งบุคคลภายนอกตามมาตรา 820 นายชัย ตัวการจึงไม่อาจทําให้เสื่อมสิทธิของนายรุ่งบุคคลภายนอกที่ได้มาแต่ก่อนที่ชื่อของตัวการจะถูกเปิดเผย และเมื่อ ปรากฏว่าสัญญาซื้อขายนาฬิกาดังกล่าวเกิดจากกลฉ้อฉลของนายชัยผู้เป็นตัวการตั้งแต่ต้น นายรุ่งบุคคลภายนอก
ย่อมได้สิทธิในการบอกล้างกลฉ้อฉลนั้นต่อนายชัยตัวการ ดังนั้น การที่นายชัยปฏิเสธโดยอ้างว่าการซื้อขายนาฬิกา ดังกล่าวเกิดจากสัญญาซื้อขายระหว่างนายรุ่งกับนายเรื่อง ประกอบกับไม่มีหลักฐานว่าตนเป็นตัวการของนายเรือง ตนจึงไม่ต้องรับผิดแต่ประการใดนั้น ข้ออ้างของนายชัยดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้น และนายรุ่งสามารถเรียกให้นายชัยรับผิดต่อตนได้
สรุป ข้ออ้างของนายชัยฟังไม่ขึ้น นายรุ่งสามารถเรียกให้นายชัยรับผิดต่อตนได้
ข้อ 2 นายหนึ่งนําวิทยุโบราณของตนไปให้นายสองขายที่ร้านขายของเก่าของนายสอง โดยกําหนดราคา ให้ขายที่ราคา 130,000 บาท ถ้าขายได้จะให้บําเหน็จแก่นายสอง 30,000 บาท ต่อมานายสาม ซึ่งเป็นลูกค้าประจําสนใจจะซื้อ อย่างไรก็ตาม นายสามติดธุระด่วนต้องไปต่างประเทศ นายสาม จึงตั้งให้นายสี่เป็นตัวแทนของตนโดยทําเป็นหนังสือเพื่อไปซื้อวิทยุดังกล่าวจากนายสอง โดยให้มี อํานาจเจรจาซื้อในราคา 120,000 บาท และแบ่งชําระเป็น 4 งวด นายสี่จึงมาต่อรองราคากับ นายสอง นายสองเห็นว่านายสี่เป็นตัวแทนของนายสามที่ถูกต้องและนายสามก็เป็นลูกค้าประจํา ของนายสอง จึงตกลงขายให้ตามราคาและเงื่อนไขดังกล่าว ให้ท่านวินิจฉัยว่า
ก เมื่อนายสองตกลงขายวิทยุดังกล่าวให้นายสามผ่านนายสี่ซึ่งเป็นตัวแทนในราคา 120,000 บาท หากนายสองยอมชดใช้ส่วนที่ขาด 10,000 บาทให้นายหนึ่งแล้ว นายหนึ่งจะคัดค้านการซื้อขาย ครั้งนี้ได้หรือไม่เพราะเหตุใด
ข หากปรากฏว่าเมื่อผ่อนชําระได้เพียง 2 งวด นายสี่ซึ่งเป็นตัวแทนได้นําเงินที่ต้องจ่ายส่วนที่เหลือไปใช้ส่วนตัวแล้วหนีไป นายสองจะเรียกให้นายสามชําระหนี้ส่วนที่เหลือได้หรือไม่
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 820 “ตัวการย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันตัวแทนหรือ ตัวแทนช่วงได้ทําไปภายในขอบอํานาจแห่งฐานตัวแทน”
มาตรา 833 “อันว่าตัวแทนค้าต่าง คือบุคคลซึ่งในทางค้าขายของเขาย่อมทําการซื้อ หรือขาย ทรัพย์สิน หรือรับจัดทํากิจการค้าขายอย่างอื่นในนามของตนเองต่างตัวการ”
มาตรา 837 “ในการที่ตัวแทนค้าต่างทําการขายหรือซื้อหรือจัดทํากิจการค้าขายอย่างอื่นต่างตัวการนั้น ท่านว่าตัวแทนค้าต่างย่อมได้ซึ่งสิทธิอันมีต่อคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งในกิจการเช่นนั้น และตัวแทนค้าต่างย่อมเป็น
ผู้ต้องผูกพันต่อคู่สัญญาฝ่ายนั้นด้วย”
มาตรา 839 “ถ้าตัวแทนค้าต่างได้ทําการขายเป็นราคาต่ําไปกว่าที่ตัวการกําหนด หรือทําการซื้อ เป็นราคาสูงไปกว่าที่ตัวการกําหนดไซร้ หากว่าตัวแทนรับใช้เศษที่ขาดเกินนั้นแล้ว ท่านว่าการขายหรือการซื้ออันนั้น ตัวการก็ต้องรับขายรับซื้อ”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้
ก การที่นายหนึ่งนําวิทยุโบราณของตนไปให้นายสองขายที่ร้านขายของเก่าของนายสอง โดย กําหนดราคาให้ขายที่ราคา 130,000 บาท ถ้าขายได้จะให้บําเหน็จแก่นายสอง 30,000 บาทนั้น ถือว่าสัญญาระหว่าง นายหนึ่งและนายสองเป็นสัญญาตัวแทนค้าต่างตามมาตรา 833 โดยนายสองเป็นตัวแทนค้าต่างของนายหนึ่ง
เมื่อนายสองตัวแทนค้าต่างตกลงขายวิทยุดังกล่าวให้นายสามผ่านนายสี่ซึ่งเป็นตัวแทน ของนายสามไปในราคา 120,000 บาท ซึ่งเป็นการขายในราคาที่ต่ํากว่าที่นายหนึ่งซึ่งเป็นตัวการได้กําหนดไว้ แต่นายสองได้ยอมชดใช้ส่วนที่ขาด 10,000 บาทให้แก่นายหนึ่งแล้ว นายหนึ่งซึ่งเป็นตัวการก็ต้องยอมรับการขายนั้น ตามมาตรา 839 นายหนึ่งจะคัดค้านการซื้อขายครั้งนี้ไม่ได้
ข ตามมาตรา 837 ได้กําหนดไว้ว่า เมื่อตัวแทนค้าต่างได้ทําการขายหรือซื้อหรือจัดทํากิจการ ค้าขายอย่างอื่นแทนตัวการแล้ว ตัวแทนค้าต่างย่อมได้สิทธิอันมีต่อคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งในกิจการเช่นนั้น และตัวแทน ค้าต่างย่อมเป็นผู้ต้องผูกพันต่อคู่สัญญาฝ่ายนั้นด้วย
การที่สองเป็นตัวแทนค้าต่างทําการขายสินค้าแทนนายหนึ่งตัวการให้แก่นายสามผ่านนายสี่ ซึ่งเป็นตัวแทนของนายสาม และเมื่อนายสี่ได้กระทําการภายในขอบอํานาจแห่งฐานตัวแทนตามมาตรา 820 นายสามตัวการจึงต้องมีความผูกพันต่อนายสอง ดังนั้น นายสองในฐานะตัวแทนค้าต่างจึงเป็นผู้เข้าผูกพันในสัญญา ซื้อขายวิทยุโบราณกับนายสาม เมื่อนายสี่ซึ่งเป็นตัวแทนของนายสามได้นําเงินที่ต้องจ่ายส่วนที่เหลือไปใช้ส่วนตัว แล้วหนีไป นายสองจึงมีสิทธิเรียกให้นายสามคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งชําระหนี้ส่วนที่เหลือได้ตามมาตรา 837
สรุป
ก นายหนึ่งจะคัดค้านการซื้อขายครั้งนี้ไม่ได้
ข นายสองสามารถเรียกให้นายสามชําระหนี้ส่วนที่เหลือได้
ข้อ 3 นายดําประสงค์จะซื้อบ้านจึงตกลงให้นายแดงเป็นนายหน้าโดยมีบําเหน็จ 50,000 บาท รวมทั้ง ค่าใช้จ่ายใด ๆ ที่เกี่ยวข้องนายดํายินดีชดใช้ให้ ต่อมานายแดงพบว่านายเขียวประกาศขายบ้าน พร้อมที่ดินจํานวน 3 แปลง ในลักษณะจัดสรรขายในราคาแปลงละ 2,000,000 บาท นายแดงจึง มาแจ้งให้นายดําไปดูปรากฏว่านายดําต้องการซื้อแต่ขอทําเป็นสัญญาจองไว้ก่อนเพราะยังไม่แน่ใจว่าตนเองจะกู้เงินธนาคารเพื่อมาซื้อนั้นจะได้รับการให้กู้หรือไม่ ปรากฏว่านายดําไม่สามารถกู้เงิน ธนาคารได้ นายดําจึงไม่อาจเข้าทําสัญญาจะซื้อจะขายบ้านพร้อมที่ดินนั้นได้ แต่นายแดงเห็นว่า ตนได้ชี้ช่องและจัดการให้นายดําสามารถเข้าทําสัญญาจองแล้ว นายดําต้องจ่ายบําเหน็จและค่าใช้จ่ายในการนี้ 7,000 บาท เช่นนี้นายดําต้องจ่ายบําเหน็จและค่าใช้จ่ายให้แก่นายแดงหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 845 “บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบําเหน็จแก่นายหน้าเพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทําสัญญาก็ดี จัดการให้ได้ทําสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบําเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทํากันสําเร็จ เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น ถ้าสัญญาที่ได้ทํากันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้ ท่านว่าจะเรียกร้องบําเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่ จนกว่าเงื่อนไขนั้นสําเร็จแล้ว
นายหน้ามีสิทธิจะได้รับชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ได้เสียไปก็ต่อเมื่อได้ตกลงกันไว้เช่นนั้น ความข้อนี้ท่านให้
ใช้บังคับแม้ถึงว่าสัญญาจะมิได้ทํากันสําเร็จ”
วินิจฉัย
จากบทบัญญัติมาตรา 845 วรรคหนึ่ง จะเห็นได้ว่าลักษณะของสัญญานายหน้านั้น คือ สัญญา ซึ่งบุคคลคนหนึ่งตกลงให้นายหน้าเป็นผู้ชี้ช่องทาง หรือจัดการจนเขาได้ทําสัญญากับบุคคลภายนอก และนายหน้า รับกระทําการตามนั้น และเมื่อนายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการจนเขาได้เข้าทําสัญญากันแล้ว นายหน้าย่อมจะได้รับ ค่าบําเหน็จ
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายดําประสงค์จะซื้อบ้านจึงตกลงให้นายแดงเป็นนายหน้าโดยมีบําเหน็จ 50,000 บาทนั้น นายแดงจะเรียกบําเหน็จได้ก็ต่อเมื่อนายดําและนายเขียวได้เข้าทําสัญญากันสําเร็จตามที่นายแดง ได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้นแล้ว แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายดําได้ทําเพียงสัญญาจองไว้ก่อนเท่านั้น ซึ่งสัญญาจองดังกล่าวเป็นเพียงหนังสือแจ้งความประสงค์จะจองบ้านและที่ดินเท่านั้น ส่วนสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างนายดํา และนายเขียวนั้นยังมิได้ทําขึ้นแต่อย่างใด ดังนั้น จึงถือว่าผลของการชี้ช่องหรือจัดการของนายแดงจึงยังไม่เกิดขึ้น นายแดงจึงไม่มีสิทธิเรียกบําเหน็จจํานวน 50,000 บาท เป็นค่านายหน้าได้ตามมาตรา 845 วรรคหนึ่ง
แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสัญญาจะซื้อจะขายจะยังมิได้ทํากันสําเร็จ นายแดงก็มีสิทธิเรียกค่าใช้จ่าย จํานวน 7,000 บาทจากนายดําได้ เนื่องจากนายดําได้ตกลงไว้แล้วว่าจะชดใช้ค่าใช้จ่ายให้แก่นายแดงตามมาตรา
845 วรรคสอง
สรุป นายดําไม่ต้องจ่ายบําเหน็จ 50,000 บาทแก่นายแดง แต่จะต้องจ่ายค่าใช้จ่าย 7,000 บาท แก่นายแดง