การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2565
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2109 (LAW2009) ป.พ.พ.ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ ฯลฯ
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. นายต้นไทรมีทรัพย์สินเก็บอยู่ในบ้านจํานวนมาก เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2565 จึงได้ขอยืมสุนัข พันธุ์เยอรมันเชพเพิร์ด ตัวใหญ่จากนายใบสักเอาไว้เฝ้าบ้านเพื่อกันขโมยเป็นเวลา 1 เดือน เพราะ ขณะนี้อยู่ระหว่างสั่งซื้อสุนัขของตนเองจากต่างประเทศ โดยมิได้ทําสัญญายืมต่อกันไว้ ปรากฏว่า ในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ขณะนายต้นไทรกําลังจะถอยรถออกจากบ้าน นายต้นไทรไม่ได้นําสุนัข ตัวที่ยืมมาเข้ากรงทําให้สุนัขได้วิ่งออกนอกบ้านไป นายต้นไทรตามจับกลับมาไม่ทัน ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า

Advertisement

1.1 หากในวันที่ 5 ตุลาคม 2565 นายใบสักทราบว่าสุนัขพันธุ์เยอรมันเชพเพิร์ดของตนหายไป นายใบสักจะบอกเลิกสัญญา แล้วเรียกให้นายต้นไทรชดใช้ราคาสุนัขจํานวน 20,000 บาท ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

1.2 นายต้นไทรเมื่อรู้ว่าถูกนายใบสักเรียกร้องค่าเสียหาย นายต้นไทรจึงเรียกร้องให้นายใบสัก
จ่ายค่าอาหารสุนัขที่ตนต้องเสียไปเป็นจํานวนมากเนื่องจากสุนัขของนายใบสักตัวใหญ่ กินจุ เป็นจํานวนเงิน 5,000 บาท ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 640 “อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม ให้บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ยืม ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่า และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว”

มาตรา 641 “การให้ยืมใช้คงรูปนั้น ท่านว่าย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้ยืม”

มาตรา 644 “ผู้ยืมจําต้องสงวนทรัพย์สินซึ่งยืมไปเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง”

มาตรา 645 “ในกรณีทั้งหลายดังกล่าวไว้ในมาตรา 643 นั้นก็ดี หรือถ้าผู้ยืมประพฤติฝ่าฝืน ต่อความในมาตรา 644 ก็ดี ผู้ให้ยืมจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้”

มาตรา 647 “ค่าใช้จ่ายอันเป็นปกติแก่การบํารุงรักษาทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น ผู้ยืมต้องเป็นผู้เสีย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายต้นไทรได้ขอยืมสุนัขพันธุ์เยอรมันเชพเพิร์ดซึ่งตัวใหญ่จากนายใบสัก เอาไว้เฝ้าบ้านเพื่อกันขโมยเป็นเวลา 1 เดือนนั้น สัญญายืมระหว่างนายต้นไทรกับนายใบสักดังกล่าวเป็นสัญญา ยืมใช้คงรูปตามมาตรา 640 และมีผลสมบูรณ์เมื่อมีการส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้ยืมตามมาตรา 641 โดยไม่จําต้อง ทําสัญญาเป็นหนังสือ และเป็นสัญญายืมที่มีกําหนดระยะเวลา ดังนั้น นายต้นไทรมีสิทธิที่จะครอบครองและ ใช้สอยทรัพย์สินที่ยืมนั้น แต่จะต้องสงวนรักษาทรัพย์สินที่ยืม รวมทั้งจะต้องไม่ประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืมด้วย

1.1 เมื่อปรากฏว่าในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ขณะที่นายต้นไทรกําลังจะถอยรถออกจากบ้าน นายต้นไทรไม่ได้นําสุนัขตัวที่ยืมมาเข้ากรงทําให้สุนัขได้วิ่งออกนอกบ้านไป โดยนายต้นไทรตามจับกลับมาไม่ทันนั้น หากนายใบสักทราบว่าสุนัขหายไปในวันที่ 5 ตุลาคม 2565 นายใบสักย่อมสามารถบอกเลิกสัญญายืมก่อนครบ กําหนดได้ตามมาตรา 645 เพราะการที่นายต้นไทรได้ถอยรถออกจากบ้านโดยไม่ใช้ความระมัดระวัง กล่าวคือ
ไม่มีการจับสุนัขเข้ากรงก่อนหรือไม่หาทางป้องกันไม่ให้สุนัขวิ่งออกจากบ้านนั้น ถือว่านายต้นไทรไม่สงวนรักษา ทรัพย์สินซึ่งยืมเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเองตามมาตรา 644 และนายต้นไทรจะต้อง ชดใช้ราคาสุนัขจํานวน 20,000 บาท ให้แก่นายใบสักด้วยจากการที่นายต้นไทรไม่ปฏิบัติตามมาตรา 644 ดังกล่าว

1.2 กรณีที่นายต้นไทรรู้ว่านายใบสักเรียกร้องค่าเสียหาย นายต้นไทรจึงเรียกร้องให้นายใบสัก จ่ายค่าอาหารสุนัขที่ตนต้องเสียไปจํานวนมาก เนื่องจากสุนัขของนายใบสักตัวใหญ่ กินจุ เป็นจํานวนเงิน 5,000 บาทนั้น นายต้นไทรไม่สามารถเรียกร้องได้ เพราะไม่ได้มีการทําสัญญาและตกลงกันไว้ และตามมาตรา 647 ก็ได้กําหนดไว้ว่า ค่าใช้จ่ายอันเป็นปกติแก่การบํารุงรักษาทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น ผู้ยืมต้องเป็นผู้เสีย ดังนั้น กรณีนี้นายต้นไทรจึงต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าอาหารสุนัขที่ยืม ไม่ใช่ไปเรียกร้องเอาจากนายใบสัก

สรุป
1.1 นายใบสักสามารถบอกเลิกสัญญายืมก่อนครบกําหนดเวลายืมได้ และสามารถเรียกให้
นายต้นไทรชดใช้ราคาสุนัขเป็นจํานวน 20,000 บาทได้

1.2 นายต้นไทรจะเรียกร้องให้นายใบสักจ่ายค่าอาหารสุนัขที่ตนต้องเสียไปเป็นจํานวนเงิน 5,000 บาทไม่ได้

 

ข้อ 2. นางสวยเป็นเพื่อนสนิทกับนายรวย ได้ขอกู้เงินจากนายรวยจํานวน 500,000 บาท โดยนําทองคํา หนัก 10 บาท มาจํานําเป็นประกันการกู้ให้นายรวยไว้ในหนังสือสัญญากู้ยืมตกลงไม่คิดดอกเบี้ย และกําหนดการใช้เงินคืนภายใน 5 เดือนนับจากวันที่ระบุในหนังสือสัญญา เมื่อครบกําหนดชําระหนี้ นางสวยนําเงินสดจํานวน 500,000 บาท มาชําระให้นายรวย โดยมีนายเผือกอยู่ในเหตุการณ์ ขณะนั้นด้วย นายรวยจึงคืนทองคําหนัก 10 บาท ให้แก่นางสวย โดยไม่ได้คืนหนังสือสัญญากู้ยืม แต่ได้ขีดฆ่าและเขียนในหนังสือสัญญากู้ยืมว่าลูกหนี้ได้ชําระหนี้ทั้งหมดแล้ว แต่นายรวยลืมลง ลายมือชื่อรับรองการขีดฆ่าดังกล่าว ต่อมาภายหลังนายรวยทะเลาะกับนางสวยอย่างรุนแรง จึงได้ นําหนังสือสัญญากู้ยืมมาฟ้องบังคับนางสวยให้ชําระเงินกู้จํานวน 500,000 บาทอีกครั้ง นางสวย ให้การต่อสู้ว่าได้ชําระหนี้ทั้งหมดแล้ว โดยขอนําทองคําแท่งที่นายรวยคืนให้และหนังสือสัญญา กู้ยืมที่นายรวยได้ขีดฆ่าแล้ว ตลอดจนนายเผือกมานําสืบถึงการชําระหนี้ต่อศาล ดังนี้ นางสวยจะนําสืบถึงการชําระหนี้ดังกล่าวได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 650 “อันว่ายืมใช้สิ้นเปลืองนั้น คือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไป สิ้นไปนั้นเป็นปริมาณมีกําหนดให้ไปแก่ผู้ยืม และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท ชนิด และปริมาณ เช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น

สัญญานี้ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม”

มาตรา 653 “การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือ อย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสําคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนําสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสือ
อย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดงหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือ ได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว”

วินิจฉัย

การกู้ยืมเงินเป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองประเภทหนึ่ง และจะมีผลสมบูรณ์เมื่อผู้ให้กู้ได้ส่งมอบเงินที่ยืม ให้แก่ผู้ยืมแล้วตามมาตรา 650 ดังนั้น การที่นางสวยได้ขอกู้เงินจากนายรวยเป็นเงิน 500,000 บาท โดยมีหลักฐาน เป็นหนังสือตามกฎหมายนั้น การกู้ยืมเงินระหว่างนางสวยกับนายรวยย่อมมีผลสมบูรณ์ และสามารถฟ้องร้อง
บังคับคดีกันได้ตามมาตรา 650 และมาตรา 653 วรรคหนึ่ง

เมื่อการกู้ยืมเงินระหว่างนางสวยและนายรวยมีหลักฐานเป็นหนังสือ การที่หนี้ถึงกําหนดชําระ นางสวยได้นําเงินสดจํานวน 500,000 บาท มาชําระให้นายรวย แต่ในภายหลังนายรวยได้นําสัญญากู้ยืมมาฟ้อง บังคับให้นางสวยชําระเงินกู้จํานวน 500,000 บาทอีก และนางสวยให้การต่อสู้ว่าได้ชําระหนี้ทั้งหมดแล้ว โดยขอนํา ทองคําแท่งที่นายรวยคืนให้ และหนังสือสัญญากู้ยืมที่นายรวยได้ขีดฆ่าแล้ว ตลอดจนนายเผือกมานําสืบถึงการชําระหนี้ ต่อศาลนั้น นางสวยจะสามารถนําสืบถึงการชําระหนี้ดังกล่าวได้หรือไม่ เห็นว่า นางสวยไม่สามารถนําสืบถึงการ ชําระหนี้ดังกล่าวได้ เนื่องจากกรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 653 วรรคสอง ซึ่งกําหนดว่า การที่ลูกหนี้จะนําสืบ ถึงการใช้เงินได้ก็ต่อเมื่อมีหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่

1. หนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง หรือ

2. เอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือ

3. ได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว

ดังนั้น การที่นางสวยจะนํานายเผือกพยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสาร (ตาม 1.) นั้น ย่อมไม่อาจ ทําได้ ต้องห้ามตามกฎหมาย นอกจากนั้นการที่นายรวยคืนทองคําที่นางสวยนํามาวางเป็นหลักประกันการกู้ แต่ไม่ได้คืนหนังสือสัญญากู้ยืมก็ไม่ถือว่าเป็นการเวนคืนหลักฐานการกู้ยืม (ตาม 2.) อีกทั้งการที่นายรวยแทง เพิกถอนลงในสัญญากู้ยืมเงิน แต่ไม่ได้ลงลายมือชื่อรับรองการแทงเพิกถอน ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการแทงเพิกถอน หลักฐานการกู้ยืม (ตาม 3.) แต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อนางสวยไม่มีพยานหลักฐานตามกฎหมายที่แสดงถึงการชําระหนี้ ตามมาตรา 653 วรรคสอง นางสวยจึงไม่อาจนําสืบถึงการชําระหนี้ดังกล่าวได้

สรุป นางสวยจะนําสืบถึงการชําระหนี้ดังกล่าวไม่ได้

 

ข้อ 3. นายสุขเข้าพักที่โรงแรมนอนสงบโดยได้รับสิทธิพิเศษในการยกเว้นค่าบริการเป็นเวลา 2 คืน และ ได้นํารถยนต์ของตนจอดไว้ที่ลานจอดรถของโรงแรม แต่ในขณะลงทะเบียนเข้าพัก นายสุขไม่ได้ แจ้งในแบบคําขอเข้าพักของโรงแรมว่าตนได้นํารถยนต์เข้ามาจอดในโรงแรม ต่อมาพนักงานของ โรงแรมได้ส่งกุญแจห้องพักพร้อมระเบียบการเข้าพักของโรงแรม ซึ่งมีข้อความว่า “โรงแรมนอนสงบ จะไม่รับผิดชอบในความเสียหาย สูญหายต่อทรัพย์สินของผู้เข้าพักในทุกกรณี หากผู้เข้าพักไม่แจ้ง รายการทรัพย์สินของตนไว้ในแบบคําขอเข้าพักของโรงแรม” ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เวลา 05.00 น. มีคนร้ายมาลักเอารถยนต์ของนายสุขไป โดยนายสุขทราบว่ารถยนต์ของตนหายเวลา 07.00 น. และใช้เวลาในการค้นหาจนถึงเวลา 07.15 น. เมื่อแน่ใจว่ารถยนต์ของตนหายจึงแจ้งให้นายเย็น ผู้จัดการของโรงแรมทราบในทันที แต่ทางโรงแรมนอนสงบปฏิเสธความรับผิด โดยอ้างว่านายสุข ไม่ได้แจ้งต่อทางโรงแรมว่าได้นํารถยนต์เข้ามาจอด ซึ่งระเบียบการเข้าพักได้ระบุไว้ชัดเจนว่าจะไม่รับผิดในทุกกรณีต่อทรัพย์สินของผู้เข้าพักหากไม่แจ้งต่อทางโรงแรมประการหนึ่ง และนายสุข ไม่ได้แจ้งให้ทางโรงแรมทราบทันทีที่รถยนต์ของตนสูญหายอีกประการหนึ่ง

ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า การปฏิเสธความรับผิดของโรงแรมนอนสงบทั้งสองประการฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 674 “เจ้าสํานักโรงแรมหรือโฮเต็ล หรือสถานที่อื่นทํานองเช่นว่านั้น จะต้องรับผิดเพื่อ ความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใด ๆ อันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งคนเดินทางหรือแขกอาศัย หากได้พามา”

มาตรา 675 “เจ้าสํานักต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยสูญหายหรือ บุบสลายไปอย่างใด ๆ แม้ถึงว่าความสูญหายหรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะผู้คนไปมาเข้าออก ณ โรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่เช่นนั้นก็คงต้องรับผิด

ความรับผิดนี้ ถ้าเกี่ยวด้วยเงินทองตรา ธนบัตร ตั๋วเงิน พันธบัตร ใบหุ้น ใบหุ้นกู้ ประทวนสินค้า อัญมณี หรือของมีค่าอื่น ๆ ให้จํากัดไว้เพียงห้าพันบาท เว้นแต่จะได้ฝากของมีค่าเช่นนี้ไว้แก่เจ้าสํานักและได้บอก ราคาแห่งของนั้นชัดแจ้ง

แต่เจ้าสํานักไม่ต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอันเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือแต่สภาพแห่ง ทรัพย์สินนั้น หรือแต่ความผิดของคนเดินทางหรือแขกอาศัยผู้นั้นเอง หรือบริวารของเขา หรือบุคคลซึ่งเขาได้
ต้อนรับ”

มาตรา 676 “ทรัพย์สินซึ่งมิได้นําฝากบอกราคาชัดแจ้งนั้น เมื่อพบเห็นว่าสูญหายหรือบุบสลายขึ้น คนเดินทางหรือแขกอาศัยต้องแจ้งความนั้นต่อเจ้าสํานักโรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่เช่นนั้นทันที มิฉะนั้นท่านว่า เจ้าสํานักย่อมพ้นจากความรับผิดดังบัญญัติไว้ในมาตรา 674 และ 675”

มาตรา 677 “ถ้ามีคําแจ้งความปิดไว้ในโรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่อื่นทํานองเช่นว่านี้ เป็น ข้อความยกเว้นหรือจํากัดความรับผิดของเจ้าสํานักไซร้ท่านว่าความนั้นเป็นโมฆะ เว้นแต่คนเดินทางหรือแขกอาศัย จะได้ตกลงด้วยชัดแจ้งในการยกเว้นหรือจํากัดความรับผิดดังว่านั้น”

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย เจ้าสํานักโรงแรมหรือสถานที่อื่นทํานองเช่นว่านั้น ต้องรับผิดในความสูญหายหรือ บุบสลายที่เกิดแก่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยซึ่งได้นํามาด้วย แม้ความสูญหายหรือบุบสลายนั้น จะเกิดขึ้นเพราะคนที่ไปมาเข้าออก ณ โรงแรมหรือสถานที่เช่นนั้นตามมาตรา 674 ประกอบมาตรา 675

และในกรณีที่ทรัพย์สินที่สูญหายหรือบุบสลายนั้นเป็นของมีค่า เช่น เงินตรา แหวนเพชร หรือ พระเครื่อง ฯลฯ กฎหมายกําหนดให้เจ้าสํานักรับผิดเพียงห้าพันบาท เว้นแต่คนเดินทางหรือแขกอาศัยจะนําไป
ฝากไว้แก่เจ้าสํานักและบอกราคาแห่งของนั้นโดยชัดแจ้ง (มาตรา 675 วรรคสอง)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสุขเข้าพักที่โรงแรมนอนสงบเป็นเวลา 2 คืน แม้นายสุขจะได้รับ สิทธิพิเศษในการยกเว้นค่าบริการก็ตาม ก็ถือว่านายสุขเป็นแขกอาศัยของโรงแรมนอนสงบ โรงแรมจึงมีความรับผิด ต่อบรรดาทรัพย์สินของนายสุขในกรณีที่ทรัพย์สินนั้นสูญหายหรือบุบสลายตามมาตรา 674 เมื่อปรากฏข้อเท็จจริง ว่านายสุขได้นํารถยนต์ของตนเข้ามาจอดที่ลานจอดรถของโรงแรม แม้นายสุขจะไม่ได้แจ้งให้ทางโรงแรมทราบ ตามประกาศยกเว้นความรับผิดของทางโรงแรม หากรถยนต์ของนายสุขสูญหายก็ต้องอยู่ในความรับผิดชอบของ ทางโรงแรมนอนสงบ ดังนั้น เมื่อมีคนร้ายมาลักเอารถยนต์ของนายสุขไปในเวลา 05.00 น. ทางโรงแรมจึงต้องรับผิด ต่อนายสุขในการชดใช้ราคารถยนต์ตามมาตรา 674

ส่วนข้อความที่ประกาศยกเว้นความรับผิดของทางโรงแรมที่ว่าโรงแรมจะไม่รับผิดชอบในความเสียหาย สูญหายต่อทรัพย์สินของผู้เข้าพักในทุกกรณี หากผู้เข้าพักไม่แจ้งรายการทรัพย์สินของตนไว้ในแบบคําขอ เข้าพักของโรงแรมนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่านายสุขได้ตกลงด้วยโดยชัดแจ้งจึงมีผลเป็นโมฆะตามมาตรา 677 อีกทั้ง รถยนต์ก็ไม่ใช่ทรัพย์สินมีค่าที่จะต้องฝากและบอกราคาไว้แก่โรงแรมตามมาตรา 675 วรรคสองแต่อย่างใด

และการที่นายสุขได้ทราบว่ารถยนต์ของตนหายไปในเวลา 07.00 น. และใช้เวลาในการค้นหา
จนถึงเวลา 07.15 น. เมื่อแน่ใจว่ารถยนต์ของตนหายจึงได้แจ้งให้นายเย็นผู้จัดการของโรงแรมทราบในทันทีนั้น ย่อมถือว่าเป็นการแจ้งทันทีที่พบว่ารถยนต์ของตนสูญหายตามมาตรา 676 ดังนั้น การที่โรงแรมนอนสงบปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างว่านายสุขไม่ได้แจ้งต่อทางโรงแรมว่าได้นํารถยนต์เข้ามาจอดตามระเบียบของการเข้าพักฯและนายสุขก็ไม่ได้แจ้งให้ทางโรงแรมทราบทันทีที่รถยนต์ของตนสูญหายนั้น การปฏิเสธความรับผิดของทางโรงแรมนอนสงบทั้งสองประการจึงฟังไม่ขึ้น

สรุป การปฏิเสธความรับผิดของทางโรงแรมทั้งสองประการฟังไม่ขึ้น

 

Advertisement